การเรียนรู้เพื่อ การพัฒนาทางปัญญาที่มองเห็นความเชื่อมโยงและการพึ่งพิง อาศัยของข่ายใยชีวิต สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่วิถีชีวิตมีความสะดวกสบายผ่านการใช้เงินตราและ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็น เรื่องที่ท้าทาย ยิ่งการที่จะตระหนักว่าสังคมมนุษย์ยังคงพึ่งพาอาศัย “ธรรมชาติ” นั้น ดูจะห่างไกลจากสำนึก ประจำวันไปเสียทุกที เป็นแต่เพียงคำลอยๆ สวยๆ ที่นิยมใช้เพื่อชื่นชม “ธรรมชาติ” ราวกับเป็นเพียง เครื่องประดับจำเป็นที่จะต้องมีไว้เพื่อความครบถ้วนทางวาทกรรมเท่านั้น ยิ่งคำๆ นี้ดำรงอยู่เพียงในความคิด หรือคำพูด อย่างขาดการสัมผัสตรงเท่าไร “ธรรมชาติ” ก็เป็นแค่เพียงมายาคติที่ถูกโหยหาและกล่าวถึง แอบอ้างอย่างผิวเผิน
การตระหนักรู้ถึงธรรมชาติของชีวิตที่เชื่อมโยงพึ่งพิง จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้สัมผัสตรงกับธรรมชาติ ในช่วงเวลาที่ยาวนานพอ และในภาวะการรับรู้ที่ละเอียดอ่อนมากพอแล้ว คำว่า “ธรรมชาติคือครูที่ยิ่งใหญ่” จะมีความหมายสำหรับเรามากกว่าหลักปรัชญางามหรู เพราะเราสามารถสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาที่มี ลักษณะเป็นองค์กรจัดการตัวเองของธรรมชาติ เราสามารถรับรู้และให้ความหมายพลังของธรรมชาติได้อย่าง หลากหลาย มีทั้งความธรรมดาเรียบง่ายและยิ่งใหญ่อลังการ มีทั้งความบรรสานกลมกลืนและความแตกต่าง อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน
วิกฤติของสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ ท้าทายความสามารถในการ “อยู่ร่วม” กันท่ามกลางความ แตกต่างหลากหลายทางความคิด คุณค่า และวิธีการอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เราจะพบ ความแตกแยก ความไม่ลงรอย ความรุนแรงทั้งแบบเปิดเผยและแบบหลบซ่อน ทั้งในองค์กรธุรกิจ องค์กรทาง วิชาการ และองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ ที่ผู้คนมีความตั้งใจหรือเจตนาที่ดีในการสร้างสรรค์สังคมให้มีสุข เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ก้าวหน้า มีการศึกษา และเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด
ผู้เขียนคิดว่า อารยธรรมมนุษย์ที่เดินทางมาสุดขั้วความเจริญทางวัตถุ กำลังเรียนรู้ที่จะเดินทางต่อด้วย การหวนคืนสู่การใช้เทคโนโลยีทางจิต ที่อาจดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่มีมูลค่าหรือราคาค่างวดใดๆ แต่กลับอาจ ส่งผลให้เราสามารถ “อยู่ร่วมกัน” กับตัวเองและผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนและอ่อนโยนยิ่งขึ้น การสัมผัสรับรู้ถึง “ธรรมชาติของชีวิต” จะทำให้เราเห็นว่า ชีวิตไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุมของเรา ธรรมชาติไม่ได้ถูกสร้างโดยมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม ธรรมชาติคือแหล่งกำเนิดหรือที่มาของชีวิตทั้งมวลรวมทั้งมนุษย์ นอกจากนี้ ธรรมชาติยังเป็น “บ้าน” เป็น “ฐานทรัพยากร” ให้กับอารยธรรมแห่งการบริโภคที่มีแต่จะเสื่อมโทรม และร่อยหรอลงทุกทีๆ แม้จะมีความพยายามในการ “จัดการ” ทรัพยากรเหล่านี้อย่างยั่งยืนเพียงใด ก็ดูจะเล็กน้อยไม่ทันอัตราการล้างผลาญที่กำลังเกิดขึ้น นี่อาจจะถึงจุดที่การจัดการที่สำคัญคือการจัดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สอด คล้องกับ “บ้าน” หลังนี้ของเรา
คุรุหรือผู้นำที่สามารถเป็นตัวอย่างแห่งการสำนึกรักและตระหนักรู้ในภาวะ พึ่ง พิงอาศัยของระบบชีวิตนี้ อาจไม่ได้อยู่ตามมหาวิทยาลัยหรือชุมชนวิชาการที่มีผลงานน่าเชื่อถือ แต่คือชุมชนที่ยังคงสืบทอดและดำรง วิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์เรื่อยมาอย่างถ่อมตัว หนึ่งในนั้นคือชาวปกาเกอญอแห่งบ้านสบลาน ที่อยู่อาศัยกันเพียง ๒๐ ครัวเรือน แต่รับผิดชอบดูแลผืนป่านับหมื่นไร่ในเขตพื้นที่ของอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา หลายปีก่อนหญิงชาวปกาเกอญอคนหนึ่งเคยกล่าว กับผมว่า “แม้ว่าเราจะเป็นคนตัวเล็กๆ และดูแลลำห้วยเล็กๆ ที่นี่ แต่เราก็รู้ว่าเรากำลังทำหน้าที่ดูแลแม่น้ำให้กับ คนพื้นราบ คนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ ไปด้วย เราคือคนตัวเล็กๆ ที่ดูแลคนกรุงเทพฯ และเราภูมิใจที่ได้ทำ อย่างนั้น”
ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ ผมได้นำพากลุ่มผู้ฝึกกระบวนกรในโครงการจิตตปัญญาศึกษา ที่เสมสิกขาลัยร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปเรียนรู้กับชุมชนสบลาน ในหัวข้อ นิเวศภาวนา (Ecological Quest) เป็นเวลา ๗ วัน โดยผู้ร่วมเดินทางประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และนักการละคร เป็นการเรียนรู้ผ่าน การสัมผัสตรงกับเรื่องราวของการอยู่ร่วมอย่างเป็นชุมชน มิติของความศักดิ์สิทธิ์และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างอ่อนน้อม ทั้งสองมิตินี้เป็นลักษณะสำคัญของ “จิตวิญญาณชนเผ่า” ที่อาจจะดูไม่ฮิบหรือล้าหลังไปใน ยุคออนไลน์ แต่ผมกลับเห็นว่าเป็นทางออกทางหนึ่งของสังคม ด้วยความเป็นตัวอย่างของความรู้ที่ได้รับ การผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวิถีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่หวานหูดูดีมีสำนึกทางนิเวศเท่านั้น
พวกเราใช้เวลาในการเรียนรู้ชีวิตที่ธรรมชาติและเรียบง่ายธรรมดาที่หมู่ บ้าน แล้วจึงเดินทางไป ภาวนาในป่าเพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตตัวเอง เป้าหมายชีวิต การคลี่คลายความสัมพันธ์กับผู้คนในอดีต หรืออาจค้นหาแรงบันดาลใจ ความกระจ่างชัดจากธรรมชาติ เพื่อนำกลับมาสู่การดำเนินชีวิตในเมือง อีกครั้งหนึ่ง การที่ได้มีเวลาอยู่กับธรรมชาติเพียงลำพัง ทำให้หลายคนได้เผชิญหน้ากับความกลัว ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ความหิว และความเบื่อหน่าย แต่เมื่อพวกเราผ่านความยากลำบากทั้งทางกาย และใจไปได้ ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นความผูกพันกับชีวิตที่แน่นแฟ้นและกลมกลืนยิ่งขึ้น รอยละอองของฝุ่น และคราบไคลบนผิวหน้าก็ไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกปลอมของชีวิตอีกต่อไป พร้อมกับใจที่กลมกลืนน้อมรับชีวิต แวดล้อมอย่างอ่อนโยนและยืดหยุ่น ราวกับได้กลับมารู้สึกอีกครั้งว่าธรรมชาติคือบ้านที่แท้จริงของเรา ดังที่บรรพบุรุษของเราอาจเคยตระหนักเช่นนั้น
ประสบการณ์นี้ช่วยย้ำเตือนให้พวกเราไม่หลงลืมธรรมชาติแห่งความเป็นปกติ และความเป็นเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยง อีกทั้งได้สัมผัสความอ่อนโยนและความกรุณาภายในตัวเอง ไม่เพียงแต่เท่านั้น ชาวปกาเกอญอเจ้าบ้าน ทั้งคนหนุ่มและผู้เฒ่าที่เป็นดังครูของพวกเรา ก็ยังได้ระลึกรู้ถึงความสำคัญและคุณค่าของพวกเขาเองที่มีต่อโลกและสังคมอีก ด้วย ผู้เฒ่าคนหนึ่ง “พะตีแดง” เคยกล่าวกับผมเมื่อหลายปีก่อนว่า “อยากให้พวกเรามากันบ่อยๆ พวกเราที่อยู่ที่นี่ จะได้ไม่หลงลืมว่าเราคือใคร และมีความหมายอย่างไร” ตอนแรกๆ ผมไม่เข้าใจนักว่าการมาของพวกเรา จะช่วยไม่ให้ชาวบ้าน หลงลืมคุณค่าของตัวเองได้อย่างไร แต่มาตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า การพึ่งพาอาศัยกัน และกันทางจิตใจนั้น ดำรงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ บทสนทนาที่เป็นมิตร และการอยู่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ช่วยทำให้เรารับรู้คุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่ของตัวเองได้
ชายหนุ่มปกาเกอญอคนหนึ่งได้กล่าวถ้อยคำจากใจกับพวกเราก่อนกลับว่า “ผมดีใจที่มีคนส่วนหนึ่ง เข้าใจปกาเกอญอ ผมภูมิใจกับความเป็นปกาเกอญอ ถึงแม้จะไม่รวย ความรวยไม่ทําให้คนสบายเสมอไป อาจจะสู้น้ำใจ รอยยิ้มไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่าเงิน อย่างพะตี (พวกผู้เฒ่า) อาจรวยอีกแบบ รวยธรรมชาติ แต่ถ้าในเมืองอาจมองอีกแบบ คิดว่าคนดอยไม่รู้อะไร อยากฝากทุกท่านว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิต จิตวิญญาณแบบนี้ วันใดถ้าผมไม่ได้อยู่ที่นี้ ผมก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ ผมจบ (การศึกษากับ) มีด จบมุย (ฆ้อน) จบหน้าแข้ง จบจากบรรพบุรุษ ผมจะทําอย่างนี้ตลอดไป การศึกษาไม่ใช่ไม่จำเป็น จําเป็น ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งเทคโนโลยีอาจพัฒนาอะไรบางอย่งผิดอยู่ ผมยังจับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เป็นห่วง อาจกระทบทั้งบ้านเมือง ไปทั้งหมด อยาก ฝากว่า ชาวบ้นที่นี้จะรักษาผืนป่านี้ จะภูมิใจ แม้ว่าเขาจะว่าว่าเป็นคนดอย คนปกาเกอญอก็จะไม่น้อยใจ จะมีแรงบันดาลใจ ความรู้สึกดีๆ จะไม่ลืม จะจําไว้ตลอดชีวิต ถ้มีโอกาส ก็ชวนให้กลับมาอีก ทุกคนยินดีต้อนรับเสมอ”
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มกราคม 2553