สับปะรดที่เป็นสับปะรด / หนูน้อยร้อยตา /

    เพราะโลกเปลี่ยนแปลงจากตัวเราเองได้…
และเพราะความเชื่อนี้เองจึงทำให้หัวเรือใหญ่แห่ง “ขบวนการตาสับปะรด” อย่าง พี่ไข่-ฉัตรชัย เชื้อรามัญ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของผู้เปลี่ยนแปลงสังคม โดยมีแนวความคิดที่ว่า “การจะเปลี่ยนแปลงโลกนั้น ถ้าทุกคนลุกขึ้นไม่พร้อมกัน เราก็จงเป็นคนที่ลุกขึ้นมาเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นคนแรก”
นี่คือแนวคิดในการบริหารกลุ่มองค์กรขนาดเล็กพริกขี้หนูที่น่าจับตามอง
“เวลาเปลี่ยนแปลงโลกก็เปลี่ยนจากคนๆ เดียวนี่แหละ องค์กรของผมมีคนเดียวครับ เราเป็นหมดทุกอย่างเลย แล้วก็ไม่มีออฟฟิศในการทำงานด้วย ถ้าถามว่าทำงานอย่างไรคนเดียว จริงๆ ผมไม่ได้ทำคนเดียวนะ เวลาทำก็จะเรียกน้องๆ เพื่อนๆ มาช่วยกันทำ แต่บริหารองค์กร ผมจะทำคนเดียวเพราะมันคล่องตัว แล้วก็สบายด้วย” พี่ไข่เล่าให้เราฟัง
“การไม่มีออฟฟิศ ไม่มีพนักงาน ก็ไม่มีภาระ บางทีจะออกไปรบ มีผู้กล้าสัก 10 กว่าคนก็พอแล้ว อย่าเอากองทัพทั้ง 100 คนไปเลย เกะกะ เปลืองข้าวด้วย ทำงานก็ยาก แต่ไอ้ 10 คนที่มารบด้วยกัน แต่ละคนก็ต้องสามารถจัดกองทัพอีกเป็นร้อยๆ ไว้รองรับการรบได้ด้วย”

สับปะรดในมือเกษตรกรจิ๋ว
ถ้าหากพูดถึงองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน รายชื่ออันดับต้นๆ ต้องมีชื่อ “ขบวนการตาสับปะรด” ขึ้นแท่นเป็นแน่ นั่นคือความตั้งใจของพี่ไข่ที่ปักธงรบแสดงจุดยืนของตัวเองกับบทบาทการเป็น ผู้นำกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะด้านเด็กและเยาวชน แต่สิ่งที่แม่ทัพผู้นี้มักบอกกับภายนอกเสมอๆ คือขบวนการนี้เกิดขึ้นจากฝีมือของเด็กล้วนๆ
“ทุกอย่างเด็กเป็นคนทำหมดเลยครับ ผมแค่เป็นตัวประสานงานเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น อย่างการหาข่าวสารเรื่องราวต่างๆ เด็กเขาก็หากันเอง การผลิตสื่อต่างๆ โทรทัศน์วิทยุ เด็กๆ ก็ทำกันเองหมด เราเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้เขาทำด้วยตัวเองเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ พอเด็กทำได้ เขาก็จะเกิดความมั่นใจ แล้วก็จะเห็นคุณค่าของตัวเองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มันเป็นการปลูกฝังสิ่งดีในตัวเขาที่ต่างจากเด็กส่วนใหญ่สมัยนี้ที่มัวเสีย เวลาให้กับสิ่งไร้สาระมากมายเหลือเกิน” พี่ไข่กล่าว
ทุกครั้งที่คนถามถึงเรื่องราวของสำนักข่าวเด็กและเยาวชน “ขบวนการตาสับปะรด” พี่ไข่ของเด็กๆ ก็จะผายมือไปที่พวกเขาแล้วก็บอกกับทุกคนว่า ถ้าอยากรู้อะไรให้ถามกับคนทำโดยตรง ซึ่งข้อมูลที่ออกมานั้นก็มาจากปากคำและความคิดที่สะท้อนมุมมองของเด็กๆ อย่างแท้จริง รวมไปถึงการนำเสนอด้วยฝีมือของพวกเขาที่เข้ามาเรียนรู้ผ่านการสัมผัส ประสบการณ์ตรงด้วยการลงมือทำ
“หลายครั้งที่มักจะมีคนอื่นๆ หรือสื่อมวลชนมาถามว่า ตาสับปะรดเป็นอย่างไร ทำอะไร ยังไงบ้าง ผมก็จะชี้ไปที่เด็กๆ ผมจะไม่ตอบเอง ให้เขาไปถามเด็กๆ เอาเอง เพราะเด็กเป็นคนทำ ไม่ใช่ผม เขาก็จะไปเจอกับเด็กๆ แล้วก็ตามมาด้วยความประหลาดใจหลายต่อหลายครั้ง” เขาย้ำคำด้วยน้ำเสียงอย่างออกรส “โอ้โฮ! เด็ก ป.3 จัดรายการวิทยุเป็นด้วยเหรอ ผมก็จะให้เขาคุยกับเด็กเอง ซึ่งคำตอบและมุมมองทั้งหมดคือจากต้นตอโดยตรง เขาก็จะได้ข้อมูล ได้รู้ ได้สัมผัส ได้ซักถามกับแหล่งข้อมูลที่แท้จริง”
จุดนี้คือความโดดเด่นและจุดแข็งของขบวนการตาสับปะรดที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ตัวจิ๋วได้ปลูกสับปะรดต้นแกร่งด้วยตัวของเขาเอง โอกาสที่อาจพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในที่อื่นๆ

กำเนิดตาสับปะรด
ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้…
เพราะ “ขบวนการตาสับปะรด” เป็นชื่อที่สื่อความหมายถึงระบบและกระบวนการการทำงานขององค์กรนี้ได้อย่างดี เยี่ยม และยังสะท้อนบทบาทและหน้าที่ของขบวนการนี้ได้อย่างเยี่ยมยอด เราลองย้อนถามกลับไปถึงจุดกำเนิดที่ก่อให้เกิดเครือข่ายเยาวชนอันแข็งแกร่ง นี้ “ต้องย้อนกลับไปสมัยที่ผมยังทำค่ายเด็กและเยาวชนอยู่ ตอนนั้นหลังจากตัดสินใจว่าเราจะชักธงรบเป็นหัวเรือใหญ่แห่งองค์กรที่ทำงาน เพื่อเด็กและเยาวชนของชาติแบบไม่แสวงหากำไรนั้น ผมก็ตั้งองค์กรเองเลย ชื่อว่า ‘ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม’ ทำค่ายเด็กที่เน้นเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาเป็นหลัก เพราะผมเรียนมาทางด้านนี้ด้วยไงครับ
ชื่อตาสับปะรดจริงๆ แล้วผมไม่ได้ตั้งเอง มันมาจากเด็กๆ ตอนนั้นพอทำค่ายเสร็จทุกครั้งเราก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านใช่ไหมครับ เด็กๆ ในค่ายเขาก็บอกประมาณว่า กว่าจะเจอกันอีกเมื่อไรก็ไม่รู้นะ ถ้าเกิดพี่กลับกรุงเทพฯ แล้วพวกเราช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลพื้นที่ พอมีเรื่องต่างๆ เราก็จะช่วยแจ้งให้ดีไหม พี่ก็เอาเรื่องไปให้มูลนิธิต่างๆ ได้ อย่างโลกสีเขียว หรือมูลนิธิครูหยุย เป็นต้น เพราะฉะนั้น พวกเราก็ช่วยพี่ได้ด้วยการเป็นตาสับปะรดคอยสอดส่องดูแลให้ แล้วก็รายงานพี่ไป แค่นี้แหละ
จุดเล็กๆ จากคำพูดเด็กวันนั้นผมก็ปิ๊งไอเดียเลย ผมว่ามันเวิร์คมากๆ ลงทุนน้อยด้วย สมัยนั้นแค่เพจเจอร์ตัวเดียวก็รายงานกันได้แล้ว แถมเราก็มีน้องๆ เป็นเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย กเลยลุยมันเลยครับ ผมทำคนเดียวนี่แหละ โดยมีพวกน้องๆ เป็นเครือข่ายตาสับปะรดให้ นี่แหละคือจุดกำเนิดขบวนการเยาวชน

“ทำไมถึงต้องปักธงรบกับเด็กและเยาวชน”
เราเสริมทัพด้วยคำถามที่อยากรู้ เพราะเห็นว่าพี่ไข่นั้นผ่านประสบการณ์การทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาแล้วหลากหลาย รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำค่ายอาสาหรือแม้แต่การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงบทบาทการเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโกมลคีมทอง และสื่อมวลชนที่สำนักข่าวเนชั่น
“คำตอบจริงๆ คือทำสิ่งที่ผมถนัดก่อนครับ คือเราเคยทำเรื่องนิเวศน์ เรื่องสิ่งแวดล้อมมา มันก็ตรงกับที่เราเรียนหน่อย แล้วงานถนัดของผมอีกอย่างคือ “การให้การศึกษาคน” ผมเลยชอบทำค่ายศึกษาครับ ก็เลยกลายเป็นค่ายที่ให้ความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมและเชิงนิเวศน์ แล้วที่เป็นเด็กและเยาวชนก็เพราะพวกเขาคือตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนโลก เด็กๆ จะเป็นผู้ที่ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมได้ง่ายที่สุดโดยไม่มีอะไรแฝง อยู่เบื้องหลัง ไม่มีอะไรมีอิทธิพลต่อความคิดเหมือนกับผู้ใหญ่”

พัฒนาการพันตาที่ก้าวกระโดด
จากเครือข่ายเล็กๆ ในวันนั้น เติบโตสู่เครือข่ายข่าวโดยเด็กและเยาวชนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และต่อเติมสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพเต็มรูปแบบทั้งในแง่ของเนื้อหาและการ ผลิต พัฒนาการที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ถูกวางแผนไว้อย่างไร “ผมไม่ได้วางแผนอะไรระยะยาวไว้กับตรงนี้นะครับ จริงๆ เครือข่ายนี้เกิดขึ้นและเติบโตด้วยฝีมือของเด็กๆ เองหมด มันขับเคลื่อนด้วยกระบวนการทางสังคมของพวกเขาเอง การเป็นสำนักข่าวเด็กและเยาวชนมันก็เกิดจากการเติบโตขึ้นของเครือข่ายและ ข่าวสารที่เขารายงานกัน การผลิตสื่อมันก็เกิดขึ้นจากความอยากทำ ความต้องการของพวกเด็กๆ เอง เด็กๆ ต้องการเหรอ เราก็สนับสนุนเลย เบื้องต้นเราอาจจะเป็นพี่เลี้ยงสอนวิธีการใช้เครื่องมือ กระบวนการทำงานคร่าวๆ แต่ข้อมูลและวิธีการต่างๆ ที่ผลิตออกมาเป็นฝีมือจากเด็กแทบทั้งสิ้น มันเลยเป็นสำนักข่าวเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง เพราะพวกเขาทำกันเองหมด” การพัฒนาแบบก้าวกระโดดนั้นคงจะเป็นตัวชี้วัดบุคลากรจิ๋วมากกว่าที่จะชี้วัด การขยายตัวขององค์กร เพราะยิ่งศักยภาพเพิ่มขึ้นเท่าไร ดัชนีนี้ก็คงเป็นตัวชี้วัดพัฒนาการของเยาวชนเหล่านั้นไปในตัวได้พร้อมๆ กัน
และคงต้องฝากให้ติดตามพัฒนาการของการก้าวกระโดดอีกขั้นของขบวนการนี้ กับบทบาทบนเวทีโทรทัศน์สาธารณะที่เด็กและเยาวชนนั้นจะได้มีโอกาสบอกกล่าว เรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวของเขาเองโดยตรง ไม่ผ่านมุมมองของผู้ใหญ่เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเวทีนี้จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน

ปัญหาของคนในยุคนี้กับการปักธงรบ
การที่คนเราจะลุกขึ้นมาปักธงรบเพื่อต่อสู้กับอะไรสักอย่างนั้นไม่ใช่เรื่อง ที่ยากเย็นแสนเข็ญ ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก “ปัญหาส่วนใหญ่คือเรายังหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งเราก็จะโดนหลอกจากตัวเราเองด้วยเช่นกัน คือถ้าเราไม่ค้นพบศักยภาพในตัวเอง เราจะทรมานมาก เราไม่รู้ว่าเราต้องการทำอะไรจริงๆ ทำอะไรแล้วมีความสุข ซึ่งมันเป็นปัญหามากสำหรับคนยุคนี้ อย่างพี่ค้นพบว่าพี่ชอบทำงานกับเด็กและเยาวชน ผมชอบทำงานอิสระ เราหาเจอแล้ว เราก็ต้องชอบมันด้วย ไม่ทำแบบฝืนใจ เพราะมันจะไม่ใช่ความสุข ความสำเร็จก็จะตามมาได้ยาก พอเจอแล้วก็ปักธงรบเลย ลุยมันเต็มที่ แล้วก็ตั้งเป้าให้แน่วแน่ อย่างตัวผมเองผมเจอแล้วผมก็ตั้งเป้าว่าจะต้องทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน ถ้านึกถึงเรื่องนี้ต้องนึกถึงเราอยู่ในรายชื่ออันดับต้นๆ ซึ่งมันเป็นการท้าทายตัวเองนะ ท้าทายด้วยว่าเราชอบมันจริงๆ หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ทำให้มันไปถึงจุดนั้น ซึ่งวันนี้พี่มาถึงแล้ว ถือว่าเราเอาชนะตัวเองได้ รู้จักและก็หาตัวเองเจอ อีกอย่างที่อยากฝากได้คือ ถ้าเรารักกับงานที่เราทำ การทำงานก็จะกลายเป็นการดำเนินชีวิต ซึ่งมันจะไม่ทำให้เราเบื่อและไม่สนุกกับมัน พองานเป็นชีวิตเราก็จะมีความสุขกับการทำสิ่งที่เรารักด้วย” พี่ไข่ฝากทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ว่า สิ่งสำคัญก็คือการหาตัวเองให้เจอ กำจัดความกลัว แล้วก็ใส่เกียร์เดินหน้าลุยเต็มพิกัด

ตระหง่าน…ปลิวไสว…ยาวไกล
สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการตั้งธงรบบนผิวดินคือการปักธงรบให้หยั่งรากและยืนแกร่ง ผืนธงที่ปลิวไสวไร้การสั่นคลอนของเสาหลักนั้นเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของความ สำเร็จอันงดงามที่ประกาศให้ประจักษ์ และระยะเวลาที่ตระหง่านนั้นเองคือสิ่งบ่งบอกถึงรากฐานที่มั่นคงของธงรบนี้ ที่จะยังคงสะบัดเล่นลมอยู่เรื่อยไป สิ่งสำคัญนี้เองที่เราอยากเรียนรู้จากธงผืนเล็กๆ ที่โบกสะบัดเล่นลมได้อย่างพลิ้วไหวและแข็งแกร่ง “การที่จะทำให้องค์กรอยู่ได้นานนั้นมีหลักใหญ่ๆ อยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ
ข้อแรก : สังคมต้องยอมรับ > สิ่งต่างๆ ที่เราทำนั้นมันจะพิสูจน์ได้ว่าเราทำจริงๆ หรือเปล่า เราหวังผลอะไรหรือเปล่า ถ้าทำแล้วมันไม่โอเค สังคมก็จะไม่ยอมรับแล้วมันก็จะตายไปในที่สุด
ข้อสอง : เป็นตัวตนที่แท้จริง > นี่คือสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่าเราทำอะไรอยู่ ตัวตนเราเป็นยังไง ทำได้จริงหรือเปล่า แล้วตัวตนนี้อยู่ได้จริงและน่าสนใจแค่ไหน ถ้าการที่เราทำอะไรจากตัวตนที่แท้จริงนั้นมันจะทำเต็มที่ ทำงานเหมือนเป็นชีวิตจริงๆ สนุกกับมันจริงๆ ผลที่ออกมาก็จะสะท้อนตัวตนเราได้ด้วย ถ้าทำอะไรจากตัวตนที่แท้จริงมันจะเป็นของ “จริง” และอยู่นาน

กัปตันที่บินเดี่ยว
การถือหางเสือเรือคนเดียวนั้นถือเป็นเอกลักษณ์ของการจัดการและบริหารองค์กร เล็กพริกขี้หนูอย่าง “ขบวนการตาสับปะรด” นี้ ซึ่งการเดินเรือบนมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ด้วยกัปตันเพียงคนเดียวนี้มีข้อดีและ ข้อเสียอย่างไรบ้างหรือเปล่า “ข้อดีคือความคล่องตัวและความอิสระครับ ทำให้เราจะบังคับไปในทิศทางไหนได้สบายและไวกว่า บางครั้งเราคิดว่าทางนี้น่าสน ท้าทาย อยากลอง เราก็ลุยเลย ไม่ต้องรอตัดสินใจจากหลายคนให้ยุ่งยาก” แต่ในขณะเดียวกันเป็นกัปตันก็ต้องมีลูกเรือด้วย การดูแลลูกเรือให้อยากสนุกในการร่วมออกแล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพี่ไข่มีวิธีจูงใจลูกเรือให้มั่นใจในกัปตันนี้อย่างไร
“ทำงานเราก็ต้องมีคนช่วยครับ ผมจะมีหลักส่วนตัวคือ อำนวยความสะดวกให้กับลูกน้องทุกอย่าง แล้วก็รับฟังลูกน้องทุกๆ เรื่อง อย่างโปรเจ็คแต่ละโปรเจ็คนี่เราก็จะให้ลูกน้องจัดการโดยที่เราเป็นคนคอย อำนวยความสะดวกให้ ซึ่งพองานมันราบรื่น แล้วก็ได้รับการยอมรับและไว้วางใจเขาก็จะแฮปปี้กับการทำงาน บวกกับการดูแลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เขากินอยู่อย่างสบาย ใครๆ มาทำที่นี่แล้วรู้สึกดี เขาก็จะกลับมาทำอีก ในขณะเดียวกันพอมีน้องๆ รุ่นใหม่มาเขาก็จะถ่ายทอดวิธีการนี้ไปยังรุ่นต่อๆ ไปด้วย อีกอย่างผมเป็นคนที่รับฟังทุกเรื่อง คนที่จะมาทำงานด้วยก็จะรู้สึกว่าเราเปิดไง เขาก็จะรู้สึกดีเมื่อเทียบกับการทำงานกับที่อื่น ก็ซื้อใจคนได้เหมือนกัน ถึงแม้องค์กรจะมีผมดูแลคนเดียว แต่ผมทำงานคนเดียวไม่ได้หรอก ถ้าเปรียบเทียบมันก็เหมือนกับเข็มเย็บผ้าน่ะ มันสามารถทิ่มทะลุทะลวงไปในผ้าได้หมด ความสามารถมันเจ๋ง แต่ถ้ามันไม่มีด้ายมาเชื่อมร้อย เข็มก็เปล่าประโยชน์ การเย็บผ้าก็ทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีด้ายที่ดีและแข็งแรงมาเชื่อมร้อยต่อจากเรา ช่วยให้เย็บผ้าได้สำเร็จ การที่เข็มไม่มีด้ายมันก็เหมือนกับคนเก่งอยู่คนเดียวแล้วไม่มีใครช่วยเลย นั่นแหละครับ”

เส้นชัยกับชัยชนะ
การที่องค์กรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมมานานนับสิบปีนี้ คงเป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จและชัยชนะที่คว้ามาได้อย่างงดงามได้ “ถ้าถามว่าเราประสบความสำเร็จไหม ผมว่าไม่เลยนะ ผมรู้สึกว่าความสำเร็จมันไม่มีจุดจบ เราต้องสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป ณ ทุกวันนี้ผมยังมีอะไรที่อยากทำอีกเยอะมากๆ ยังรู้สึกว่าทำไม่ทันเลย แสดงว่าผมยังไม่ประสบความสำเร็จหรอก ยังไม่จบ”
“แล้วมีมุมมองเรื่องความสำเร็จว่าอย่างไร” เราถามต่อ
“การที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้นั้นสิ่งสำคัญข้อแรกเลยก็คือต้องคิดให้ดีก่อน คิดจะทำอะไร อย่างไร เพื่ออะไร แล้วก็วางแผนมันให้ดี เสร็จแล้วข้อต่อมาก็จงสนุกกับความคิด คิดให้มันเยอะๆ และสนุกกับมันมากๆ อย่าคิดให้มันเป็นปัญหาแล้วบั่นทอน สนุกคิดแล้วก็สนุกลุย ลุยให้เต็มที่แล้วความสำเร็จจะตามมาเอง จริงๆ แล้วคนเรานะ ถ้าตัดสินใจทำอะไรลงไปแล้วจะต้องไม่มานั่งเสียใจอะไรภายหลัง สิ่งที่เดินตามหลังการตัดสินใจก็คือความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องสู้ เดินหน้าต่อไป เจออะไรที่เลวร้ายก็คิดเสียว่าเป็น “ครู” ที่จะสอนเรา แล้วก็อย่างลืมให้กำลังใจตัวเองในยามที่ท้อด้วย ให้ใจฟื้นมาสนุกกับการลงมือทำต่อ แค่นี้เดี๋ยวความสำเร็จก็ตามมาให้เห็นเอง”
นี่แหละคือการเข้าเส้นชัยอย่างมีความสุข…

ความสำเร็จที่วัดค่าได้
ถ้าความสำเร็จวัดค่าได้…
อะไรคือค่าที่วัดได้จากขบวนการนี้ นี่คือคำตอบที่เห็นภาพได้ชัดเจนเลยทีเดียว “การวัดค่าของผมง่ายๆ เลยคือการประเมินตัวเอง ผมจะดูว่ามีคนเดินตามเราไหม มีคนมาต่อจากผมไหม มีคนสนใจไหม มีคนมาช่วยไหม ถ้ามันเป็นตัวจริง มันใช่ในสิ่งที่สังคมเราขาดหรือคนเราต้องการ มันมีการส่งไม้ต่อได้อยู่แล้ว การวัดค่าอีกอย่างก็คือความสุข ถ้าทุกคนมาทำแล้วมีความสุขอันนี้ถือว่าเป็นค่าความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมที่สุด ครับ”
เป็นมาตราง่ายๆ ที่ใช้ได้ผลดีจริงๆ

ศรัทธาที่น่าศรัทธา
“ทำองค์กรให้คนสนใจก็เหมือนการสร้างวัดให้คนเข้ามากราบไหว้” พี่ไข่เปรียบเปรยไว้อย่างน่าสนใจ “แล้วสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนเหมือนๆ กันก็คือ ‘ศรัทธา’ นั่นเอง เราต้องรู้จักการสร้างศรัทธา วัดหรือองค์กรถึงจะอยู่ได้ยืด อย่าให้คนหมดศรัทธา ซึ่งศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องสร้างความเชื่อให้กับคน ความเชื่อนั้นก็คือการทำอะไรก็ตามที่พิสูจน์ได้ว่าจริง ทำจริงๆ ทำให้ตรงกับความต้องการและพอใจของมนุษย์”
“สำหรับพี่ไข่แล้ว มีวิธีการสร้างศรัทธาในตัวอย่างไร” เราเจาะคำถามลงมาที่แก่นของศรัทธาที่แท้จริงขององค์กรนี้
“ผมว่าผมทำอะไรจริงนะ คือทุกอย่างทำด้วยใจ ทำเต็มที่ ทำโดยไม่คิดอะไรตอบแทน ทำจนคนรู้จัก คนเชื่อ แล้วศรัทธามันก็จะตามมาเอง พอมีคนศรัทธาเรา ทำอะไรก็จะมีคนช่วยเหลือเกื้อหนุน ผมว่ามันเป็นประโยชน์มากๆ นะ ถ้าสร้างศรัทธาได้”
“แล้วถ้าเกิดวันใดจุดรวมของศรัทธานั้นหายไปหรือไม่อยู่แล้วล่ะ” เรารุกต่อ
“ถ้าศรัทธาอยู่ที่ตัวคนพอเขาจากไปศรัทธาก็หมด แสดงว่าศรัทธานั้นไม่ใช่ปัญญา มันต้องทำศรัทธาให้ก้าวข้ามพ้นไปสู่ปัญญาให้ได้ อย่างถ้าคนจากไปแต่งานหรือองค์กรยังอยู่ ศรัทธานั้นก็เกิดขึ้นจากเนื้อในแล้ว เพราะสิ่งที่ศรัทธานั้นจีรังและเป็นจริง ก็จะพัฒนาเป็นปัญญาได้ เมื่อนั้นองค์กรหรืออะไรก็ตามก็จะอยู่สืบต่อไปตราบนานเท่านาน”
พี่ไข่ตบท้ายด้วยการฝากสิ่งสำคัญทิ้งท้ายในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“แล้วที่สำคัญที่สุด ศรัทธาจะหมดถ้าไม่มีสัจจะ”

กลไกพัฒนาจิตอาสา
ก่อนจบกระบวนการการเรียนรู้นอกห้องเรียนอันเป็นประโยชน์จากองค์กรเล็กๆ ที่คิดการใหญ่นี้ เราให้พี่ไข่แนะนำข้อคิดดีๆ ฝากถึงจิตอาสาถึงกลไกการพัฒนาในแนวทางที่ควรจะเป็น “ทำอะไรต้องตอบโจทย์ให้ดี ทำจิตอาสาก็ต้องตอบโจทย์ผู้คนในสังคมให้ดี ให้ตรงกับที่เขาต้องการเช่นกัน งานอาสาสมัครไม่มีกรอบ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ บางคนอยากมาทำจิตอาสาเพราะอยากช่วยเหลือสังคม บางคนอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ บางคนมาเจอเพื่อนก็มี แต่พอเขามาเรื่อยๆ ถ้าเขาไม่มีกิจกรรมทำเขาก็จะรู้สึกตัวเองไม่เกิดคุณค่า การสร้างงานเพื่อสร้างคุณค่าจึงเป็นหน้าที่ที่เราควรทำ ซึ่งบางครั้งการสร้างงานนั้นก็อาจจะเกิดจากความต้องการของอาสาสมัครเอง โดยเราอาจจะช่วยทำให้เกิดงานขึ้น แล้ววิธีสร้างงานที่ดีที่สุดก็คือการที่ให้เขาทำงานที่เขารักเขาชอบ แล้วเขาจะทำอย่างเต็มที่ ด้วยความเต็มใจ และผลออกมาเต็มประสิทธิภาพด้วย”

    สุดท้ายนี้นอกจากคำขอบคุณเราคงต้องขอยกย่องว่าขบวนการนี้เป็น “สับปะรดที่เป็น(สุดยอด)สับปะรด” ซะจริงๆ
 

สัมภาษณ์เรียบเรียงโดย
ทีมแจ่มจิต