หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในบริเวณสวนรถไฟ วชิรเบญจทัศ อุทยานจตุจักร กรุงเทพฯ เปิดอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับกิจกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมา
ที่นี่อาจจะเป็นหอจดหมายเหตุฯ แห่งแรก ที่เปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมให้ทำบุญกุศล ดนตรี ศิลปะ ธรรมวิจัย โยคะ ชี่กง เจริญสติ สมาธิ ภาวนา มิใช่หอจดหมายเหตุฯ ที่มีไว้เก็บเอกสาร ผลงานของท่านพุทธทาสอย่างเดียว
สวนปฏิจจสมุปบาท ปริศนาธรรมจากโรงมหรสพทางวิญญาณ ห้องหนังสือ สื่อธรรมะ และรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ก็ได้ถูกจำลองมาไว้ที่นี่ด้วย
และแน่นอน สิ่งสำคัญของหอจดหมายเหตุฯ ไม่ได้อยู่ที่อาคารใหญ่โตกลางน้ำ ที่จะเชิดชูท่านพุทธทาสในเรื่องของชื่อเสียง แต่เป็นการสืบเนื่องงานเผยแผ่ธรรมะที่ท่านพุทธทาสได้วางรากฐานไว้ ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของจิตภาวนา
จิตภาวนานั้น เริ่มต้นที่การเข้าใจเรื่องบุญอย่างถูกต้องด้วย
ในวันนั้น พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ แสดงธรรมกถาหน้าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเรื่อง “ขอคืนพื้นที่บุญให้สังคมไทย : จากกรณีศึกษาการจัดการความดีของฉือจี้ที่ไต้หวัน” ไว้ตอนหนึ่งว่า
บุญ ถ้าจะพูดง่ายๆด้วยคำท่านอาจารย์พุทธทาส ก็คือ ภาวะสงบเย็นและเป็นประโยชน์ หรือถ้าพูดตามพระไตรปิฎก บุญเป็นชื่อของความสุข แต่ไม่ใช่ความสุขจากการเสพ เป็นบุญที่ได้จากการทำ ตั้งแต่รักษาศีล สมาธิ ภาวนา
“ในปัจจุบัน ถ้าจะขยายความเรื่องบุญ ก็คือ ทำให้คนยากไร้ มีกินมีใช้ อาตมามองว่า การพยายามทำเช่นนั้นก็เป็นบุญ ถ้าเป็นเจตนาที่ทำแล้วเราสงบด้วย ไม่ใช่ทำไปแล้วร้อน แต่เวลานี้ บุญถูกจำกัดให้แคบลง แล้วถูกจำกัดด้วยอำนาจทุน ทุนมันแพร่ขยายไปทุกที่ แล้วก็กระชับพื้นที่ของบุญให้เล็กลงๆ จนกระทั่งเหลือแค่ใส่บาตร เวลาไปวัด และบางครั้งเวลาทำบุญ ก็ไม่ใช่ทำเพื่อบุญ แต่ทำด้วยอำนาจของทุน ก็คือ ทำอย่างไรแล้วฉันจะรวย สังเกตว่า เวลาทำบุญ เราจะหวังว่าจะได้อะไร ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ว่า ทำแล้วเพื่อผู้อื่น หรือไม่ก็มุ่งไปเพื่อพระนิพพาน”
ท่านบอกว่า ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้ ทุกอย่างเอาทุนเป็นตัววัดคุณค่า แม้แต่เวลารักใคร ก็แสดงออกด้วยการให้เงิน เพราะฉะนั้นครอบครัวแห่งบุญ ก็กลายเป็นครอบครัวแห่งทุนแทน
“การทำงานของฉือจี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งให้เห็นพื้นที่บุญ ที่ไม่ใช่เป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นประโยชน์ รวมไปถึงการทำความดีให้กับเพื่อนมนุษย์ ด้วยเมตตา กรุณา และทำในลักษณะเชิงรุกของสังคม เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา การแพทย์ ช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติ สื่อมวลชน”
“ฉือจี้ เป็นมูลนิธิแห่งหนึ่งของไต้หวัน เป็นองค์กรทางศาสนา มีวัดเล็กๆเป็นศูนย์กลางอยู่ในชนบท มีภิกษุณีประมาณ 150 รูป และมีสมาชิกอยู่ 4-5 ล้านคนทั่งประเทศ ไต้หวันมีประชากรประมาณ 20 ล้านคน ประมาณ 1 ใน 4-5 คน เป็นสมาชิกฉือจี้ สมาชิกขณะนี้เงินเยอะ แต่เงินไม่ได้ให้วัด วัดก็ยังเล็กๆอยู่ วัดไม่รับเงินบริจาค ทุกบาททุกสตางค์ในวัด เกิดจากที่ภิกษุณีทำเทียนขาย ทำของขาย เขาไม่รับเงิน เขาบอกว่าเงิน เอาไปช่วยคนจน ไปช่วยผู้ประสบอุบัติภัย เพราะฉะนั้นเขาสามารถที่จะใช้กำลังคน และกำลังเงินในการช่วยเหลือสังคมได้มาก”
ปัจจุบันขบวนการฉือจี้ ได้ขยายแนวคิดและการกระทำไปทั่วโลกแล้ว สิ่งที่พระไพศาลสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจ และแนวทางให้กับคนไทยได้บ้างก็คือ กระบวนการจัดการความดี
“เพราะเขาสามารถดึงเอาความดีของคนออกมา เขาเห็นว่า ทุกคนเป็นโพธิสัตว์ โพธิสัตว์ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในสวรรค์ชั้นสูง ที่คอยปกปักรักษามนุษย์ แต่ทุกคนเป็นโพธิสัตว์ เพราะทุกคนมีโพธิสัตว์ภาวะ อีกอย่างที่เขาทำได้คือ เมื่อดึงความดีออกมาแล้ว เขาสามารถรวมกันเป็นพลังได้ ทำโรงงานแยกขยะตั้ง 5,000 แห่ง ทำมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล 6 แห่งติดอันดับโลก มีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตลอดเวลา แล้วเขายังสามารถหล่อเลี้ยง และเพิ่มกระบวนการทำความดีของคน ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาอย่างต่อเนื่อง”
“คนที่จะเป็นสมาชิกฉือจี้ได้ จะต้องเป็นอาสาสมัครสองปี แล้วไปทำงาน เขามีหลักอีกอย่างหนึ่งคือ เน้นการชื่นชม แทนการตำหนิ และชักชวนคนไปทำความดี ไปช่วยเหลือคนยากคนจน เพราะการช่วยคนแล้วทำให้มีความสุข มีอยู่คนหนึ่ง เป็นคนแก่ มาเป็นอาสาสมัครแยกขยะ รวย มีฐานะ แต่เขาเกษียณแล้ว อยู่บ้านก็หงอยเหงา แกบอกว่า ตัวแกคือขยะคืนชีพ ตอนที่ยังไม่ได้ทำเป็นขยะ แต่มาทำแล้วเป็นขยะคืนชีพ”
“มีอาสาสมัครคนหนึ่ง เคยบวชที่สันติอโศก แล้วมาบวชในนิกายมหายาน ท่านบอกว่า สันติอโศกกับฉือจี้ เหมือนกันหลายอย่าง แต่สิ่งที่ฉือจี้มีคือ เน้นเรื่องชื่นชมมากกว่าการตำหนิ นอกจากนี้ เขายังมีการกล่อมเกลาให้อยากทำความดีด้วยการปฏิบัติ และการลงมือทำ นักเรียนเขามีกิจกรรม เช่น ชงชา จัดดอกไม้ เขาเรียกว่า จริยศิลป์ ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับจริยธรรมโดยผ่านศิลปะ แม้แต่เรียนหมอ ก็ต้องเรียนจัดดอกไม้ด้วย เพราะเขาเห็นว่า การจัดดอกไม้ ทำให้เกิดสมาธิ เวลาที่จัดดอกไม้ลงในแจกัน มันสอนธรรมะได้”
ผู้นำของฉือจี้เป็นภิกษุณี บวชตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ท่านเห็นว่ามีคนจนต้องตาย เพราะไม่มีใครรักษามากมาย ท่านจึงอยากระดมเงินทุนมาช่วยเหลือ วิธีการทำก็เริ่มต้นจากกองทัพมดเล็กๆ จากแม่บ้าน 20 กว่าคน ขอบริจาคเงินวันละ 50 เซนต์ หรือประมาณหนึ่งสลึง หยอดในกระปุกออมสิน เป็นกระปุกไม้ไผ่ วันหนึ่งได้แค่ 5 บาท เดือนหนึ่งได้ 150 บาท ค่อยๆทำไปจนกระทั่งเห็นผล
พระไพศาลเชื่อมโยงให้เห็นว่า การทำความดีไม่ได้เริ่มต้นจากอะไรที่ใหญ่โตเลย แต่มาจากหัวใจที่บริสุทธิ์ของลูกผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นนักบวชนี่เอง
“หลักง่ายๆของฉือจี้ ก็ใช้หลักพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่เขาอธิบายไม่เหมือนเรา เขาอธิบายว่า เมตตา คือ ความรักอย่างไม่แบ่งแยก ไม่มีประมาณ มีเพลงหนึ่งของฉือจี้บอกว่า ชั่วดินฟ้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่รัก ชั่วดินฟ้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ ชั่วดินฟ้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย แค่นี้ก็เหมาะกับสังคมไทยแล้ว เพราะอะไร ตอนนี้คนไทยรักแบบมีเงื่อนไข ถ้าเป็นสีเดียวกับเรา เรารัก ถ้านับถือนิกายเดียวกับเรา เรารัก แต่ถ้าคนละศาสนา คนละนิกาย เราไม่รัก อาตมาว่านี่ไม่ใช่เมตตาในพุทธศาสนา”
“เมตตาในพุทธศาสนาคือ ไม่มีประมาณ แม้แต่คนที่อาจจะทำผิด อาจจะเป็นอาชญากร ก็มีค่าแก่ความรักของเรา เพราะเขาไม่รู้ เขาจึงทำผิด ถ้าเรามีตรงนี้ บ้านเมืองเราอาจจะไม่เกิดวิกฤติกันมากขนาดนี้ ประการที่สอง เขาบอกว่า กรุณา คือ การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ประการที่สาม คือ มุทิตา มีความสุขเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข ประการที่สี่ อุเบกขา เขาตีความว่า คือการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ตรงนี้สำคัญ”
แต่สิ่งหนึ่งที่ฉือจี้ ไม่แตะก็คือ การเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง และการปฏิรูปโครงสร้าง รวมทั้งห้ามเก็งกำไรด้วยการเล่นหุ้น ห้ามฝ่าฝืนกฎจราจร พระไพศาลมองว่า อาจเป็นเพราะเขาไม่ต้องการให้การเมือง มาเป็นประเด็นสร้างความแตกแยกขององค์กร และการเมืองเน้นเรื่องการวิจารณ์ ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย พอแบ่งฝ่ายแล้ว ใครที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็เลวหมด เราดีหมด ก็ไม่เกิดความเมตตากรุณา เขาจึงไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่ประท้วงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม
“สิ่งที่ฉือจี้มีจุดอ่อน และอาจจะยังไม่เหมาะกับสังคมไทยก็คือ ไม่แตะเรื่องโครงสร้างที่อยุติธรรม ที่เหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่เขาทำก็ช่วยให้เกิดความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ในลักษณะที่เป็นแนวรุก คือ ไต้หวันเป็นประเทศทุนนิยม แต่ว่าเขาสามารถที่จะทำงานเชิงรุกที่ทำให้บุญกระจายไปหลายพื้นที่ เขายังมีสื่อโทรทัศน์สีขาวที่ได้รับรางวัล ได้รับความนิยมจากคนไต้หวันในระดับต้นๆด้วย”
ซึ่งต่างจากเมืองไทย ที่รายการดีๆไม่ค่อยมีคนดู
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการถามพระไพศาลว่า ถ้าฉือจี้มาเมืองไทยล่ะ
พระไพศาลตอบว่า ความเข้าใจเรื่องบุญของคนไทยยังเป็นอุปสรรค เพราะคนไทยยังเชื่อว่า ทำบุญต้องทำกับพระ ทำกับวัด และเวลาทำบุญ เราทำเพื่อตัวเอง แต่ฉือจี้เวลาทำบุญ เขาทำกับเพื่อนมนุษย์ ทำกับผู้ทุกข์ยาก เวลาทำ เขาจะอธิษฐานว่า 1.ขอให้ฉันจิตบริสุทธิ์ 2.ขอให้โลกนี้มีความสงบสุข 3.ขอให้โลกนี้ปราศจากภัยพิบัติ ไม่มีเรื่องตัวเองเลย มีแต่เรื่องจิตบริสุทธิ์ คือจิตที่มีเมตตา
ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า คุณธรรมโพธิสัตว์ ที่มีพระอวโลกิเตศวรเป็นตัวแทน ซึ่งชาวพุทธไทยควรจะน้อมรับมาคือ 1.สุทธิ คือ จิตใจที่บริสุทธิ์ 2.ปัญญา คือ เรื่องความเข้าใจในเรื่องชีวิต 3.เมตตา ไม่มีประมาณ 4.ขันติ คือ ความอดทน ถ้าเรามีตรงนี้ การทำงานแบบฉือจี้ก็จะทำความเข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แต่ตอนนี้เรามีอุปสรรคตรงนี้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวเสริมว่า พื้นที่บุญยิ่งขยายไปจากหัวใจยิ่งดี นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของมนุษย์ ที่สัตว์ไม่มี
“มนุษย์นั้นมีธรรมชาติที่สามารถขยายพื้นที่บุญได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นี่คือสิ่งสำคัญของสวนโมกข์ ท่านอาจารย์พุทธทาสคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเกือบร้อยปี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดไว้ว่า มนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องใช้วิธีคิดใหม่อย่างสิ้นเชิง …”
วิธีการคิดใหม่อย่างสิ้นเชิงนั้น จะเป็นอย่างไร ภาวนามยปัญญา ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมากว่า 2,500 กว่าปี จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมารับใช้คนในยุคดิจิทัลนี้ได้เพียงใด หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ ที่ยกสวนโมกขพลาราม อารามแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์มาไว้ถึงใจกลางกรุง จะเป็นประโยชน์แก่คนเมืองมากหรือน้อย คำตอบขึ้นอยู่กับตัวเราเอง.
เนชั่นสุดสัปดาห์
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
ที่มา http://www.visalo.org/columnInterview/Nation_530820.htm