โพสต์ทูเดย์ ๙ มกราคม ๒๕๕๓

เด็กมิใช่แก้วเปล่า
พระไพศาล วิสาโล

การศึกษามีความหมายมากกว่าการสอน หรือการ “ใส่”อะไรเข้าไปในตัวเด็ก แต่หมายถึงการส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตจากภายใน จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเชื่อมั่นเสียก่อนว่าเด็กนั้นมี “อะไร” อยู่ในตัวเขาอยู่แล้ว ภารกิจของพ่อแม่หรือครูก็คือการทำให้สิ่งนั้นเจริญงอกงาม ขณะเดียวกันก็นำเอาสิ่งนั้นออกมาให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ สิ่งที่ว่านั้นได้แก่ ปัญญาและคุณธรรม

มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธ์แห่งปัญญาและคุณธรรมอยู่แล้วในใจ ด้วยเหตุนี้เด็กทุกคนจึงมีความใฝ่รู้และใฝ่ดี หน้าที่ของการศึกษาคือกระตุ้นและส่งเสริมความใฝ่รู้และใฝ่ดีให้เจริญงอกงาม เหมือนเมล็ดพันธุ์น้อย ๆ ที่ถูกกระตุ้นและส่งเสริมจนเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา และหยั่งรากลึก ให้ดอกไม้ที่งดงามและผลไม้ที่หอมหวานแก่สรรพชีวิต น่าเสียดายที่การศึกษาทุกวันนี้ได้ทำลายความใฝ่รู้และใฝ่ดีในตัวเด็ก ทั้งนี้เพราะผู้ใหญ่พยายามยัดเยียดอะไรต่ออะไรให้เขา ซึ่งบางครั้งกลายเป็นการควบคุมปิดกั้นมิให้เขาเติบโตจากภายใน

นอกจากความใฝ่รู้และความใฝ่ดีแล้ว เด็กยังมีศักยภาพหรือความสามารถที่แฝงเร้นต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ความสามารถในทางศิลปะ ความสามารถในทางกีฬา โดยที่เด็กเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนมี หน้าที่ของครูหรือพ่อแม่คือช่วยดึงเอาความสามารถนั้นออกมา ตรงนี้เป็นเรื่องของศิลปะที่ครูและพ่อแม่ต้องเรียนรู้และต้องอาศัยความอดทน ไปพร้อมกัน บางครั้งเพียงแค่คำชมและการให้กำลังใจก็สามารถกระตุ้นให้ศักยภาพดังกล่าวออก มาได้

เมื่อปีที่แล้วข้าพเจ้าได้ไปดูงานของมูลนิธิฉือจี้ ในประเทศไต้หวัน มัคคุเทศก์ได้เล่าถึงเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งซึ่งไม่เอาใจใส่ในการเรียนเลย มีกิจกรรมใด ๆ ในชั้นเรียนก็ไม่เคยให้ความร่วมมือ การบ้านก็ทำอย่างขอไปที ครูกระตุ้นเท่าไรก็ไม่ได้ผล มีคราวหนึ่งครูให้นักเรียนวาดภาพ นักเรียนคนนี้ก็ทำตัวเหมือนเดิม คือไม่สนใจ ครูพยายามกระตุ้น แต่นักเรียนก็นิ่งเฉย จนครูขอร้องว่าให้ลองวาดภาพอะไรก็ได้ แค่ตวัดพู่กันเป็นวงกลมก็ยังดี นักเรียนทนครูรบเร้าไม่ไหว จึงตวัดพู่กันเป็นวงกลม ครูเห็นก็ชมด้วยความตื่นเต้นว่า นักเรียนวาดได้ดีมาก และขอให้วาดอีก นักเรียนเกิดมีกำลังใจขึ้นมาจึงตวัดพู่กันอีกภาพหนึ่ง แล้วก็อีกภาพหนึ่ง ๆ ๆ ยิ่งทำก็ยิ่งดีขึ้นเรื่อย ๆ

นับแต่วันนั้นนักเรียนได้ฝึกตวัดพู่กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาพมีคุณภาพดีขึ้นมากจนได้รับการคัดเลือกให้ออกแสดงในงานนิทรรศการของโรงเรียน ในวันแสดงนิทรรศการ นักเรียนผู้นี้สังเกตเห็นเด็กคนหนึ่งยืนจ้องภาพวาดของตัว เจ้าของภาพจึงเดินไปคุยกับเด็กน้อย เด็กน้อยแสดงความชื่นชมภาพนั้น แต่ก็ออกตัวว่าตนเองคงไม่มีปัญญาวาดได้เช่นนั้น ผู้เป็นเจ้าของภาพได้ยินเช่นนั้นจึงให้กำลังใจเด็กน้อยว่า เธอทำได้แน่นอน เธอมีความสามารถอยู่แล้ว ขอให้มีความเพียรก็แล้วกัน

นี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าเราทุกคนมีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งประเสริฐ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าศักยภาพดังกล่าวจะถูกดึงออกมาได้มากน้อยเพียงใด ความดีและความใฝ่ดีเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ หัวใจของการศึกษาคือการดึงเอาความดีและความใฝ่ดีให้ออกมาเพื่อสร้างสรรค์คุณประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นให้ได้มากที่สุด

อยากย้ำว่าคนเรานั้นเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนแก่ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะการเรียนรู้เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ เห็นได้ชัดจากเด็ก ๆ ซึ่งไม่เพียงตั้งคำถามจากสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น หากยังเรียนรู้จากทุกอย่างที่แลเห็น ได้ยิน และสัมผัส ไม่ว่าเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

พฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของเรานั้นล้วนเป็นผลจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น อยู่ตลอดเวลา เราจะมีพฤติกรรมและจิตนิสัยไปในทางไหน ขึ้นอยู่ว่าเราเรียนรู้อย่างไร การเรียนรู้ที่ถูกต้องย่อมนำไปสู่ชีวิตที่ดีงาม ในทางตรงข้ามการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องสามารถนำพาชีวิตไปสู่ความทุกข์ได้ ทุกวันนี้คนเป็นอันมากเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากโทรทัศน์ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการบริโภคและนิยมความรุนแรง ในขณะที่เด็กจำนวนไม่น้อยเรียนรู้การเอาแต่ใจตนเองจากพ่อแม่หรือจาก ประสบการณ์ในบ้าน การเรียนรู้ในลักษณะนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเลย

ชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขเกิดจากการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และการเรียนรู้นั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ห้องเรียน โลกรอบตัวของเด็กต่างหากคือแหล่งเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็ก ไม่เว้นแม้แต่ศูนย์การค้า สำนักงาน และท้องถนน เด็กนั้นพร้อมจะเรียนรู้อยู่แล้ว สิ่งที่เด็กต้องการก็คือผู้ชี้แนะหรือกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ตรงนี้เองที่พ่อแม่และครูสามารถจะมีบทบาทอย่างสำคัญ

การสอนด้วยการพูดให้เด็กคล้อยตามหรือท่องจำนั้น มีความสำคัญน้อยกว่าการกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดอย่างถูกทาง บทบาทของพ่อแม่และครูมิใช่ผู้ให้คำตอบ แต่เป็นผู้หมั่นตั้งคำถามกับลูกและศิษย์ การถามเขาว่าพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไรหากมีรอยเท้าเปื้อนโคลนเข้ามาในบ้าน ย่อมให้ผลดีต่อเด็กมากกว่าการบอกเขาอย่างเบ็ดเสร็จว่าการกระทำดังกล่าวไม่ดีอย่างไร

การเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วม เช่น ได้ฝึกคิด ฝึกทำ นั้นย่อมให้ผลที่ยั่งยืนกว่าการเรียนรู้ที่ให้เด็กเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว คือรับฟังโดยไม่ต้องคิดหรือปริปากถาม ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะถูกฝึกให้เป็นฝ่ายรับอย่างเดียวมาตั้งแต่เล็ก เราจึงรับเอาสิ่งไม่ดีหลายอย่างจากโทรทัศน์และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาอย่างง่ายดาย โดยไม่รู้จักย่อย แยกแยะ วิเคราะห์ หรือตั้งคำถามเลย ในทำนองเดียวกันเมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา เช่น คำวิจารณ์ หรือความพลัดพรากสูญเสีย เราก็ปล่อยใจให้เป็นทุกข์ไปได้ง่าย ๆ แทนที่จะมองให้เห็นถึงแง่ดีหรือประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น

การ เรียนรู้แบบเป็นฝ่ายรับในที่สุดแล้วทำให้ชีวิตของเราถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อม รอบตัวอย่างเดียว จะสุขหรือทุกข์ก็เพราะสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่เราสามารถรักษาจิตให้เป็นอิสระจากความผันผวนปรวนแปรของโลกรอบตัวได้หากมี ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้อย่างถูกต้อง

ที่มา http://www.visalo.org/article/PosttoDay255301.htm