เป็นสุขท่ามกลางความทุกข์
พระไพศาล วิสาโล
คน เรามักอยู่ด้วยความรู้สึก คือปล่อยให้ความชอบ-ไม่ชอบมาเป็นตัวกำหนดชีวิตของตน โดยที่ความชอบ-ไม่ชอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามันให้ความสุขและสะดวกสบายแก่ตน หรือไม่ อะไรก็ตามที่ให้ความสะดวกสบายหรือความสุขแก่ตน ก็อยากได้อยากหามาครอบครอง ส่วนมันจะเป็นประโยชน์หรือเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ ไม่สนใจ ในทางตรงข้าม อะไรก็ตามที่ทำให้ตนสะดวกสบายน้อยลงหรือเกิดความยากลำบาก ก็อยากผลักไสออกไป ไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย แม้มันจะมีประโยชน์ก็ตาม เด็กจึงเลือกเที่ยวเล่นมากกว่านั่งทำการบ้าน ส่วนผู้ใหญ่ก็ชอบสุมหัวคุยกันหรือดูหนังฟังเพลงมากกว่าจะทำงานอย่างตั้งใจ
การปล่อยให้ความรู้สึกมาครอบงำชีวิตของตน แท้จริงก็คือการปล่อยให้อัตตามาครองใจ เพราะอัตตาไม่ได้สนใจอะไรนอกจากสิ่งที่จะตอบสนองความอยากได้ใคร่เด่นที่ไม่ เคยพอเสียที เจออะไรที่ไม่ถูกใจจึงโกรธแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาหรือมีประโยชน์ก็ตาม ดังนั้นแค่เจอไฟแดง รถติด ฝนตก เพื่อนร่วมงานไม่ทักทาย พ่อแม่แนะนำตักเตือน อัตตาก็ขุ่นเคืองใจแล้ว ถ้าเราปล่อยให้มันครองใจ เราก็ต้องทุกข์ไม่หยุดหย่อน เพราะชีวิตนี้ทั้งชีวิตเราย่อมต้องเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจเราอยู่เสมอ ถึงแม้จะร่ำรวย ยิ่งใหญ่ หรือมีอำนาจมากมายเพียงใด เราก็ไม่สามารถบัญชาหรือควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราได้ตลอดเวลา
ความจริงที่ทุกชีวิตหลีกหนีไม่พ้นก็คือ ต้องประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา และพลัดพรากจากสิ่งพึงปรารถนา อยู่เป็นนิจ รวยแค่ไหนก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย เก่งแค่ไหนก็ต้องมีวันประสบความล้มเหลว ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องพลัดพรากจากคนรักไม่ช้าก็เร็ว คนที่ปล่อยให้ชีวิตจิตใจเป็นไปตามความรู้สึก ย่อมหาความสุขได้ยาก
แต่คนเราไม่จำเป็นต้องทุกข์ไปตามเหตุการณ์ที่มากระทบเสมอไป หากเราเป็นอยู่ด้วยปัญญา ไม่เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ มีสติรู้เท่าทันอัตตา ไม่ปล่อยให้มันครองใจ เราก็สามารถทำใจให้เป็นปกติได้แม้ในยามที่ประสบกับสิ่งที่เป็นลบในสายตาของ คนทั่วไป เช่น เมื่อถูกตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ หากเราปล่อยให้อัตตาเป็นใหญ่ในใจ เราก็จะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า “กูถูกเล่นงาน” หรือ “กูเสียหน้า” ผลคือเกิดความโกรธและตอบโต้กลับไป ซึ่งอาจทำให้ถูกวิจารณ์กลับมาหนักขึ้น ในทางตรงข้าม หากเรามีสติทันท่วงทีและสามารถดึงปัญญาออกหน้า เราก็จะหันมาใคร่ครวญว่าสิ่งที่เขาพูดมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ มีประโยชน์เพียงใด มันอาจช่วยให้เราเห็นข้อบกพร่องของตัวเองชัดขึ้น หรือไม่ก็เผยให้เห็นตัวตนของผู้พูด ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น ผลคือนอกจากเราจะฉลาดมากขึ้นแล้ว จิตใจยังไม่ร้อนรุ่มหรือทุกข์เพราะคำวิจารณ์นั้น
หากเราดำเนินชีวิต ทำกิจวัตรประจำวัน และทำงานด้วยความใส่ใจ โดยไม่มุ่งหวังเพียงแค่ทำงานให้เสร็จหรือให้ดีเท่านั้น หากยังถือว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจหรือขัดเกลาตนเองไปด้วย เช่น ฝึกให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ลดละความเห็นแก่ตัว บ่มเพาะเมตตากรุณา ก็จะเป็นการเปิดทางให้ปัญญาเข้ามาแทนที่อัตตา นั่นหมายความว่าเมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา หรือพลัดพรากจากสิ่งพึงปรารถนา เราก็สามารถรับมือกับมันได้โดยไม่ทุกข์
ดังได้กล่าวแล้วว่าเราไม่สามารถควบคุมหรือจัดการให้เกิดสิ่งดี ๆ กับเราได้ตลอดเวลา แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดสิ่งแย่ ๆ กับเรา เราสามารถเลือกได้ว่าจะยอมให้มันมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของเราได้มากน้อยแค่ ไหน รวมทั้งเลือกว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมันได้ด้วย เช่น จะใช้มันให้เกิดประโยชน์แก่เราอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้เราจะเลือกได้ก็ต่อเมื่อมีสติและปัญญา ซึ่งเกิดจากการสะสมในชีวิตประจำวันและการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
ขอให้สังเกตว่าเมื่อมีสิ่งแย่ ๆ (หรือสิ่งที่เราไม่ชอบ)เกิดขึ้นกับเรา สิ่งนั้นไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับใจของเราเองที่วางไว้ไม่ถูก ทันทีที่ได้รับการบอกเล่าจากหมอว่าเป็นมะเร็ง หลายคนถึงกับล้มทรุด หมดเรี่ยวแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นมะเร็งแค่ขั้นที่ ๑ หลายคนทำงานด้วยความทุกข์ ไม่ใช่เพราะว่างานที่ได้รับนั้นเป็นงานยาก แต่เป็นเพราะเขาไม่อยากทำงานชิ้นนั้น หรือเพราะไม่พอใจที่เจ้านายเอางานของคนอื่นมาให้เขาทำ ฯลฯ บางคนก็ทุกข์เพราะเพื่อน ๆ ทิ้งงานให้เขาทำคนเดียว ใจที่เอาแต่บ่นว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน ?” “ไม่เป็นธรรม ๆ ๆ ๆ” ทำให้เขาทำงานด้วยความทุกข์ทรมานราวกับตกนรกทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องแอร์
ตอนหนึ่งของรายการ “พลเมืองเด็ก” ที่ออกอากาศช่องทีวีไทย เด็ก ๓ คนได้รับมอบหมายให้ขนของขึ้นรถไฟ บังเอิญตอนนั้นมีการถ่ายทอดสดการชกของสมจิตร จงจอหอ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก เด็กชาย ๒ คนจึงทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ข้างสถานีรถไฟ พิธีกรจึงถามเด็กหญิงซึ่งตั้งหน้าตั้งตาขนของอยู่คนเดียวว่า เธอคิดอย่างไรที่เพื่อนทิ้งงาน เธอตอบว่าไม่เป็นไร เห็นใจทั้งสองคนเพราะนาน ๆ จะได้ดูสมจิตรชกมวย พิธีกรถามต่อว่า เธอไม่โกรธหรือไม่คิดไปด่าว่าเพื่อนหรือที่ปล่อยให้เธอทำงานอยู่คนเดียว เธอตอบว่า “หนูขนของขึ้นรถไฟ หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูโกรธหรือไปด่าว่าเขาหนูก็เหนื่อยสองอย่าง”
คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเหนื่อยสองอย่าง คือเหนื่อยกายด้วย เหนื่อยใจด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่รู้ทันอารมณ์ความรู้สึกของตัว ปล่อยให้ความโกรธหรือหงุดหงิดทำร้ายจิตใจของตน จึงทำงานอย่างไม่มีความสุข จริงอยู่การทิ้งงานให้เราทำคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่หากใจเรายึดติดกับ “ความถูกต้อง” หรือ “ความน่าจะเป็น” โดยไม่รู้จักวางเลย ความยึดติดนั้นเองจะกลับมาบั่นทอนทำร้ายจิตใจของเรา เขาไม่ควรทิ้งงานให้เราทำก็จริง แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่เราจะต้องหันมาซ้ำเติมตัวเอง เหนื่อยใจนั้นไม่มีใครทำให้เราได้ นอกจากเราเอง
เหตุการณ์แย่ ๆ นั้นทำอะไรเราไม่ได้หากเราไม่ปล่อยให้มันเข้ามาเล่นงานเราถึงจิตถึงใจ แม้แต่ความเจ็บป่วย ก็ทำให้กายทุกข์เท่านั้น แต่ทำใจให้ทุกข์ไม่ได้ เว้นเสียแต่เราจะยอมปล่อยให้ใจทุกข์ไปกับกายด้วย อันที่จริงนอกจากเราเลือกได้ว่าจะปล่อยให้มันมามีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจเรา แค่ไหนแล้ว เรายังเลือกว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมันได้ด้วย เช่น เมื่อเจ็บป่วยเราเลือกได้ว่าจะดูแลรักษาตัวอย่างไรดี แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เรายังทำได้มากกว่านั้น เช่น ใช้มันให้เป็นประโยชน์ หรือหาประโยชน์จากมัน
บางคนพบว่าเจ็บป่วยก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้พักจากการทำงานที่หนักอึ้ง ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว นอนอ่านหนังสือที่ชอบ หรือหันมาทำสมาธิภาวนา หลายคนถึงกับอุทานว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” เพราะมะเร็งทำให้เขาค้นพบความสุขที่แท้อันได้แก่ความสงบทางใจ ผลก็คือชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
หากเรามีสติและปัญญา ไม่มัวปล่อยใจจ่อมจมอยู่กับความทุกข์ หรือเอาแต่บ่นว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” เราจะพบว่าเหตุการณ์แย่ ๆ ที่ไม่พึงปรารถนานั้นมีข้อดีอยู่เสมอ บางคนพบว่าการตกงานทำให้เขามีเวลาอยู่กับพ่อแม่และทดแทนพระคุณท่านได้มาก ขึ้น ธุรกิจที่ล้มละลายผลักดันให้หลายคนเข้าวัดและค้นพบจุดหมายที่แท้ของชีวิต อกหักหรือแยกทางจากคนรักก็ช่วยให้หลายคนพบกับชีวิตที่อิสระและเป็นตัวของตัว เอง
นอกจากประโยชน์ในเชิงรูปธรรมแล้ว เหตุการณ์แย่ ๆ ทั้งหลายยังมีข้อดีอย่างน้อย ๒ ประการ ได้แก่
๑. สอนใจเรา กล่าวคือสอนให้เราตระหนักถึงความจริงของชีวิตซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรเป็น นิจ เช่น ของหายก็สอนใจเราว่าความพลัดพรากจากของรักเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราหรือเป็นของเราได้อย่างยั่งยืน การถูกตำหนิก็สอนใจเราว่า สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ไม่มีใครที่จะได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว ไม่ว่าดีแค่ไหนก็ยังถูกนินทา
๒. ฝึกใจเรา เช่น ฝึกใจให้ไม่ประมาท ระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นอีก หรือฝึกใจให้ปล่อยวางเพื่อรับมือกับเหตุร้ายที่แรงกว่าในอนาคต (ถ้าโทรศัพท์หายยังปล่อยวางไม่ได้ แล้วจะทำใจได้อย่างไรเมื่อต้องสูญเสียคนรัก เช่น พ่อแม่ ลูกเมีย ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่) หรือฝึกใจให้มั่นคงเข้มแข็ง เพราะเราจะต้องเจออะไรต่ออะไรอีกมากมายในวันข้างหน้า อีกทั้งยังฝึกให้เราฉลาดและมีประสบการณ์มากขึ้น (อย่าลืมว่าคนเราเรียนรู้จากความล้มเหลวได้มากกว่าความสำเร็จ)
ความฉลาดในการรับมือกับเหตุการณ์แย่ ๆ นั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากห้องเรียนหรือจากตำรา แต่เกิดได้เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันและจากการทำงาน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ว่าดีหรือร้าย บวกหรือลบ หากไม่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ความรู้สึก คือชอบหรือไม่ชอบ เพลิดเพลินยินดีหรือคร่ำครวญโกรธแค้น แต่มีสติรู้ทันอารมณ์ความรู้สึก และหันมาใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยปัญญา ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเสมอ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เห็นช่องทางที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือเปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชคได้
ถ้าทำเช่นนั้นได้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา แม้จะเลวร้ายเพียงใด จะมิใช่สิ่งที่ยัดเยียดความทุกข์หรือความปราชัยให้แก่เรา แต่จะกลายเป็นสิ่งที่ฝึกฝนจิตใจเราให้มีสติ ปัญญา และลดละอัตตา ช่วยให้เรามีชีวิตที่โปร่งเบา สงบเย็น และเป็นอิสระจากสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบได้เป็นลำดับ จนในที่สุดก็สามารถอยู่เหนือความทุกข์หรือความผันผวนปรวนแปรทั้งปวงได้ นี้คือสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของเราทุกคน และควรเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตเราด้วย