ทิวา พรหมสุภาส่งผู้ลี้ภัยกลับไปปรองดอง?

มีข่าวไม่น่ารื่นรมย์อันลอยมาให้ได้ยินในช่วงสองวันก่อนสงกรานต์ หัวข้อก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องว่ารัฐบาลไทยกำลังวางแผนจะส่งกลับผู้ลี้ภัยแบบที่พูดกันมาซ้ำซาก และก็ต้องอธิบายโต้แย้งกันอยู่ซ้ำซากมานาน แต่คราวนี้มีเหตุผลใหม่ (นิดหน่อย) ให้ต้องโต้แย้ง

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องส่งผู้ลี้ภัยกลับบ้าน เพราะ “ในฐานะเพื่อนบ้านเเละสมาชิกอาเซียน สมช.สนับสนุนที่จะสร้างความปรองดองในชาติเเละกระบวนการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย อันเป็นประโยชน์กับประชาชนพม่าเเละการอยู่ร่วมกันในอาเซียน”

กลายเป็นว่า การผลักดันผู้หนีภัยการประหัตประหารกว่าแสนกลับประเทศ คือการสนับสนุนความปรองดองในชาติพม่าไปเสียแล้ว แทนที่จะสนับสนุนให้ปรองดองในชาติเสียก่อนแล้วค่อยส่งกลับ ซึ่งเมื่อถึงบัดนั้น ผู้ลี้ภัยจากที่พักพิงเก้าแห่งตลอดแนวชายแดน อาจจะคว้าข้าวของเดินกลับไปโดยไม่รอให้ส่งด้วยซ้ำ

ในฐานะประชาชนไทย ดิฉันเห็นว่ารัฐบาลไทยควรจะชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยละเอียดว่าประเทศพม่านั้นมีความสงบเรียบร้อย สมควรแก่การจะส่งให้ผู้ลี้ภัยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไร รวมทั้งว่าการส่งกลับคนจะเป็นการสนับสนุนความปรองดองในชาติพม่าอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็ต้องบอกเหตุผลในการที่อยากจะส่งคนที่หนีภัยมา ให้กลับไปสู่ภัยอันตรายเดิม ๆ ที่ไม่มีทีท่าจะเปลี่ยนแปลงว่า จริง ๆ แล้วคืออะไร เป็นเหตุผลอันยิ่งใหญ่ สมควรกับที่เราจะกระทำการอันไร้อารยะเช่นนั้นหรือ

ข้อมูลเหล่านี้ประชาชนไทยควรจะได้รับทราบ มีสิทธิโต้แย้ง และรัฐก็มีหน้าที่จะต้องฟัง เพราะการกระทำที่น่าละอายสำหรับการเป็นประเทศอารยะ (หากจะไม่พูดถึงเรื่องบาปกรรม) นั้น เป็นส่วนที่พวกเราประชาชนต้องรับกันไปเต็ม ๆ ดังที่ได้รับกันมาแล้ว จากการบังคับส่งกลับหรือกดดันผู้ลี้ภัยให้ต้องยอมกลับ หลายระลอกในปี 2553 ที่ผ่านมา

ล่าสุด ดิฉันยังได้ข่าวว่า ชาวบ้านจากหมู่บ้านเล่อป่อเฮอในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเมื่อปีก่อนถูกไล่กลับจากค่ายชั่วคราวหนองบัวที่อ.ท่าสองยาง จ.ตากแล้วไม่ยอมกลับแต่กระจัดกระจายไปที่อื่น มาเตรียมตัวกลับบ้านอยู่ริมชาย แดนด้วยการจัดการของตนเอง แต่ในที่สุดก็กลับไม่ได้อีก เพราะสถานการณ์ที่ดูว่าจะดี ตกลงกันได้ ก็กลับแย่ลง การสู้รบตลอดแนวชายแดนไม่เคยยุติ มีแต่จะพักจากจุดหนึ่งชั่วคราวไปปะทุที่จุดใหม่ใหญ่โต

ที่ผ่านมา รัฐพูดแต่เรื่องภาระจากผู้ลี้ภัย แต่ไม่เห็นแจงรายละเอียดชัด ๆ ว่าภาระนั้นคืออะไรบ้าง หากเราเข้าใจผิดไปว่าความช่วยเหลือทั้งหมดรวมถึงเงินเดือนอ.ส.ที่ดูแลค่ายพัก ก็มาจากเงินนับพันล้านต่อปีที่องค์กรมนุษยธรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างประเทศ/ระหว่างประเทศนำเข้าสู่ไทย รัฐก็น่าจะชี้แจงให้เราได้้เข้าใจกันให้ถูกต้อง อันที่จริงปัญหาที่เกิดจากการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยนั้นมีที่มาจากนโยบายและกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการเสียมาก และถ้าจะแก้ไขกันที่ส่วนนั้นก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องส่งกลับ

ภาระอีกประการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างบ่อย ๆ ก็คือเรื่องของ “ความมั่นคง” ซึ่งมักมีนัยยะว่า เมื่อเป็นเรื่องความมั่นคง รัฐก็จะผูกขาดในการตัดสินใจไม่ต้องฟังเสียงโต้แย้ง เพราะเรื่องนี้รัฐย่อมรู้ดีที่สุด ทั้ง ๆ ที่ประชาชนเองแท้ ๆ ต้องเป็นผู้เผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทั้งหลายแหล่ที่จะตามมาหากการตัดสินใจของรัฐผิดพลาด แต่ในฐานะประชาชน เราควรจะได้ทราบว่ามีหลักฐานว่าผู้ลี้ภัยได้บ่อนทำลาย หรือจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ มากกว่ามนุษย์คนอื่น ๆ ทั้งไทยและต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยอย่างไรหรือ

จากนั้น จึงมาถึงประเด็น “เหตุผลใหม่” ในการอยากจะส่งกลับผู้ลี้ภัยคราวนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะชี้แจงแถลงไขว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาตลอดกว่า 20 ปีที่มีการจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยขึ้นอย่างเป็นทางการ ได้ทำอะไรบ้างเพื่อสนับสนุนความปรองดองในประเทศพม่า และทำไปแล้วได้ผลอย่างไรบ้าง

เพราะเท่าที่ทราบ แม้คณะทหารที่ปกครองพม่ามาแสนนานจนเปลี่ยนชื่อไปสองรอบ จะจัดการเลือกตั้งที่ลิขิตมาแล้วว่าพรรคตนเองจะต้องชนะ ตามด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่อ้างว่าเป็นพลเรือน ข่าวสารก็แพร่กระจายทั่วโลกและไทยว่า พม่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป การสู้รบปะทุขึ้นมารุนแรงกว่าเดิมหลังการเลือกตั้ง ทุกวันนี้ ก็ยังรบราฆ่าฟันกันเกือบตลอดแนวชายแดน ทั้งยังมีสัญญาณว่าจะปะทุขึ้นใหม่อีกหลายจุด เหนือจรดใต้

ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานข้อเท็จจริงและรายงานวิจัยหลายฉบับทั้งในระดับท้องถิ่นและสากลยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่า หลายการลงทุนและโครงการพัฒนาที่คนไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเช่น โครงการเขื่อนแม่น้ำสาละวิน โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เหมืองถ่านหินรัฐฉาน รวมถึงโครงการเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ต่าง ๆ ล้วนส่งผลให้พลเรือนหลากหลายชาติพันธุ์ในพม่าไม่สามารถอยู่ที่บ้านของตนเองได้ เพราะรัฐบาลทหาร (รวมถึงรัฐบาลใหม่ที่อ้างว่าเป็นพลเรือน) ของพม่านั้นไม่ได้บริหารบ้านเมืองตามปกติ โครงการพัฒนามากมายที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วม กลายเป็นเหตุผลในการแผ่ขยายอำนาจทางทหารเข้าพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ กวาดล้างชาวบ้านด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งรวมถึงยิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้าน เผาไร่ บ้าน ยุ้งข้าว ฯลฯ หรือใช้วิธียึดที่ทำกินของคนตัวเล็ก ๆ มาเพื่อประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ ขูดรีดภาษีสารพัดชนิดกว่าเดิมแถมแพงกว่าเดิม บังคับเกณฑ์แรงงานไปใช้ดั่งทาสมากกว่าเดิม ทั้งยังมีการใช้อำนาจของทหารก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนโดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใด ๆ หนักกว่าเดิม

ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ หากหลบหนีจากการกวาดล้างรุนแรง ก็ซมซานยกครัวมาลี้ภัยในประเทศไทย ส่วนที่อยู่ในสภาพที่ “พออยู่ได้แต่อยู่ไม่รอด” ก็ทยอยหลบหนีมาเป็นแรงงานข้ามชาติในไทย แล้วส่งเงินกลับบ้านไปให้คนเฒ่าคนแก่ที่รออยู่ไปเสียค่าภาษีหรือจ่ายทหารแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน เช่นนี้ การลงทุนและโครงการพัฒนาที่ว่า ก็ย่อมไม่ใช่การเสริมสร้างประชาธิปไตยและความปรองดองในพม่าแน่ ๆ หรือถ้าคนทำเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องดูที่ผลว่าออกมาเป็นตรงกันข้ามกับความตั้งใจอย่างไร

ประเทศพม่านั้นมีทั้งปัญหาที่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร และปัญหาความขัดแย้งที่กลายเป็นการสู้รบระหว่างกองกำลังหลากชาติพันธุ์กับกองทัพพม่า สองปัญหานี้เชื่อมโยงกันโดยไม่ใช่ปัญหาเดียวกัน แต่ผู้มีอำนาจหลาย ๆ คนในประเทศไทยก็มักจะทำเป็นไม่เห็นไม่เข้าใจ หรือว่าไม่เข้าใจจริง ๆ ก็ไม่ทราบ

ดิฉันพอจะเข้าใจอยู่ว่า การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐเพื่อนบ้านที่มีปัญหาการเมืองภายในนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หากซับซ้อนละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็หมายความว่ามันซับซ้อนละเอียดอ่อนเกินกว่าที่เราจะคิดแก้ปัญหาง่าย ๆ ด้วยการเอาอกเอาใจรัฐบาลเผด็จการไปเรื่อย ๆ เช่นกัน จริงอยู่ว่าที่ผ่านมาเราต้องฟังรัฐบาล (ทหาร) พม่ากล่าวหาเป็นพิธีอยู่ตลอดว่าไทยให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่การแกข้อกล่าวหาด้วยการบังคับผลักคนกลับไปสู่การประหัตประหาร ข่มเหง ทารุณกรรม ก็ไม่น่าจะสมเหตุสมผล

การเอาอกเอาใจรัฐบาลพม่าด้วยการผลักผู้ลี้ภัยกลับ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีค่ายพักพิงอันเป็นหลักฐานความรุนแรงทางการเมืองในพม่าโผล่ให้ชาวโลกเห็นอยู่ตำตา ดูจะไร้อารยะกันเกินไปซ้ำยังไม่น่าจะช่วยให้ชายแดนเราสงบสันติ ความสัมพันธ์กับรัฐเผด็จการยืนยาว หรือชาติพม่าจะเกิดความปรองดองอย่างไร

แน่นอนว่า ปัญหาการอพยพลี้ภัยนั้น ทางออกที่ดีที่สุด ย่อมคือการที่ผู้ลี้ภัยจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย และอยู่ต่อได้อย่างสมศักดิ์ศรีมนุษย์ปกติคนหนึ่ง ไม่มีใครอยากจะอยู่ในสภาพคนลี้ภัยไปตลอด ต่อให้สภาพค่ายพักพิงจะดีกว่านี้ มีเสรีภาพมากกว่านี้ มันก็ไม่ใช่บ้านเกิด ไปประเทศที่สามก็ไม่ใช่คำตอบต่อชีวิตของคนหลายคน ดังนั้น จึงเป็นจริงที่ว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐไทยและฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยได้กลับบ้าน จึงเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง

แต่แทนที่จะเป็นความร่วมมือในการส่งกลับ จะต้องเป็นความร่วมมือที่จะให้เกิดสภาพที่ผู้ลี้ภัยกลับได้ และอยากกลับ เพราะถ้าร่วมมือเฉพาะแค่จะส่งกลับ ก็จะเหมือนเดิม ๆ คือเพียงสร้างสภาพการณ์ไว้อ้างว่าคนกลับบ้านได้ แต่กลับไปแล้วอยู่รอดไม่ได้ไม่เป็นไร แล้วพอคนไม่ยอมกลับ จะบังคับชัดเจนก็น่าเกลียด จึงกดดันให้คนทนไม่ไหวจนต้องไปตายเอาดาบหน้า หรือไม่ก็ “หายตัว”​ ไปเสียจากค่ายพัก จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามใจ แต่อย่ามาปรากฏให้เห็นรวมกันเป็นค่ายเหมือนเดิมก็พอ

ในฐานะประชาชนไทย ดิฉันอยากได้ยินข่าวว่า รัฐไทยจะดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐพม่าแบบใดที่จะไปส่งเสริมประชาธิปไตยและความปรองดองในพม่าได้อย่างแท้จริง เรื่องนี้มีความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนไทยมากกว่าการส่งกลับผู้ลี้ภัย และเป็นเรื่องยากเข็ญที่รัฐคิดคนเดียวคงไม่ได้

และที่สำคัญ ดิฉันเชื่อว่า ในภาวะความไม่มั่นคงนานับประการ ของประเทศ ไทย ทั้งภัยพิบัติภาวะยากไร้ ข้าวยากหมากแพง คนตกงาน คอรัปชั่น ความขัดแย้งในสังคม ฯลฯ ประชาชนไทยคงอยากได้ยินนโยบายที่สร้างสรรค์และเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่หลากหลายจากรัฐบาล มากกว่าเรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัย

ที่ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความมั่นคงของชาติคลี่คลาย เผลอ ๆ จะทำให้ทวีคูณขึ้นไปเสียอีก


ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th