เขียนโดย ชันษา สุพรรณเมือง   

วันอังคาร ที่ 1 เดือนธันวาคม พ.ศ.2552

“เราท่านๆ ก็อาจตกเป็นผู้ถูกละเมิด แต่ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกละเมิด โดยซึมซับผ่านสื่อโดยวิธีการต่างๆ…..”

เชิญซึมซับสาระจากทัศนะเรื่องการละเมิดสิทธิการสื่อสาร  จากรายงานสดๆ สี่เดือนของเรียม-ชันษา สุพรรณเมือง อาสานักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 4 จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)

ความเข้าใจในองค์กรและงานที่ทำ

องค์กรที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษาปฎิบัติงานก็คือ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ เรียกย่อๆว่า คปส. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Campaign for Popular Media Reform หรือ CPMR ที่เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายนักวิชาการ, องค์กรพัฒนาเอกชน, นักวิชาชีพสื่อสารมวลชน และเครือข่ายประชาสังคมที่ร่วมกันติดตาม ผลักดัน และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่อมาโดยตลอด

เนื่องจากการระดมความร่วมมือในกลุ่มประชาสังคมอย่างต่อเนื่องนั้น มีความสำคัญต่อการรณรงค์แนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อ และการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ตลอดจนการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ ซึ่งดำเนินงานในลักษณะพหุภาคี โดยยังคงรักษาเป้าหมายและจุดยืนที่ชัดเจนในการปฏิรูปสื่อ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง ที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

คปส. เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยทางการสื่อสาร (Democratization of Communication) โดยมุ่งเน้นในการปฏิรูปสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้มีโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย มีระบบที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับการสื่อสารของภาคประชาชน

งานที่ทำก็จะเป็นการผลักดันในส่วนของนโยบายและกฎหมายของส่วนกลาง ผลักดันให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนเกิดการรู้เท่าทันสื่อ ผลักดันให้รัฐต้องส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีในทุกพื้นที่ของประเทศ จัดเวทีให้ความรู้ความเข้าใจในบริบทของวิทยุชุมชนที่แท้จริง
สถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิในงานที่ทำคืออะไร

ในองค์กรของข้าพเจ้า ปัญหาของการถูกละเมิดสิทธิคือ การที่ภาคประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพื้นที่ในการสื่อสาร เรื่องของเนื้อหาที่จะต้องไม่กระทบกระเทือนกับศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะต้องไม่กระทบความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งการตีความถึงสิ่งที่ไม่กระทบต่อศีลธรรมอันดี และความมั่นคงของรัฐตีความไว้กว้างมาก) เรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารในชุมชนหรือท้องถิ่น ที่ถูกจำกัดให้ต้องใช้ภาษากลางเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็อาจมีผลต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการสื่อสารถูกแทรกแซงจากรัฐ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มนายทุน

มีผลทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ในสิ่งที่เป็นความจริง ได้รับรู้ถึงสิ่งที่ถูกต้อง ต้องถูกปิดกั้นและถูกบิดเบือนไป ทำให้ประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง อีกทั้งยังเข้าใจในสิ่งที่สื่อกระแสหลักนำเสนอแบบผิดๆ เพียงเพราะต้องการจุดขาย หรือเพิ่มเรตติ้ง (Rating) เท่านั้น

แม้ว่าในปัจจุบันสิทธิที่ต้องการจะสื่อสาร จะมีการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับการสื่อสารของภาคประชาชน เกิดจากการต่อสู้ผลักดัน จนเกิดพื้นที่ 20%ของภาคประชาชน (อ้างตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี่ 2543) แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่อีกมาก ทั้งในเรื่องของภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ด้านเทคนิค เครื่องส่ง อินเตอร์เนต เทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ รวมถึงด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับใบอนุญาต และการปฎิบัติตัวภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

สิทธิในการสื่อสารแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนั้นกลุ่มผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ เช่นกัน

1. สิทธิในด้านที่จะเป็นผู้สื่อสาร กล่าวคือ กลุ่มที่เข้ามาใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่โดยการเข้ามาเป็นผู้ผลิตสื่อ ผู้ส่งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เนต มักถูกละเมิดจากการถูกปิดกั้นในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น กรณี คุณจอม  เพชรประดับ ที่จัดรายการเอ็กซ์คลูซีฟ สัมภาษณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีต้องยืดอกรับผิดชอบ โดยการประกาศลาออกทั้งทีไม่ได้ทำความผิดเพียงแต่เป็นการนำเสนอในฐานะสื่อมวล ชนคนหนึ่งเท่านั้น
2. สิทธิในด้านที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร คือ กลุ่มผู้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเราๆ ท่านๆ ทุกคนที่ถูกละเมิด และที่เลวร้ายกว่าคือการที่ผู้ถูกละเมิดเอง ก็ยังไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกละเมิดโดยการซึมซับผ่านสื่อโดยวิธีการต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น

* กรณีที่ละครหลังข่าวนำเสนอโดยการนำพี่น้องชาวอีสานมาแสดงบทบาท “คนใช้”       “คนจน” “คนที่พูดสำเนียงอีสาน” แล้วกลายเป็นที่ตลกขบขัน ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดในเรื่องของชาติพันธุ์ซึ่งบางครั้งเราเองก็ อาจไม่รู้สึกด้วยซ้ำไป
* กรณีของการนำเสนอในสิ่งที่ผิดบ่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชิน เช่น กรณีละครที่พระเอกข่มขืนนางเอก (ไม่ผิด), กรณีที่คนดี ฆ่า / ทำร้าย คนเลว (ไม่ผิด) ทั้งที่ในตัวบทกฎหมายก็ระบุอย่างชัดเจนว่าการข่มขืน การทำร้ายผู้อื่น และการฆ่าผู้อื่นล้วนแล้วแต่เป็นความผิดอาญาทั้งสิ้น
* กรณีที่สื่อของรัฐนำเสนอว่าการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้า การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การสร้างท่าเรือน้ำลึก โครงการโรงแยกก๊าซ-ท่อก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐอ้างว่าเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ นำพาความเจริญมาสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นการนำเสนอที่ผิดทำให้ประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ว่านี้เห็นว่ากลุ่มคนที่ออกมาคัดค้าน นโยบายการพัฒนาของรัฐ กลายเป็นจำเลยในสังคม เป็นผู้ที่ขัดขวางความเจริญของประเทศ
* การนำเสนอข่าวที่เป็นการฆ่าด้วยวิธีอำมหิตผิดมนุษย์ การข่มขืน การทารุณ การทำร้ายร่างกาย การหลอกลวงผู้คนด้วยวิธีการต่างๆ โดยเป็นการนำเสนอซ้ำไปซ้ำมาจนรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ธรรมดา ถ้าคิดจะทำต้องทำให้ยิ่งกว่า
ใครละเมิดใคร ใครได้เปรียบเสียเปรียบ

ฝ่ายละเมิดก็ได้แก่ รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล และกลุ่มนายทุน สืบเนื่องจากทรัพยากรคลื่นความถี่ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนจำกัด ดังนั้นผู้ที่มีอิทธิพล อำนาจ และเงินทุนก็สามารถที่จะเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่น้อยนิด ได้อย่างง่ายกว่าภาคประชาชนอย่างเราที่ไม่มีทั้ง อำนาจ บารมีและเงินทุน

เมื่อเป็นสื่อของรัฐ เป้าหมายการนำเสนอก็จะเป็นไปเพื่อการนำเสนอในมุมมองที่ดีๆ ของนโยบายรัฐ โดยไม่ได้นำเสนอในสิ่งที่เป็นผลเสีย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม อีกทั้งยังไม่มีความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือในบางครั้งก็จะทำการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไปเลย

เมื่อเป็นสื่อของผู้มีอำนาจก็จะใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาอำนาจต่อไปแบบไม่ รู้จบ  และเมื่อเป็นสื่อของกลุ่มทุนต่างๆ ก็จะใช้สื่อเป็นช่องทางในการแสวงหากำไร และแน่นอนฝ่ายที่เสียเปรียบ และถูกละเมิดก็คือประชาชนทั้งหลาย ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารก็จะเกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ตามที่ผู้สื่อต้องการจะสื่อสาร


ความคิดความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย ผลจากการละเมิด

กลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อสาร ผู้นำเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือผู้รับข้อมูลข่าวสารก็จะมีความรู้สึกเหมือนกันว่า ในเมื่อการสื่อสารไม่สามารถเป็นไปได้อย่างเสรี การเปิดพื้นที่ของการสื่อสารไม่ว่าจะมากแค่ไหนก็คงไม่เกิดประโยชน์ เพราะท้ายที่สุดก็จะต้องถูกปิดกั้นอยู่ดี อย่างกรณีของการโพสต์ข้อความลงบนอินเตอร์เนต ก็ค่อนข้างปิดกั้นมากๆ ในบางประเด็น จนแทบจะไม่สามารถสื่อสารอะไรได้ กลายเป็นว่าคนที่อยากบอกก็บอกไม่ได้ คนที่อยากรับรู้ก็ไม่สามารถรับรู้ได้ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ซ้ำซาก จำเจ และไม่เกิดประโยชน์


บทบาทของตนเองในการแก้ไขปัญหา  ในฐานะเจ้าหน้าที่ปฏิบติงานในองค์กรทำอะไร

ในปัจจุบันคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กำลังจัดทำหนังสือเกี่ยวกับคู่มือกฎหมายของวิทยุชุมชน ที่จะพูดถึงเรื่องสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย เรื่องความผิดตามกฎหมายจากการดำเนินการวิทยุชุมชน เรื่องของการปฏิบัติตัวหากมีกรณีร้องเรียนหรือถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งข้าพเจ้าในฐานะอาสาสมัครนักกฎหมายที่เข้ามาร่วมงานในองค์กร ก็มีส่วนในการช่วยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย หลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ แต่ถ้าในส่วนอื่นๆ ก็ยังคงเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อไป


มุมมองของตนเองต่อการแก้ไขปัญหา

มุมมองของตนเองในการแก้ไขปัญหา ก็คือการรณรงค์ การให้ความรู้ ความเข้าใจว่าตนเองกำลังตกอยู่ในบริบทของการถูกละเมิดสิทธิ ทำให้ประชาชนได้รู้ถึงสิทธิที่มีอยู่ของตนเองในการสื่อสาร ทั้งในกรณีที่เป็นผู้รับสาร และผู้ส่งสารว่าสามารถกระทำได้แค่ไหนเพียงใด


พัฒนาการของตนเองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร  เพราะอะไร

* เกิดการเรียนรู้ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อมากขึ้นว่ามีกี่อย่าง? อะไรบ้าง? มีประโยชน์อย่างไร? มีความสำคัญกับชุมชนหรือท้องถิ่นอย่างไร?
* มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสื่อที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และมีความเข้าใจในกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันกันในแต่ละฉบับมากขึ้น
* สามารถจับประเด็นในเนื้อหาของการประชุม การสัมมนาต่างๆ ได้
* มีทักษะในการสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ดีขึ้น (สื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การหนุนเสริมในการทำงาน การติดต่อ ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ)
* มีทักษะการพิมพ์ที่เร็วขึ้น เพราะถอดเทปการประชุม การสัมมนาอยู่เป็นประจำ (การถอดเทปทำให้สามารถเข้าใจการประชุมมากขึ้น เพราะต้องฟังซ้ำหลายๆ รอบ)
* มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่าง ภายหลังจากที่ได้สัมผัสกับบริบทในสังคมมากขึ้น
* ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมกรรมาธิการของ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทำให้ได้ทราบถึงแนวความคิดของกรรมาธิการแต่ละคน ในการออกกฎหมายในแต่ละมาตรา
* ได้ฝึกทักษะในด้านการเขียนไม่ว่าจะเป็นการเขียนข่าว เขียนบทความ และเขียนสรุปสถานการณ์ต่างๆ

สิ่งที่ตนเองต้องเรียนรู้เพิ่มเติมและปรับปรุง  และเรียนรู้เพิ่มเติมคืออะไร

    * ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในทักษะด้านภาษา  เพราะการทำงานของเราจะต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารจาก นักวิชาการ กรรมาธิการผู้ร่างกฎหมาย และการสัมมนาระดมความเห็นต่างๆ ที่มักจะมีการใช้ภาษาอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเราจึงจำเป็นทักษะในด้านภาษาเพื่อที่จะได้สามารถนำมาอธิบาย ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจง่ายขึ้น
* ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนของกฎหมายสื่อ ที่มีอยู่หลายฉบับให้มีความเข้าใจและสามารถหยิบนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูง สุดได้
* ความกล้าพูด กล้าแสดงออกในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม
* ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และความสะดวกในการทำงานเพิ่มขึ้น

ที่มา : http://www.thaivolunteer.or.th