เมื่อคนลาหู่กับคนเมือง ลุกขึ้นมาจัดการความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน
ณัฐพงษ์ มณีกร
หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม (SDSU) สภาคริสตจักรในประเทศไทย
สถานการณ์ปัญหาการพัฒนาสังคมไทยกว่า 50 ปีผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาประเทศ เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) จนถึงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน สถานการณ์การพัฒนาในช่วงที่ผ่านมากล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่ ยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด เศรษฐกิจเสรีนิยมหรือเศรษฐกิจทุนนิยมที่มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความมั่งคั่งและ รายได้มาสู่ประเทศเป็นหลัก และใช้การเติบโตของรายได้ต่อหัวเป็นเครื่องมือวัดผลสำเร็จของการพัฒนา ด้วยความคาดหวังว่าการเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ การเพิ่มการจ้างงาน รวมทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ในที่สุดแล้วย่อมจะสามารถกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทำให้ปัญหา ความยากจนหมดไปได้ในที่สุด
การมุ่งเน้นไปที่การนำทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และความได้เปรียบด้าน แรงงานราคาถูกมาใช้สนับสนุนการพัฒนาและขยายฐานการผลิต ซึ่งนำไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่สูง ขึ้น ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราสูง แต่เป็นการเติบโตที่ต้องพึ่งพาทุน เทคโนโลยีและตลาดต่างประเทศ จึงส่งผลต่อความไม่สมดุลของโครงสร้างการพัฒนาประเทศ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายรายได้ ปัญหาความยากจนเพิ่มสูงขึ้น คนจนขาดศักยภาพในการดำรงชีวิต การว่างงานเพิ่มขึ้นและมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างสิ้นเปลืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น
การพัฒนาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงห่างไกลใน พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินและอำนาจในการจัดการป่าไม้ โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การประกาศเป็นเขตป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทับที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เมื่อมีการประกาศกฎหมายเหล่านี้กลุ่มชาติพันธุ์ได้กลายเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ ในป่าอย่างผิดกฎหมายทั้งๆที่เคยอยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานทำมาหากินมาก่อนที่ รัฐจะประกาศกฎหมาย
ผลกระทบที่ตามมา คือ การอพยพย้ายถิ่นจากพื้นที่สูงลงมาพื้นที่ราบหรือในเมืองใหญ่เพื่อดำรงชีวิต ทางเศรษฐกิจให้อยู่รอด หรือถ้ายังดำรงชีวิตในพื้นที่ต่อไปก็จะถูกจำกัดการพัฒนา ถูกข่มขู่จากทางเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ชุมชนบนพื้นที่สูงต้องแปรสภาพจากผู้อาศัยกลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ ตกอยู่ในสภาพของความกลัว และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการถูกบังคับอพยพโยกย้ายมาเป็นแรงงานระดับล่างไร้ ฝีมือในเมือง โดยปราศจากทางเลือกในการตั้งถิ่นฐานแต่อย่างใด ภายหลังจากที่กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนได้อพยพออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่ อาศัยแล้ว ที่ดินเหล่านั้นก็ตกอยู่ในการครอบครองของนายทุนและผู้มีอำนาจอย่างถูกต้อง ทางกฎหมายต่อไป
ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลของการอพยพย้ายถิ่นจากพื้นที่สูงสู่พื้นที่ราบทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชน เผ่าไร้ที่อยู่อาศัยไร้ที่ดินทำกิน กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือเข้าสู่อาชีพบริการทางเพศ ถูกจำกัดสิทธิถูกคุกคามในฐานะการเป็น “คนอื่นของชุมชน” สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม ทั้งประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นเผ่าพันธุ์และระบบสังคมดั้งเดิมถูกทำลาย ทำให้ศักยภาพของชุมชนอ่อนแอลงจนไม่สามารถดูแลพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆติดตามมามากมาย อาทิ การอพยพโยกย้ายแรงงานจากชุมชนที่สูงเข้าสู่เมืองอันเป็นที่มาของปัญหาสังคม เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม การติดยาเสพติด โรคเอดส์ เด็กเล็ก เยาวชนและผู้หญิงไร้ที่อยู่อาศัย ขาดอาหาร ขาดคนดูแลเนื่องจากผู้นำครอบครัวถูกจับกุมติดคุก เยาวชนชนเผ่าจำนวนมากถูกระบบใหญ่กลืนกินหลงลืมวิถีชีวิตดั้งเดิมจนไม่สามารถ สืบทอดเจตนารมณ์บรรพบุรุษได้ ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์
นอกจากนั้นแล้วปัญหาในเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ยังถือได้ว่าเป็นปัญหา สำคัญมากสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ เห็นได้จากที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าส่วนใหญ่มักจะถูกดูถูก ถูกกล่าวหาอยู่เสมอว่า สกปรก ป่าเถื่อน ไร้การศึกษา ตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ถูกจัดเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิเท่าเทียมคนไทยทั่วไป ถูกกล่าวหา ถูกกดขี่ข่มเหงตลอดเวลา
ชุมชนบ้านแม่ดอกแดง ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้ ภูเขา ลำห้วย เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ และยังอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ จึงทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากหลายกลุ่มมาอาศัยอยู่ แต่ส่วนมากเป็นกลุ่มชนเผ่าลาหู่เป็นสำคัญ
ประชากรส่วนใหญ่ในบ้านแม่ดอกแดงเป็นประชากรดั้งเดิมของหมู่บ้าน เป็นคนพื้นราบที่อาศัยอยู่ในชุมชนมายาวนาน ชุมชนโดยรอบหมู่บ้านแม่ดอกแดงมีอยู่หลายชุมชน ทั้งอยู่ใกล้กับชุมชนหลักในหมู่บ้านและอยู่ห่างไกลจากชุมชนหลักมากพอสมควร มีชุมชนจำนวนหลายชุมชนที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆโดยเฉพาะในด้าน สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน จึงสร้างความยากลำบากให้กับประชากรในพื้นที่เป็นอย่างมาก ประกอบกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน เพราะมีพื้นที่รับผิดชอบจำนวนมากหลายหมู่บ้าน
สำหรับการอพยพของกลุ่มชนเผ่าลาหู่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น เริ่มต้นจากการที่มีกลุ่มชนเผ่าลาหู่จากหลายอำเภอในเขตจังหวัดเชียงใหม่และ เชียงราย ทั้งกลุ่มที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน ผ่านการช่วยเหลือของมูลนิธิที่ทำงานด้านคริสตศาสนา เมื่อปี พ.ศ.2539 โดยการซื้อที่ดินและจัดตั้งโบสถ์พร้อมทั้งตั้งเป็นกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์ เล็กๆในชุมชน ผนวกรวมกับการที่ในปัจจุบันได้มีชนเผ่าอื่นๆได้อพยพเข้ามาและซื้อที่ดินของ คนในชุมชนบ้านแม่ดอกแดง เพื่ออยู่อาศัยเป็นจำนวนมากหลายครอบครัว ยิ่งสร้างความยากลำบาก ความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่เป็นประชากรพื้นราบเป็นอย่างมาก
การอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านแม่ดอกแดงของประชากร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนลาหู่บนพื้นที่สูง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชนบทที่อพยพเข้ามารับจ้าง โดยอาศัยการเป็นแรงงานเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ และกลุ่มคนพื้นที่ราบ ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ การเข้ามาแย่งอาชีพของประชากรดั้งเดิม การทำมาหากิน เช่น หาของป่า รับจ้างทั่วไป การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการทะเลาะวิวาทกันภายในชุมชน ความไม่ปลอดภัยในด้านทรัพย์สิน ยาเสพติด ศาสนาวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การไม่ให้ความร่วมมือกับชุมชน การทวงถามสิทธิด้านต่างๆที่พึงได้รับในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า รวมไปถึงระบบสวัสดิการ การศึกษาสำหรับกลุ่มเยาวชน การย้ายเข้าย้ายออกในแต่ละครอบครัว เป็นต้น เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับชนเผ่าลาหู่ที่เข้ามาอยู่กับชุมชนบ้าน แม่ดอกแดง
อย่างไรก็ตามมีความพยายามแก้ปัญหาในระดับชุมชนด้วยตนเอง พบว่าในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน พ.ศ.2553 ทางกลุ่มผู้นำชาวบ้านในระดับท้องถิ่นได้มีการพูดคุยและวิเคราะห์ถึง สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวในข้างต้นบ่อยครั้ง มีการหารือร่วมกันกับสมาชิกเทศบาลตำบลเชิงดอยโดยเฉพาะทางนายกเทศบาลตำบลได้ ให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นโดยตรง มีการนำเสนอในวาระการประชุมในระดับตำบลของสภาเทศบาลเพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งในปัจจุบันวางเป้าหมายไปที่การพัฒนาปัญหาดังกล่าวเป็นวาระตำบล เพื่อที่จะพัฒนาเป็นเทศบัญญัติในการกำหนดนโยบายในอนาคต
นอกจากนั้นแล้วยังมีการประชุมในระดับคณะกรรมการหมู่บ้าน เปิดเวทีให้ผู้นำชุมชนหลายฝ่ายทั้งกลุ่มคนเมืองและชนเผ่าลาหู่ได้เข้ามามี ส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการป้องกัน โดยการออกกฎระเบียบของชุมชนเพื่อกำหนดแนวทางการอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้นำชนเผ่าก็มองว่าจำเป็นที่ต้องมาหารือร่วมกัน เพราะถูกมองว่าเป็นจำเลยและเป็นที่มาของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน
กล่าวได้ว่าการพยายามแก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านแม่ดอกแดงได้ยกระดับไปสู่การ ทำงานร่วมในระดับตำบล ซึ่งมีกลุ่มผู้นำหลายหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลเชิงดอย ได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหา มุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพราะที่ผ่านมาเป็นลักษณะของต่างคนต่างอยู่ ไม่มีพื้นที่การหารืออย่างเป็นขั้นเป็นตอน เนื่องด้วยนัยทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของกลุ่มคน ผนวกกับภาษาในการสื่อสารระหว่างกันที่เป็นอุปสรรค
จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของปัญหาความไม่สมดุลของการจัดการชุมชน ที่เป็นผลมาจากการอพยพย้ายถิ่นของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเข้ามา อยู่ในชุมชนที่มีประชากรพื้นที่ราบแห่งนี้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหารูปแบบการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วม กันของคนสองกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในพื้นที่บ้านแม่ดอกแดง เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดการเรื่องอยู่ร่วมกันของคนสองกลุ่มในมิติต่างๆ อันจะนำไปสู่การเป็นตัวอย่างเพื่อปรับใช้สำหรับพื้นที่อื่นๆในสังคมไทยต่อไป
[1] ผู้เขียนได้รับทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า เมื่อพฤศจิกายน 2553 เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนาความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันของคนบนพื้นที่สูงกับคนพื้นราบ ในชุมชนบ้านแม่ดอกแดง หมู่ที่ 1 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” บทความเรื่องนี้เป็นตอนที่ 1 ของงานวิจัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
[2] การจัดเวทีหารือในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2553 ชุมชนบ้านแม่ดอกแดงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรง งานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)