บทความโดย พระไพศาล วิสาโล

ทุกๆ ปีอาตมาจะชวนเด็กๆ และเยาวชน ไปเดินธรรมยาตราบริเวณภูเขาใกล้ๆ กับวัดที่อาตมาพักอยู่ คือที่จังหวัดชัยภูมิ ทำมาสิบปีแล้ว ใช้เวลาเดินแปดวัน ประมาณเก้าสิบกิโลเมตร เดินตากแดด ในช่วงเดือนธันวาคม ไม่ค่อยมีเมฆเท่าไหร่นัก อาตมาจะบอกพวกเขาว่า การที่เราเดินนี้ไม่ใช่แค่เพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เดินเพื่อฝึกสติด้วย ให้การบ้านเขาว่า เดินอย่างไรแม้กายจะเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย กายร้อนแต่ใจไม่ร้อน ทำได้หรือไม่

เด็กนักเรียนบางคนพ่อแม่เขามีฐานะดี เดินแค่สองสามวันแรกก็อยากกลับบ้าน ทนไม่ไหว เพราะว่ามันร้อน เหนื่อย อาตมาจึงบอกวิธีการเดินให้ คือเวลาเดินให้มีสติอยู่ที่การเดิน อย่าไปคิดถึงเป้าหมายข้างหน้า ให้ดูใจเวลาร้อนกาย ดูใจที่หงุดหงิด มีสติเห็นใจที่กระสับกระส่าย ใจกระเพื่อม หลายคนพบว่าเมื่อเห็นใจที่หงุดหงิด ความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยก็หาย มันร้อนแต่กาย แต่ใจไม่ร้อน

เด็กคนหนึ่งอายุเก้าขวบ คุณแม่พามาเข้าร่วมด้วย ถามว่า “หนูเหนื่อยไหม” “ไม่เหนื่อยครับ” แกบอกว่าเวลาเดินตาจะจ้องมองที่เท้าของคนข้างหน้า ใจก็ไม่เลยรับรู้ความร้อนหรือความเหนื่อย นี่คือสติปัญญาของเด็กที่ไม่มีคนสอน ประสบการณ์สอนให้แกรู้จักเอาใจไปจดจ่อกับเท้าของคนข้างหน้า บางคนก็ใช้วิธีนับก้าว นับได้หลายพันก้าว กลายเป็นความเพลิน ลืมความร้อนไปเลย เพราะว่าฝึกจิตเอาไว้ ปรุงแต่งให้เป็นบวก ใช้สติใช้สมาธิ กายร้อนแต่ใจไม่ร้อน แม้จะมีทุกขเวทนาแต่ใจสงบได้

เมื่อปลายปีที่แล้วอาตมาไปจัดอบรมที่ชุมพร ทุกเช้าจะมีการเดินจงกรม เดินบนกรวดด้วยเท้าเปล่า แต่ไม่ใช่ตลอดเวลาเพราะบางครั้งก็ไปเดินบนหญ้า อาตมาแนะว่าเวลาเดินให้มีสติอยู่กับการเดิน รู้สึกถึงเท้าที่เคลื่อน รวมทั้งรู้ใจเวลาฟุ้งซ่านหรือกระสับกระส่ายด้วย ถ้าเจ็บก็เห็นความเจ็บ หรือเห็นใจที่ขุ่นเคือง ใจที่กระสับกระส่าย มีหลายคนที่ทำได้ เดินแล้วรู้สึกสบาย

แต่ไม่ใช่แค่นั้น สองสามวันสุดท้าย มีฝนตก พอฝนตกมดก็ออกมาเพ่นพ่านตามถนน มดหลายรัง รวมแล้วเป็นพัน ๆ ตัว พอเราเดินจงกรม มดก็ไต่ตามเนื้อตามตัว ปรากฏว่าตลอดทางมีเสียงเปาะแปะ เพราะบางคนเดินปัดมด บางเดินกระทืบเท้า เพื่อสะบัดมดให้หลุด หาความสำรวมไม่ได้เลย มดบางตัวเข้าไปในร่มผ้าก็ต้องดึงมันออกมา

พอเดินเสร็จ ก็มีการคุยกัน อาตมาแนะว่า เวลามดกัด ให้เห็นความเจ็บ หรือเห็นอาการของใจที่กระเพื่อม จริง ๆ แล้วร่างกายของเราทนได้ แต่ใจต่างหากที่ทนไม่ได้ เพราะไม่มีสติ วันรุ่งขึ้นก็เดินจงกรมกันใหม่ มีนักปฏิบัติคนหนึ่งเล่าว่าได้ทำตามที่อาตมาบอก ตั้งใจไว้เลยว่า วันนี้ถ้ามดกัดจะมีสติ พอเดินผ่านรังมด มดก็ไต่ขึ้นมาตามขา ความกลัวเกิดขึ้นทันที เธอก็ไวนะ รู้เท่าทันความกลัว พอรู้ว่ากลัว ความกลัวก็ดับไป พอมดกัดเธอก็ดูความเจ็บ เห็นความเจ็บ แสบ ร้อนจี๊ดๆ เหมือนโดนธูปจี้ แล้วก็รู้สึกถึงกล้ามเนื้อที่เกร็ง หัวใจเต้นเร็ว กัดฟันเม้มปาก กะพริบตา พอเห็นอย่างนั้น กายก็ผ่อนคลาย ทีนี้เธอก็มาดูที่ใจ เห็นอาการกระสับกระส่ายของจิต เห็นมันกระเพื่อม เห็นแล้วมันก็ดับไป กลายเป็นความนิ่งสงบ

เธอแปลกใจมากว่า ใจสงบได้ทั้งๆ ที่ถูกมดกัด เธอพบว่า ความเจ็บปวดก็อันหนึ่ง ลมหายใจก็อันหนึ่ง จิตที่สงบนิ่งก็อันหนึ่ง มันแยกกัน เธอบอกว่าตอนนั้นรู้สึกขอบคุณมดมาก เรียกเขาว่าอาจารย์มด และรู้สึกสงสารมด เป็นเพราะเราไปเหยียบเขา ไปรังควานเขา เขาจึงกัด เธอไม่รู้สึกโกรธมดเลย เมื่อเราไม่โกรธ ไม่เกลียดเขา ใจก็ไม่เป็นทุกข์ ถามว่าเธอเจ็บไหมที่มดกัด ก็ยังเจ็บอยู่ แต่ใจไมทุกข์ด้วย เธอมีความสุข ใจสงบทั้ง ๆที่ถูกมดกัดนับสิบ ๆ ตัว

เห็นไหมว่า คนเราสามารถมีความสุขได้ทุกสถานการณ์ ไม่ใช่ว่าจะเป็นสุขได้ต่อเมื่ออยู่ในห้องที่เย็นสบาย ไม่ใช่ว่าจะมีสุขได้เมื่อได้อยู่กับคนที่เรารัก หรือได้ยินคำสรรเสริญ แม้แต่เวลาเราอยู่กลางแดด เวลาถูกมดกัด หรือเวลาเราป่วย หรือประสบเหตุร้ายจนพิการ ก็ยังมีความสุขได้

ผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนที่จิตใจดีมาก ชอบพาเยาวชนไปทำค่าย คราวหนึ่งไปทำค่ายที่แม่ฮ่องสอนแล้วก็เดินทางต่อเพื่อไปสำรวจสถานที่ที่ จังหวัดตาก ปรากฏว่าระหว่างทาง ขณะที่เลี้ยวเลาะตามไหล่เขา ก็เกิดอุบัติเหตุรถตู้พลิกคว่ำ ตกลงจากไหล่ถนน เพื่อนๆ ทุกคนปลอดภัย แต่เขาพิการครึ่งตัว นับตั้งแต่เอวลงมา

มีหลายคนมาเยี่ยมเขา บอกว่า นี่ขนาดไปทำบุญยังเกิดอุบัติเหตุ แต่เขาคิดอีกอย่าง เขาบอกกับเพื่อน ๆ ว่า “เพราะเราไปทำบุญ เราถึงเหลือตั้งเท่านี้” คือรอดมาได้ครึ่งตัว ถ้าไม่ได้ทำบุญคงไม่เหลือแล้ว คือเขายิ้มได้แม้พิการ สามารถมีความสุขได้ทุกสถานการณ์

ดังนั้น เราทุกคนมีความสุขได้ทุกที่ มีความสุขได้ทุกสถานการณ์ นี่เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ และควรทำทุกเวลาด้วย

 

ที่มา :  http://www.visalo.org/book/yooTukTee.htm