ทุกวันยายจะตื่นมาตั้งแต่ตีสี่ หลังจากสวดมนต์และทำกิจส่วนตัวเสร็จ ก็จะออกมาเตรียมอาหารใส่บาตรโดยมีลูกสาวช่วยอีกแรง
วันหนึ่งหลานสาว ซึ่งต้องออกไปทำงานก่อนฟ้าสาง สังเกตว่าตีห้าครึ่งแล้ว ยายไม่ออกมาเตรียมอาหารเหมือนเคย มีแต่แม่ทำงานอยู่ในครัวคนเดียว จึงมาเคาะประตูห้องยาย พร้อมกับถามว่า “ยายจ๋า ไม่ใส่บาตรเหรอ?”
ยายตอบด้วยน้ำเสียงแจ่มใสว่า “วันนี้ไม่ใส่หรอก เดี๋ยวยายจะนั่งสมาธิต่อสักหน่อย”
หลานสาวถามต่อว่า “งั้นหนูไปทำงานนะ ยายจะเอาอะไรไหม?”
ยายตอบว่า “ไปเหอะ ยายไม่เอาอะไรอีกแล้ว”
จนสายยายก็ยังไม่ออกมาจากห้อง ลูกสาวรู้สึกผิดสังเกต จึงทั้งเรียกทั้งเคาะประตูห้องอยู่นาน แต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงไปเรียกคนมาช่วยงัดประตูห้องเข้าไป ภาพที่ปรากฏก็คือ ยายนุ่งขาวห่มขาว หลังพิงฝาอยู่ในท่านั่งสมาธิ ดวงตาปิด มีรอยยิ้มน้อย ๆ คล้าย ๆ คนนั่งหลับ แต่พอมีคนมาแตะตัว ร่างของยายก็เอียงกระเท่เร่ลงมา ถึงตอนนั้นทุกคนจึงรู้ว่ายายหมดลมแล้ว
ยายจากไปอย่างสงบและดูเหมือนจะรู้ตัวล่วงหน้าด้วยว่าจะจากไปในเช้าวัน นั้น จึงนุ่งขาวห่มขาวและเลือกที่จะทำจิตให้สงบ แทนที่จะออกไปใส่บาตรเหมือนเคย ธรรมดาคนที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ย่อมอยากให้คนรักหรือลูกหลานอยู่ใกล้ ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ แต่ยายกลับปรารถนาที่จะอยู่ลำพัง ใช้เวลาที่เหลืออยู่กับการสวดมนต์ รำลึกถึงพระรัตนตรัย และนั่งสมาธิ
คนที่จะทำเช่นนี้ได้ย่อมไม่อาลัยในชีวิตและไม่กลัวความตาย ทั้งนี้เพราะเชื่อมั่นว่าได้ทำความดีมาโดยตลอด และได้ใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์คุ้มค่าสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ จึงแน่ใจว่ามีสุคติเป็นเบื้องหน้า ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่าหน้าที่ที่สมควรทำก็ทำเสร็จสิ้นแล้ว จึงหมดห่วงไร้กังวล ดังนั้นจึงพร้อมที่จะจากไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องสั่งเสียหรือล่ำลาลูกหลาน
คนทั่วไปนั้นเมื่อใกล้จะตายมักทำใจไม่ได้ พยายามดิ้นรนต่อสู้กับพญามัจจุราชเพราะกลัวว่าตายแล้วจะไปอบาย เนื่องจากไม่สนใจสร้างบุญกุศล หรือทำบาปเป็นอาจิณ หาไม่ก็นึกเสียใจที่ยังไม่ได้ทำอะไรอีกมากมายที่สมควรทำ ความห่วงกังวลและความรู้สึกผิดติดค้างใจจึงรบกวนจิตใจทำให้กระสับกระส่าย ใช่แต่เท่านั้น เป็นเพราะยึดติดหวงแหนสิ่งต่าง ๆ อย่างเหนียวแน่นมาทั้งชีวิต เมื่อรู้แน่ว่าจะต้องพลัดพรากสิ่งเหล่านั้นไปหมด จึงไม่สามารถยอมรับความตายได้ แต่ยิ่งดิ้นรนต่อสู้ความตายมากเท่าไร ก็ยิ่งทุรนทุรายมากเท่านั้น
นอกจากการทำความดี ละเว้นความชั่วแล้ว เราจะตายอย่างสงบได้ก็ต่อเมื่อรู้จักปล่อยวางด้วย ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ อำนาจ ชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดจนลูกหลาน ไม่เว้นแม้กระทั่งร่างกายที่ยึดว่าเป็นตัวตน แต่ถ้าจะรอปล่อยวางเมื่อใกล้ตายก็นับว่าเป็นความประมาทอย่างยิ่ง จึงควรฝึกปล่อยวางตั้งแต่ยังสุขสบายดีอยู่ ด้วยการให้ทานซึ่งเป็นการสละสิ่งที่ง่ายที่สุดคือเงินทองของนอกตัว ตามมาด้วยการรักษาศีล อันเป็นการฝึกลดละความเห็นแก่ตัว โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อหมกมุ่นในกามสุข
แต่เท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องบำเพ็ญภาวนาคือฝึกฝนจิตใจ นอกจากเพื่อสละความรู้สึกนึกคิดที่เป็นอกุศลหรือทำให้จิตใจรุ่มร้อนเศร้า หมองแล้ว ที่สำคัญก็คือเพื่อให้มีปัญญาเห็นความจริงว่าสิ่งทั้งปวงนั้นไม่จีรัง ยั่งยืน (อนิจจัง) เจือไปด้วยทุกข์ ไม่เคยทำให้เกิดความพอใจได้อย่างแท้จริง (ทุกขัง)และไม่สามารถยึดมั่นเป็นตัวเราของเราได้อย่างแท้จริง (อนัตตา) ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์ดังกล่าวจะทำให้จิตใจสามารถปล่อยวางสิ่งทั้งหลายได้ ไม่ตกเป็นทาสของมัน รวมทั้งชื่อเสียงเกียรติยศ บริษัทบริวาร ลูกหลานคนรัก และความสำเร็จทั้งปวง
ปล่อยวางในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งไม่ไยดี หรือไม่รับผิดชอบ หากหมายถึงการมีจิตใจเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น แม้ยังเกี่ยวข้องอยู่แต่ก็ไม่สยบมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมตามควรแก่กรณี แต่เมื่อถึงเวลาพลัดพรากจากกัน ก็ไม่หวงแหนติดยึดหรือเศร้าโศกเสียใจ
แม้ปุถุชนคนทั่วไปยากที่จะมีปัญญาถึงขั้นปล่อยวาง สิ่งทั้งปวงได้อย่างแท้จริง แต่การดำเนินชีวิตโดยหมั่นให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนาอยู่เสมอ ย่อมช่วยให้จิตใจปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความสุขเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่ทรัพย์สมบัติอาจจะลดลง เป็นความสุขจากจิตที่สงบเย็นและจากความสัมพันธ์ที่ร่มรื่นกับผู้อื่น ช่วยให้ชีวิตโปร่งโล่งเบาสบายอย่างแท้จริง และเมื่อถึงคราวละจากโลกนี้ไปก็สามารถจากไปได้อย่างสงบ เพราะไม่หวงแหนอะไรและไม่คิดจะเอาอะไรอีกแล้ว
เช้าวันที่ยายจะจากไป ประโยคสุดท้ายที่ยายตอบหลานก็คือ “….ยายไม่เอาอะไรอีกแล้ว” ข้อความนี้มีนัยยะลึกซึ้งมากเพราะเป็นคำพูดที่ออกมาจากใจของผู้ที่ปล่อยวาง ทุกอย่าง จึงพร้อมที่จะตายอย่างสงบ ใช่หรือไม่ว่า ต่อเมื่อเราสามารถพูดประโยคนี้ได้จากก้นบึ้งของหัวใจ จึงจะพร้อมรับความตายได้ด้วยใจสงบ
พระไพศาล วิสาโล