แม้ กรุงเทพมหานครจะไม่ต้องผจญปัญหาเรื่องของฝุ่นควันอย่างพื้นที่ทางภาคเหนือ ของประเทศ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อุดมด้วยมลพิษติดลำดับต้นประเทศ ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกระบุว่า จังหวัดในประเทศไทย ที่มีระดับมลภาวะทางอากาศสูงสุดคือที่จ.สระบุรี ซึ่งสามารถวัดระดับฝุ่นได้ถึง 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาด้วยย่านอำเภอพระประแดง ที่ 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, กรุงเทพฯ 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, จ.ราชบุรี ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่ 49 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้น อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, นครราชสีมา, นครสวรรค์, ลำปาง, เชียงใหม่, ระยอง และชลบุรี ก็มีระดับมลภาวะทางอากาศสูงกว่ามาตรฐานเช่นกัน
สาเหตุหลักใหญ่ๆ ของมลพิษทางอากาศ จะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ จากยานหาหะนะ และจากโรงงานอุตสาหกรรม การ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาค อุตสาหกรรม ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแหล่งธุรกิจและความเจริญมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางและการขนส่งมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดเข้าขั้นวิกฤต และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การจราจรที่ติดขัดทำให้รถเคลื่อนตัวได้ด้วยความเร็วต่ำ มีการหยุดและออกตัวบ่อยครั้ง ขึ้นน้ำมันถูกเผาผลาญมากขึ้น การสันดาปของน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ การระบายสารมลพิษทางท่อไอเสียในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น รถยนต์ยิ่ง มาก การจราจรยิ่งติดขัด บริเวณที่มีการจราจรติดขัด จะมีปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงกว่าในบริเวณที่มีการจราจรคล่องตัว
สารมลพิษที่ระบายเข้าสู่บรรยากาศที่เกิด จากการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน สารตะกั่วและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ล่า สุดจากการรวบรวมสถิติรถที่จดทะเบียนวิ่งตามท้องถนนทั่วประเทศ เฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมแล้วกว่า 29 ล้านคัน เป็นยอดรวมเฉพาะในกรุงเทพฯ มากถึง 6.62 ล้านคัน เป็นรถยนต์ 4 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 2.6 ล้านคัน โดยพบว่าทั่วประเทศมีรถจดทะเบียนใหม่เฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มวันละ 9,352 คัน เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเพิ่มมากถึงเฉลี่ยวันละ 2,592 คัน เป็นรถยนต์เฉลี่ยวันละ 1,468 คัน รถจักรยานยนต์เฉลี่ยวันละ 1,124 คัน
อย่างไรก็ดี หนทางการลดมลพิษนั้น ก็ใช่ว่าไม่มี หนทางหนึ่งที่มีการพยายามผลักดันให้เกิดด้วยองค์กร กลุ่มสังคม นอกจากการลดใช้ยานพาหนะ การประหยัด ยังมีอีกวิธี คือ การปั่นจักรยาน ใน เรื่องการคมนาคมเพื่อลดมลพิษ จักรยาน ถูกยกมาเป็นทางเลือกหนึ่งเสมอ แต่ทางเลือกนี้ก็มักตกประเด็นไป เมื่อถึงเวลาผลักดันเป็นวาระ หรือเมื่อลงมือปฏิบัติ อย่างที่ทราบกันดี แม้จะมีการ “สร้าง” ทางจักรยานขึ้นมาอย่าง “ง่ายๆ” ตามถนนหรือบนฟุตบาทบางเส้น แต่ก็ไม่ได้มีการก่อให้เกิดแรงจูงใจในการอยากออกไปปั่นจักรยานกันมากนัก สาเหตุมาจากอะไร คำตอบที่ชัดเจนของคำถามเห็นจะเป็นเรื่อง “ความปลอดภัย”
เมื่อ ช่วงเดือนกันยายน 2554 มูลนิธิโลกสีเขียว ได้ทำแบบสำรวจ “คนกรุงเทพฯ อยากได้เลนจักรยานไหม” โดยใช้คำถามมี 4 ข้อ ได้แก่
1. โดยปกติ คุณใช้พาหนะประเภทใดเดินทางในกรุงเทพฯ มากที่สุด ?
2. คุณเคยขี่จักรยานในกรุงเทพฯ หรือไม่ ?
3. ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ?
4. ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ?
จากผู้ ตอบแบบสอบถามซึ่งแบ่งออกเป็น คนที่ใช้ขนส่งมวลชนเป็นพาหนะหลักในการสัญจรร้อยละ 53 คนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว แท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์ร้อยละ 39 มีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ปัจจุบันใช้จักรยานเป็นพาหนะหลัก โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีถึงร้อยละ 48 ที่ไม่เคยใช้จักรยานมาก่อนในกรุงเทพมหานคร ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ได้ให้ความเห็นประเด็นความปลอดภัยและสุขภาพที่นักขี่และนักอยากขี่เป็นกังวล (ตีพิมพ์นิตยสาร Way ฉบับที่ 46) ว่า มูลนิธิโลกสีเขียวทำสำรวจความคิดเห็น 4,500 คน ใน 2-3 คำถามหลักๆ เราถามว่า “จะขี่จักรยานไหม ถ้าปลอดภัย” ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์บอกว่าขี่ ถามต่อว่า ถ้าขอแบ่งเลนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน จะยอมไหม 95 เปอร์เซ็นต์ยอม “ความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด มากกว่าเรื่องความร้อนความปลอดภัยในที่นี้หมายถึงกลัวถูกชนถูกเฉี่ยว และกลัวมลพิษ”
เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ให้ความเห็นต่อว่า “ถ้า ดูสถิติทั่วโลก จักรยานเกิดอุบัติเหตุน้อย น้อยกว่าคนเดินแล้วถูกรถชน แต่พอโดนทีมันเป็นข่าวดัง จริงๆ แล้วอุบัติเหตุทั่วไปในโลก ครึ่งหนึ่งเกิดจากความผิดของคนขี่จักรยานเอง ถ้าอยากปลอดภัยก็ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร ต้องสื่อสารให้คนขับรถรู้ว่า จักรยานก็เป็นพาหนะอย่างหนึ่ง มีสิทธิใช้ถนน แล้วพอคนเริ่มรู้ว่ามันมีวิธีขี่อย่างไรบ้าง รู้ว่าจุดที่ไม่ปลอดถัยคืออะไร ก็จะค่อยๆ เกิดความมั่นใจ และความมั่นใจมันจะเป็นตัวเซฟเรา”
นอก จากนี้ ข้อมูลจาก treehugger ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยกว่า 14 ปี โดยวิเคราะห์สุขภาพของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30,000 คน พบว่าการปั่นจักรยานไปทำงานนั้นปลอดภัยกว่าวิธีอื่น นั่นหมายถึงว่าผู้ขี่จักรยานต้องขี่อย่างปฏิบัติตามกฎจราจร ซึ่งในเชิงสถิติระบุว่า การปั่นจักรยานไปทำงานช่วยลดโอกาสที่จะเสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุได้ร้อยละ 40 และยังประโยชน์ต่อสุภาพอย่างที่ทราบกันดี เหนือสิ่งอื่นใด การปั่นจักรยานไปทำงานประมาณ 6.5 กิโลเมตรต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 900 กิโลกรัมต่อปี ข้อมูล จาก guardian.co.uk ระบุว่า ในทวีปยุโรปจะสามารถลดการสร้างภาวะเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 25 หากทุกประเทศหันมาใช้จักรยานให้ได้เท่าชาวเดนมาร์ก โดยอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของนักปั่นคือ 27 กรัมต่อกิโลเมตร ส่วนรถยนต์ 271 กรัม รถบัส 101 กรัม เฉลี่ยต่อผู้โดยสาร 1 คน ส่วน ประเทศไทย จากการคำนวนค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คนในกรุงเทพฯ ปล่อยถึง 7.3 ตันต่อคนต่อปี เทียบเท่ากับคนนิวยอร์ค และสูงกว่าค่าเฉลี่ยชาวโลกที่ปล่อยเพียง 1 ตันต่อคนต่อปี เมื่อจักรยานถูกยกเป็นทางเลือกหนึ่งของการลดคาร์บอนฯ ลดมลพิษในเมือง แล้วยังไม่ถึงเวลาส่งเสริมกันอย่างจริงจังอีกหรือ ?มาเปลี่ยนทางเลือกให้เป็นทางหลัก…
หากลังเล จะเริ่มอย่างไร วันที่ 25 ก.พ. มูลนิธิโลกสีเขียว จัดเทศกาลปั่นเมือง ที่อาคารบันเทิง สวนลุมพินี 16.00 – 20.30 น. ร่วมกิจกรรมมากมายเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน เผื่อจะได้ไอเดียในการเริ่มปั่น และทำความเข้าใจ… ปั่นเมือง มายาคติ เรื่องควันพิษริมถนน หลาย ต่อหลายครั้ง คนไม่สูบบุหรี่กับเป็นมะเร็งร้ายแรงกว่าคนสูบบุหรี่ เพราะแม้ไม่สูบ แต่เมื่ออยู่ใกล้กับคนที่สูบ คนไม่สูบก็มีสิทธิรับสารพิษจากบุหรี่จากการสูดดมเข้าไปได้เช่นกัน แล้วหากจะมาปั่นจักรยาน จะป่วยเพราะรับมลพิษบนท้องถนนอย่างเรื่องของคนไม่สูบบุหรี่หรือเปล่า ? จาก การทดสอบโดยทีมวจัยมหาวิทยาลัยดับลิน พบว่า การเดินหรือการปั่นจักรยานเร็วกว่าปกติ อัตราการหายใจและการทำงานของปอดจะสูงขึ้น แต่ปอดจะดูดซับมลพิษไว้น้อยกว่า กล่าวคือ การปั่นจักรยานทำให้ปอดทำงานหนักมาก นั่นหมายถึงปะสิทธิภาพในการฟอกอากาศเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ทำให้มลพิษถูกขับออกจากร่างกายเราในเวลาอันสั้น …
บทความจาก : http://www.seub.or.th
25 ก.พ. 2555 ร่วมปั่นเมืองกับมูลนิธิโลกสีเขียว
ข้อมูล เมืองมลพิษ อ้างอิงจาก มติชนนไลน์
ข้อมูล การใช้รถยนต์ในกรุงเทพ อ้างอิงจาก VOICE TV
ภาพประกอบจาก Internet