อย่าให้ CSR เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย นวลน้อย ตรีรัตน์ มติชนรายวัน วันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11351
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครองระยอง ได้มีคำตัดสินให้คณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้เขตพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ เพราะในขณะนี้เขตพื้นที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ และมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรงได้
คำตัดสินดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ว่า เขตพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด มีสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด โดยสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งมีค่าก่อมะเร็งเกินระดับเฝ้าระวังคุณภาพทาง อากาศในบรรยากาศ จำนวน 19 ชนิด ดังนั้น หากระบายออกมาเต็มที่ก็จะมีค่าเกินมาตรฐานตามค่าที่ได้รับอนุญาต ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ได้มีการรวบรวม เกี่ยวกับระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทยของจังหวัดระยอง ปี พ.ศ.2540 ถึง 2544 พบว่าการเกิดมะเร็งทุกชนิด และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของ อ.เมืองระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆ ของจังหวัดระยอง เป็น 3 เท่า ถึง 5 เท่า นอกจากนี้แหล่งน้ำจืด แม่น้ำ คลอง รวมถึงทะเลและน้ำบาดาลในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พบการปนเปื้อนโลหะหนักเกินมาตรฐาน คือ สังกะสี แมงกานีส สารหนู และพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินมาตรฐาน
แม้คำตัดสินดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลกับนักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมบาง ส่วนว่า จะกระทบต่อการลงทุนในอนาคต แต่ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ได้เคยประกาศเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้การลงทุนอุตสาหกรรมเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง แต่ต้องเป็นการลงทุนที่จะต้องระมัดระวังผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่สร้างผลกระทบเพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลจะต้องมีโครงการที่แน่นอนในการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาหรือการลงทุนทางอุตสาหกรรม กับชุมชน มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นหรือได้ยินข่าวการประท้วง ต่อต้านการเข้ามาของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จากชาวบ้านในชุมชนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้เขียนเคยถามชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ถึงสาเหตุของการต่อต้าน ทุกแห่งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้เคยไปดูหรือศึกษาสภาพของเขตมาบตาพุดมาแล้ว พบว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ในทางที่เลวร้ายลง รัฐบาลก็ไม่ดำเนินการแก้ไข หรือควบคุมแต่อย่างใด ชาวบ้านไม่อยากจะเชื่อใจรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว เขาไม่อยากมีชีวิตที่ตายผ่อนส่ง
ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่ากระแสของการผลักดันให้องค์กรดำเนินการโดยยึดหลักบรรษัทภิบาลใน การประกอบธุรกิจมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวคิดเรื่องการดำเนินการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility – CSR)
แต่ก็มีข้อวิจารณ์ที่ตามมาด้วยว่า องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้นำเรื่อง CSR มาเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ เป็นการสื่อสารทางการตลาด เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร และในบางแห่งได้นำ CSR มาใช้เพื่อกีดกันการแข่งขันทางการค้าเท่านั้น
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้นำเสนอหลักการประยุกต์ใช้ CSR ในธุรกิจว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น คือ ขั้นแรกเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายเเรงงาน เป็นต้น ขั้นที่สอง เน้นในเรื่องประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงความสามารถในการอยู่รอดและให้ผลตอบเเทนแก่ผู้ถือหุ้น โดยกำไรนั้นต้องมิใช่กำไรซึ่งเกิดจากการเบียดเบียนสังคม ขั้นที่สาม เป็นเรื่องจรรยาบรรณทางธุรกิจ หมายถึงธุรกิจควรดำเนินการโดยมีเป้าหมายในเรื่องผลกำไรของผู้ถือหุ้นควบคู่ กับผลตอบแทนต่อสังคม โดยธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้นได้ในอัตราที่เหมาะสมและผู้ประกอบ ธุรกิจได้ใส่ใจเพื่อให้ประโยชน์ตอบเเทนเเก่สังคมมากขึ้น และขั้นที่สี่ เป็นการดำเนินการขององค์กรตามเเนวทาง CSR ด้วยความสมัครใจ ไม่ได้เป็นเพราะถูกเรียกร้องจากสังคมแต่อย่างใด แต่เป็นการประกอบธุรกิจบนพื้นฐานที่มุ่งเน้นประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ
การสร้าง CSR ขององค์กรธุรกิจต่างๆ มักเป็นประโยชน์ที่เกิดกับธุรกิจโดยตรง เป็นการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรธุรกิจ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจว่าเป็นองค์กรที่คำนึงถึงสังคม มีความรับผิดชอบ และทำเพื่อสังคม
ซึ่งถ้ามีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและด้วยความจริงใจ จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร โดยสังคมสามารถรับรู้ได้ว่าการดำเนินการขององค์กรไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ การสร้างกำไรหรือผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่มีการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร และสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสังคมด้วย ตัวอย่างเช่นเป็นองค์กรที่คำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม ยึดหลักการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสังคม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหรือสังคม สนับสนุนและส่งเสริมการกระจายรายได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาล ที่การดำเนินการที่ดีขององค์กร จะต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้นับเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่รวมถึงพนักงาน ลูกจ้าง ผู้บริโภค พันธมิตรทางการค้า ตลอดจนชุมชนและสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ในประเทศไทย องค์กรธุรกิจจำนวนมากยังถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานประชาสัมพันธ์หรือ การตลาด โดยจุดมุ่งหมายของการทำ CSR ยังคงเป็นแค่การประชาสัมพันธ์ให้รู้จักกับองค์กร เป็นการสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เป็นข่าว หรือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ หรือใช้เพื่อสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และตราสินค้า (Brand) ขององค์กร กลยุทธ์ประเภทนี้ จะมีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่นการแจกผ้าห่ม สร้างโรงเรียน ปลูกป่า เป็นต้น หรือใช้ CSR เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ
ประเภทสุดท้ายมักเป็นองค์กรที่การดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง จึงทำให้การดำเนินการจะต้องได้รับการยอมรับของชุมชน เพราะหากถูกต่อต้านจากชุมชนจะทำให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปด้วยความยาก ลำบาก และอาจขยายตัวจนทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการหรือขยายตัวได้
ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างกลไก หรือดำเนินการกิจกรรมที่ทำให้บริษัทเป็นที่ยอมรับจากสังคม และชุมชนในพื้นที่ ลักษณะกิจกรรม CSR ประเภทนี้จึงมักจะดำเนินการในพื้นที่ที่บริษัทตั้งอยู่หรือดำเนินงานอยู่ เช่น การบริจาคเงินให้ชุมชน การจัดทำโครงการพัฒนาชุมชน การพัฒนาอาชีพของชาวบ้านในชุมชน การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในชุมชน การจ้างคนในชุมชนให้ทำงานในโครงการที่บริษัทริเริ่มขึ้น เป็นต้น ตัวอย่างขององค์กรประเภทนี้ เช่น การจัดตั้งกองทุนพัฒนาในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เป็นต้น
แต่ถ้าการดำเนินการของ CSR เป็นไปเพื่อเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้มีความจริงใจที่จะทำให้แนวคิดทางด้าน CSR เป็นส่วนเดียวกันกับการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด เช่นองค์กรจำนวนมากที่ทุ่มงบประมาณค่อนข้างมากในการจัดกิจกรรมทางสังคม และการโฆษณาว่าเป็นองค์กรที่คำนึงถึงสังคม แต่ในการดำเนินงานกับหาทางที่จะลดต้นทุนทางการผลิต โดยปราศจากการคำนึงถึงหรือรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน หรือปราศจากแนวคิดที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่
ถ้าระดับการดำเนินการ CSR ขององค์กรธุรกิจ ยังเป็นเช่นนี้อยู่ เราก็ยังคงได้เห็นความขัดแย้ง ความไม่เชื่อใจ และการต่อต้านของชุมชนต่อการพัฒนา และสุดท้ายความร่วมมือและการพึ่งพากันระหว่างสังคม ชุมชน กับธุรกิจก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้