“ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่หยุด ดูเหมือนมนุษย์ก็ยังต้องเรียนรู้ชีวิต เพื่อทำความรู้จักกับโลกภายนอก รู้จักตัวตนภายใน…ในรูปแบบเดิมเก่า…ใหม่….ไม่มีวันสิ้นสุด….” บทเรียนรู้วาระ ๑ ปี ของครูแป๋ว..เปรมวดี เสรีรักษ์ อาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือกรุ่นที่ ๑ ประจำโรงเรียนรุ่งอรุณ

๑ ปีที่ล่วงผ่าน กับการใช้ชีวิตในฐานะครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก กับบทบาทครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ในโรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของวิชาชีพและตัวตน

แม้มีบทบาทเป็นครู แต่ในความเป็นจริงรู้สึกเสมือนว่าตัวเองเป็นนักเรียน ที่กำลังเรียนรู้บทเรียนชีวิตมุมใหม่ ซึ่งได้รับโอกาสในการฝึกฝน และถ่ายทอดความรู้จากโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้เป็นเสมือนคุณครูประจำชั้นของนักเรียนคนนี้ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒ รวมถึงมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนคุณครูแนะแนว ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการเปิดมุมมอง ชี้แนวทางในการใช้ชีวิตบนเส้นทางการเรียนรู้ให้มีความชัดเจนยิ่ง ขึ้น บทเรียนในช่วงเวลา 1 ปีจากคุณครูทั้งสององค์กรหล่อหลอมให้ ความคิด…ความรู้สึก…ในวันนี้…แตกต่างไปจากวันวาน

บทเรียนจากรุ่งอรุณ 

เนื่องจากไม่ได้เรียนจบจากสายวิชา ชีพครู ไม่เคยเป็นครูมาก่อน ทำให้เมื่อเริ่มแรก ตนเองจินตนาการการทำงานของครูได้ไม่มากนัก แม้จะเคยเป็นนักเรียนในระบบการศึกษามาตลอด แต่ก็คิดอ่านและมองเห็นครูในแบบของนักเรียน แม้คิดว่า “ครู” คงเป็นอาชีพที่ไม่ขัดแย้งกับตัวตนมากเกินกว่าจะทดลอง เรียนรู้ แต่เมื่อได้ลงมือทำจึงพบว่า มีหลากหลายทักษะที่จำต้องฝึกฝนอีกมาก เพราะในการสอนภายในเวลาเพียง 1 คาบเรียนนั้น ครูต้องใช้ทักษะหลายทักษะพร้อมกันในการทำงาน

จากวันแรกที่ยังไม่แน่ใจว่าควรวางตัวอย่างไร และต้องคอยสังเกตคุณครูคู่ห้องที่ทำงานร่วมกันในการสอนนักเรียน ๒๕ คนในชั้นเรียน จนผ่านภาคการศึกษาที่ ๑  ภาคการศึกษาที่ ๒ และจบภาคการศึกษาที่ ๓ ทุกวันตัวเองค่อยๆ เรียนรู้วิธีการทำงาน เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ เมื่อย้อนทวนดูจึงได้เห็นวิธีการเรียนรู้ของตนเองในการทำงานว่ามีลำดับขั้น ตอนอย่างไรบ้าง

ช่วงแรกตนเองให้ความสำคัญกับเนื้อหาการสอนเป็นหลัก เพราะถ้าครูไม่รู้เนื้อหาที่จะใช้ในการเรียนการสอน คงไม่สามารถพาเด็กดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ได้ ขณะที่เนื้อหาของรุ่งอรุณไม่ได้มีหนังสือให้เปิดดูเพื่อเตรียมตัวมาก่อนล่วง หน้าได้ หากแต่เป็นเนื้อหาที่ครูในชั้นนั้นต้องวางแผนร่วมกัน ฉะนั้นช่วงแรกจึงเป็นช่วงของการทำความเข้าใจกับเนื้อหาของแต่ละคาบเรียนให้ มากที่สุด ขณะที่วิธีการและกระบวนท่าในการสอนนั้น อาศัยการทำตามและเลียนแบบพี่ๆ ไปก่อน

เมื่อคนไม่เคยสอน ต้องมาสอน ๒๕ ชีวิต จึงมีอาการล่มเกิดขึ้น “อาการล่ม” ในความหมายของตัวเอง คือ เริ่มสอนไปแล้วแต่เกิดอาการสะดุดกลางทาง ไม่สามารถไปต่อได้ อาการล่มกลางทางนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการที่ตนเองยังไม่มีความแม่นยำในเนื้อหามากพอ ที่จะตอบทุกคำถามจากความช่างสงสัยของเด็กได้ หรืออาจมาจากสภาพบรรยากาศในห้องเรียนที่เด็กนักเรียนมีการคุยเล่น จนสมาธิหลุดลอยไปจากกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่

ผู้มีประสบการณ์บอกว่าอาการล่มเป็นเรื่องปกติ เพราะครูมือใหม่ยังไม่มีเทคนิคที่สามารถจัดการบรรยากาศดังกล่าว หรือดึงสมาธิที่หลุดลอยไปของเด็กให้กลับมาอยู่ที่กิจกรรม หรือปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะกับสภาพบรรยากาศ ณ ตอนนั้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งครูที่มีประสบการณ์สามารถจัดการรับมือกับสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้สามารถดำเนินการเรียนการสอนต่อไปได้ ฉะนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ คุณครูซึ่งสอนวิชาเดียวกัน (แต่ประจำอยู่คนละห้อง) ซึ่งมานั่งดูการสอนอยู่ด้วย จะเข้ามาพูดเพื่อช่วยเสริมเรื่องที่กำลังสอนนั้นให้ชัดเจนขึ้น และอาจช่วยดำเนินการสอนให้ต่อเนื่องไปจนจบกระบวนการในชั่วโมงนั้นก็ได้

จากที่มีอาการล่มและต้องมีคนช่วยเหลือ จึงเริ่มเข้าสู่ช่วงที่สอง คือ เรียนรู้จนสามารถสอนได้ด้วยตนเองจนจบชั่วโมง ซึ่งต้องอาศัยการทั้งการเตรียมตัวอย่างดี ในการทำความเข้าใจเนื้อหา การสังเกตการสอนของครูต่างห้อง ซึ่งสอนวิชาเดียวกันเพื่อดูวิธีการสอนเนื้อหาที่เราต้องสอนเช่นกัน รวมถึงการสังเกตการสอนครูที่ประจำห้องเดียวกันแต่สอนต่างวิชากัน เพื่อดูวิธีการจัดการบรรยากาศระหว่างการเรียนการสอน กับเด็กนักเรียนของห้องตัวเองที่มีบุคลิกลักษณะการเรียนรู้ และสมาธิจดจ่อที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ดำเนินการเรียนการสอนไปได้อย่างราบรื่น

หลังจากสังเกตแล้วต้องนำมาทดลอง และปรับให้เข้ากับตัวเรา วิชาที่สอนและบุคลิกของเด็กนักเรียนแต่ละคน จนสามารถสอนได้ด้วยตนเองจนจบในหนึ่งชั่วโมง นั่นแสดงว่า เรามีการเตรียมเนื้อหาพร้อมๆ กับสามารถจัดการกับบรรยากาศในห้องเรียนได้ดีระดับหนึ่ง เป็นสองเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกัน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมในหนึ่งคาบเรียนนั้นได้ด้วยตนเอง

ในช่วงที่สองนี้ค่อนข้างใช้เวลาในการเรียนรู้ ฝึกฝนยาวนาน และคิดว่าผู้เป็นครูทุกคนต่างต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากบรรยากาศการเรียนการสอน หรือตัวเด็กนักเรียนมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์แวดล้อมรอบตัวเขา ในช่วงที่สองนี้จะเห็นได้ว่าแม้สามารถสอนได้ตัวเองจนหมดคาบเรียนแล้ว คือ การดำเนินกิจกรรมให้จบลงตามเวลา แต่ยังคงเป็นการสอนที่มุ่งเน้นที่เนื้อหาเป็นหลัก ขณะที่ไม่ได้มุ่งไปสู่การเรียนการสอนที่มีการพิจารณาเด็กนักเรียนเป็นราย บุคคล

จากการประชุมร่วมกันของทีมครูระดับชั้นป.๓ ทำให้ตนเองรู้จักวิธีการจัดการเรียนการสอนของคุณครูท่านอื่นที่ลึกซึ้ง มากกว่า แค่เพียงการดำเนินการเรียนการสอนให้จบลงใน ๑ คาบเรียนได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ แม้ตนเองจะเป็นผู้นั่งสังเกตการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นมาหลายครั้ง เพราะกระบวนการนั้นเกิดขึ้นภายในตัวของผู้สอนเอง นั่นคือการรู้จักสังเกตนักเรียนแต่ละคนในระหว่างการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้ครูเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีความรู้หรือทักษะของวิชานั้นมากน้อย เพียงใด เพื่อจะหาวิธีการที่เหมาะสม ช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากฐานความรู้ที่เขามีอยู่

นี่จึงเป็นช่วงที่สามที่ตนเองต้องเริ่มลง มือปฏิบัติ  คือ พยายามมีสายตาที่จะจับสังเกตความเป็นไปของเด็กนักเรียนแต่ละคนในห้อง เรียน ดูว่าเขาให้ความสนใจในการเรียนมากน้อยเพียงใด มีสมาธิจดจ่อระหว่างการเรียนได้นานเท่าใด ซึ่งตนเองยังไม่สามารถสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนได้ทั้งหมดทุกคนใน แต่ละคาบเรียน อาจสังเกตพฤติกรรมนักเรียนได้เพียงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว ขณะที่คาบเรียนถัดไปอาจได้เห็นพฤติกรรมของอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น เมื่อทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง ครูจะได้รู้จักเด็กนักเรียนแต่ละคนอย่างที่เขาเป็นได้มากขึ้น

จากสิ่งที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนการสอนเพียงหนึ่งคาบเรียนนั้น หากจะให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนอย่างแท้จริงแล้ว ครูต้องใช้ทักษะหลายทักษะเพื่อทำงานหลายส่วนไปพร้อมกันอย่างกลมกลืน และเมื่อย้อนมองมาที่ตัวเอง จึงได้เห็นว่าตัวเองมีลักษณะที่ต้องหัดทำงานให้เป็นทีละหนึ่งอย่าง ไม่สามารถทำหลายอย่างพร้อมกันได้ตั้งแต่เริ่ม ต้น

๑ ปีการศึกษาที่ผ่านมา ในฐานะการเป็นครู ที่ได้ดำเนินการเรียนการสอนในห้องเรียนจริงนั้น  การเรียนรู้ของตนเองเกิดขึ้นจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง และเมื่อได้เห็นข้อติดขัดของตัวเอง สิ่งที่ยังทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ราบรื่น ก็จะหยิบเอาประเด็นข้อติดขัดนั้นไปสังเกตพี่ๆ ที่มีชั่วโมงบินสูงกว่า รวมถึงพูดคุยซักถาม เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมและนำมาทดลองปรับใช้ว่าจะเกิดผลอย่างไรบ้าง

นอกเหนือจากการได้ลงมือปฏิบัติงานจริง อีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญซึ่งช่วยเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างดี คือ การมีทีมซึ่งเป็นทั้งพี่เลี้ยงและเพื่อนที่สามารถทำงานบนความแตกต่างของกัน และกันได้อย่างมีความสุข การมีทีมที่เรารู้สึกกลมกลืนและไว้ใจได้ทำให้เกิดความมั่นใจ เพราะรู้ว่าไม่ว่าจะติดขัดหรือสงสัยสิ่งใด พี่และน้องร่วมทีมจะช่วยให้เราก้าวผ่านสิ่งที่เป็นปัญหาได้ ขอบคุณครูเบนซ์, ครูติ๋ว, ครูยุ้ย และครูเตย ที่ทำให้ ๑ ปีการศึกษาที่ผ่านมา เราต่างรู้สึกว่า แม้ทีม ๕ คนนี้อาจไม่ได้เป็นทีมที่โดดเด่นในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด แต่เราต่างมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกัน  ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมให้การเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งในวันนี้กำลังเติบโตขึ้น พร้อมๆ กับที่มิตรภาพระหว่างเรา จะยังคงเติบโต ผลิบานต่อไป…

เขียนโดย เปรมวดี เสรีรักษ์
วันเสาร์ ที่ 7 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…