สังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความดี
พระไพศาล วิสาโล
พฤติกรรมทางศีลธรรมของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือความรู้สึกผิด ชอบชั่วดีภายในใจเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมรวมถึงสถานการณ์และผู้คนรอบตัวด้วย หากมีใครสักคนเป็นลมอยู่บนถนนที่มีคนพลุกพล่าน ถ้าทุกคนพากันเดินผ่านผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่หยุดช่วยเหลือเขาเลย คนที่เดินตามมาก็มีแนวโน้มที่จะเดินผ่านเขาไปด้วยเช่นกัน แต่ถ้าบังเอิญมีใครสักคนหยุดเดินแล้วเข้าไปช่วยเขา ก็จะมีใครต่อใครอีกหลายคนเข้าไปทำอย่างเดียวกัน เช่น ซื้อยาดมหรือหาน้ำให้กิน
นักจิตวิทยาคู่หนึ่ง แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยทำการทดลองด้วยการมอบหมายให้นักศึกษาคนหนึ่งแกล้งทำเป็นโรคลมบ้าหมูอยู่ คนเดียวในห้อง โดยมีนักศึกษาอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องติดกัน (แต่ไม่รู้ว่ามีการทดลอง) จากการทดลองทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง พบว่านักศึกษาข้างห้องเมื่อได้ยินเสียงร้องจะเข้าไปช่วย “ผู้ป่วย” ถึงร้อยละ ๘๕ ของการทดลอง แต่ถ้าหากในห้องข้าง ๆ นั้นมีคนอยู่ ๕ คน ร้อยละ ๓๑ เท่านั้นที่จะมีคนจากห้องนั้นไปช่วย
เขายังได้ทดลองด้วยการสุมควันในห้อง ปรากฏว่าคนที่อยู่นอกห้องหากเห็นควันพวยพุ่งจากใต้ประตูจะรีบวิ่งไปบอกเจ้า หน้าที่ถึงร้อยละ ๗๕ ถ้าเขาอยู่คนเดียว แต่ถ้าอยู่กันเป็นกลุ่ม จะมีการรายงานเจ้าหน้าที่เพียงร้อยละ ๓๘ ของการทดลองเท่านั้น
การทดลองนี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะทำตัวพลเมืองดีหากว่าอยู่คนเดียว แต่ถ้าอยู่กันหลายคน ความใส่ใจที่จะเป็นพลเมืองดีก็ลดลง
กล่าวกันว่าคนเรามักจะทำดีต่อหน้าผู้คน ข้อนี้มีความจริงอยู่ แต่ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ทำตัวเฉยเมย ดูดายต่อปัญหา ไม่อนาทรต่อผู้เดือดร้อน คนอื่นก็มักจะทำตามด้วย นี้คือเหตุผลว่าเหตุใดผู้หญิงจึงถูกลวนลามในรถเมล์หรือถูกฉุดกระชากลากถู เข้าพงหญ้าโดยไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือเลย ในสถานการณ์เช่นนี้ต่างคนต่างโยนความรับผิดชอบให้คนอื่น ( “แกทำสิ ๆ” หลายคนคงนึกเช่นนี้ในใจ) หาไม่ก็นึกในใจว่า “ถึงฉันไม่ทำ คนอื่นก็ทำ” สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไรเลยสักคน อันธพาลจึงทำร้ายผู้หญิงได้สมใจและลอยนวลไปได้
นอกจากผู้คนแวดล้อมแล้ว สถานการณ์หรือสถานภาพของแต่ละคนก็มีส่วนกำหนดพฤติกรรมของเขาด้วย เมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้วมีการทดลองที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยทำคุกจำลองขึ้นและมีอาสาสมัครจำนวน ๒๔ คนมารับบทเป็นผู้คุมและนักโทษ อาสาสมัครเหล่านี้ล้วนคัดมาจากผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมาก ผู้ที่รับบทเป็นผู้คุมซึ่งมีอยู่ครึ่งหนึ่งนั้นได้รับเครื่องแบบ ใส่แว่นตาดำและมีอุปกรณ์ทุกอย่างเหมือนจริง รวมทั้งมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้คุมทั่วไป
การทดลองมีกำหนด ๑๔ วัน แต่หลังจากดำเนินไปได้เพียง ๖ วันก็ต้องยุติ เพราะนักโทษทนสภาพที่ถูกบีบคั้นในคุกไม่ไหว เนื่องจากผู้คุมใช้อำนาจอย่างเต็มที่ เพียงแค่คืนแรกนักโทษก็ถูกปลุกให้ขึ้นมาวิดพื้นตั้งแต่ตี ๒ และทำอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง วันต่อมาเมื่อนักโทษแสดงอาการต่อต้านขัดขืน ก็ถูกลงโทษหนักขึ้น มีการเปลื้องผ้าและจับขังคุกเดี่ยว หลังจากนั้นนักโทษหลายคนมีอาการหงอย หงอ และซึม ขณะที่ผู้คุมแสดงอาการข่มขู่ก้าวร้าวมากขึ้น ผ่านไปไม่กี่วันนักโทษ ๔ คนถูกพาออกจากการทดลองเพราะมีอาการคลุ้มคลั่งและซึมเศร้าอย่างหนัก สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด จึงต้องยุติการทดลองก่อนกำหนด ๘ วัน
อาสาสมัครที่รับบทผู้คุมบางคนเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า พฤติกรรมที่เขาทำในคุกนั้นตรงข้ามกับที่เขาทำในยามปกติ บางคนยอมรับว่า ไม่คิดมาก่อนว่าตนจะมีพฤติกรรมรุนแรงอย่างนั้นเพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนรัก สันติ ส่วนฟิลิป ซิมบาร์โดซึ่งเป็นผู้ทำการทดลองอันลือชื่อดังกล่าว ยอมรับเช่นกันว่า ไม่คาดคิดว่าพฤติกรรมของผู้คนในคุกจำลองจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและเข้มข้น ขนาดนั้น
การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์บางอย่างนั้นสามารถ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนได้ มันสามารถดึงเอาด้านลบหรือความรุนแรงก้าวร้าวในตัวของผู้คนออกมาอย่างคาดไม่ ถึง “คนดี”ในยามปกติอาจกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว บ้าอำนาจ หรือนิยมความรุนแรงได้หากมีอำนาจมากมายในมือ
ดังที่คุณหมอประเวศ วะสีได้เปรียบเปรยไว้ ไก่ ๒ ตัวเมื่อถูกสุ่มครอบ จากเดิมที่เคยหากินอย่างสงบ ก็จะเริ่มจิกตีกัน คนเมื่อถูกครอบด้วยโครงสร้างที่คับแคบ ก็จะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แสดงความรุนแรงต่อกัน สังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะรัสเซียสมัยสตาลิน และจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดึงเอาด้านลบของมนุษย์ออกมาอย่างน่าเกลียด ผู้คนไม่เพียงระแวงต่อกันเท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะปรักปรำใส่ร้ายกัน เพื่อความอยู่รอดของตัว แม้กระทั่งสามีภรรยาก็ไม่ไว้ใจกัน เพราะกลัวว่าต่างฝ่ายจะเป็นสายให้ตำรวจ
ที่มักพูดกันว่า “ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีด้วย” เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว คนมิใช่เป็นผู้กำหนดสังคมฝ่ายเดียวเท่านั้น สังคมก็เป็นตัวกำหนดผู้คนด้วย นั่นก็คือ “ถ้าสังคมเลว ทุกคนก็(มีสิทธิ)เป็นคนเลว”
อิทธิพลของสังคมมีผลทางลบต่อจิตใจของผู้คนเพียงใด พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในจักกวัตติสูตร โดยทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ เมื่อ(ผู้ปกครอง)ไม่จัดสรรปันทรัพย์ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์ ย่อมทำให้ความยากจนระบาดทั่ว จากนั้นก็จะมีการลักขโมยแพร่หลาย มีการใช้อาวุธระบาดทั่ว มีการฆ่าผู้คน โกหก ส่อเสียด ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ จนเกิดมิจฉาทิฏฐิ ความฝักใฝ่ในอธรรม ความละโมบ และมิจฉาธรรม เป็นต้น
เห็นได้ว่าการปกครองที่ไม่ก่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพย์อย่างทั่วถึง สามารถก่อผลกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ผู้คนกินอยู่ฝืดเคืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชน เริ่มจากการผิดศีลผิดธรรม ตามมาด้วยการกัดกร่อนจิตสำนึกของผู้คน ทำให้กิเลสและความหลงผิดเพิ่มพูนขึ้น
อิทธิพลของสังคมที่มีต่อจิตสำนึกของผู้คน เป็นเรื่องที่ชาวพุทธและคนไทยทั่วไปไม่สู้ตระหนัก หรือยังให้ความสำคัญน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากการนิยมเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คนด้วยวิธีการเทศนาสั่งสอน (รวมทั้งพานั่งสมาธิ) ซึ่งแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่พอ เพราะได้ผลในระดับบุคคล หรือกับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลน้อยมากต่อสังคมโดยรวม
การยกระดับจิตสำนึกหรือเสริมสร้างพฤติกรรมทางศีลธรรมของผู้คนนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างได้เลยตราบใดที่โครงสร้างหรือเงื่อนไขทางสังคมยัง อยู่ในสภาพที่เป็นปฏิปักษ์กับความดี สภาพดังกล่าวได้แก่ ความยากจนที่แพร่ระบาด การมีอบายมุขทั่วบ้านทั่วเมือง สื่อมวลชนที่ถูกครอบงำด้วยบริโภคนิยม การศึกษาที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้และใฝ่ธรรม ประเด็นเหล่านี้มีการพูดกันมากแล้ว แต่ที่ยังพูดถึงน้อยก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า นอกจากความยากจนแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมและความรุนแรงใน สังคมโดยตรง ล่าสุดคืองานวิจัยของริชาร์ด วิลคินสัน ซึ่งเป็นที่กล่าวขานอย่างแพร่หลายในขณะนี้ เขาได้ชี้ว่าเมื่อเทียบระหว่างประเทศต่อประเทศ รัฐต่อรัฐ เมืองต่อเมือง จะพบว่า สังคมที่มีความแตกต่างทางด้านรายได้สูงมาก(เช่น สหรัฐอเมริกา) มีอาชญากรรมและนักโทษในสัดส่วนที่สูงกว่าสังคมที่มีความแตกต่างทางด้านราย ได้น้อยกว่า (เช่น ญี่ปุ่น นอร์เวย์)
ความรุนแรงนั้นเกิดจากคนระดับล่างที่รู้สึกคับแค้น ต่ำต้อย และไม่พอใจคนระดับบนที่ดูถูกตน รวมทั้งเกิดจากความรู้สึกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบด้วย ขณะที่คนระดับบนนั้นนอกจากมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่าแล้ว ยังใช้อภิสิทธิ์ดังกล่าวเบียดบังผลประโยชน์ของผู้ที่อยู่ต่ำกว่า ทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจถ่างกว้างขึ้น
ความรุนแรงยังเกิดจากช่องว่างทางสถานภาพ ซึ่งก่อให้เกิดความเหินห่างหมางเมินและพัฒนาไปสู่ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อ กันได้ง่ายมาก งานวิจัยดังกล่าวชี้ว่าในประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้สูงมาก จะมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจสูงมาก เช่น ในสิงคโปร์ มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่บอกว่าผู้คนส่วนใหญ่ไว้ใจได้ ขณะที่ผู้ที่มีความเห็นดังกล่าวมีมากถึงร้อยละ ๖๕ ในสวีเดน เดนมาร์ค ซึ่งเป็นประเทศที่มีแตกต่างทางรายได้น้อยมาก
ดังที่การทดลองของซิมบาร์โดได้ชี้ชัด สถานภาพที่ต่างกันสามารถดึงเอาด้านลบหรือส่วนที่เลวร้ายในใจมนุษย์ออกมา เพราะต่างฝ่ายต่างมองซึ่งกันและกันเป็นคนละพวกคนละฝ่าย แม้สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากจะแตกต่างจากสภาพในคุก แต่การที่ผู้คนแบ่งกันตามสถานภาพที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน (เช่น รายได้ซึ่งเชื่อมโยงกับการศึกษาและรสนิยมการบริโภค รวมทั้งอิทธิพลทางการเมือง และ “เส้นสาย”) ก็ย่อมทำให้แต่ละฝ่ายมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมทางลบต่อกันและกัน ตรงกันข้ามกับมิตรภาพ ที่มักจะดึงด้านบวกหรือคุณธรรมออกมา (เช่น แย่งกันออกเงินค่าอาหาร)
แม้ว่าการวิจัยของวิลคินสันเน้นเฉพาะประเทศที่ร่ำรวย ๒๐ ประเทศ ไม่รวมประเทศระดับกลางหรือยากจน แต่ก็บอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมสูงกว่าประเทศเหล่านั้นมาก (เมื่อปี ๒๕๔๙ กลุ่มคนที่รวยสุดมีทรัพย์สินสูงเป็น ๖๙ เท่าของกลุ่มที่จนสุด) อย่างน้อยการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวบอกเป็นนัยว่า อาชญากรรม ความรุนแรง ตลอดจนความร้าวฉานของคนไทยทั้งประเทศเวลานี้ เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไม่น้อยเลย ปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างทางด้านสถานภาพทำให้คนไทยเกิดความไม่ไว้วางใจต่อ กันมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นกลางมีแนวโน้มดูแคลนคนระดับล่างที่มีฐานะและการศึกษาต่ำกว่า ตนอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อ เร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนในเอเชีย พบว่าคนไทยเพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้นที่เห็นว่า คนที่มีการศึกษาน้อยหรือไร้การศึกษาควรมีสิทธิทางการเมืองเท่ากับคนที่มีการ ศึกษาสูง ตัวเลขดังกล่าวนับว่าต่ำที่สุดในเอเชีย นั่นหมายความว่าร้อยละ ๘๕ เห็นว่าคนที่มีการศึกษาน้อย(หรือคนจน)ควรมีสิทธิทางการเมืองน้อยกว่าคนที่มี การศึกษาสูง (หรือคนมีเงิน) ทัศนคติดังกล่าวเป็นทั้งผลพวงและสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศไทยในเวลานี้
การเรียกหาความสามัคคีหรือสมานฉันท์ของคนในชาติ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากบ้านเมืองมีความเหลื่อมล้ำกันมากมายขนาดนี้ ในทำนองเดียวกันการหวังให้คนมีความเมตตากรุณาหรือมีศีลธรรมต่อกันจะเกิดขึ้น ได้อย่างไรหากสภาพสังคมที่เป็นอยู่มีแนวโน้มที่จะดึงเอาด้านลบของผู้คนออกมา สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากไม่เพียงบั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม เท่านั้น หากยังกัดกร่อนจิตวิญญาณของผู้คนด้วย มิพักต้องเอ่ยถึงการบั่นทอนสุขภาพ (การวิจัยของวิลคินสันชี้ว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีอัตราการตายของทารก โรคอ้วน การใช้ยาเสพติด และมีความเครียดสูงตามไปด้วย)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสามัคคีหรือสาราณียธรรมได้แก่ สาธารณโภคี หรือการแบ่งปันกัน ในสังคมระดับประเทศ การแบ่งปันไม่อาจทำด้วยการแจกเงินแบบประชานิยม ซึ่งให้ผลชั่วคราว และมิใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด แต่จะต้องทำให้เกิดกลไกการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ทั้งโดยอาศัยกลไกตลาด กลไกรัฐ และกลไกภาษี รวมทั้งกระจายอำนาจทางการเมืองเพื่อให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่าง เป็นธรรม
ชาวพุทธพึงระลึกว่าธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคลและประสานให้ผู้ คนเกิดความสามัคคี หรือสังคหวัตถุ ๔ นั้น ข้อสุดท้ายได้แก่สมานัตตตา คือความมีตนเสมอ หรือปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากอย่างสังคมไทยจะ ส่งเสริมให้เกิดธรรมข้อนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่ส่งเสริม เราจะหวังให้คนไทยมีความรักและสามัคคีกันได้อย่างไร