รางวัลศรีบูรพานั้นถือกันว่าเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติอย่างยิ่งสำหรับนัก เขียนนักประพันธ์ในประเทศนี้ แต่อาตมาขอสารภาพว่า การขึ้นมากล่าวสุนทรกถาในฐานะผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะบังเกิดกับตนเอง เพราะแม้อาตมาจะเขียนหนังสือมานานกว่า ๓๐ ปี แต่ก็ไม่สามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่าตนเองเป็นนักเขียนนักประพันธ์ จะเป็นได้อย่างมากก็นักเขียนสมัครเล่น ซึ่งไม่อาจเทียบชั้นเสมอนักเขียนชั้นครูหรือนักประพันธ์อาวุโสทั้งหลายที่ เป็นเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ตลอด ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา ยิ่งกว่านั้นงานเขียนของอาตมาก็ไม่เคยแม้แต่จะเฉียดกรายเข้าใกล้แวดวง วรรณกรรมหรือวงการหนังสือพิมพ์ อันเป็นแวดวงที่ศรีบูรพาได้บุกเบิกสร้างสรรค์และฝากผลงานไว้มากมาย ทั้งนี้มิจำเป็นต้องเอ่ยว่าในอดีตไม่เคยมีพระภิกษุที่ได้รับรางวัลนี้ ด้วยเหตุนี้การได้รับรางวัลศรีบูรพาจึงเป็นเรื่องที่เหนือการคาดคิดของอาตมา
ศรีบูรพาหรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย เป็น “สุภาพบุรุษ” ที่มั่นคงในอุดมคติและเปี่ยมด้วยคุณธรรมอันน่ายึดถือเป็นแบบอย่าง อาตมาจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลที่ตั้งขึ้นในนามของท่าน
คงไม่ต้องกล่าวย้ำในที่นี้ว่ารางวัลศรีบูรพานั้นมีความหมายอย่างไรสำหรับ วง การนักเขียนนักประพันธ์ของไทย แต่มีข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ทั้ง ๆ ที่รางวัลศรีบูรพาเป็นเครื่องรับรองสถานะและเพิ่มพูนเกียรติยศแก่นักเขียน แต่ตลอดชีวิตของศรีบูรพา ท่านหาเคยได้รับรางวัลใด ๆ ไม่ ไม่ว่าจากวงการวรรณกรรมและวงการหนังสือพิมพ์ ทั้งไม่เคยได้รับเกียรติยศใด ๆ ในระดับประเทศ ทั้ง ๆ ที่ท่านมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการดังกล่าวและได้อุทิศตนเพื่อประเทศชาติมา โดยตลอด ในทางตรงข้ามท่านกลับถูกจับกุมคุมขังถึง ๒ ครั้ง และกลายเป็นบุคคลผู้ไม่พึงปรารถนาในสายตาของผู้มีอำนาจจนต้องลี้ภัยอยู่ใน ต่างประเทศกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ชีวิตของศรีบูรพาคือชีวิตของผู้ที่อยู่แถวหน้าในการต่อสู้กับเผด็จการและ อำนาจที่ไม่เป็นธรรม แม้จะประสบเภทภัยเพียงใด ก็ไม่ท้อแท้ท้อถอย หากยังคงมุ่งมั่นต่อสู้ตามอุดมคติปณิธานของตน นั่นเป็นเพราะท่านมีจิตใจมั่นคง แข็งแกร่ง และกล้าหาญ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม อันได้แก่โภคทรัพย์ และชื่อเสียง เกียรติยศ จึงสามารถอดทนต่อการคุกคามของผู้มีอำนาจและไม่ยอมตนเป็นเครื่องมือของนายทุน จึงสามารถบำเพ็ญตนเยี่ยงเสรีชนได้อย่างยั่งยืนยาวนาน
จิตใจที่มั่นคง เข้มแข็ง ดังกล่าวมิได้เกิดจากความยึดมั่นในอุดมคติหรืออุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น หากยังเป็นผลจากการฝึกฝนจิตใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมาธิภาวนา จนตระหนักชัดว่าความสุข ความสงบเย็น และอิสรภาพที่แท้จริงนั้นอยู่ที่จิตใจ ดังนั้นแม้จะถูกจองจำ ท่านก็ไม่หวั่นไหวเพราะท่านตระหนักดีว่าอิสรภาพทางใจของท่านยังมีอยู่อย่าง สมบูรณ์ไม่มีใครสามารถแย่งชิงไปได้
อุดมคติของศรีบูรพามิได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อให้เป็น ประชาธิปไตย มีความเสมอภาค และความยุติธรรม เท่านั้น หากท่านยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้านในให้เป็นไปในทางที่ดีงาม โปร่งเบาและเป็นอิสระด้วย ดังนั้นในขณะที่ท่านเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ท่านก็พยายามฝึกฝนขัดเกลาจิตใจของท่านเองไปด้วย คุณภาพจิตที่เกิดจากการขัดเกลาภายในนี้เองที่เป็นรากฐานอันมั่นคงให้แก่การ ต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงามของท่าน
ในฐานะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ท่านมีผลงานมากมายเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเศรษฐกิจ เพื่อเป็นหลักประกันแห่งความเสมอภาคและความยุติธรรมแก่มหาชน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าข้อเขียนเหล่านั้นของท่านได้สำแดงพลังอย่างเต็มที่แล้วใน ยุคสมัยของท่าน แต่มาถึงวันนี้ข้อเขียนดังกล่าวอาจจะพ้นสมัยไปแล้ว เนื่องจากสังคมการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งของชีวิตและงานของท่านก็ยังทรงคุณค่าอยู่ในยุค ปัจจุบัน นั่นคือการให้ความสำคัญแก่จิตสำนึกและคุณธรรม อันเป็นไปเพื่อส่งเสริมสังคมและชีวิตที่ดีงาม
ข้อเขียนเป็นอันมากของศรีบูรพา รวมทั้งชีวิตของท่านเอง มีศูนย์กลางอยู่ที่ สำนึกในทางคุณธรรม อันได้แก่ ความรักและมั่นคงในสัจจะ ความยุติธรรม ความเสมอภาค การเสียสละ การเคารพเพื่อนมนุษย์ ใช่แต่เท่านั้นในช่วงหลัง คุณค่าอีกประการหนึ่งที่ได้รับการเน้นย้ำก็คือ อิสรภาพทางจิตใจที่พ้นจากการครอบงำของกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นที่มาแห่งความสงบเย็นที่แท้จริง
คุณค่าเหล่านี้เป็นคุณค่าสากล ที่มีความสำคัญทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าบ้านเมืองจะก้าวหน้าไปเพียงใด โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็มิอาจปฏิเสธหรือละทิ้งคุณค่าดังกล่าวได้ แม้ประเทศชาติจะมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐสภา มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หากผู้คนไม่ซื่อสัตย์ คดโกง ไร้ขันติธรรม รังเกียจเดียดฉันท์กัน มุ่งเอารัดเอาเปรียบกัน สังคมนั้นย่อมหาความสงบสุขมิได้ ความแตกแยกที่เกิดขึ้นและความระส่ำระสายที่ตามมาก็อาจทำให้ระบอบประชาธิปไตย ถึงจุดวิกฤต จนมิอาจตั้งอยู่ได้
ความผาสุกของสังคมใดก็ตามมิได้ ขึ้นอยู่กับการมีระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่ก้าวหน้าเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้คนด้วย จริงอยู่คุณภาพของผู้คนนั้นด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคม ที่แวดล้อมตัวเขา แต่อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณค่าที่สังคมนั้นยึดถือร่วมกันจนเป็นวัฒนธรรม ของสังคม หากวัฒนธรรมของสังคมหรือคุณค่าที่ผู้คนยึดถือนั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมความ เห็นแก่ตัว การเอารัดเอาเปรียบหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน คุณภาพของผู้คนก็ถดถอยและบั่นทอนสังคมให้อ่อนแอ จนนำไปสู่วิกฤตต่าง ๆ มากมาย
สังคมไทยวันนี้กำลังถูกครอบงำ ด้วยวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ ๆ ซึ่งอาตมาขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความละโมบนั้นได้ปลุกกระตุ้นให้ผู้คนถือเอาวัตถุเป็นสรณะ มีชีวิตเพื่อการเสพสุข เพราะเชื่อว่าความสุขจะได้มาก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุ ยิ่งมีมากเท่าไรก็เชื่อว่าจะมีความสุขมากเท่านั้น ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว ผู้คนจึงมีความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดและไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างผู้คน ตอกย้ำความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้การทุจริตคอรัปชัน และอาชญากรรมนานาชนิดแพร่ระบาด รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ขณะเดียวกันวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวงทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่า มีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบัน เท่านั้นที่สวมใส่เสื้อสีนั้น ๆหรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและ กัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน
หากวัฒนธรรมแห่งความละโมบ แวดล้อมอยู่ที่คำว่า กิน กาม เกียรติ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ก็รวมศูนย์อยู่ที่คำว่า โกรธ เกลียด กลัว ทั้ง ๖ ก.นี้กำลังบ่อนทำลายสังคมไทยและกัดกินจิตวิญญาณของผู้คนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในสภาพเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิต วิญญาณให้แก่ผู้คน เพื่อต้านทานการครอบงำของวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ดังกล่าว ด้านหนึ่งก็ด้วยการฟื้นฟูคุณค่าอันดีงามเพื่อให้ประชาชนยึดถือและเป็นหลักใน การดำเนินชีวิต แต่เท่านั้นย่อมไม่พอ หากควรส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าถึงความสุขทางจิตใจ อันเป็นความสุขที่ประณีตและประเสริฐกว่าความสุขทางวัตถุ ผู้ที่เข้าถึงความสุขดังกล่าวนอกจากจะไม่หวั่นไหวต่อการเย้ายวนของกิน กาม เกียรติแล้ว ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เพราะประจักษ์แก่ใจว่า การให้ความสุขแก่ผู้อื่น ย่อมทำให้ตนมีความสุขด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการลดละความยึดติดถือมั่นใน “ของกู” จึงทำให้จิตใจเบาสบาย สงบเย็น
ควบคู่กับการส่งเสริมให้ผู้คน เข้าถึงความสุขทางจิตใจ ก็คือการส่งเสริมให้ผู้คนมีสติรู้เท่าทันความโกรธ-เกลียด-และกลัวในใจ รวมทั้งเห็นถึงโทษของความยึดติดถือมั่นในอุดมการณ์ ซึ่งนอกจากทำให้จิตใจคับแคบแล้ว ยังทำให้เกิดทิฏฐิมานะหนาแน่น จนอัตตาครองใจ ไม่เพียงทำให้ตนมีความทุกข์เท่านั้น หากยังสามารถก่อความทุกข์นานัปการแก่ผู้อื่น รวมทั้งการทำลายล้างกัน เมื่อใดก็ตามที่มีสติ ความโกรธ-เกลียด-กลัวย่อมครองใจได้ยาก ทำให้สามารถเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ที่อยู่คนละฝ่ายกับตน เห็นความทุกข์ของเขา เห็นแม้กระทั่งความดีของเขา เมื่อนั้นก็พร้อมจะให้อภัยและสามารถให้ความรักความเมตตากับเขาได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเขาก็เป็นเพื่อนที่รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา แม้จะยังมีความขัดแย้งกันอยู่จะเป็นเพราะความแตกต่างทางด้านความคิดหรือผล ประโยชน์ก็ตาม แต่ก็จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ยิ่งกว่าที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน
อาตมาตระหนักดีว่า หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จะว่าไปแล้วมิติทั้งสองแยกจากกันไม่ออก จิตวิญญาณของผู้คนมิอาจเจริญงอกงามได้หากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ เลวร้าย ในทางกลับกันระบบเศรษฐกิจการเมืองย่อมไม่อาจเจริญงอกงามได้หากจิตวิญญาณของ ผู้คนถดถอย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองมิติดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่ใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณก็มักจะไม่สนใจสังคม หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเฉพาะตน ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งที่อาตมาพยายามทำก็คือการเชื่อมโยงทั้งสองมิติให้ ประสานกัน
แน่นอนว่าในฐานะพระภิกษุ ย่อมไม่มีอะไรดีกว่าการพยายามนำพาผู้คนให้ตระหนักถึงมิติด้านจิตวิญญาณ และช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและสังคมให้เป็น ไปในทางที่ดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระตุ้นเชิญชวนให้ผู้คนเห็นศักยภาพภายในที่สามารถนำ พาตนให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตใจได้ ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคุณงามความดีและความเป็นมนุษย์ของผู้ อื่น อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกันโดยสันติวิธี เมื่อคำนึงถึงความสามารถที่มีอยู่อาตมาได้เลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นหนทาง หนึ่งในการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยามที่ผู้คนพากัน ประดิษฐ์ถ้อยคำห้ำหั่นกัน ใส่ร้ายป้ายสี หรือกระตุ้นความเกลียดชังกันอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการก็คือถ้อยคำที่เชิญชวนให้ผู้คนมีเมตตาต่อกัน เข้าใจความทุกข์ของกันและกัน รวมทั้งเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักยิ่งกว่าพลังแห่งความโกรธเกลียด
ชีวิตการเขียนของอาตมาเริ่มก่อน มานานก่อนที่จะอุปสมบท นั่นคือเมื่อ ๓๘ ปีก่อน เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่ตื่นมารับรู้ถึงปัญหานานาชนิดที่เกาะกิน บ้านเมืองเวลานั้น อาตมาปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยมีความยุติธรรม เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย จึงใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นมโนธรรมสำนึกของผู้คนให้ตื่นตัวมา รับใช้สังคม ควบคู่กับการวิพากษ์สังคม ความปรารถนาที่จะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีงาม เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อทุกชีวิต เป็นความปรารถนาพื้นฐานที่ผลักดันให้เกิดงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่งานเขียนก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ควบคู่กันไปก็คือการทำกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่างานสิทธิมนุษยชน สันติวิธี อนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะอาตมาไม่ได้ถือตัวว่าเป็นนักเขียน หากเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า แม้เมื่ออุปสมบทแล้ว จะเปลี่ยนบทบาทไป แต่ก็ไม่ทิ้งงานเขียนและงานกิจกรรมอีกหลายอย่าง เป็นแต่ว่าระยะหลังจุดเน้นได้เปลี่ยนไป มาให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณหรือประเด็นทางศาสนธรรมมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปมากในขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม
การได้บวชเป็นพระภิกษุและบำเพ็ญ ภาวนา หันมามองตนอย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมกับการเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นสิ่งที่ต้องทำ ควบคู่กัน ดุลยภาพระหว่างงานภายนอกกับงานภายในเป็นสิ่งจำเป็น ที่ช่วยให้กิจกรรมทางสังคมเป็นไปเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อสนองอัตตาของตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้มีความสงบเย็นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้มีความสุข ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรม และไม่ยี่หระต่อสิ่งเย้ายวนหรือยั่วยุ ไม่ว่ากิน กาม เกียรติ รวมทั้งไม่พลัดตกไปในความโกรธ-เกลียด-กลัวด้วย
ความเข้าใจดังกล่าวยังทำให้ อาตมาเห็นชัดว่า การทำงานเพื่อสังคมกับการฝึกฝนพัฒนาตน มิใช่เป็นสิ่งที่ต้องแยกออกจากกัน พูดอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ด้วยเหตุนี้จากเดิมที่เคยมองว่าการเขียนหนังสือเป็นปฏิบัติการทางสังคมอย่าง หนึ่ง บัดนี้ได้เห็นกว้างขึ้นว่าการเขียนยังเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยในเวลาเดียวกัน จริงอยู่การเขียนนั้นมองในแง่หนึ่งก็คือการประกาศตัวตน แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อคน ๆ หนึ่งเขียนหนังสือ เขาได้นำเอาความคิดความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมาสู่ที่สาธารณะ ให้ผู้คนได้รับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ นักเขียนที่ดีย่อมต้องเปิดใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์ มิใช่รับแต่คำชื่นชมสรรเสริญเท่านั้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องลดทิฐิมานะหรือลดความยึดติดถือมั่นใน “ตัวกูของกู”ให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยก็ต้องมีสติรู้ทันความกระเพื่อมของใจเมื่อได้รับคำวิพากษ์ วิจารณ์ นี้คือกระบวนการฝึกฝนตนอย่างหนึ่งที่ช่วยลดอัตตาได้มาก
ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์พุทธทาส เคยเขียนถึงศรีบูรพาว่า “การปฏิบัติธรรมนั้น ที่แท้ก็คือการประพันธ์นั่นเอง” มองในอีกแง่หนึ่ง คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า “การประพันธ์นั้นที่แท้ก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง” ในข้อนี้อาตมาประทับใจคำพูดประโยคหนึ่งของโรเบิร์ต ฟรอสต์ กวีชาวอเมริกันซึ่งเตือนใจได้ดีมาก เขากล่าวไว้ว่า“การศึกษาคือความสามารถในการฟังสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียความรู้สึกหรือเสียความมั่นใจในตนเอง” นี้คือทัศนะของการศึกษาซึ่งใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก กล่าวคือบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาย่อมต้องวางใจเป็นปกติต่อคำวิจารณ์ได้ แม้อาตมาจะยังไม่สามารถทำได้อย่างที่ว่า แต่ก็ตระหนักว่าบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาตามนัยนี้แหละที่อาตมาควรก้าวไปให้ ถึง โดยมีงานเขียนเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาตนไปถึงจุดดังกล่าว
อาตมาขอขอบคุณคณะกรรมการกองทุน ศรีบูรพาที่เห็นว่าผลงานของอาตมามีคุณค่าควรแก่รางวัลศรีบูรพาในปีนี้ อาตมาขอน้อมรับแม้จะรู้สึกว่าเป็นเกียรติยศที่ใหญ่เกินตัวอาตมา ในโอกาสนี้อาตมาขอขอบคุณอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่มีส่วนอย่างสำคัญให้อาตมาก้าวอยู่บนหนทางนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความกล้าหาญทาง จริยธรรม ทำให้เด็กชายวัย ๑๕ ปีคนหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่จะเขียนบทความแม้จะมีคนอ่านเพียง ไม่กี่คนก็ตาม และทำให้เด็กชายผู้นั้นมีไฟที่จะเจริญรอยตามท่านในด้านอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งการทำหนังสืออ่านในห้องเรียนโดยไม่กลัวอาญาของครูหรืออธิการโรงเรียน ยิ่งกว่านั้นเมื่ออาตมาได้รู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ ท่านยังไว้ใจให้อาตมาดูแลวารสารปาจารยสารทั้ง ๆ ที่ยังเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีสอง อาจารย์สุลักษณ์ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้งานเขียนของอาตมาได้รับการ ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างเป็นฆราวาสและเมื่ออุปสมบทแล้ว อาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้ที่อาตมานับถือเป็นครูและแบบอย่างในด้านการเขียน ดังนั้นเมื่ออาตมาได้รับรางวัลศรีบูรพาซึ่งเป็นรางวัลที่เคยมอบแก่อาจารย์สุ ลักษณ์ รวมทั้งนักเขียนชั้นครูอีกหลายท่านที่อาตมานับถือ จึงยิ่งรู้สึกเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ในฐานะนักเขียน
ที่จริงยังมีอีกหลายท่านที่ สมควรได้รับการขอบคุณจากอาตมาในที่นี้ แต่อาตมาได้รบกวนเวลาของท่านมากไปแล้ว จึงขอยุติแต่เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร
——————————————————————————————————-
สังคมที่สงบสุขต้องขับเคลื่อนให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย
พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ในสุนทรกถาในฐานะ “นักเขียนรางวัลศรีบูรพา”คนที่ ๒๒ เนื่องในโอกาสวันนักเขียน ๕ พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพฯ ว่า
“… ในอดีตไม่เคยมีพระภิกษุที่ได้รับรางวัลนี้ ด้วยเหตุนี้การได้รับรางวัลศรีบูรพา จึงเป็นเรื่องที่เหนือการคาดคิดของอาตมา…”
สำหรับผู้ที่ติดตามอ่านผลงานประพันธ์ของ พระไพศาล วิสาโล มาอย่างต่อเนื่อง คงไม่ถือเป็นเรื่อง “เหนือการคาดคิด”
เนื้อหาส่วนหนึ่งในสุนทรกถาของ พระไพศาล วิสาโล คือการเน้นย้ำเรื่องจิตวิญญาณหรืออิสรภาพทางจิตใจซึ่งมีความสำคัญต่อมวล มนุษย์ทุกคน และแม้จะถูกจองจำ เช่น นักประพันธ์อย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ก็ยังสามารถประคองจิตใจให้มีอิสรภาพสมบูรณ์ได้ในพันธนาการหรือที่คุมขังนั้น
บทสนทนายามเช้าละแวก วัดกำแพง นนทบุรี จากพระไพศาล วิสาโล ชวนให้คิดไปถึงแนวคิดเดียวกันจากหนังสือชื่อ “บันทึกอิสรชน” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์หรือ “ศรีบูรพา” ซึ่งได้ประพันธ์เรื่องนี้ขึ้น ขณะถูกจองจำอยู่ในคุก (พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. ๒๕๔๙) รวมถึงผลงานชิ้นเอกอีกเรื่องคือ “แลไปข้างหน้า” ซึ่งชนิด สายประดิษฐ์ ศรีภริยาของกุหลาบ สายประดิษฐ์เล่าว่า ท่านเขียนในขณะถูกจองจำเช่นกัน แต่ก็ยังสามารถ “แลไปข้างหน้า”ได้อย่างไม่สิ้นสุด…
พระไพศาล วิสาโล ได้ยกตัวอย่างอิสรภาพง่ายๆ จากหญิงในคุกนาซีคนหนึ่ง ซึ่งเธอเล่าว่าได้คุยกับดอกไม้ที่โผล่พ้นหน้าต่างคุกขึ้นมาอย่างหลุดพ้นจาก พันธนาการ และมีความเบิกบาน ไม่ต่างจากดอกไม้งามที่ผลิบานตามธรรมชาติ เมื่อฤดูกาลเวียนมาถึง
“เราจะหาอ่านเรื่องนี้ได้จาก หนังสือเล่มไหนคะ”
ข้าพเจ้าเรียนถามพระไพศาล วิสาโล เพราะสนใจในเรื่องเล่าง่ายๆ แต่ลึกซึ้งนั้น
พระไพศาล ได้เดินไปที่หิ้งหนังสือซึ่งมีกองหนังสือวางสูงเรียงรายเหนือหัวหลายประเภท วางกองเป็นชุดๆ อย่างเป็นระเบียบทันที แล้วยืนเขย่งขึ้น เพื่อหยิบหนังสือมาเล่มหนึ่ง
หนังสือเล่มนั้นชื่อ “ร่มไม้และเรือนใจ” เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
แล้วพระไพศาล วิสาโล ก็ก้มหน้าลงอ่านเรื่องเล่านั้นให้ฟัง ผ่านตัวอักษรของท่านเอง จากบทที่ชื่อว่า “บ่มเพาะความสดใสให้ชีวิต” ซึ่งเปิดเรื่องด้วยบทกวีว่า
ความหวังอันงดงามบินหนีจาก
แม้ความฝันก็พลันเหือดแห้ง
แต่กล้วยไม้ป่ายังผลิบานทุกหน้าหนาว
เสียงนุ่มนวลชัดเจนและได้จังหวะ ของพระไพศาล วิสาโล ผ่านเรื่องเล่านั้น ทำให้ผู้เข้านมัสการท่านต้องเงียบเสียงลง เพื่อฟังธรรมะผ่านการอ่านและบทเรียนของหญิงจากคุกนาซีผู้นั้น
“ธรรมชาติมีพลังแห่งชีวิตที่ สามารถสื่อให้เราหยัดกายยืนขึ้นใหม่ได้ วิคเตอร์ แฟรงเคิล นักจิตบำบัดอันลือชื่อ ซึ่งรอดชีวิตจากค่ายนรกนาซีมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ พูดถึงหญิงร่วมชะตากรรมคนหนึ่งซึ่งกำลังจะตายจากค่ายที่เธออยู่ เธอสามารถมองเห็นไม้ต้นหนึ่งทางหน้าต่าง ซึ่งมีดอกตูมอยู่ ๒ ดอก
เธอเล่าว่า “ มีสิ่งเดียวที่เป็นเพื่อนฉันในยามอ้างว้าง คือต้นไม้ต้นนี้” แล้วเธอก็เล่าต่อว่า “ฉันชอบคุยกับต้นไม้ต้นนี้ แล้วเขาก็ตอบฉันเสียด้วย”
วิคเตอร์สงสัย จึงถามว่า “ต้นไม้บอกอะไรเธอบ้าง”
เธอตอบว่า “ต้นไม้บอกฉันว่า ฉันอยู่นี่ ฉันอยู่นี่ ฉันคือชีวิต ชีวิตนิรันดร์”
ระหว่างการสนทนาธรรม มีโทรศัพท์ที่ติดต่อมาเพื่อขอสัมภาษณ์ทัศนะหรือความคิดเห็นด้านสังคมจากพระ ไพศาล วิสาโล เราจึงได้ร่วมฟังคำตอบนั้นด้วย ท่านตอบผ่านการพูดโทรศัพท์นั้นทันที หลังคำถามจากอีกฝ่ายว่า
“อยากให้คนไทยรับรู้ความทุกข์ ของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เป็นเวลาที่เราควรเปิดใจ เมื่อเราเข้าใจความเจ็บปวด ความสูญเสีย อาตมาก็เชื่อว่า ตอนนี้ต้องตระหนักว่า การเข้าใจถึงความเจ็บปวด ความสูญเสียของกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ พยายามหลีกเลี่ยงการเพ่งโทษ การกล่าวโจมตี หรือทับถมซึ่งกันและกัน นี่ไม่ได้หมายความถึงเรื่องความผิด แล้วเราจะมองข้ามไป ไม่ใช่ อะไรที่เราทำผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ว่ากันไป
อาตมาคิดว่าเราควรให้ความเห็นใจ ผู้เจ็บป่วยหรือสูญเสีย เข้าใจ เปิดใจ และร่วมรับรู้ความทุกข์ให้เขาระบาย เราฟังเขา แล้วเราจะสามารถมองไปข้างหน้า หรือก้าวเดินไปข้างหน้าได้ แม้หลายคนจะหมดหวังในบ้านเมือง สิ้นศรัทธาในมนุษย์ แต่เรามีโอกาสที่จะก้าวข้ามวิบากกรรมนั้น แล้วเดินไปสู่แสงสว่างได้
คนไทยเราเคยผ่านเหตุการณ์ย่ำแย่ อย่างนี้มาก่อน อาตมาเคยผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ ซึ่งผู้คนรู้สึกว่าบ้านเมืองย่ำแย่เหลือเกิน หมดศรัทธาในมนุษย์ แต่ในที่สุดเราก็ผ่านมาได้ สงครามกลางเมืองก็ไม่เกิด จึงอยากให้มีความหวัง เมื่อมีความหวังก็สามารถเกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามได้
เมื่อเราหดหู่ท้อแท้ ก็จะทำให้เรานำความทุกข์ออกไป แต่ความหวังจะเป็นพลังใจที่สามารถช่วยให้ขับเคลื่อนเรากันเองและสังคมไทยไป ในทิศทางที่ดีงาม และสมานความเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้
ตอนนี้เป็นช่วงที่เราต้องใช้สติ ปัญญาให้มาก ไม่ใช้กำลังกันด้วยความโกรธ เกลียด ซึ่ง เราต้องใช้ความอดทน แต่ถ้าทำได้ก็จะได้ผล วิธีคิดแบบนี้ต้องใช้สติปัญญา ต้องใช้ปัญญา ใช้สติ ไม่ใช้กำลังอย่างเดียว เพราะจะยิ่งทำให้ความโกรธความเกลียด ไม่จบไม่สิ้น
อาตมาก็ยังไม่มีคำตอบในเรื่อง นี้ อยากบอกว่า อย่าจมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือผ่านมาแล้ว เพราะจะไม่มีพลังทำอะไร เราสามารถเปลี่ยนความสูญเสียให้ดีขึ้นได้….เจริญพร”
คำถามจากปลายสายนั้นได้ผ่านไปแล้ว แต่มีอีกสายจากสื่อมวลชนบางฉบับที่ติดต่อเข้ามาว่า จะมาขอเข้านมัสการท่านเพื่อสัมภาษณ์ก่อนเที่ยงวัน และบ่ายวันเดียวกัน พระไพศาล วิสาโล แจ้งว่ายังมีกิจนิมนต์ไปที่อนุสรณ์สถานฯ เพื่อร่วมกิจกรรมทางสังคมจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย
แนวคิดจากสุนทรกถาของ พระไพศาล วิสาโล เรื่องของ “ความขัดแย้ง”อันนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมนั้น ควรที่จะนำมาพิจารณาร่วมกันให้ถ่องแท้อย่างกว้างขวาง ดังนี้
“วัฒนธรรมแห่งความเกลียด ชังได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวงทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่า มีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบัน เท่านั้นที่สวมใส่เสื้อสีนั้น ๆหรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและ กัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน
หากวัฒนธรรมแห่งความละโมบ แวดล้อมอยู่ที่คำว่า กิน กาม เกียรติ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ก็รวมศูนย์อยู่ที่คำว่า โกรธ เกลียด กลัว ทั้ง ๖ ก.นี้กำลังบ่อนทำลายสังคมไทยและกัดกินจิตวิญญาณของผู้คนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในสภาพเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิต วิญญาณให้แก่ผู้คน เพื่อต้านทานการครอบงำของวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ดังกล่าว ด้านหนึ่งก็ด้วยการฟื้นฟูคุณค่าอันดีงาม เพื่อให้ประชาชนยึดถือและเป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่เท่านั้นย่อมไม่พอ หากควรส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าถึงความสุขทางจิตใจ อันเป็นความสุขที่ประณีตและประเสริฐกว่าความสุขทางวัตถุ ผู้ที่เข้าถึงความสุขดังกล่าวนอกจากจะไม่หวั่นไหวต่อการเย้ายวนของกิน กาม เกียรติแล้ว ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เพราะประจักษ์แก่ใจว่า การให้ความสุขแก่ผู้อื่น ย่อมทำให้ตนมีความสุขด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการลดละความยึดติดถือมั่นใน “ของกู” จึงทำให้จิตใจเบาสบาย สงบเย็น
ควบคู่กับการส่งเสริมให้ผู้ คนเข้าถึงความสุขทางจิตใจ ก็คือการส่งเสริมให้ผู้คนมีสติรู้เท่าทันความโกรธ-เกลียด-และกลัวในใจ รวมทั้งเห็นถึงโทษของความยึดติดถือมั่นในอุดมการณ์ ซึ่งนอกจากทำให้จิตใจคับแคบแล้ว ยังทำให้เกิดทิฏฐิมานะหนาแน่น จนอัตตาครองใจ ไม่เพียงทำให้ตนมีความทุกข์เท่านั้น หากยังสามารถก่อความทุกข์นานัปการแก่ผู้อื่น รวมทั้งการทำลายล้างกัน เมื่อใดก็ตามที่มีสติ ความโกรธ-เกลียด-กลัวย่อมครองใจได้ยาก ทำให้สามารถเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ที่อยู่คนละฝ่ายกับตน เห็นความทุกข์ของเขา เห็นแม้กระทั่งความดีของเขา เมื่อนั้นก็พร้อมจะให้อภัยและสามารถให้ความรักความเมตตากับเขาได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเขาก็เป็นเพื่อนที่รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา แม้จะยังมีความขัดแย้งกันอยู่จะเป็นเพราะความแตกต่างทางด้านความคิดหรือผล ประโยชน์ก็ตาม แต่ก็จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ยิ่งกว่าที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน
อาตมาตระหนักดีว่า หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จะว่าไปแล้วมิติทั้งสองแยกจากกันไม่ออก จิตวิญญาณของผู้คนมิอาจเจริญงอกงามได้หากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ เลวร้าย ในทางกลับกันระบบเศรษฐกิจการเมืองย่อมไม่อาจเจริญงอกงามได้หากจิตวิญญาณของ ผู้คนถดถอย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองมิติดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่ใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณก็มักจะไม่สนใจสังคม หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเฉพาะตน ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งที่อาตมาพยายามทำก็คือการเชื่อมโยงทั้งสองมิติให้ ประสานกัน
แน่นอนว่าในฐานะพระภิกษุ ย่อมไม่มีอะไรดีกว่าการพยายามนำพาผู้คนให้ตระหนักถึงมิติด้านจิตวิญญาณ และช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและสังคมให้เป็น ไปในทางที่ดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระตุ้นเชิญชวนให้ผู้คนเห็นศักยภาพภายในที่สามารถนำ พาตนให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตใจได้ ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคุณงามความดีและความเป็นมนุษย์ของผู้ อื่น อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกันโดยสันติวิธี เมื่อคำนึงถึงความสามารถที่มีอยู่อาตมาได้เลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นหนทาง หนึ่งในการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยามที่ผู้คนพากัน ประดิษฐ์ถ้อยคำห้ำหั่นกัน ใส่ร้ายป้ายสี หรือกระตุ้นความเกลียดชังกันอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการก็คือถ้อยคำที่เชิญชวนให้ผู้คนมีเมตตาต่อกัน เข้าใจความทุกข์ของกันและกัน รวมทั้งเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักยิ่งกว่าพลังแห่งความโกรธเกลียด
ชีวิตการเขียนของอาตมาเริ่ม ก่อนมานานก่อนที่จะอุปสมบท นั่นคือเมื่อ ๓๘ ปีก่อน เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่ตื่นมารับรู้ถึงปัญหานานาชนิดที่เกาะกิน บ้านเมืองเวลานั้น อาตมาปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยมีความยุติธรรม เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย จึงใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นมโนธรรมสำนึกของผู้คนให้ตื่นตัวมา รับใช้สังคม ควบคู่กับการวิพากษ์สังคม ความปรารถนาที่จะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีงาม เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อทุกชีวิต เป็นความปรารถนาพื้นฐานที่ผลักดันให้เกิดงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่งานเขียนก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ควบคู่กันไปก็คือการทำกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่างานสิทธิมนุษยชน สันติวิธี อนุรักษ์ธรรมชาติ
ทั้งนี้เพราะอาตมาไม่ได้ถือ ตัวว่าเป็นนักเขียน หากเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า แม้เมื่ออุปสมบทแล้ว จะเปลี่ยนบทบาทไป แต่ก็ไม่ทิ้งงานเขียนและงานกิจกรรมอีกหลายอย่าง เป็นแต่ว่าระยะหลังจุดเน้นได้เปลี่ยนไป มาให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณหรือประเด็นทางศาสนธรรมมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปมากในขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม…”
พระไพศาล วิสาโล
ที่มา: http://www.visalo.org/article/ExpeSriburapa.htm
http://www.visalo.org/columnInterview/matichonweekly_5306.htm