สื่อและเสรีภาพ
ประชาไท.คอม
หากพูดถึงหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เราคงนึกไปถึง ผู้จัดการออนไลน์ กรุงเทพธุรกิจ และมติชน สื่อทุนใหญ่ที่มีข่าวอัพเดตให้เราอ่านกันแบบทุกวันทุกชั่วโมง ให้คุณได้เสพข่าวสารข้อมูลจนล้นทะลัก
บนพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตอันกว้างใหญ่ไพศาล หนังสือพิมพ์ออนไลน์ชื่อ “ประชาไท” ได้ถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ 2547 สวนกระแสสำนักข่าวออนไลน์ ด้วยการลงทุนน้อย เน้นหนักในเรื่องเสรีภาพ มุ่งภารกิจสำคัญคือการเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ให้พลเมืองได้แสดงออกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพใน การแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุด ที่มนุษย์คนหนึ่งพึ่งมี
ปัจจุบัน เว็บไซต์แห่งนี้กลายเป็นที่สิงสถิตของคอการเมือง นักวิชาการ นักพัฒนาสังคม และผู้เสพข่าวทางเลือก มีสถิติคนเข้าชมประมาณวันละ 12,000 IP
ลองมามองก้าวย่างและทัศนะของ “ประชาไท.คอม” วันนี้จาก ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการข่าวคนปัจจุบัน
หนังสือพิมพ์อิสระ
หนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บ “ประชาไท” เกิดจากการก่อตั้งของคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา นักกิจกรรม นักวิชาการสายสื่อมวลชน และสื่อมวลชนเอง โดยการริเริ่มของอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ชี้ว่า “ประชาชนคนด้อยโอกาส” ได้หายไปจากสื่อกระแสหลักแล้ว เนื่องจากโครงสร้างของสื่อกระแสหลักที่อยู่รอดได้ด้วย
“ทุน” อันเป็นข้อจำกัดในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล
“สื่อกระแสหลักอย่างไรก็ต้องอยู่รอด เลี้ยงตัวเองให้ได้ เมื่อเข้าสู่ตลาดหุ้น จุดประสงค์หลัก คือกำไร เมื่อจุดประสงค์หลักอยู่ที่กำไรก็ต้องมีข่าวบางประเภทขายไม่ได้หรือไม่ควร เป็นข่าว ฉะนั้นโครงสร้างรายได้ของสื่อจึงไม่เอื้อต่อข่าวสารเสรีของคนด้อยโอกาสแน่ นอน ซึ่งจุดนี้คือกำเนิดของประชาไทและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ”
ประชาไท.คอม จึงยึดมั่นทำงานแบบ “ทุนน้อย” แต่มี “เสรีภาพ” เต็มที่ ด้วยโครงสร้างการทำงานแบบสื่อมืออาชีพ และโครงสร้างรายได้แบบองค์กรพัฒนาเอกชน คือการขอทุนและรับบริจาคเท่านั้น
“ประชาไทเกิดจากความ ตั้งใจว่าเราจะเป็นสื่อทุนน้อย เพราะทุนเยอะ ทำให้มีข้อจำกัดด้านเสรีภาพ ฉะนั้นประชาไทจึงยังยึดหลักทุนน้อย การคาดหวังอยากให้ประชาไทเหมือนสื่อกระแสหลัก เป็นความคาดหวังที่เกินเลยไป เพราะมันมีราคาที่ต้องจ่ายของเสรีภาพด้วย ฉะนั้นวันนี้ เราจึงคงลักษณะทุนน้อยไว้ และขยับขยายภายใต้ช่องทางใหม่ๆ เช่น ทีวีออนไลน์”
“ทุนในปีแรกมาจาก สสส. และ พอช. ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน เราตระหนักว่าแหล่งทุนมีผลกระทบกับการทำงาน ต่อมา คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า เราจะไม่ขอทุนแหล่งเดียว เพื่อไม่ให้แหล่งทุนมีบทบาทกับข่าวสารในประชาไท ทำให้ประชาไทสามารถวิพากษ์สสส.ได้ และ สสส.ก็ไม่เคยมายุ่มย่ามห้ามตรวจสอบโครงการที่ได้รับทุน”
ทุกวันนี้ ประชาไทมีผู้อ่านวันละ 12,000 IP กลุ่มคนอ่านส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกิน 30 ปี มีตั้งแต่นักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษาปริญญาโท นักวิชาการสายสังคม นักพัฒนาสังคม ไปจนถึงนักวิจารณ์การเมือง แล้วอะไรทำให้ประชาไทเป็นประชาไทวันนี้
จุดยืน
ด้วยความเร็วคลิกที่เท่ากัน ไม่ว่าคุณจะคลิกเข้าไปในเว็บประชาไท ผู้จัดการออนไลน์ หรือ กรุงเทพธุรกิจ แต่เหตุใด ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงเลือกคลิกประชาไท
“เพราะเราทำในสิ่งที่เขาไม่ทำ ทำในสิ่งที่สังคมขาด ข่าวสารไหนที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ประชาไทต้องมี หลักการมีแค่นี้”
สองปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย ทั้งเหตุการณ์ขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และการรัฐประหาร ประชาไทแทบเป็นช่องทางเดียวที่นำเสนอข่าวสารที่สื่อกระแสหลักไม่พูดถึง
“มีคนเกลียดทักษิณเต็มบ้านเต็มเมือง เรากลายเป็นช่องทางที่ไม่ได้มองทักษิณเลว คนไม่เอารัฐประหาร ซึ่งเราไม่ได้เชื่อเขา แต่เราต้องมีเวทีให้คนที่คิดต่าง ไม่อย่างนั้น จะต่างอะไรกับเผด็จการ คุณบอกว่าทักษิณเป็นเผด็จการ แต่คุณก็ไม่ให้เขาพูด มันจะเหมือนตอน 6 ตุลา คุณบอกว่าทุกคนรักพระมหากษัตริย์ แล้วไม่มีพื้นที่ให้พรรคคอมมิวนิสต์ แล้วไล่เขาเข้าป่า ไม่ได้สังคมไทยต้องไม่มีราคาจ่ายแบบนั้นอีก เห็นด้วยหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่คุณต้องมีพื้นที่เล็กๆ ให้สังคมได้ยืน
“แต่เอาเข้าจริง พื้นที่เล็กๆ นี้มันไม่เล็กเลย คนจำนวนมากถูกปิดปากไม่ให้พูด ไม่มีเวทีให้เขาสื่อหรือแสดงออก พื้นที่เล็กๆ ที่ประชาไทเปิดให้เขานั้นมันใหญ่กว่าที่คุณคิดเยอะ”
นอกจากนี้ ประชาไทยังเปิดพื้นที่ของ “นักข่าวอาสาสมัคร” หรือ Grass Root Reporter ที่ยินดีส่งข่าวจากพื้นที่ และอนุญาตให้ประชาไทตรวจสอบเนื้อหาข่าว
“เรามาในจังหวะที่การ แสดงออกความคิดเห็นถูกปิดกั้น คือช่วงทักษิณชิงพื้นที่ทางสื่อกับรัฐประหาร เพราะฉะนั้น ประชาไทจึงเป็นช่องทางเดียวที่ผู้เดือดร้อนในพื้นที่ส่งข่าวมาให้เรา หลายพื้นที่เขียนข่าวไม่เป็นเลย ช่วงแรกเราก็แก้ให้เยอะหน่อย หลังๆ แทบไม่ต้องเลย ประโยชน์คือ หนึ่ง เขาได้นำเสนอข่าวจากพื้นที่ สอง เราได้ข่าว โดยเราจะรับผิดชอบตรวจข้อมูล ไม่ให้เกิดอคติจนเกินไป โดยระบุว่าเป็นข่าวของเขา ฉะนั้น ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ”
“ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์กระแสหลัก คุณลงข่าวแบบนี้ไม่ได้ เพราะหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดชอบคุณ แน่นอน เรารับผิดชอบส่วนหนึ่ง แต่เว็บนี้เป็นของคุณเท่าๆ กับของผม ผู้อ่านต้องรู้ว่าข่าวนี้มาจากไหน ชาวบ้านจากอำเภอจะนะเขียนมา ผู้อ่านต้องรู้ว่าเขามีอคติ เพราะเขาเป็นผู้เดือดร้อนในพื้นที่”
และด้วยความรู้สึก “ทุกคนเป็นเจ้าของเว็บเท่าๆ กัน” เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ประชาไทยืนได้อย่างเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้
เนื้อหา
สี่ขวบปีของประชาไท มีเนื้อหาและประเด็นหลากหลาย จากเนื้อหาของคนรากหญ้า วันนี้ประชาไทมีมิติของการเมือง สังคม และวัฒนธรรมมากขึ้น
“เดิมเราจะเสนอข่าวที่ไม่เป็นข่าว คือข่าวของผู้ด้อยโอกาส ประชาชนรากหญ้า แต่พอผมเข้ามาเป็นบรรณาธิการ ผมมีฐานของนักข่าวการเมือง ผมเห็นว่าปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านมาจากโครงสร้างทางการเมืองเดียวกัน เราจึงเชื่อมเรื่องคนด้อยโอกาสกับการเมืองได้ ประกอบกับยิ่งในยุคทักษิณและรัฐประหาร เรื่องเหล่านี้ชัดเจนมาก และด้วยธรรมชาติของสถานการณ์จึงทำให้น้ำหนักข่าวการเมืองมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข่าวพวกนี้มักเล่นกับกระแส ไม่มีกระแสก็ไม่มีใครอ่าน
“ต่อมา ประชาไทอยากเข้าไปเล่นในพื้นที่ของงานวัฒนธรรม เพราะเรารู้ว่าผู้อ่านด้านวัฒนธรรมเป็นคนกลุ่มใหญ่ 80% ของผู้อ่าน ส่วนอีก 20% อ่านข่าวการเมือง อีก 2% อ่านข่าวชาวบ้าน ฉะนั้น จะทำอย่างไรกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่ประชาไทไม่เคยเข้าไปแตะ เราจะพูดภาษาอย่างไรให้เขาเห็นว่าวัฒนธรรมอยู่ในปัญหาเดียวกับชาวบ้าน เป็นปัญหาเดียวกับโครงสร้างทางการเมือง
“เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน คุณฟังเพลงนี้ เพลงนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าของชนชั้นไหน ระดับไหน ทำอย่างไรที่จะสนทนากับเขาได้ แต่ตอนนี้ไม่มีกำลัง คนที่เขียนเรื่องพวกนี้จะเขียนโดยไม่มีเงินก็ไม่ได้ เราเลยทำเท่าที่ทำได้ จัดหมวดคอลัมนิสต์ของเรา และตั้งใจจะทำเรื่องนี้ต่อไป
“นอกจากนี้ เรายังพยายามทำข่าวนักศึกษา การเมืองแบบนักศึกษา วัฒนธรรมแบบนักศึกษา แต่ทำไม่ได้เพราะยังไม่มีนักข่าวสายนี้เลย”
การปรับตัว
จากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ เมื่อวันหนึ่งต้องมาอยู่หน้าจอ ความเร็วต่อ 1 คลิก กับการพลิกหน้ากระดาษกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่ทำให้คนทำงานด้านหนังสือ พิมพ์ต้องปรับตัวและปรับใจกันขนานใหญ่
1. ใจกว้าง
“คุณต้องใจกว้างเหมือนมหาสมุทร คุณเขียนข่าว 1 ชิ้น คุณเตรียมใจโดนด่า โดนวิพากษ์วิจารณ์ ลงปุ๊ป คอมเม้นปั๊บ บางทีรู้เลยว่าอ่านพาดหัวก็ด่าแล้ว แต่เราไม่ให้นักข่าวเราตอบกลับเป็นการส่วนตัว เราต้องรับการวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้ และถ้าเกิดคุณจะตอบเขา ต้องไม่ใช่ท่าทีของการเป็นเจ้าของเว็บ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของเว็บ ถ้าคุณอ่านบทบรรณาธิการประชาไทมีคนด่าผมเสียๆ หายๆ เยอะมาก แต่ผมไม่ใช่เจ้าของเว็บ ผมก็ตอบโต้อะไรไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนตัวตนคนทำข่าวเยอะมาก”
2. วิธีคิดและวิธีการทำข่าวให้แตกต่าง
รูปแบบข่าวของประชาไทมีหลากหลาย ไม่ตายตัว ข่าวอาจเป็นบทความ สัมภาษณ์ ข่าววิเคราะห์ หรือรายงาน ทำให้ประชาไทโดดเด่นในการทำข่าววิเคราะห์ และด้วยลักษณะของเว็บหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทำให้ข่าวยาวได้ไม่จำกัด ซึ่งต่างจากลักษณะงานหนังสือพิมพ์ที่ต้องเสียเวลามากกับการตัดและปรับแก้ เนื้อหา
“การที่ปล่อยให้ข่าวไหลมีทั้งดีและไม่ดี คือไม่กระชับ เนื้อหาเยอะ ซึ่งทำให้คนอ่านเลือกอ่านมากขึ้น เราก็แก้ปัญหาด้วยการใส่คำโปรย ทำพาดหัวย่อยเข้าไป ฉะนั้นคนทำงานก็เหนื่อยขึ้น ต้องถอดเทปเยอะ แต่ก็ลดเวลาในการตัดและแก้ไข”
3. พาดหัวข่าวให้โดน คม สั้น และกระชับ
พาดหัวดีๆ โดนๆ จะทำให้คนอ่านจำนวนมากขึ้น ชูวัสกล่าวว่า “เว็บนี้มีข้อจำกัดตรงที่ข่าวเยอะ ทำให้การพาดหัวต้องอยู่ใน 2 บรรทัด จึงบีบให้พาดหัวสั้น กระชับ แต่ก็ยืดหยุ่นได้กว่าข่าวทั่วไป และเนื้อหาเต็มที่”
สำหรับเนื้อหาคอลัมนิสต์ในประชาไท ปัจจุบันมีจำนวนร้อยกว่าราย ประชาไทได้ขอให้คอลัมนิสต์อัพเดตบทความทุกๆ วันจันทร์ แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากค่าเรื่องไม่ได้จูงใจมากนัก และลักษณะของเว็บไซต์ที่ไม่บีบบังคับให้ผู้เขียนต้องส่งเพื่อตีพิมพ์ ฉะนั้น หากคอลัมนิสต์ส่งช้า งานก็ไม่เสียหาย แต่ทำให้การบริหารจัดการเว็บไซต์ยากขึ้น
ด้านการขอความร่วมมือกับแหล่งข่าว แม้ประชาไทจะก่อตั้งมาได้ 3 ปีแล้ว แต่เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาและอุปสรรค
“ลำบาก ประชาไทไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป แต่กับนักการเมือง ไม่มีปัญหา นักการเมืองระดับบิ๊กๆ เขารู้จักเรา ผมเชื่อว่านักการเมืองพรรคประชาธิปปัตย์ พรรคพลังประชาชน รู้จักเราดี เนื่องจากช่วงรัฐบาลของคุณทักษิณ เขาตรวจเว็บเราก่อนเข้าประชุม ครม. นักการเมือง นักวิชาการ NGOs รู้จักเราเป็นอย่างดี ปัญหาคือกลุ่มข้าราชการที่ยังไม่รู้จักประชาไท”
ทางหนีทีไล่
ในยุครัฐประหาร หลายครั้ง ประชาไทอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกปิด พวกเขาหันไปใช้ Blog ของ WordPress เป็นการชั่วคราว และกลับมาใหม่กับระบบความปลอดภัยที่มั่นคงขึ้นและไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก
“กรณีถูกปิด เราคิดว่าไม่น่าจะเจออีกหลังรัฐประหาร เพราะเราไม่ใช่เว็บโป๊เปลือย ถ้าปิดอีก คุณจะเจอคำถามจากสังคมทั้งโลกว่าคุณปิดเว็บสื่อได้อย่างไร เพราะเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์
“อย่างไรก็ตาม ในสื่ออินเตอร์เน็ต คุณรองรับความมั่งคนด้วยรายจ่ายที่ไม่แพงนัก ถ้าเทียบกับสื่ออื่นๆ เช่น เรามีบล็อกคอยส่งข่าวสาร แต่มีข้อจำกัดด้านฐานข้อมูลที่ลงไม่ได้มาก แต่สามารถส่งข่าวกรณีที่เว็บโดนบล็อก
“ขณะเดียวกัน เรามี server สำรองที่ลงข้อตกลง MOU กับเพื่อนในต่างประเทศว่า เราสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ภายในครึ่งชั่วโมง เรียกง่ายๆ คือ ภายในครึ่งชั่วโมงเราจะมีเว็บขึ้นทันทีในชื่อ prachatai.com ปิดเราก็ไม่มีประโยชน์ ยกเว้นว่าจะปิดสัญญาณใยแก้วใต้น้ำ แปลว่าคนทั้งประเทศห้ามใช้อินเตอร์เน็ต”
มิตรขาจร
จากโครงสร้างของประชาไทที่ใช้ “ต้นทุน” น้อย เพื่อ “เสรีภาพ” การทำงาน พวกเขาจึงต้องอาศัย “เครือข่าย” ที่เข้าใจและยินดีให้ข้อมูล แต่ด้วยบุคลิกที่อาจคมชัดและมีจุดยืนที่ชัดเจน บ่อยครั้ง มิตรเก่าก็หนีหาย ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนใหม่เข้ามาเกือบทุกวัน
“สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แรกๆ เราก็สัมพันธ์กันดี หลังๆ ไม่แล้ว พอเปลี่ยนบ.ก.มาเป็นผม อาจเป็นเพราะผมห่วยก็ได้ ช่วงหลังๆ เราทำเรื่องต้านทักษิณและรัฐประหาร เพราะเราวิพากษ์วิจารณ์สมาคมอย่างรุนแรงที่ส่งตัวแทนเข้าไปเป็น สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เราจึงมีมิตรใหม่ๆ แต่อยู่ในระยะเวลาอันสั้น
“จริงๆ ไม่ใช่เรา แต่คนอื่นเขียนมา เราก็ลงให้ ที่นี่ พวกสื่อ เวลาเจอการวิพากษ์วิจารณ์บ้างก็กลับรับไม่ได้ ความสัมพันธ์ก็เลยห่างๆ กันไป
“NGOs เองก็กัด แต่เพื่อนกันนี่แหละ ไม่เขียนให้ก็ด่า เขียนวิจารณ์เขาก็ด่า เขียนเข้าข้างทักษิณก็ว่าใฝ่รัฐบาล พอด่าทักษิณ เขาก็ว่าเรายอมรับรัฐประหาร เขาก็ด่าเราอีก แต่อย่างไร เราก็รักกันดี รู้เจตนากันอยู่”
“มิตรในเครือข่ายมักไม่ เอาเรา รู้ไหม…เพื่อนสื่อที่เห็นเขียนมาเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้น พอมีเรื่องด่าส่วนตัว เขาก็ขอให้เราปิด คือเรื่องแบบนี้ ถ้าไม่กระทบกับตัวเองก็ไม่รู้ ขีดจำกัดของการปิดกั้นความคิดเห็นก็มี ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นต่างกันขนาดไหนก็ตาม ฉะนั้น วันที่ประชาไทไม่ปิดความเห็นเพื่อยืนยันเสรีภาพ คนๆ นั้นก็จะไม่นับเราเป็นมิตรอีกต่อไป”
“หนักกว่านั้น อาจารย์ที่เราเคยสัมภาษณ์ บางคนเขาไม่ให้เราสัมภาษณ์แล้ว กลัวความเห็น หลังๆ เราจึงมีมาตรการแจ้งสิทธิ กรณีที่เป็นข่าว เราจะไม่ปิดความเห็น แต่ถ้าเป็นสัมภาษณ์พิเศษ เราต้องรับผิดชอบต่อแหล่งข่าว โดยแจ้งสิทธิว่าจะเปิดความเห็นหรือไม่เปิดความเห็น ถ้าเขาบอกปิดก็ปิด ต้องให้ผู้อ่านรู้ว่านี่เป็นสิทธิของแหล่งข่าว ไม่เช่นนั้น คุณจะไม่เหลือแหล่งข่าวอีกเลย ฉะนั้น บางอันปิด บางอันเปิด ไม่เช่นนั้นเราก็กลายเป็นว่าเราเอาเขามาเชือด”
การจัดการภายใน
ประชาไทประกอบไปด้วยบรรณาธิการ 1 คน กองบรรณาธิการ 7 คน เว็บมาสเตอร์ 1 คน ผู้จัดการ 1 คน ผู้อำนวยการ 1 คน ธุรการและการเงิน 1 คน ฯลฯ รวม 12 คน ทุกๆ เรื่องขององค์กรต้องผ่านตัดสินใจร่วมกัน ทำให้การทำงานที่ต้องอาศัยการตัดสินใจจำต้องดำเนินไปอย่างเชื่องช้า (การย้ายสำนักงานใหม่ปัจจุบัน ใช้เวลากว่า 2 ปีในการคิดร่วมกัน เป็นต้น)
นักข่าวในกองบรรณาธิการส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ยินดีเผชิญกับประเด็นหนักๆ ยากๆ โดยประชาไทจะไม่ดูแลพวกเขามากนัก เพื่อให้ทุกคนเติบโตเอง
“ผมดูแลไม่ค่อยดี ให้มันโตเอง แต่ก็ถกกันทุกวันจันทร์ วิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์สถานการณ์ ดูว่ามีอะไรแหลมคม อะไรสร้างสรรค์ ส่งการบ้านนอกรอบ ที่นี่ ในเรื่องพัฒนาการ เราเองก็ไม่พอใจ แต่ก็แปลกใจตรงที่ จุดยืนของน้องๆ ในกองบรรณาธิการแข็งมาก มันมาอย่างป๊อปๆ ทั่วไปคือฟังเพลงวัยรุ่น ตามแฟชั่น แต่ในโหมดไม่ป๊อป มันก็มีใจสาธารณะแบบที่หาได้ยาก ที่นี่เลยเหมือนชมรมหนึ่งที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผมไม่รู้จะดูแลอย่างไร ที่แน่ๆ ผมไม่ได้บริหารงานแบบเจ้านาย”
ก้าวต่อไป
วันนี้ประชาไทถือเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่เติบโตได้เป็นอย่างดี สำหรับวันพรุ่งนี้ ชูวัสบอกกับเราว่า
“ต่อไปไม่รู้เราจะตายหรืออยู่นะ เพราะน่าจะมีเว็บหนังสือพิมพ์ทางเลือกเพิ่มอีกเยอะ เช่น ประชาธรรม ฟ้าเดียวกัน ก็จะปรับมาเป็นแบบประชาไท เพราะประชาไททำให้เห็นว่ามันรอด มีที่มีทางของเรา
“สำหรับความตั้งใจในปีหน้า เราอยากปรับให้ หนึ่ง มีข่าวนักศึกษามากขึ้น สอง มีคอลัมน์วัฒนธรรมบันเทิงเพิ่มขึ้น สาม ถึงเวลาที่จะมีบทบรรณาธิการที่แท้จริงเสียที”
“บทบรรณาธิการ ทุกที่บรรณาธิการจะเขียนคนเดียว แต่ไม่ใช่บทเขียนของทั้งกองบรรณาธิการ ที่นี่ เราจะแบทั้งกองให้ดูด้วย TV online แบบบทบรรณาธิการ”
“เราพยายามยุนักข่าวการเมืองของเราให้สัมภาษณ์ดาราในมุมการเมือง เพราะมันไม่มีคนทำ เช่น สัมภาษณ์ แพนเค้กหรือ จินตหลา พูนลาภ ไปถามมุมที่ไม่ใช่มุมหน้อมแน้ม ไม่ทำให้ดาราโง่ คือเขาไม่ได้เรียนมาน้อยๆ หรือถ้าเรียนมาน้อย เขาก็มีชีวิตของเขา เขามีมุมตั้งเยอะแยะที่น่าสนใจ”
ความเชื่อ
คำถามสุดท้ายเราถามว่า ประชาไทเชื่อในอะไร อะไรสำคัญที่สุด?
“ประชาไทเชื่อว่า “เสรีภาพ” คือดิน น้ำ ปุ๋ยที่ทำให้สังคมเติบโตได้ นี่คือคำของอาจารย์ป๋วย ผมคิดว่าไม่มีเสรีภาพ เหมือนไม่มีดิน น้ำ ปุ๋ย สังคมจะโตได้อย่างไรหากขาดเสรีภาพ ความรู้เกิดจากเสรีภาพ ตัวตนเกิดจากเสรีภาพ เสรีภาพเป็นเครื่องสะท้อนว่าเราเป็นเจ้าของตัวเรา เสรีภาพเป็นเครื่องสะท้อนว่าเราเป็นเจ้าของโลกใบนี้ และทุกคนเท่าเทียมกัน คุณไม่มีเสรีภาพก็ไม่มีความเสมอภาพ ฉะนั้น เสรีภาพควรเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรให้ความสำคัญกว่าความมั่นคง เราควรมั่นคงที่จะมีเสรีภาพ และควรเลือกได้ว่าความมั่นคงของเราเป็นแบบใด ชนิดไหน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีอาวุธหรือมีอำนาจอยู่แล้ว”
“เสรีภาพต้องมีพื้นฐานของการคิดถึงคนอื่น ไม่เช่นนั้น คุณจะไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงได้เลย เพราะเวลาที่คุณจะแหกปากขึ้นมา คุณต้องคิดแล้วว่ามีคนฟังอยู่เพียบเลย คนมันคงด่าเรา และเราก็จะไม่ทำเรื่องนั้น ฉะนั้น เสรีภาพไม่ใช่การตามใจตัวเอง แต่คือคุณต้องตระหนักว่า ตอนคุณตะโกน มันเหมือน Matrix ที่คุณรู้ว่าคนฟังข้างล่าง เขาคงหนวกหูน่าดู แล้วจะพบว่า เราไม่ต้องตะโกนก็ได้ เพราะเราคิดถึงเขาแล้ว”
“แต่ผมคิดว่า เสรีภาพไม่ใช่การคิดถึงตัวเอง เพราะการคิดถึงแต่ตัวเอง มันทำให้คุณรู้สึกทุกข์มากเหมือนอยู่ในกรงขัง เช่น คุณอยากตะโกนเหลือเกิน แปลว่าคุณไม่มีเสรีภาพแล้ว แต่เมื่อคุณรู้สึกว่า คุณตะโกนได้โดยคนรอบข้างไม่เดือดร้อน คนรอบข้างอยากให้คุณตะโกน เพื่อให้คุณระบายออกมา นี่คือเสรีภาพสูงสุด มันไม่ได้เกิดจากความต้องการที่อยากตะโกน แต่เป็นการเอาตัวเองไปผูกกับคนอื่น คุณต้องลดตัวตนลง เสรีภาพถึงจะเกิดขึ้นได้”