ข่าววันที่ 28 เมษายน 2551 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ
กาชาด เป็นองค์กรการกุศล ที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และบาดเจ็บทั้งในยามสงครามและในยามสงบ ตลอดจนการบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ
กาชาด เกิดจากแนวความคิดของ นายอังรี ดูนังต์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้เดินทางไปแสวงหาโชคลาภในทวีปแอฟริกาเหนือ และผ่านไปทางภาคเหนือของประเทศอิตาลีที่หมู่บ้านซอลเฟริโน ได้พบเห็นการสู้รบระหว่างทหารฝรั่งเศสซึ่งช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย ทำให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนกลาดกลางสนามรบเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีผู้ใดให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาล นายอังรี ดูนังต์ จึงได้ลงมือให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง และขอร้องให้หญิงชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นให้มาช่วยเหลือด้วย
จากประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้นายอังรี ดูนังต์ เกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือ “ความทรงจำที่ซอลเฟริโน” ขึ้น และกล่าวในตอนหนึ่งว่า “จะเป็นไปไม่ได้หรือ ที่จะจัดตั้งองค์กรอาสาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลทหารบาดเจ็บในสงคราม” ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2406 คณะกรรมการชุดนี้ปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The Internation Committee of the Red Cross หรือ ICRC)
องค์กรกาชาดสากล ประกอบด้วย 3 องค์กร คือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC มีพันธกิจในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามและความ ขัดแย้ง ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ ได้รับการรับรองจากอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นกฏหมายระหว่างประเทศที่มีการลงนามรับรองโดย 194 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย สหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ หรือ IFRC มีหน้าที่ในการประสานงานและรวบรวมสรรพกำลังของประเทศสมาชิกในการบรรเทาทุกข์ จากภัยพิบัติขั้นรุนแรง ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง เช่นเหตุการณ์แผ่นดินถล่มในอัฟกานิสถาน หรือเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ และยังมีสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดง (National Societies) ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย การบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติ การบริการด้านสุขภาพและสังคม ทั้งนี้ในยามสงครามมีหน้าที่ช่วยเหลือพลเรือนที่ได้รับผลกระทบและช่วยงานของ หน่วยบริการแพทย์ทหารตามสมควร ปัจจุบันมีสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงกว่า 186 ประเทศทั่วโลก
ถึงแม้ว่าองค์กรกาชาดทั้งสามจะมีจะมีพันธ กิจที่ต่างกันและทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกัน แต่ทุกองค์กรก็ปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีหลักการกาชาด 7 ประการ เป็นเครื่องนำทาง ซึ่งได้แก่ มนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร ความเป็นเอกภาพ และความเป็นสากล โดยใช้เครื่องหมายกากบาทแดงบนพื้นขาว เป็นสัญลักษณ์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกาชาด สัญลักษณ์นี้จะกลับกันกับธงชาติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นกากบาทขาวบนพื้นแดง และเพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิดว่า เครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญของศาสนาคริสต์ จึงทำให้เกิดเครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง เพื่อใช้ในประเทศที่มีประชาชรชาวมุสลิม เรียกว่า “สภาเสี้ยววงเดือนแดง” แทนสภากาชาดแต่ในหลักการและหน้าที่แล้วไม่แตกต่างกัน
สำหรับสภากาชาดไทยได้รับการรับรองสถานะจาก คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ในพ.ศ. 2463 และหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี สภากาชาดไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์กาชาดฯ ซึ่งนอกจากการให้ความช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพอนามัย กิจกรรมบรรเทาทุกข์ และการรับบริจาคโลหิตแก่คนไทยโดยทั่วไปแล้ว สภากาชาดไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวต่างประเทศที่ได้รับ ความเดือดร้อนด้วย
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ นายอังรี ดูนังต์ ผู้ให้กำเนิดกาชาดสากล เป็นวันกาชาดโลก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความพยายามของสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงของ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในการปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ความอดอยาก ภัยพิบัติ หรือสงครามและความขัดแย้ง โดยปราศจากความลำเอียงทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ หรือแม้แต่อุดมการณ์ทางการเมือง สภากาชาดทั่วโลกจึงได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่อเนื่องทุกปี สภากาชาดไทยก็ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันกาชาดโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงการรวมพลัง โดยได้กำหนดคำขวัญไว้ว่า “Together for Humanity” รวมพลังเพื่อมนุษยธรรม