หากใครคิดว่าเรื่องภัยพิบัติเป็นเรื่องน่าหัวเราะแล้วละก็ ถามตัวเองใหม่อีกทีดีกว่าไหม ว่าจริงๆแล้วคุณกำลังกลัวอะไรอยู่ ?
ภัยพิบัติเป็นเรื่องแน่นอนสำหรับชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ สิ่งที่ควรทำคือเตรียมตัวและหัวใจของเราให้พร้อมรับเหตุการณ์ต่างๆอย่างสด ใหม่จะดีกว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เรามีชีวิตรอดปลอดภัยแต่เพียงผู้เดียว แต่เพื่อให้เราสามารถดูแลคนรอบข้างของเราได้ สามารถที่จะอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
เราอาจจะเสียเวลาสักหน่อยเพื่อจะจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ไว้สำหรับเหตุฉุกเฉิน แต่เราต้องไม่ลืมนะว่าเครื่องมือที่สำคัญที่สุดนั้นอยู่ในตัวเราเรียบร้อย แล้ว นั่นก็คือ “สติ” นั่นเอง เราอาจจะวางแผนได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นแล้ว เราจะเดินไปหยิบไฟฉายที่ไหน หรือว่าต้องหยิบจับอะไรบ้าง แต่เราไม่สามารถกำหนดได้เลยว่าตอนนั้นเราจะมีสติหรือไม่ เพราะสติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในปัจจุบันขณะ ที่นี่ เดี๋ยวนี้เท่านั้น
เอาละ! สติมาปัญญาเกิด เรามาดูกันสิว่าเราจะเตรียมตัวและหัวใจอย่างไรกันได้บ้าง
1 เตรียมกระเป๋ายังชีพ
ภายในประกอบด้วยของต่างๆ ดังนี้ ไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย นกหวีด ยาสามัญประจำบ้าน น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูป เครื่องนอน เสื้อผ้า 2-3 ชุด ยาสีฟัน แปรงสีฟัน มีด ไฟแช๊คหรือไม้ขีดไฟ เชือก ของใช้ส่วนตัว ฯลฯ กระเป๋ายังชีพนี้อาจจะมีแบบเต็มรูปแบบ สำหรับไว้ที่บ้านในจุดที่หยิบฉวยง่าย และแบบชุดพกพาสำหรับพกพาไปให้ในทุกๆที่
ตัวอย่างกระเป๋ายังชีพของพี่แว่น
2. ทำความรู้จักกับสถานที่ที่เราอยู่
เมื่อเราอยู่ในอาคารเราก็ควรจะรู้ว่า อาคารมีทางเข้าทางออกตรงไหนบ้าง บันไดหนีไฟที่ใกล้ที่สุดไปทางไหน และเมื่ออยู่ในบ้าน เราก็ควรจะรู้จักแผงควบคุมไฟฟ้าของบ้าน ท่อแก๊สหรือวาล์วแก๊สอยู่ตรงไหน รวมไปถึงวาล์วน้ำด้วย และทางหนีทีไล่ต่างๆ
การทำความรู้จักสถานที่นี้เป็นการฝึกสติในชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะในแต่ละวันเรามีโอกาสไปอยู่ในสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคยบ่อยครั้ง และแม้แต่ในสถานที่ที่คุ้นเคย เช่นบ้าน เราก็ต้องหมั่นสำรวจตรวจตราความเรียบร้อยนี้อยู่ทุกวัน คุณแม่บ้านสามารถฝึกสติในชีวิตประจำวันได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปเข้า วิปัสสนาที่ไหนเลย
3. ทำความรู้จักกับความตื่นตระหนก
ความตื่นตระหนกกับภัยพิบัติเป็นของคู่กัน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราจะสามารถดูแลมันได้หรือไม่ต่างหาก หรือปล่อยให้มันทำให้เราตัดสินใจอะไรผิดๆ ทำให้เรื่องแย่ๆกลับแย่ลงไปอีก
การโอบอุ้มความตื่นตระหนกนั้นเป็นเรื่องที่สามารถฝึกได้ และแต่ละคนก็มีเรื่องให้ตื่นตระหนกแตกต่างกันไป เราลองฝึกกับเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันก่อน เช่น กลัวที่สูง กลัวแมลงสาบ กลัวที่มืด ฯลฯ เมื่อความตื่นตระหนกมาเยือน ขอให้เรารู้ทันมันให้ได้เสียก่อน ว่านี่เราตื่นตระหนกกับสิ่งนี้นะ และหยุดยืนประจันหน้ากับมัน (ในระยะเสี่ยงที่ไม่ทำให้เราหัวใจวายตายไปซะก่อนนะ) บอกแล้วมันว่า เรายอมละ เราตื่นตระหนกกับสิ่งนี้จริงๆเชียว แต่เราไม่ถอดใจหรอกนะ นี่ไง! อย่างน้อยๆเราก็ไม่ตื่นตระหนกไปกับความตื่นตระหนกของเราอีกต่อไป
สิ่งสำคัญอีกอย่างในการนี้ คือเราต้องชักชวนเพื่อนของเราให้ร่วมฝึกสติเตรียมรับมือภัยพิบัติไปกับเรา ด้วย นอกจากว่าทำคนเดียวจะไม่สนุกแล้ว เพื่อนจะคอยเตือนเราได้ว่าสิ่งไหนที่เราขาด และสิ่งไหนที่เราทำเกินไป และเหนือสิ่งอื่นใด เราเตรียมการทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะมีชีวิตรอด ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ได้ ไม่ใช่การเอาตัวรอด เพื่ออยู่คนเดียวบนโลกใบนี้
ขอบคุณ
บทความ How to survive in a disaster? โดย Amanda Ripley
How to Survive (Almost) Anything: 14 Survival Skills โดย Laurence Gonzales
คู่มือ เตรียมรับมือภัยแผ่นดินไหว โดย กรุงเทพประกันภัย