หัวใจแห่งอาสา
จาก มูลนิธิกระจกเงา
เรื่อง : ลิปิการ์

ป๊อก… ก เสียงก้อนหินกระทบกัน สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการสร้างฝายชะลอน้ำถูกวางลงในตำแหน่งที่เหมาะสม เหล่าอาสาสมัครและทีมงาน ส่งเสียงเฮดังก้องดอย ภารกิจสำหรับวันนี้สิ้นสุดลงแล้ว

ทุก คนต่างพากันนั่งพักใต้ร่มไม้ มองดูความสำเร็จที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและแรงกาย บรรยากาศรายรอบเงียบสงัด ได้ยินเพียงเสียงลมพัดกระทบใบไผ่อย่างแผ่วเบา จู่ๆอาสาสมัครคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า “แล้วฉันจะกลับมา มาดูว่า
ฝายนี้สร้างคุณค่าให้ที่นี่อย่างไร” นั่นคือประโยคสุดท้าย ก่อนที่เราจะพากันทยอยขนสัมภาระกลับที่พัก
ตาม ธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น ทั้งอาสาสมัครและทีมงานจะร่วมเวทีสนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ไข และปรับใช้ในงานครั้งต่อไป ซึ่งเราเรียกกิจกรรมนี้ว่า “การถอดบทเรียน”

กิจกรรมดำเนินไปด้วยดีเหมือนเช่นเคย ทุกคนต่างช่วยกันบอกกล่าว ซักถามและแนะนำ แน่นอนว่าบรรยากาศของความร่วมมือร่วมใจเช่นนี้เกิดขึ้นได้ เพราะทุกชีวิตที่รวมตัวกันอยู่ คือผู้ที่มีจิตแห่งอาสาเหมือนกัน เวลาที่ล่วงเลยไปนำพาความเงียบเข้าคลืบคลาน ผลสืบเนื่องมาจากความอ่อนล้าที่สะสม แต่แล้วผู้นำกิจกรรมก็ดึงความสนใจของสมาชิกทุกคนได้อีกครั้ง ด้วยคำถามที่ว่า “รู้มั้ย…ว่านิยามของอาสาสมัครคืออะไร”

ผู้ที่เชื่อว่าตนเองมีหัวใจอาสาพากันยกมือตอบ “อาสาคือผู้ให้” อาสาสมัครจากศรีราชาคนหนึ่งยกมือตอบ “ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” อาสาสมัครจากกรุงเทพฯอีกคนพูดเสริม คำตอบนี้มีผู้สนับสนุนไม่น้อย วัดได้จากเสียงปรบมือ และอีกหลายคำตอบที่หลั่งไหลมีทั้ง “อาสาคือเมื่อทำแล้วสบายใจ” “อาสาคือการทำเพื่อส่วนรวม” “อาสาคือผู้เสียสละ” กระทั่ง “อาสาคือคนทำดี” คำถามนี้ถือเป็นคำถามปลายเปิด ซึ่งผู้นำมีจุดประสงค์ให้ผู้ที่อาสามาร่วมกันทำกิจกรรมครั้งนี้ ทบทวนดูความคาดหวังของตนเองก่อนจะลาจากกันไป

นาย สำราญ ลุนบุดดา อาจารย์ประจำภาควิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย อาสาสมัครคนหนึ่งที่แวะเวียนมาร่วมกิจกรรมกับเราเสมอ หากนับรวมรุ่นนี้ก็ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว อาจารย์ได้ให้ความเห็นถึงนิยามของอาสาสมัครไว้ว่า “สมัยเรียนครูเคยนะ ออกค่ายอาสา สร้างบ้าน สร้างโรงเรียน แต่มันก็ไม่ได้ความรู้สึกแบบนี้ อาจเป็นเพราะมันเชื่อมโยงกับวิชาเรียน เชื่อมโยงถึงผลการเรียน เราเลยไม่ได้สนใจความสำคัญของการออกค่าย และไม่ได้คำนึงถึงปัญหาของชุมชนที่เราเข้าไป ซึ่งมันแตกต่างจากครั้งนี้

ครูทราบข่าวรับอาสาสมัครสร้างฝายด้วยความบังเอิญ แต่เมื่อครูพิจารณาแล้วว่าสิ่งที่โครงการฯตั้งใจทำเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริง ในฐานะคนบ้านใกล้เรือนเคียงครูจึงตัดสินใจมา ครูบอกได้เพียงว่า…“คิด ถูกแล้ว การเป็นอาสาสมัครทำให้ครูมีโอกาสได้รู้จักกับคนอีกมากมาย ทำให้ครูได้เรียนรู้และสัมผัสถึงคุณค่าของชีวิตเพิ่มมากขึ้น สำหรับครูแล้วนิยามของคำว่าอาสาสมัครคือ…คนที่มี หัวใจ มีใจที่จะช่วยเหลือ มีใจที่จะแบ่งบัน จะมากจะน้อยไม่ใช่สิ่งสำคัญ ขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจ”    

นอกจากแรงใจแรงกายที่ครูสำราญมอบให้แล้ว ครูสำราญยังชักชวนให้ลูกศิษย์มาร่วมเป็นอาสาสมัครกว่า 20 คน ครูสำราญบอกเหตุผลในการชักชวนลูกศิษย์มาร่วมกิจกรรมว่า “ครูอยากให้พวกเค้าได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น” พร้อมทั้งเผยรอยยิ้มและแววตาเปี่ยมสุข

นิยามของคำว่า “อาสาสมัคร” อาจไม่มีคำจำกัดความที่ตายตัว ต่างแปลกแยก แตกออกไปตามประสบการณ์และการเรียนรู้ของแต่ละบุคคน ทว่า…สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นอาสาสมัครนั้น คงอยู่ที่ความตั้งใจทำ และความสุขใจนั้นจะคืนกลับมาเป็นกำไรแห่งชีวิต

ที่มา  http://www.mirror.or.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=802&auto_id=9&…