เขียน: jamjit

“อาสาสมัครนักอ่าน”
ปันสุขจากการอ่านส่งถึงผู้รับด้วยตัวเราเอง

ขณะที่เรากำลังสนุกสนาน ความคิดโลดแล่นไปกับแฮรี่ พอตเตอร์ พ่อมดน้อยแห่งโรงเรียนฮอกวอร์ต มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากท่องไปในโลกแห่งจินตนาการเช่นนี้บ้าง  แต่พวก เขาไม่มีโอกาส สำหรับพวกเราที่มีความพร้อมโดยเฉพาะทางร่างกาย การอ่านหนังสือดูจะเป็นเรื่องปกติที่จะทำเมื่อใดก็ได้ แต่กับคนบางกลุ่ม เช่น คนชรา คนตาบอด การจะเข้าถึงสื่อที่เป็นแหล่งข้อมูลอันมหาศาลเช่นหนังสือแล้ว ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่ง

จึงเป็นเรื่องดี หากเราได้แบ่งความสุขที่ได้รับจากหนังสือ ส่งต่อไปยังคนอื่นๆด้วย

โครงการอาสาสมัครนักอ่าน เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้หรือTK Park  ร่วมมือกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กจัดขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีที่ จะบอกกับสังคมว่า การอ่านนั้นนอกจากจะมีความสำคัญต่อตัวผู้อ่านเองแล้ว  ยังก่อประโยชน์ให้ผู้ อื่นไปด้วยพร้อม ๆ กัน ถ้าการอ่านนั้นเป็นการอ่านดัง ฟังชัด   เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต และช่วยให้เกิดความงอกงามทางปัญญาทำให้ฉลาด  ทำให้รู้จักคิดและมีโลกทัศน์ ที่กว้างไกล ทั้งผู้อ่านและผู้ฟังด้วย

เป็นความจริงที่ว่า เราจะมีความสุขมากขึ้นไปอีก หากสังคมรอบข้างของเรามีความสุขด้วย เพราะเราต่างเชื่อมโยงกัน พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟังว่า เมื่อเราเห็นระฆังเงินใบน้อย รูปร่างสวยงาม  ถ้ามีแต่ตัวระฆังเงินเท่านั้นจะไม่ก่อประโยชน์อะไร ต่อเมื่อมีคนใช้ไม้มาเคาะ  ระฆังเงินจึงเกิดเสียงดังกังวานนั่นแสดงให้เห็น ว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน เช่นกัน  เก้าอี้ที่เรานั่ง เสื้อผ้า รองเท้าที่เราสวมใส่  ผมที่เราตัด  แว่นตาที่เราใส่ น้ำยาสระผม กิ๊บติดผม  และ ที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต คือ ข้าว เราล้วนไม่ได้ทำเอง ต้องมีช่าง ต้องมีชาวไร่ชาวนา  ต้องมีคนทำให้เราได้นำมาใช้ นำมาบริโภค นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนนั้น เราต้องพึ่งพาคนอื่น

“การใช้ชีวิตในแต่ละวัน  เราไม่ควรทอดทิ้งคนอื่น  ทุกคนต้องช่วยสังคม เพราะถ้าไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคมแล้ว  วันหนึ่งตัวเราเองจะกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของปัญหา”

ขณะที่ คะนิตย์ ผามะณี นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รับบริการอาสาสมัครอ่านหนังสือจากห้องสมุดคนตาบอดมานาน พูดถึงข้อจำกัดของคนตาบอดเช่นเขาว่า สิ่งที่ลำบากที่สุดคือการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาที่การค้นคว้าตำราสำคัญมาก อาสาสมัครจึงมีส่วนช่วยได้มากทีเดียว “หนังสือที่อาสาสมัครอ่าน โดยมากก็เป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้และไม่สนใจมาก่อน  เพราะปกติคนเราจะแสวง หาความรู้เฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ การที่มาอ่านให้ฟังพวกเราฟัง ก็ทำให้เรารู้ด้วย และคนตาบอดได้เข้าถึงความรู้หลากหลาย  ประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนอ่าน เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปถึงอีกหลายคน เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน”

ขณะเดียวกัน การอ่านออกเสียงให้คนอื่นฟังนั้น การอ่านแค่พอรู้เรื่องคงยังไม่เพียงพอ เพราะต้องอ่านให้ผู้ฟังเข้าใจ และเกิดจินตภาพด้วยพร้อมกัน

มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก หนึ่งในองค์กรร่วมจัดโครงการ อาสาสมัครนักอ่าน จึงจัดอบรมแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้มาฝึกฝนการอ่านออกเสียง ให้ถูกต้องชัดเจน อ่านออกเสียงดังให้ฟังกันได้ทั่วถึง ตลอดจนฝึกฝนให้รู้จักการทอดจังหวะและลมหายใจ เพื่ออ่านให้เป็นเสียงพูดอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะเพื่อการอ่านออกเสียงแล้ว ยังเป็นกระบวนการฝึกฝนให้เด็กและเยาวชนอ่านอย่างมีศิลปะ คือมีความงดงามที่เกิดจากการใช้เสียงสะท้อนความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำให้ปรากฏ ขึ้นในความรู้สึก และทำให้ผู้ฟังเกิดจินตภาพได้

หลังจากอาสาสมัครได้ฝึกฝนการอ่านอย่างถูกต้องแล้ว เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเผยว่า  เมื่ออ่านได้ อ่านดีแล้ว เราจะพากันไปอาสาอ่านให้คนอื่นๆฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความบกพร้องทางการมองเห็นและการได้ยิน  โดยใน ระหว่างวันที่ 1 – 7 เมษายน 2550  อาสาสมัครนักอ่าน จะออกไปอ่านหนังสือตามสถานที่ต่างๆ เช่น  สถานสงเคราะห์   องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก เด็กและผู้สูงอายุในชุมชนแออัด ผู้ต้องขังในทัณฑสถาน หรือ สถานสงเคราะห์คนชรา

สำหรับนักอ่านมือใหม่ที่อยากฝึกฝนเป็นนักอ่านที่ดีนั้น นักอ่านมืออาชีพหลายคน เช่น รศ. กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์    หรือ สายสวรรค์  ขยันยิ่ง ได้มาแนะนำเคล็ดวิชาแก่น้องๆที่เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักอ่านมาก มาย  คือ  นักอ่านต้องฝึกการออกเสียงให้สามารถพูดได้อย่างชัดถ้อยชัดคำมาก ขึ้น ฝึกการออกเสียงพูดให้ชัดบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น  อะ อิ อุ เอาะ เอะ ต้องเปล่งเสียงให้ออกมาจากข้างในให้ได้  ส่วนเรื่องที่จะอ่านออกเสียง เราต้องศึกษาเนื้อหา เพราะถือเป็นการเตรียมตัวเบื้องต้น   การอ่านควรระวังในเรื่องของการเว้นวรรค และการแบ่งช่วงของการหายใจ   นอกจากนี้ ถ้าไม่มั่นใจในการออกเสียง หรือการตีความในความหมายของคำบางคำต้องค้นหาในพจนานุกรม   ว่าในคำแต่ละคำนั้นอ่านออกเสียงอย่างไร มีความหมายอย่างไร

สุดท้ายเมื่อฝึกฝนจนได้ที่ เป็นอาสาสมัครนักอ่านแบ่งปันความรู้แก่ผู้อื่นด้วยความสามารถที่เรามี ทีนี้เราก็ได้สัมผัสแล้วว่า อ่านแฮรี พอตเตอร์ให้เพื่อนคนอื่นๆฟังพร้อมกันไปด้วย สนุกกว่าการนั่งอ่านคนเดียวเป็นไหนๆ