คง ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พวกเราไม่ได้เดินเพื่อสันติภาพใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังเดินเพื่อสันติสุขในใจด้วย มันเป็นเรื่องเดียวกัน ที่สำคัญคือต้องเป็นการเดินด้วยใจ คนส่วนใหญ่จะเดินด้วยเท้า แต่ว่าการเดินอย่างนี้ ซึ่งเป็นการเดินระยะทางไกลๆ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสันติภาพและสันติสุขในใจ ต้องเดินด้วยใจ
เดินด้วยใจไม่ได้หมายความว่า เดินด้วยใจที่สู้ ด้วยใจที่อดทนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรู้จักวางใจให้เป็น เพราะถ้าเราวางใจเป็นโดยเฉพาะเดินอย่างมีสติ มีสมาธิ การเดินที่เป็นเรื่องยากจะง่ายขึ้น เพราะว่าเวลาเราเดินอย่างมีสติมีสมาธิ ความปวดความเมื่อยความเหนื่อยจะไม่มารบกวนจิตใจของเรา ใหม่ๆ เราก็เดินด้วยความอดทน เดินด้วยใจที่สู้ แต่ถ้าเดินเพียงเท่านั้น ก็จะกลายเป็นว่า เดินแบบกัดฟันสู้ แต่ว่าก็ยังมีความทุกข์อยู่ เรียกว่าเดินแบบทนทุกข์ แต่ว่าถ้าเราเดินอย่างมีสติก็จะช่วยทำให้ความทุกข์ทางกายมารบกวนจิตใจน้อยลง
เดินอย่างมีสติหรือเดินอย่างมี สมาธิคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันทีเดียว เราอาจเริ่มต้นด้วยการเดินอย่างมีสมาธิ หมายความว่าเอาใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ไปรับรู้ ความเจ็บความเมื่อย จนลืมเจ็บลืมเมื่อยไปเลย รวมทั้งลืมร้อนด้วย เคยมีเด็กมาเดินธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว อาตมาแนะนำให้เขาลองนับก้าวดู ปรากฏว่าจากเดิมที่เขาเคยรำคาญ ท้อแท้ พอเดินนับก้าวเขารู้สึกว่าเดินได้สบายขึ้น มีความทุกข์น้อยลง เขามีความปีติมากเลยที่เขาเดินนับก้าวได้ เจ็ดพัน แปดพันก้าว อันนี้เป็นวิธีหนึ่ง
ปกติการเดินธรรมยาตราจะมีการตีกลอง สวดมนต์ไปด้วย การสวดมนต์หรือการตีกลองเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่ให้จิตมาจดจ่ออยู่กับการสวด มนต์หรือเสียงกลอง แต่การเดินของเราครั้งนี้ไม่มีการสวดมนต์หรือตีกลอง ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้ลมหายใจก็ได้ รับรู้ลมหายใจเข้า รับรู้ลมหายใจออก หรือจะใช้วิธีอื่นก็ได้ มีเด็ก ๙ ขวบคนหนึ่งมาเดินธรรมยาตรากับแม่ พอเดินได้สองวันก็ถามเขาว่า เขามีวิธีเดินอย่างไรถึงเดินได้ทั้งวัน เด็กก็บอกว่าเวลาเดินก็ดูขาของคนข้างหน้า เวลาดูขาคนข้างหน้า ใจก็จะจดจ่ออยู่ตรงนั้น ใจจึงไม่ค่อยรู้สึกปวดเมื่อย ถามว่าความปวดความเมื่อยมีไหม ก็มีแต่ใจไม่ไปรับรู้ เพราะใจไปอยู่กับขาของคนข้างหน้า อันนี้เป็นวิธีการที่เด็กเขาเรียนรู้
ส่วนการเดินอย่างมีสติคือการมีความรู้สึกตัวขณะที่เดิน รับรู้แต่ละก้าวที่เดิน เมื่อใจวอกแวกก็รู้ แล้วกลับมาอยู่กับการเดิน ความทุกข์จากการเดิน ตัวการสำคัญก็คือใจที่ท้อแท้ ไม่สู้ ความลำบากทางกายนั้นไม่ค่อยเท่าไหร่ เมื่อผ่านไปสักระยะร่างกายก็จะปรับตัวได้ แต่ถ้าใจไม่สู้แล้ว แม้ร่างกายจะพร้อมแค่ไหนก็ยังท้อและทุกข์ ท้อและทุกข์เพราะรู้สึกว่ายังไม่ถึงสักที ท้อที่ทางมันไกลมาก แต่ถ้าเราเอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน คือตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น จะช่วยลดความทุกข์จากจิตใจได้ เพราะใจไม่ไปกังวลกับระยะทางหรือแดดร้อน
หลักง่ายๆ ของการเจริญสติคือตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ไม่ต้องไปจดจ่อที่ลมหายใจ ไม่ต้องไปจดจ่ออยู่กับการนับก้าวเพียงแต่รู้ว่ากายเคลื่อนไหว เวลาใจคิดนึก ก็รู้ว่าคิด ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้งแล้วกลับมาที่การเดิน เวลาใจเผลอไปคิดถึงเป้าหมาย ว่าเมื่อไรจะถึงๆ อีกตั้งนานกว่าจะถึง พอรู้ใจก็กลับมาอยู่กับการเดิน อันนี้เป็นวิธีที่ช่วยให้เราไม่ทุกข์เพราะใจที่ฟุ้งซ่าน
ต่อไปถ้าเรามีสติดีขึ้น เราก็จะรับรู้เวทนาได้ง่ายขึ้น เวทนาคือความปวดเมื่อย ถ้าเราไม่มีสติ ใจก็จะไปปักอยู่กับความปวดความเมื่อย ยิ่งปักอยู่ตรงนั้นก็จะยิ่งปวดยิ่งเมื่อย ยิ่งทุกข์มากขึ้นไม่ใช่แค่ปวดกายแต่ปวดใจด้วย ไม่ใช่แค่ร้อนกาย แต่ใจก็ร้อนด้วย เพราะใจไปปักอยู่ตรงนั้น แต่ถ้ามีสติรู้เฉย ๆ ความทุกข์ก็จะบรรเทา ให้เพียงแต่รู้ว่ามีความปวด รู้สึกว่าความปวดเมื่อยเป็นแบ็คกราวเฉยๆ อันนี้รวมถึงเสียงด้วยนะ เสียงทำให้ใจเรากระเพื่อมไหม ใจเราหงุดหงิดรำคาญไหม ถ้าใจหงุดหงิดรำคาญก็รู้ทัน ความหงุดหงิดจะเลือนหายไป เราสามารถเดินได้ด้วยใจสงบทั้งๆที่รอบตัวเสียงดังมาก เพราะใจเราไม่กระเพื่อมไปกับเสียง อันนี้ก็ต้องอาศัยสติ ถ้าไม่มีสติใจเราก็จะกระเพื่อมไปตามเสียง รวมทั้งกระเพื่อมเวลาปวดเมื่อยด้วย
ลองสังเกตดูเวลาปวดเมื่อย เห็นใจที่บ่นโวยวายหรือขุ่นเคืองไหม ดูความปวดเมื่อยอาจทำยาก แต่ถ้าดูใจที่บ่นโวยวายจะเห็นง่ายกว่า พอเรารู้ทันใจที่กระเพื่อม ขุ่นเคือง หงุดหงิด มันก็จะคลายไป แม้ความปวดความเมื่อยยังอยู่ แต่มันก็จะเป็นกายที่ปวดเมื่อย ส่วนใจไม่ทุกข์ไปกับกายด้วย
ขอแนะนำสั้น ๆ เท่านี้ อยากให้เราลองฝึกดู อาตมาเคยแนะวิธีนี้ให้คนเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมแล้วไปเหยียบถูกทางเดินของมด มดไต่ขาขึ้นมาทั้งรังเลย เขาก็ดูใจที่กระเพื่อมเวลามดขึ้นขา พอเห็นความกระสับกระส่าย ใจก็สงบ สักพักก็ถูกมดกัด เขาก็มาดูใจที่กระเพื่อม เป็นทุกข์ พอเห็น ใจก็สงบลง ถามว่าปวดไหม ปวด แต่ว่าใจไม่ทุกข์ไปด้วยกลับรู้สึกใจสงบ กายทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์นั้น เราทำได้ ถ้าเราเดินอย่างมีสติ มีสมาธิ การเดินทางไกลจะกลายเป็นเรื่องง่ายและไม่ทุกข์ทรมานเลย
พระไพศาล วิสาโล
ธรรมรับอรุณ เช้าวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ที่มา http://www.visalo.org/article/peaceWalkPattani01.htm