ไม่ว่าเทคนิคจะเลิศเลอขนาดไหน วิทยุชุมชนไม่มีทางอยู่ได้ หากคนทำไม่มีจิตวิญญาณของการทำเพื่อชุมชน!”
ภายใต้การดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพ สื่อภาคประชาชนเพื่อสุขภาวะทางสังคม ฝ่ายเผยแพร่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ ส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ระหว่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูล กองบรรณาธิการมีโอกาส พูดคุยและสัมภาษณ์ พี่สำราญ หรือพี่พรพิพัฒน์ วัดอักษร ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนบ่อนอก ที่มาบอกเล่าถึงความเป็นมา พัฒนาการ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่พบเจอในการจัดตั้ง และการดำเนินงานสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณา และไม่แสวงหากำไร
พี่สำราญเล่าว่า “สถานีวิทยุชุมชนบ่อนอก” คลื่น 103.75 MHz ดำเนินงานโดย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ซึ่งปัจจุบันมีกำลังส่ง 500 วัตต์ กระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่โดยรอบประมาณ 30 กิโลเมตร ตั้งอยู่วัดบ่อนอก ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเริ่มออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2545 ด้วยแนวคิดหลักที่ว่า ชาวบ้านอยากมีสื่อกระจายเสียงของตัวเอง เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ซึ่งเริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2538 แต่ตอนนั้นยังสู้กันแบบชาวบ้าน โดยใช้เครื่องขยายเสียง ใช้หอกระจายข่าว รณรงค์ ทำใบปลิว ทำมวลชนตามประชาคมหมู่บ้านเป็นหลัก ขณะที่นายทุนใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือ เช่น วิทยุ อสมท. วิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ วิทยุของตชด. โหมโฆษณาว่าโรงไฟฟ้าดี และสื่อของรัฐก็ครอบคลุมทั้งจังหวัด หรือไปได้ไกลทั้งประเทศ ชาวบ้านจึงคิดเรื่องการเข้าไปชิงพื้นที่ แต่ถูกคัดค้านกีดกัน ถูกห้ามไม่ให้ออกสื่อ โดยให้เหตุผลเรื่องผลกระทบต่อการลงทุนเป็นหลัก
พี่สำราญเล่าต่อว่า พอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เปิดโอกาส ชาวบ้านเลยคิดตั้งสถานีวิทยุชุมชน หลังจากได้เข้าฝึกอบรมกับอ.เอื้อจิต วิโรจน์ไกรรัตน์ และได้รับงบจากกองทุนซิปมาประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นบาท และตั้งสถานีวิทยุชุมชนได้ในปี 2545 ก่อนนั้นตั้งอยู่ตรงหน้าวัดด้านนอกใกล้ปั้มน้ำมันชุมชน แต่ถูกขโมยสายล่อฟ้าไป 2 ครั้ง เลยย้ายเข้ามาข้างใน กำลังส่งเริ่มแรก 30:30:15 ตามหลักเกณฑ์ แต่ออกจริงๆ ได้ประมาณ 5 กิโลเมตร ก็มีคนฟังกลุ่มหนึ่ง
ปี 2547 คุณเจริญ วัดอักษรตาย สถานีฯจึงหยุดดำเนินการ ต่อมาพี่สำราญได้เข้ามาสานต่อ สถานีจึงเริ่มเปิดทำการอีกครั้ง และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเนื้อหาในการจัด พี่สำราญเล่าว่า ในช่วงเริ่มแรกเราเน้นเรื่องสิทธิการสื่อสารตามรัฐธรรมนูญ ทำความเข้าใจเรื่องวิทยุชุมชนเป็นหลัก เรื่องการต่อสู้คัดค้านโครงการ และเรื่องในชุมชนอื่นๆ เป็นเรื่องรอง ช่วงหลังปรับมาสู่เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ข่าวสาร สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม องค์ความรู้ การศึกษา ศาสนา สุขภาพ ฯ มากกว่าเรื่องสิทธิการสื่อสาร
โดยมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการตามวาระ ขยายกำลังส่งครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น รวมถึงนักจัดรายการผู้มีจิตใจเสียสละทั้งหลาย ก็ยกระดับความเข้าใจเรื่องสิทธิ เรื่องจรรยาบรรณนักสื่อสาร เรื่องเทคนิคอุปกรณ์และเรื่องอื่นๆ ตามกันมา
พี่สำราญให้รายละเอียดว่า ในคณะกรรมการที่บริหารสถานี มีคนทำงานประมาณ 10 คน ดูผังรายการ หางบประมาณบ้าง แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นปากเสียงทำความเข้าใจให้กับคนที่ถาม ทั้งเรื่องวิทยุชุมชน และเรื่องการต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก ชาวบ้านก็ได้มีส่วนร่วม เข้ามาร่วมรับรู้
ส่วนหลักในการคัดเลือกคณะกรรมการฯ เราเลือกคนสนใจเรื่องวิทยุชุมชนจริง ๆ มองๆ กันแล้วเชิญมาคุย มาในช่วงหลังเราปรับให้ชุดคณะกรรมการเล็กลง เพื่อความกระชับคล่องตัวในการทำงาน ส่วนผังรายการมาจากธรรมชาติ ทำไปให้เป็นธรรมชาติ ใครถนัดเรื่องไหนก็คุยเรื่องนั้น ผู้จัดรายการก็มาจากทุกกลุ่ม ไม่ได้กะเกณฑ์ เด็กสนใจก็มา เราก็เอื้ออำนวยให้เขา
พี่สำราญเล่าต่อว่า หากฟังจากเสียงสัมภาษณ์ผู้ฟัง เรื่องหลักที่เขาสะท้อนคือ เรื่องความแตกต่างระหว่างวิทยุชุมชนกับวิทยุที่มีโฆษณา เขาบอกว่าเราเป็นวิทยุมีสาระ ในส่วนที่เขาติมีเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อย เช่น เขาขอเพลงไม่ได้ นักจัดรายการไม่แจ้งเวลาก่อนเปิดรายการ เป็นต้น เราเน้นเรื่องการพูด พูดอย่างไรไม่ให้พันตัวเอง ไม่พาดพิงคนอื่นที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ห้ามก้าวล่วงเขา เป็นเรื่องจรรยาบรรณ การป้องกันตัวเองด้วย
ส่วนเรื่องปัญหาอุปสรรค ในเชิงภาพรวมนโยบายวิทยุน่าจะเป็นปัญหาใหญ่กว่า เช่น การได้มาของคลื่นความถี่ หรือคนทำวิทยุทั้งหมด มีความสำนึกเรื่องเสียสละ มีจิตวิญญาณอาสามากน้อยแค่ไหน ส่วนที่นี่ ความเข้าใจเรื่องสิทธิจะไม่ค่อยมีปัญหา เราพยายามให้สมาชิกไปเข้าร่วมเวทีข้างนอก ถือเป็นการจัดการศึกษาอยู่เรื่อยๆ ที่นี่จึงไม่มีปัญหาเรื่องผู้จัดถูกซื้อตัว พี่สำราญกล่าวยืนยัน
ส่วนเงื่อนไขที่วิทยุชุมชนจะอยู่ไม่ได้ เราไม่รู้ว่าอนาคตของการทำวิทยุชุมชน ชาวบ้านจะสนับสนุนได้แค่ไหน 10-20 ปี พอเปลี่ยนชุดทำงาน ถ้าชุมชนอ่อนแอ มันก็อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ รากฐานอยู่ที่ชุมชน ถามว่าอยู่ได้ไหม มันไม่ยาก ถ้าเราเปลี่ยนเป็นโฆษณา ทำ 4-5 คนมันก็ทำได้ แต่ชุมชนที่นี่เข้าใจว่า วิทยุชุมชนไม่ใช่ของผู้จัด แต่เป็นของคนฟังทุกคน
ส่วนเรื่องเงินในการบริหารงานไม่ใช่ ปัญหาหลัก แม้ตอนนี้สถานีจะมีหนี้ ซึ่งหมดไปกับค่าอุปกรณ์ แต่ยังถือว่ายอดหนี้ก็ลดลง และเงินบริหารส่วนมากมาจากเงินบริจาค ปีนี้เรามาช่วยวัดเยอะ วัดสร้างโบสถ์ เราเลยไม่ได้ทอดผ้าป่า
ส่วนความภูมิใจในการทำวิทยุของพี่สำราญ คือ การสร้างคน สร้างความเข้าใจให้คนฟังได้ความรู้ คนเข้าใจเรื่องสื่อชุมชน ได้เข้าใจปัญหาพี่น้องที่อื่นด้วย เพราะยังมีคนอื่น มีเด็กเยาวชนเข้ามาจัดรายการ ส่วนการหาคนมาจัดรายการไม่ยาก เราอยากหาคนที่มีใจจริงๆ อยากให้คนเวียนเปลี่ยนเข้ามาทำหน้าที่บ้าง
ในอนาคตพี่สำราญกล่าวว่า อยากให้สถานีวิทยุชุมชนบ่อนอก เป็นสถานีวิทยุออนไลน์ มีเว็บไซต์ของตนเอง อยากถ่ายทอดสดได้ รับของเพื่อนมาถ่ายทอดก็ได้ และหากองค์กรภายนอกอยากจะหนุนเสริม น่าจะเป็นเรื่องเทคนิค ถึงแม้ทุกคนในสถานีเป็นช่างเทคนิค มีพื้นฐานเรื่องเทคนิค เปิดเครื่องเป็นหรือหาข่าวเข้าอินเทอร์เน็ตได้ แต่หากละเอียดซับซ้อนกว่านั้น เราก็มีข้อจำกัดอยู่
พี่สำราญกล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับคลื่น ความถี่ว่า เราก็ต้องติดตาม ต้องทวงเหมือนทุกเรื่อง ของๆ เราถ้าไม่ทวงก็ไม่ได้ มันอยู่ในมือรัฐ ไม่ใช่การเรียกร้อง มันเป็นสิทธิของเรา เราต้องไปทวง
พี่สำราญกล่าวทิ้งท้ายอย่างจริงจังว่า คนเราถ้าไม่มีจิตใจที่จะสร้างวิทยุชุมชนให้มันอยู่มั่นคงถาวร ทั้งชุมชน หรือตัวผู้จัดก็ดี มันไม่มีทางอยู่ได้ ถ้าเข้าไปแสวงหาประโยชน์ วิทยุชุมชนก็มีอายุสั้นๆ ไม่ว่าเทคนิคจะเลิศเลอขนาดไหน สถานีฯไม่มีทางอยู่ได้ หากคนทำไม่มีจิตวิญญาณของการทำเพื่อชุมชน !