ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency)
ฉบับที่ 107 (9 มิถุนายน 2554)
อนาคตคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล 10 โอกาสเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิอาศัย อยู่ในประเทศไทยหลายกลุ่ม ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีทั้งในส่วนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมแต่ตกสำรวจจากทางราชการ และกลุ่มที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเหตุผลทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยบางส่วนไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้จำนวนประมาณ 1-2 ล้านคนเศษ และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สถานภาพการดำรงชีวิตของบุคคลดังกล่าวไม่เอื้อต่อความมั่นคงและสิทธิ ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้นหากปล่อยไว้โดยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของ ชาติในระยะยาวอย่างรุนแรง โดยผลกระทบดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะที่จะเกิดจากกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้โดยตรงเท่า นั้น แต่จะรวมถึงกลุ่มบุตรหลานที่จะเกิดขึ้นในภายหลังซึ่งจะมีปัญหาด้านสังคมตาม มา อันจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของสภาพปัญหาให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย[1]
อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้ตระหนักดีถึงความสำคัญของบุคคลกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยมีการพิจารณาที่จะบรรจุประเด็นดังกล่าวในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 11 เพื่อจัดระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของประเทศ และความต้องการทางเศรษฐกิจควบคู่กัน จากการประมวลบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้
มีปัญหาสถานะบุคคลในอนาคต อย่างน้อยมี 10 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
(1) ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา รวมแนวชายแดนระยะทางประมาณ 5,502 กิโลเมตร มีช่องทางการค้าชายแดนระหว่างกันกว่า 70 จุด รวมทั้งมีการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประตูการค้าเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor) เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การค้าชายแดนมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาค รวมถึงในเรื่องของการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงานข้ามชาติ และปัจจัยการผลิตอย่างเสรีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศไทยยังขาดการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับในเรื่องนี้ เช่น จังหวัดชายแดนขาดหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนบ้าน และการมีอำนาจในการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติแถบชายแดนได้โดยตรง
(2) ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศพม่าที่มีปัญหาการถูกปิดกั้นทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศ ตะวันตก และมีปัญหาชนกลุ่มน้อยภายในที่ยังมีความขัดแย้งและสู้รบ ส่งผลให้เกิดการลี้ภัยของประชาชนเข้ามาในประเทศไทยบ่อยครั้ง รวมถึงประเทศไทยเองก็ไม่มีนโยบายการจัดการด้านผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน ยิ่งทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ซึ่งหวาดกลัวภัยจากความตายเนื่องจากการต้องถูกส่ง กลับ จึงต้องผันตนเองจากผู้ลี้ภัยกลายเป็นแรงงานข้ามชาติเพื่อความอยู่รอดของ ชีวิตแทน ดังนั้นการพิจารณาถึงการมีนโยบายจัดการประชากรข้ามชาติอย่างเป็นระบบใน ประเทศไทยที่สอดคล้องกับบริบทของคนทุกกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
(3) แนวทางบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน อาทิ การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ตามพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือการไม่มีการสร้างระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของกลุ่มต่าง ชาติพันธุ์ รวมถึงยังเห็นได้จากอัตราส่วนแรงงานข้ามชาติที่ต้องเสียชีวิตจากโรคที่ ป้องกันได้สูงขึ้น มีการแบ่งแยกสร้างความเกลียดชัง เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการรองรับ แรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาในประเทศมากขึ้นในอนาคต
(4) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเข้าถึงสิทธิและกระบวนการทางยุติธรรม ยังเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่สำคัญในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหา สถานะบุคคล ในด้านเศรษฐกิจ ประชากรกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานที่มีคุณค่าได้ การทำงานต้องเผชิญกับความเสี่ยง/ความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม เมื่อประสบปัญหาและต้องการการเข้าถึงสิทธิและกระบวนการทางยุติธรรมเป็นไปได้ ยาก ทั้งข้อจำกัดจากการสื่อสารและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น นอกจากนั้นการเข้าถึงบริการทางสังคมยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา หรือการคุ้มครองแรงงาน นี้ยังมิพักกล่าวถึงเรื่องของการถูกกีดกันออกจากระบบกฎหมาย ขาดสิทธิที่ได้รับการยอมรับ ยิ่งทำให้มีความเปราะบางต่อการถูกเอาเปรียบ ถูกเลือกปฏิบัติ แสวงหาสินบนมากยิ่งขึ้นไปอย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวในขณะเดียวกันรัฐบาล ไทยก็ได้ดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยพยายามส่งเสริมสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนทุกกลุ่มภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสได้ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือทางสังคม การประกันสังคม และการบริการทางสังคม
(5) โครงสร้างประชากรไทยมีแนวโน้มประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ทำให้จำเป็นต้องมีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 15 ปีข้างหน้า ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนในอนาคต พบว่าสัดส่วนประชากรเด็ก: แรงงาน: ผู้สูงอายุ = 20.5: 67.6: 11.9 ในปี 2553 และจะลดลงเป็น 18.3: 66.9: 14.8 ในปี 2559[2] แต่อย่างไรก็ตามความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจกลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นการขาดแคลนแรงงานไทยจะเป็นปัญหาสำคัญ ผนวกกับสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจะมีมากขึ้น ทั้งการเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ และเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย
(6) ความคืบหน้าของพรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติกับการค้ามนุษย์มีความเชื่อมโยงและคาบเกี่ยว กัน เนื่องจากมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ การมีพรบ.ฉบับนี้ได้ทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางที่จะวิเคราะห์กรณีที่มีผู้ เสียหาย อันจะนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้อย่างสอดคล้องและมีกลไกการช่วย เหลือดูแลที่ชัดเจน
(7) รัฐบาลไทยมีนโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึงคุณภาพชีวิตแรงงานทุกกลุ่มมากยิ่ง ขึ้น ซึ่งแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับการคุ้ม ครอง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นมาของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 รวมถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ… หรือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับบูรณาการแรงงาน) พ.ศ….. เหล่านี้ถือว่าเป็นการเอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานมากยิ่งขึ้น
(8) ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาหลักด้านต่างๆที่จะเอื้ออำนวยให้แรงงาน ข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้รับการคุ้มครอง เช่น ด้านสิทธิมนุษยชนจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ (1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และพิธีสารเลือกรับเรื่องการรับข้อร้องเรียน (4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพิธีสารเลือกรับทั้ง 2 ฉบับ เรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันทางกำลังอาวุธ และเรื่องการค้าเด็ก โสเภณีเด็กและสื่อลามกเด็ก (5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (6) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และ (7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ในขณะเดียวกันยังเป็นภาคีกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ค.ศ. 1949 รวมอีก 4 ฉบับ นอกจากนั้นประเทศไทยกำลังพิจารณาที่จะลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยบังคับ รวมถึงประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศจำนวน 14 ฉบับ และมีเจตนารมณ์ที่จะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
(9) การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี 2558 การเป็นประชาคมอาเซียนเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศไทย ทั้งนี้การจัดตั้งประชาคมอาเซียนมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Committee: ASC) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: SCC และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ซึ่งถือเป็น 3 เสาหลัก ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ในส่วนของประเทศไทย การรวมตัวกันอย่างใกล้ชิดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวจะช่วยเพิ่ม โอกาสในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ในการแก้ไขปัญหาหรือการเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น การค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการวิจัยเรื่องแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน ตั้งแต่ปี 2550-2553 ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับระบุว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีแนวโน้มที่จะทำให้มีเด็กเร่ร่อนที่เป็นเด็กข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยมาก ขึ้นถึง 50% โดยเด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กพม่า กัมพูชา ลาว อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมและการขายบริการทางเพศสูงขึ้น
(10) แนวนโยบายของรัฐบาลไทยในระดับชาติ รัฐบาลไทยได้มีความพยายามในการจัดการกับปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา สถานะบุคคล และการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะ บุคคล ไม่ว่าจะเป็น
(1) การมีแนวกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
(1.1) ด้านสุขภาพ ในมาตรา 51 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้ มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะ สมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงในมาตรา 80 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบาย ด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ในข้อที่ (2) ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่าง ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการ สาธารณสุขโดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐาน วิชาชีพและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย”
(1.2) ด้านการศึกษา ในมาตรา 49 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้อง จัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ”
(2) นโยบายของรัฐบาลไทย
(2.1) มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 เรื่องสุขภาพ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้มีการจ้างพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ช่วยงานในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งต่อมากรมบัญชี กลางได้เปิดช่องให้ใช้งบประกันสุขภาพในการจัดจ้าง พสต. ได้
(2.2) มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ มติครม.ดังกล่าวครอบคลุมกลุ่มบุคคลตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและ สิทธิของบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ ครม.มีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3,4,5,8) (2) กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6,7) และ (3) กลุ่มที่ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0) ซึ่งเป็นนักเรียนในสถาบันการศึกษา, คนไร้รากเหง้า และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์เป็นเงิน 472,823,683.30 บาท รวม 457,409 คน
(2.3) มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เรื่องการศึกษา กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายโอกาสทางการศึกษาของบุคคลในกลุ่มดังกล่าวซึ่งทำ ให้เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งรวมถึงเด็กชาติพันธุ์ เด็กไร้รัฐ บุตรของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งเด็กที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองทุกคน มีสิทธิเรียนฟรี 15 ปี รัฐบาลได้จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กกลุ่มนี้ในอัตราเดียวกับค่าใช้จ่าย รายหัวที่จัดสรรให้กับเด็กไทย และเมื่อจบการศึกษาแล้ว เด็กกลุ่มนี้มีสิทธิที่จะได้รับวุฒิบัตรเช่นเดียวกันกับเด็กไทย” ทั้งนี้ในมติครม.นี้ ได้ยกเว้นผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่ายังคงให้เรียนอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว โดยในขณะนี้องค์กรเอกชนระหว่างประเทศได้มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถม ศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 4 ในพื้นที่พักพิงทั้ง 9 แห่ง อย่างไรก็ตามหลักสูตรการศึกษายังไม่ได้รับการรับรองจากระบบการศึกษาภายนอก
(2.4) มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม 2548 เรื่องสถานะบุคคล กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหา สถานะและสิทธิของบุคคล ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้คำนึงถึงความรอบคอบและความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ให้จัดทำโครงการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตน สำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร และโครงการเร่งรัดให้สถานะตามกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ ไทยติดต่อกันเป็นเวลานานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล”
(2.5) ในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยได้ประกาศถอนข้อสงวนของไทยต่อข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประกันสิทธิของเด็กที่จะได้รับการจดทะเบียนเกิดทันทีภายหลังจากการเกิด และสิทธิที่จะได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ในปัจจุบันเด็กทุกคนที่เกิดในไทยมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเกิดตามพระราช บัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2551 และภายใต้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2551 นั้น บุตรของบุคคลต่างด้าวหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะ เวลานานหากเกิดในไทยมีสิทธิที่จะขอสัญชาติไทยได้ แต่หากมิได้เกิดในไทยแต่จบสถาบันอุดมศึกษาในไทยก็มีสิทธิขอสัญชาติไทยได้ กรณีเด็กไร้รากเง้าหากอยู่ในไทยอย่างน้อย 10 ปี และมีหลักฐานการเกิด ก็สามารถขอสัญชาติไทยได้เช่นกัน นอกจากนี้กรณีบุตรของแรงงานอพยพข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการดำเนินการที่จะให้เด็กเหล่านี้ได้รับสัญชาติตามบิดาและมารดาของประเทศ ต้นทาง โดยได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานการจดทะเบียนการเกิดและการพิสูจน์สัญชาติของ บิดามารดาที่เป็นแรงงานอพยพข้ามชาติ
(2.6) สิทธิในการทำงานและได้รับการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิได้รับค่าแรงที่ไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตาม กฎหมายกำหนด ชั่วโมงการทำงาน ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการต่างๆ ในอัตราที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณอย่างเดียวกัน ดังนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ได้รับการจ้างงานในฐานะแรง งาน ก็ย่อมได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและมีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกับกับแรงงานประเภทอื่น ๆ
นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า
ปี 2548 รัฐบาลไทยเปิดให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวและกัมพูชาได้ดำเนินการพิสูจน์ สัญชาติ เพื่อปรับสถานะจากแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไปสู่การมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ปี 2549 มีการขยายการประกันสุขภาพไปยังครอบครัวและผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติตาม ความสมัครใจ ทำให้ผู้ติดตามสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น
ปี 2551 เกิดแนวปฏิบัติด้านการประกันสุขภาพ ที่ได้เปิดกว้างให้กับแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่ไม่มีเอกสารใดๆเลยเข้า ถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น โดยให้แต่ละสถานบริการพิจารณาตามความเหมาะสมได้ด้วยตนเอง
ปี 2552 กระทรวงแรงงานเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในกิจการบางประเภท ที่ไม่สามารถจดทะเบียนในปีที่ผ่านๆมาได้ ก็สามารถจดทะเบียนได้แล้ว เช่น กิจการสถานศึกษา มูลนิธิ สมาคมและสถานพยาบาล, กิจการให้บริการต่างๆ เช่น ซักอบรีด การบริการที่พัก เป็นต้น
ปี 2553 สำนักงานประกันสังคม ตื่นตัวและดำเนินการชี้แจงเรื่องหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน และการให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน พร้อมทั้งจ่ายเงินสมทบ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
ปี 2554 มิถุนายน รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันมีแรงงานมากกว่าหนึ่งล้านคนที่ทำงานแบบไม่ถูกกฎหมายและ เข้าไม่ถึงการจดทะเบียน ทำให้แรงงานต้องเผชิญกับการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิด้านสุขภาพ เป็นต้น
โดยสรุปจากที่กล่าวมาจึงเห็นชัดเจนว่าวันนี้สถานการณ์การพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็น คนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง เข้าถึง สิทธิขั้นพื้นฐาน และบริการของรัฐอย่างมีคุณค่าและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมอนาคตที่น่าอยู่และทุกคนสร้างร่วมกันได้จริง
เขียนโดย : บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
[1] ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548
[2] (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11
——————————————————————
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน(cross border news agency) เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย (แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ) รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น
ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัวและการลงแรงลงใจของกลุ่มเืพื่อนสนิทที่เชื่อว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา” เริ่มต้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552
ปัจจุบันศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนดูแลโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ และ บัณฑิต แป้นวิเศษ