เขียน: พระไพศาล วิสาโล
มูลนิธิฉือจี้เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีโรงพยาบาลที่ มีมาตรฐานสูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศถึง ๖ แห่ง มีธนาคารไขกระดูกใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก มีสถาบัน การศึกษาที่ครบทุกระดับจากประถม มัธยม วิทยาลัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ในด้านการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเผยแพร่คุณธรรมผ่านเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อีกมากมายกระจายทั่วประเทศ เช่น ช่วยเหลือคนยากจน สงเคราะห์คนชรา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งงานแยกขยะ
กิจการเหล่านี้ดำเนินและขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยเงินบริจาคจาก สมาชิกที่มีเกือบ ๖ ล้านคน (หรือเกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากรไต้หวัน) รวมทั้งเงินที่เกิดจากกิจกรรมของสมาชิก (เช่น เงินจากการแยกขยะ) แต่ปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินก็คือ กำลังของอาสา สมัคร ซึ่งมีไม่น้อยกว่า ๒ แสนคนทั่วประเทศ อาสาสมัครเหล่านี้เข้าไปช่วยผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ ให้ดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพและขยายตัวไปทั่วประเทศ จนปัจจุบันสามารถขยายไปยังต่างประเทศ โดยมีสาขาถึง ๓๙ ประเทศ
ลักษณะเด่นของฉือจี้
ในฐานะองค์กรการกุศล มูลนิธิฉือจี้มีลักษณะเด่นอย่างน้อย ๕ ประการ คือ
๑. คุณภาพของงาน
งานของมูลนิธิฉือจี้แต่ละด้านล้วนมีคุณภาพสูง กล่าวคือ
ก.การแพทย์
โรงพยาบาลของฉือจี้ซึ่งขณะนี้มี ๖ แห่ง มีมาตรฐานด้านการแพทย์สูงมาก สามารถทำ
การรักษาโรคหรือความผิดปกติที่ต้องใช้วิชาการขั้นสูง จนมีผู้ป่วยจากต่างประเทศหลายรายมาทำการรักษา นอกจากความสามารถทางวิชาการ แล้ว โรงพยาบาลยังให้ความเอาใจใส่กับมิติด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ เห็นคนไข้เป็นมนุษย์มากกว่า เป็นเจ้าของ “ไข้” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมุ่งรักษา “คน” มากกว่ารักษา “ไข้” การแพทย์ของฉือจี้จึงได้ชื่อว่า เป็น “การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” จนเป็นแบบอย่างให้แก่โรงพยาบาลของรัฐและของประเทศต่าง ๆ
มูลนิธิฉือจี้ยังมีธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่เป็นอันดับ ๑ ของเอเชีย และเป็นอันดับ ๓ ของโลก ทั้งนี้เพื่อนำไขกระดูก (ที่ตรงกับผู้ป่วย)มาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของเม็ดเลือด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่โรงพยาบาลของฉือจี้มีความสามารถเป็นพิเศษ
ข.การศึกษา
ฉือจี้เริ่มทำงานด้านการศึกษาด้วยการก่อตั้งวิทยาลัยพยาบาล เพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้แก่โรงพยาบาล (ภายหลังขยายเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยี) ต่อมาก็ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ภายหลังพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยเต็ม รูปแบบ) จากนั้นก็ก่อตั้งโรงเรียนระดับประถมและมัธยมขึ้นมา สถาบันการศึกษาเหล่านี้มีลักษณะเด่นคือ การสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมและปลูกฝังมิติด้านจิตวิญญาณแก่ผู้เรียนอย่าง แยบคาย ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความรู้และความสามารถทางวิชาการได้อย่างไม่ ด้อยกว่าที่อื่น แม้แต่คณะแพทยศาสตร์ก็ยังมีการสอนวิชาด้านจริยศิลป์แก่นัก ศึกษาตลอด ๔ ปี ส่วนโรงเรียนประถมและมัธยมก็เป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีการนำเอาวิธีการของฉือจี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย
ค.งานสงเคราะห์ผู้ประสบภัย
เมื่อเกิดภัยพิบัติไม่ว่าในไต้หวันหรือต่างประเทศ กอง ทัพอาสาสมัครของฉือจี้จะรุดไปยังที่ประสบเหตุในทันที และให้การสงเคราะห์แก่ผู้ทุกข์ยากชนิดที่ตรงกับปัญหา เนื่องจากมีการสอบถามความต้องการของเขาก่อน และมักจะอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างนานจนกว่าปัญหาพื้นฐานจะลุล่วง จึงมักเป็นหน่วยงานท้าย ๆ ที่ถอนตัวออกจากพื้นที่ ( ๖ เดือนหลังภัยสึนามิในศรีลังกา ฉือจี้เป็น ๑ ในไม่กี่หน่วยงานเอกชนที่ยังทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ ขณะที่หน่วยงานส่วนใหญ่ถอนตัวออกไปเกือบหมด) งานบางอย่างต้องใช้กำลังคนและกำลังเงินมหาศาล แต่ฉือจี้ก็ทำสำเร็จได้ เช่น การอพยพคนนับหมื่นในจาการ์ตาที่รุกล้ำแม่น้ำจนเน่าเสีย ซึ่งนำไปสู่การ สร้างแฟลตนับพันยูนิต โดยใช้เวลาเพียง ๒ ปี หรือการสร้างอาคารใหม่ให้แก่โรงเรียน ๕๐ แห่งที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในไต้หวัน โดยใช้เวลา ๓ ปี งานสงเคราะห์เหล่านี้ไม่เพียงต้องใช้เงินทุนและกำลังคน
จำนวนมาก แต่ยังต้องอาศัยความรู้และความชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งฉือจี้มีพร้อม เนื่องจากมีอาสาสมัครมากมายที่มีความรู้ มีกำลังเงิน และพร้อมจะสละเวลามาให้
ง. งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
งานแยกขยะเป็นงานเด่นอีกด้านหนึ่งของฉือจี้ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเห็น ได้ชัด เนื่องจากมีโรงงานแยกขยะไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ มีอาสาสมัครมาช่วยงานร่วม ๕๐,๐๐๐ คน โดยผลัดกันมาทำงานสม่ำเสมอตลอดปี ตั้งแต่เก็บขยะ ขนขยะมาโรงงาน แยกขยะ แล้วนำไปหมุนเวียนใช้ใหม่ งานด้านนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะ (ด้านหนึ่งด้วยการทำให้ประชาชนทิ้งขยะน้อยลง และอีกด้านหนึ่งด้วยการเอาขยะที่ยังมีประโยชน์ไปรีไซเคิล ทำให้ขยะที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยเหลือน้อยลง) ยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ของฉือจี้ นับพันล้านบาทต่อปี สามารถนำไปเป็นทุนสนับสนุนสถานีโทรทัศน์ของตนได้
จ. สถานีโทรทัศน์
สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย (“มหากรุณา”)ของฉือจี้ เป็นสถานีโทรทัศน์แบบ “ทางเลือก” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในไต้หวัน จนได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คน มากที่สุดเมื่อปี ๒๕๔๗ จุดเด่นคือการจัดทำรายการที่ส่งเสริมคุณธรรมหรือเกิดจิตสำนึกที่มุ่ง ช่วยเหลือผู้คน นอกจากรายการวิเคราะห์ข่าวเชิงธรรมะแล้ว ยังมีรายการ สารคดีชีวิต ละคร และการ์ตูนที่มุ่งให้ผู้ชมมีศรัทธาในความดีงาม
๒. คุณภาพของคน
การที่ฉือจี้สามารถสร้างสรรค์งานต่าง ๆได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง สะท้อนถึง
คุณภาพของบุคลากรของฉือจี้ น่าสังเกตว่าบุคลากรส่วนใหญ่ที่ทำงานให้แก่ฉือจี้เป็นอาสาสมัคร ที่นอกจากจะทำงานให้มูลนิธิโดยไม่คิดค่าตอบแทนแล้ว ยังออกเงินให้มูลนิธิด้วย ทั้งในรูปของเงินบริจาคที่ให้เป็นประจำ และใน รูปของค่าใช้จ่ายในการทำงาน เช่น จ่ายค่าเดินทางเองเวลาไปช่วยผู้ประสบ ภัยไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ อาสาสมัครเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในกิจการทุกด้านของฉือจี้ ไม่ว่าในโรงพยาบาล โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานีโทรทัศน์ ล้วนมีอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ประจำ ยิ่งงานแยกขยะด้วย แล้ว คนทำงานเป็นอาสาสมัครเกือบทั้งหมด อาสาสมัครเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็น ชาวบ้านทั่วไป แต่อีกไม่น้อยเป็นนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก อาจารย์ นักธุรกิจ ผู้บริหาร ซึ่งล้วนมีความรู้ความสามารถและมี รายได้ที่มั่นคง แต่ทั้งหมดนี้มีสิ่งที่เหมือนกัน คือ มีจิตอาสา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ยินดีช่วยเหลือส่วนรวม และพร้อมรับใช้ผู้อื่นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เวลานำสิ่งของไปบริจาคให้แก่ ผู้ทุกข์ยาก อาสาสมัครของฉือจี้จะโค้งคำนับราวกับเป็นผู้รับเสียเอง
อาสาสมัครของฉือจี้ยังมีลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง คือการไม่รังเกียจงาน บ่อยครั้งจะพบผู้บริหารบริษัทไปยืนถือกล่องรับบริจาค ตามที่สาธารณะ หรือริดกิ่งไม้ เก็บกวาดขยะ ในโรงพยาบาล ความที่ฉือจี้มีอาสาสมัครจำนวน มากที่พร้อมจะทิ้งงานประจำ ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที ฉือจี้จึง สามารถส่งคนไปยังทุกหนแห่งทั่วโลกที่เกิดภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าอาฟริกาหรืออเมริกา (ฉือจี้เป็นหน่วยงานเอกชนแรก ๆ ที่ถึงอาฟกานิสถานหลังจากสหรัฐส่งกองทัพไปถล่มทะลิบัน) ทั้งนี้โดยสมทบกับอาสาสมัครท้องถิ่นของฉือจี้เอง (ปัจจุบันได้ออกไปช่วย เหลือกว่า ๖๐ ประเทศแล้ว) ขณะเดียวกันความสามารถทางด้านวิชาชีพของอาสาสมัคร ทำให้ฉือจี้สามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับงานด้านต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งงานสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ซึ่งบางครั้งลำพังแรงใจและกำลังเงินไม่เพียงพอที่จะช่วยให้งานประสบผล
๓. กระบวนการกล่อมเกลาจิตใจ
คุณภาพของบุคลากรของฉือจี้ โดยเฉพาะในด้านคุณธรรม เกิดจากกระบวนการกล่อมเกลาจิตใจที่น่าสนใจ มาก เนื่องจากไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะการสอนหรือการตอกย้ำด้วยคำพูดหรือคำขวัญ เท่านั้น แต่ยังมีวิธีต่าง ๆ อีกมากมายที่มีความแยบคายและให้ผลยั่งยืน เช่น การปลูกฝังคุณธรรมผ่านการทำงานอาสาสมัคร การเคารพและเห็นคุณค่าของผู้อื่น ผ่านการเรียนรู้ชีวิตของเขา การบ่มเพาะความอ่อนน้อมถ่อมตนผ่านพิธีชงน้ำ ชาหรือจัดดอกไม้ การมีกำลังใจทำความดีผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น การซึมซับความ ดีงามผ่านการเล่านิทาน เล่นละคร หรือวาดภาพ รวมทั้งมีการฝึกฝนอาสาสมัครอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นยังมีระบบพี่เลี้ยง พ่อแม่อุปถัมภ์ และกลุ่มสมาชิกที่ช่วยสร้าง เสริมจิตสำนึกที่ดีงาม กล่าวได้ว่าฉือจี้มีความโดดเด่นมากในเรื่องความคิด สร้างสรรค์และศิลปะในการส่งเสริมคุณธรรม ประเด็นนี้จะได้กล่าวอย่างละเอียดข้างหน้า
๔. การสร้างเครือข่ายสมาชิกและบริหารจัดการอาสาสมัคร
ฉือจี้สามารถขยายจำนวนสมาชิกไปได้เป็นจำนวนมาก จนมีเครือข่ายที่กว้างขวางไป
ทั่วประเทศ ( ๖ ใน ๑๐ ล้านของสมาชิกทั่วโลก อยู่ในไต้หวัน) ส่วนหนึ่งก็เพราะมีการบริหารและจัดการอาสาสมัครที่ดี อาสา สมัครเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการรักษาและขยายจำนวนสมาชิก (อาสาสมัครที่ “ฝึกงาน” มีหน้าที่บอกบุญหาสมาชิกหรือผู้บริจาค ๒๕ รายเป็นประจำทุกเดือนในปีแรก และเพิ่มเป็น ๔๐ รายในปีที่สอง อีกทั้งยังไปเยี่ยมเยือนผู้บริจาคอย่างสม่ำเสมอ) อย่างไรก็ ตามจุดที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การจัดหาอาสาสมัครมาทำงานตามส่วนต่าง ๆ ของฉือจี้ซึ่งมีอยู่มากมาย (เฉพาะโรงงานแยกขยะก็มีถึง ๕,๐๐๐ จุด) อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งการระดมอาสาสมัครในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการคัดกรอง การประสานงาน การติดตามผล ที่ดี ซึ่งเป็นงานที่ต้องไม่ง่ายเลย เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าฉือ จี้มีอาสาสมัครระดับต่าง ๆ ถึง ๒ แสนคน อย่างไรก็ตามฉือจี้สามารถบริหารจัดการให้งานด้านต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี อีกทั้งยังมีความสามารถที่จะขยายงานเพิ่มไปได้เรื่อย ๆ
อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่นี่
เครือข่ายพุทธิกา