วิกฤต เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งบางคนเรียกว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์”นั้น ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางทั่วทั้งโลก ผลกระทบดังกล่าวมิใช่เป็นเรื่องของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวโยงกับชีวิต ของผู้คนนับพันล้านเท่านั้น หากยังกระเทือนไปถึงองค์ความรู้ที่เคยเชื่อว่าแม่นยำและถูกต้อง โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์มหัพภาคและเศรษฐศาสตร์การคลัง กระทั่งพอล ครุกแมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี ๒๕๕๑ ถึงกับกล่าวว่า เศรษฐศาสตร์มหัพภาคในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา “พูดอย่างเบาก็คือไร้ประโยชน์ พูดแรงกว่านั้นก็คือเป็นโทษ”
ใช่แต่เท่านั้นมันยังชี้ให้เห็น ถึงความผิดพลาดของนโยบายเสรีนิยม ที่ปล่อยให้มีการออกตราสารต่าง ๆ ออกมามากมายไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ หุ้นหรือ อนุพันธ์ โดยไม่มีการควบคุม จนเกิดการเก็งกำไรอย่างอิสระเสรี มิหนำซ้ำตราสารเหล่านั้นยังได้รับรับการรับรองว่ามีความน่าเชื่อถือสูง จากบริษัทจัดอันดับชั้นนำทั้งหลาย ทั้ง ๆ ที่ความจริงได้เปิดเผยต่อมาว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นโดยแทบไม่มีเสียงเตือนจากนักวิชาการ หรือผู้รู้ทั้งหลายเลย ผลก็คือเกิดวิกฤตศรัทธาต่อนักเศรษฐศาสตร์ นักวาณิชธนกิจ และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ทำให้ความ ศักดิ์สิทธิ์ของ “ตลาด” ถูกสั่นคลอน การปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเสรีนั้นอาจก่อความเสียหายอย่างมิอาจประมาณได้ จำเป็นต้องถูกกำกับดูแล อันที่จริงความเสียหายนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับเคราะห์มักเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีปากไม่มีเสียง ในนามของตลาดเสรี เขาต้องสูญเสียที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำเพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนเข้ามาใช้ประโยชน์ เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมด้านอบายมุข ซึ่งมีอิสรเสรีในการประกอบกิจการ ในขณะที่อีกไม่น้อยเป็นทาสของบริโภคนิยมที่อาศัยสื่อมวลชนอย่างไม่มีขีด จำกัด
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ยังทำให้ ผู้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรม เป็นเพราะเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่า “โลภนั้นดี” (greed is good) จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรอย่างมโหฬาร เกิดการปั้นแต่งตัวเลขบัญชีเพื่อปั่นราคาหุ้นให้สูงขึ้นจนเกิดผลเสียในเวลา ต่อมา ขณะเดียวกันความโลภของนักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยว ข้องสถาบันการเงินเหล่านี้ทำให้หลับหูหลับตาต่อความไม่ถูกต้อง จนเกิดปัญหาลุกลามในเวลาต่อมา มาถึงตอนนี้ความคิดที่ว่า “โลภนั้นดี”ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ขณะเดียวกันจริยธรรมของผู้บริหารธุรกิจก็กลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลดีต่อสังคม เพราะที่ผ่านมาสังคมได้รับผลกระทบมากจากการที่ตลาดถูกปล่อยให้ทำงานอย่าง เสรี นอกจากจะสูญเสียทรัพยากรที่สำคัญ ในการดำรงชีพ และเกิดปัญหาสังคมตามมามากมายแล้ว การที่เงินกลายมาเป็นใหญ่ในชีวิตทำให้ผู้คนอยู่กันอย่างตัวใครตัวมัน มีน้ำใจน้อยลง ขณะที่ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมก็ถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ หาไม่ก็ถูกนำไปขายเป็นสินค้าตามกลไกตลาด สังคมเข้มแข็งได้ยากหากตลาดขยายตัวอย่างเสรีหรือมีอำนาจมากมายอย่างที่ผ่าน มา การที่ตลาดถูกกำกับด้วยกลไกของรัฐ(หรือกลไกอิสระ)และถูกเหนี่ยวรั้งด้วย จริยธรรม ย่อมเปิดโอกาสให้ภาคสังคมฟื้นตัวได้ง่ายขึ้น
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ยังกระตุ้นเตือนให้ผู้คนเห็นถึงโทษของการพึ่งพิง ตลาดอย่างเต็มที่ เพราะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนแขวนอยู่กับระบบขนาดใหญ่ที่ตัวเองควบคุม ไม่ได้ ดังนั้นจึงหันมาร่วมมือกันมากขึ้น โดยสร้างกลไกทางเลือกใหม่ เช่น สัจจะออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน เงินตราท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้ทรัพยากรท้องถิ่นไหลเวียนในชุมชน รวมถึงการทำเกษตรกรรมทางเลือก ที่พึ่งพาน้ำมันหรือปุ๋ยเคมีน้อยลง กิจกรรมเหล่านี้ช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น เพราะเป็นบันไดนำไปสู่การร่วมมือกันทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
ถึงที่สุดแล้วในยามที่เงินฝืดเคือง ผู้คนจำเป็นต้องอยู่อย่างประหยัดมัธยัสถ์ มองในแง่ดีก็คือทำให้เสียเวลาน้อยลงกับการเสพ การจับจ่ายใช้สอย หรือการเที่ยวห้าง มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หลายคนได้ค้นพบความสุขที่ไม่ต้องใช้เงิน เช่น ความสุขจากการสังสันท์ในครอบครัว จากการทำงานอดิเรกในบ้าน ความสุขจากการทำงานอาสาสมัคร รวมทั้งจากการทำสมาธิภาวนา ทั้งหมดนี้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของผู้คน ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ทั้งยังนำไปสู่สังคมที่เกื้อกูลและสงบร่มเย็นได้
โดย พระไพศาล วิสาโล
จากหนังสือ สุขภาพคนไทย ๒๕๕๓
จัดพิมพ์โดย สสส.
ที่มา http://www.visalo.org/article/thaiHealth53.htm