ภัยพิบัติ คือ เหตุการณ์ที่เป็นรุนแรงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ว่า น้ำท่วม สึนามิ โคลนถล่ม พายุ หรือ แผ่นดินไหว นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกแล้ว หลายเหตุการณ์เกิดในบ้านเรา หรือเพื่อนบ้านที่อยู่ไม่ใกล้ ไม่ไกล เรารู้จักภัยพิบัติมากน้อยสักแค่ไหน? ตระหนักรู้ในภัยรอบตัวสักเพียงใด? ลองมาฟังสองหัวเรือใหญ่ของ “มูลนิธิกระจกเงา” องค์กรอาสาสมัครที่เอาจริงกับการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ หนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา และ เอ ธนพล ทรงพุฒิ ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน
ภัยพิบัติเรื่องใกล้ตัว
พี่หนูหริ่ง บอกเล่าให้เราฟังว่า ภัยพิบัตินั้นมีแนวโน้มที่จะมีถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ด้วยปัจจัยสองอย่าง คือ วิกฤติสิ่งแวดล้อม และ การวิธีการใช้ชีวิตของมนุษย์
“ดูจากสภาพ น้ำ อากาศ ป่า ในตอนนี้ที่ตกต่ำมาก ป่าเหลือพื้นที่น้อยและมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง ฉะนั้นเวลาน้ำหลากทีดินโคลนแทบจะไปทั้งหมด ขณะนี้ภัยพิบัติจะส่งผลต่อคนมากขึ้น เพราะคนขยายตัวไปทุกที่และทุกทิศ แนวตั้ง แนวนอน แนวดิ่ง มีคนอยู่เต็มไปหมด เช่น บนตึกสูงๆ หากเกิดแผ่นดินไหวย่อมเสี่ยงภัยมากกว่าปกติ หรือ ริมหาด ก็มีบ้าน ร้าน ตึก หากเกิดสึนามิหรือพายุ ก็ย่อมพัดคน พัดสิ่งก่อสร้างไปหมด”
นอกจากนี้ภัยพิบัติยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากมีสภาพที่พร้อมอยู่แล้ว เช่น เขื่อนศรีนครินทร์และแก่งเสือเต้น เป็นเขื่อนที่สร้างบนรอยเลื่อนของแผ่นดินทำให้เสี่ยงต่อเหตุการณ์เขื่อนแตก หากเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากพอ, ปัจจุบันภาคเหนือมีสถิติแผ่นดินไหวมากครั้งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้จะมีระดับที่ไม่รุนแรงก็ตาม, กรุงเทพฯ มีพื้นใต้ดินที่เป็นดินโคลน หากเกิดแผ่นดิวไหวเพียง 4-5 ริกเตอร์ก็มากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดอันตราย
พี่หนูหริ่งสะท้อนต่อไปว่าภัยพิบัติไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วย “ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมือง เช่น กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดปลายน้ำเจ้าพระยาไปสู่ทะเล ควรจะเป็นที่สำหรับระบายออก แต่ปีที่ผ่านมา กรุงเทพต้องสร้างแนวกั้นน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วม ในขณะที่จังหวัดข้างเคียงน้ำท่วมติดต่อกันถึง 3 เดือน“
แผนการรับมือ
“หากเป็นภัยขนาดเล็ก หน่วยงานและองค์กรหลักจะดูแลได้ หากเป็นภัยขนาดใหญ่ เช่น สึนามิ ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือ พายุนารืกีส กลไกหลักมักจะไปไม่ถึงทุกที่ ประชาชนต่างหากต้องช่วยกันดูแลตัวเองและเตรียมความพร้อม” พี่เอกล่าว
จากประสบการณ์การทำงาน พี่เอกล่าวว่ารัฐไทยเรานั้นจริงๆ มีแผนการเตรียมรับมือภัยพิบัติมากมาย แต่มักติดในเรื่องงบประมาณและการซักซ้อมแผน และหลายครั้งเมื่อแผนการรับมือได้รับการอนุมัติแล้ว ข้อมูลก็ไม่ทันสมัยพอในการใช้จริง
“ต้องเข้าใจว่ารัฐเขามีงานล้นมือ เราก็พยายามช่วยเต็มที่ เช่น หมู่บ้านที่อยู่พื้นที่เสี่ยงโคลนถล่ม ต้องมีการซ้อมแผนอพยพอยู่เนืองๆ รวมถึงมีปฏิทินภัยพิบติและการรับมือ ถ้ามีชุดความรู้อาจจะลดความเสียหายได้มากขึ้น”
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ความรู้” พี่เอให้ความเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการน่าจะเพิ่มชุดความรู้เรื่องภัยพิบัติให้แก่เด็กๆ บรรจุอยู่ในตำราเรียน เช่น สลน. สปช. หรือหนังสือนอกเวลา ในชั้นอุดมศึกษาก็สามารถต่อยอดไปในผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้ โดยมีการวัดผล สอบวัดความรู้ ความเข้าใจ ในวิชานั้นๆ พร้อมกับมีแผนการซักซ้อมให้สอดคล้องกับพื้นที่ ตัวอย่างเช่น หากอาศัยในภาคใต้ต้องทำความรู้จักเรื่องสึนามิและพายุ อาศัยในภาคเหนือต้องทำความรู้จัก แผ่นดินไหว พายุฝน หรือ โคลนถล่ม เพื่อที่จะรู้ว่า เดือนไหนของปีเสี่ยงภัยในเรื่องอะไร และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
“บ้านเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติน้อยมาก ถ้าเราสนับสนุนต้นทุนทางการศึกษาแต่เด็ก น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เด็กๆ จะรู้จักเอาตัวรอด เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิ มีเด็กต่างชาติมาเที่ยวไทย พอเห็นน้ำลดลงกระทันหัน เขาเคยเรียนมาว่าถ้าน้ำลดแบบนี้แปลว่ากำลังจะเกิดสึนามิ ขอให้รีบขึ้นที่สูง เด็กคนนี้ก็วิ่งไปบอกทุกคนที่อยู่ใกล้ เป็นต้น”
นอกจากนี้การเตรียมตัวเรื่องภัยพิบัติจำเป็นต้องมี “การฝึกอบรม” กับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในเอเชียมีหน่วยงานที่มีชุดความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติชื่อว่า ADPC (Asian Disaster Preparedness Centre) เป็นแหล่งความรู้ด้านภัยธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย เช่น ฝนตก น้ำท่วม พายุ สึนามิ ภัยหนาว ภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควัน แผ่นดินไหว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรมีโอกาสเรียนรู้เอาไว้
แต่ถึงอย่างไรการรับมือภัยพิบัติก็ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะแต่ละภัยมักมีสิ่งใหม่ให้เรียนรู้อยู่เสมอ พี่เอเสนอว่า การทำงานฟื้นฟูภัยพิบัติควรบูรณาการจากหลายภาคส่วน การรับมือภัยพิบัติจึงจะยกระดับมากขึ้น เช่น ชุดประสบการณ์ ความรู้เรื่องภัยพิบัติด้านต่างๆ การจัดการฟื้นฟูชุมชน ความเข้าใจในโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น
การรับมือด้วยตัวเอง
สำหรับพี่เอ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ความรู้
“ต้องทำการบ้าน ทำความรู้จักภัยต่างๆ ภัยที่อาจเกิด ซ้ำซ้อนที่เกิดจากภัยพิบัติ เช่น สึนามิ หลังสึนามิมี after shock ซึ่งอาจจะกลาย Main Shock ก็ได้ หรือดินโคลนถล่ม หลังโคลนถล่มจะเกิดอะไรขึ้น หรือหากเกิดแผ่นดินไหวในเมือง ถ้าคุณอยู่ในตึกสูง วิธีการเอาตัวรอดคืออะไร ภัยซ้อนจากแผ่นดินไหวมีอะไรบ้าง เช่น ถ้าแผ่นดินไหวมีแนวโน้มที่ตึกอาจจะเกิดการบิดตัว กระจกบนตึกสามารถตกลงมาได้ เราต้องหาที่กำบัง เป็นต้น”
นอกจากนี้ถ้าเตรียมตัวสิ่งของที่ต้องใช้ยามฉุกเฉินไว้ เช่น ไฟฉาย วิทยุสื่อสาร กล่องพยาบาล น่าจะมีประโยชน์กับตนเองและคนรอบข้าง
ข้อดีของภัยพิบัติ
ใช่ว่าจะมีข้อเสียและเรื่องน่าสะพรึงกลัวเท่านั้น คนทำงานย่อมเห็นอีกด้านที่มีคุณประโยชน์ของงานภัยพิบัติเช่นกัน พี่หนูหริ่งชวนมองเห็นโอกาสในวิกฤติ
“อย่างแรก ภัยพิบัติช่วยเปิดต่อมจิตอาสา หรือ ต่อมมนุษยธรรมของคนเราอย่างแรง ปกติทุกคนจะมีต่อมตัวเอง หรือ สัญชาติญาณการเอาตัวรอด แต่ทุกคนก็มีต่อมคนอื่นอยู่ด้วย เวลามีภัย เห็นคนอื่นเดือดร้อน ต่อมนี้จะเปิดทันที คนที่ไม่เคยทำงานอาสา เขาเหมือนโดนกระชาก รู้สึกอยากช่วยเหลือ แต่พอต่อมเปิดปุ๊บเขาจะวิ่งมาเข้าหาองค์กรอาสาสมัคร พอเคยทำซักครั้งหนึ่ง เขาจะคิดถึงคนอื่นมากขึ้น อาสาสมัครทำอะไรให้คนอื่นง่ายขึ้น
สอง ภาวะวิกฤติสามารถหลอมจิตสาธารณะมิติต่างๆ ได้แก่ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ คนในสังคม ต่างมาช่วยส่วนที่ประสบภัย ฉะนั้นจึงถือเป็นโอกาส ถือเป็นภาวะพิเศษที่สามารถพลิกประเทศได้”
ภัยพิบัติมันเสพติด
ด้านพี่เอที่หันมาจับงานภัยพิบัติ 3 ปีเต็มตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ เล่าให้เราฟังว่า งานภัยพิบัติยังมีผู้เล่นในภาคพัฒนาเอกชนไม่มากนัก เมื่อกระจกเงาหันมาทำด้านนี้ และเปิดให้อาสาสมัครที่สนใจได้เรียนรู้หน้างานจริง คนทำงานก็จะได้ทำอย่างถึงใจและเสพติดจนหยุดไม่ได้
“งานภัยพิบัติมันเสพติด คือ เวลามีภัยพิบัติ ผมจะอยู่นิ่งไม่ได้ อยากทำ กระหายใคร่รู้ อย่างสึนามิ ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย เกิดจากความรู้สึกอยากช่วยก็ลงไป ขนส่ง ขนศพ ทำได้หมด กลับมากรุงเทพก็อยู่ไม่ได้ เพราะรู้ว่ามีงานมหาศาลรออยู่ เราขอไปทำงานกับศูนย์อาสาสมัครผู้ประสบภัยสึนามิ(TVC) และพอเกิดโคลนถล่มก็ไปอีก เพราะ เราเห็นว่ามันสุดมือของรัฐ เราก็เข้าไปช่วยชาวบ้านขุดโคลน งานตรงนี้มันมันส์ มันเสพติด ใคร่รู้ มีอะไรให้รู้เต็มไปหมด”
หลังจากงานภัยพิบัติครั้งแรก พี่เอได้พัฒนาตัวเองเป็นคนทำงาน ตั้งคำถามและหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่มือประสานงานที่พร้อมสำหรับงานภัยพิบัติ
“งานภัยพิบัติเป็นงานที่เราคนเดียวทำไม่ได้ ต้องมีทีม มีกองหลัง มีชุมชนที่พร้อม ไม่ใช่แค่การตั้งรับ แต่ต้องมีการเตรียมตัว มีชุดความรู้ และการลงมือทำจริง”
ก้าวต่อไปของงานภัยพิบัติ
สำหรับกระจกเงา ตอนนี้ได้เริ่มเขียนโครงการแผนจัดการภัยพิบัติภาคประชาชนปีสองแล้ว โดยเน้นไปที่ ภัยพิบัติทางน้ำ ดินโคลนถล่ม น้ำป่า และแผ่นดินไหว เน้นเตรียมความพร้อมประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ
ขณะนี้กำลังเตรียมรวบรวมข้อมูลทำชุดสื่อและฐานข้อมูลด้านภัยพิบติ ร่วมกับแอคชั่นเอดประเทศไทยและมูลนิธิกองทุนไทย สำหรับวิธีการลดการเสี่ยงภัยให้กับตัวเองเพื่อแจกกับพื้นที่เสี่ยงภัย และแผนการเตรียมความพร้อมกับชุมชน ณ พื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งกำลังเริ่มต้นเก็บข้อมูลเดือนหน้าที่จะถึงนี้
“ตอนนี้เราสโคปพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนแล้วค่อยขยายผลกับโรงเรียน กลุ่มคนต่างๆ ซึ่งถ้าหากบุคคลทั่วไปสนใจในเรื่องภัยพิบัติสามารถติดตามในเว็บไซค์ของกระจก เงา และเว็บไซค์ที่เกี่ยวข้อง หรือมาร่วมงานอาสาสมัครได้ ยินดีต้อนรับเสมอครับ”