มนัส ลบหนองบัว:นักต่อสู้แห่งภูคี
วันอาทิตย์ ที่ 21 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553
“โฉนด ชุมชน” จึงเป็นอีกหนึ่งความหวัง ของผู้หว่านเพาะต่อสู้ เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินมาอย่างยาวนานอย่างพ่อมนัส ลบหนองบัว หนึ่งในนักต่อสู้แห่งภูคี……..กฤษณา พาลีรักษ์ สัมภาษณ์และเรียบเรียงจากกรณีศึกษาบนแปลงปฏิรูปที่ดิน ภายใต้โครงงานวิจัยของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) เมื่อ หันหน้าไปหาตะวัน จึงมองเห็นคันดินฝั่งขวามือของตัวบ้านสูงกว่าคันนาฝั่งซ้าย พ่อมนัสบอกนั่นเป็นบ่อเลี้ยงปลาเก่าที่ตนกับลูกเคยลงทุนเลี้ยง แต่ไม่ได้ผลกำไรดีนัก จึงปรับบ่อเลี้ยงปลาให้เป็นแปลงปลูกตะไคร้ซึ่งกำลังเขียวชอุ่ม และมีหลายแปลงทอดตัวยาวไปเกือบจรดภูคี ภูสูงส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูแลนคา จ.ชัยภูมิตะไคร้หลายแปลงที่มองเห็นคือปากท้องที่ครอบครัวพ่อมนัส ลบหนองบัว ชายชราร่างโย่ง ซึ่งปีนี้อายุครบ 66 ปี แต่ยังดูแข็งแรงกระฉับกระเฉงได้ฝากความหวังไว้ พ่อมนัสชี้มือพลางกล่าว “พ่อมีที่ดิน 50 ไร่ กะแบ่งให้ลูกคนละครึ่ง แทวนี้พ่อแบ่งให้อ้ายเหม แทวพู้นของอ้ายแหวว” ลูกชายหญิงสองคน กับแม่บัวผัน ลบหนองบัว ซึ่งปีนี้มีอายุ 59 ปีถ้วน ส่วนลูกชาย เหมราช ลบหนองบัว อายุ 39 ปี ลูกผู้หญิงหรือพี่แหวว ชวนชม ปลอดกระโทก อายุ 40 ปี ต่างเป็นครอบเป็นครัว และกลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ใกล้บ้าน มีงานส่วนตัว บวกงานในไร่นา และเป็นหลักในงานส่วนรวมของหมู่บ้านทั้ง 2 คน
“ดีที่พ่อบ่มีหนี้” พ่อมนัสกล่าวพลางพาเดินชมสวน มีไม้ยืนต้น ไม้ให้ผล ให้ใบ ในแบบฉบับไร่นาสวนผสมอย่างที่เราเข้าใจอย่างแจ่มชัด ส่วนในบิ้งนาฝั่งซ้ายมือ พ่อมนัสเปลี่ยนมันเป็นร่องลงตระไคร้ ซึ่งตอนนี้กำลังเขียวสะบัดอยู่เช่นกัน และแทรกร่องแปลงด้วยผักพื้นบ้าน จำพวกกระเทียม พริก ผักชี ผักกาด ฯลฯ รวมถึงผักยืนต้นและผลไม้บางชนิด เช่น มะพร้าว สะเดา ฯ ซีกฝั่งเหนือของนา มีแปลงอ้อยของพี่แหววอยู่ไม่เกินไร่ ใกล้กันมีสระเลี้ยงปลา ซึ่งสุมทุมพุ่มกล้วยปกคลุมอยู่รายรอบ อีกมะม่วง และมะขามหลายต้น ยังเป็นราคา แต่พ่อมนัสบอก “บางปีก็เก็บไปขายบ่ทัน ปล่อยให้หมากมันสุกคาต้นอยู่จั๋งซั่นละ” ส่วนตะไคร้บางแถวยังมีรอยตัดใบสดๆ “มีพ่อค้าจากหล่มสักมารับซื้อทุกเดือน เขาเอาไปเฮ็ดยาสมุนไพรส่งต่างประเทศ นอกจากปุ๋ยขี้วัว เขาเลยบ่ให้ใส่ยาจักอย่าง เดือนหนึ่งพ่อกะขายได้หลายพันพอได้อยู่ได้กิน ปลูกตะไคร้พวกเฮาเปลืองแต่น้ำมันใส่เครื่องสูบน้ำท่อนั่นละ”
“แต่กี้พ่อกะมีงัว แต่ขายไปเบิดตอนไปม็อบหนักๆ ตอนนี้กะเลี้ยงแต่เป็ดแต่ไก่ แนวมันดูแลง่ายไม่ต้องเบิ่งแงงยากนั่นละ” พ่อมนัส เป็นคนบ้านอื่น แต่มาแต่งงานกับแม่บัวผัน หลานสาวพ่อตู้หมา งอนภูเขียว ผู้บุกเบิกทำกินจนกลายเป็นบ้านทุ่งซำเสี้ยว ต.สระโพนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ตั้งแต่ก่อนปี 2470 จนเกิดเป็นกลุ่มเครือญาติ ออกลูกออกหลาน แล้วแบ่งที่แบ่งทางทำไร่ทำนา และอยู่มาจนนากลายเป็นบ้าน ก่อนนาจะถูกพันธนาการด้วยคำประกาศของรัฐในปี 2528 ว่า มูนมังสังขยาที่พ่อตู้หมาและเครือญาติทำกินอยู่กว่า 555 ไร่ เป็นที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะประโยชน์ของทางอำเภอ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จริงประมาณ 875 ไร่ อีกกว่า 53 ครัวเรือนที่นั่น จึงกลายเป็นคนนอกกฎหมาย ต้องถูกอพยพโยกย้ายออกจากที่สาธารณะอย่างเร่งด่วน
“หลังจากนั้นพวกพ่อก็ไปเรียกร้อง ไปยื่นหนังสือหลายม่อง ทั้งอำเภอ จังหวัด ไปบอกผู้แทน เฮ็ดเบิดทุกทาง เขากะยังมาไล่เฮาออกจากม่องที่เฮาเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินมาแต่พ่อแต่แม่คือเก่า แต่เฮากะสู้” จนปี 2535 พี่น้องทุ่งซำเสี้ยวจึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับ สกย.อ.หรือสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน มีการชุมนุมต่อรองจนเกิดการพิสูจน์สิทธิ์ และดำเนินการแก้ไขปัญหาเกือบลุล่วง แต่เรื่องยังติดอยู่ที่จังหวัด ซึ่งยังยึดเอาหลักกฎหมายเป็นบรรทัดฐานในการมองปัญหา คนทุ่งซำเสี้ยวจึงยังถูกฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกขับไล่อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะพ่อมนัส ซึ่งถูกศาลฏีกาพิพากษาในช่วงปี 2542 ว่า มีความผิดในข้อหาบุกรุกที่สาธารณะ และมีคำสั่งให้จำคุก 1 ปี แต่ยังให้รอลงอาญา
ขณะที่การต่อสู้เรียกร้อง เพื่อขอความเป็นธรรมของชาวบ้านไม่เคยหยุดนิ่ง แม้จะผิดหวังกับผู้นำการเคลื่อนไหวบางคน จนพ่อมนัสขอแยกกลุ่มออกมาสู้เอง และได้ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ลงมาศึกษา และคณะกรรมการสิทธิ์ฯมีคำสั่งยืนยันความชอบธรรมในการครอบครองที่ดินของชาว บ้าน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการแก้ไข แต่ทุกฝ่ายก็ยังคงนิ่งเฉย จนปี 2550 พ่อมนัส และสาแหรกเครือญาติที่เหลือ 24 ครัวเรือน จึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่ดินทำกินร่วมกับ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
“ลูกชายพ่อก็ลาออกจากราชการมาช่วยงานพี่น้องอยู่บ้าน เขาก็ช่วยได้หลาย เฮ็ดข้อมูล ตุ้มโฮมพี่น้องดีขึ้น ทางเครือข่ายฯเพิ่นก็ดี คำหยาบคำด่า บ่พาเว้า”
จากแนวทางการปฏิรูปที่ดิน ภายใต้หลักคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน “ธรรมนูญชุมชนทุ่งซำเสี้ยว” จึงเกิดขึ้น เป็นกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน โดยเน้นสาระไปที่การพัฒนารูปแบบการจัดการที่ดินในนาม “โฉนดชุมชน” เพื่อสร้างสำนึกในการวางแผนการครอบครองและใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยยึดหลักกรรมสิทธิ์รวมหมู่อยู่เหนือกรรมสิทธิ์ส่วนตน มี “กองทุนที่ดิน” เป็นกลไกการแลกเปลี่ยนซื้อขาย และยังเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุ่งซำเสี้ยว โดยใช้วิธีการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าในรูปเงินออม ตามเงื่อนไขใครใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ตนมีอยู่ ก็เก็บภาษีปีละ 20 บาท/ไร่ ส่วนที่ดินแปลงไหนที่พี่น้องปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่ทำการผลิต ก็เก็บปีละ 40 บาท/ไร่ และหากมีการซื้อ ขาย หรือเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากที่ดินเดิม ต้องผ่านมติจากคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ชุมชนร่วมกันตั้งขึ้นมาจัดการดูแลเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ คนบ้านทุ่งซำเสี้ยวยังมีกองทุนออมทรัพย์ มีกองทุนสวัสดิการ และมีกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ ไว้คอยดูแลรับผิดชอบชีวิตลูกบ้าน ในยามเจ็บยามไข้ หรือยามจำเป็นต้องใช้เงิน ตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญชุมชนอีกโสดหนึ่ง
ปัจจุบัน แม้องค์การบริหารส่วนตำบลสระโพนทอง ยังต้องการที่ดินบางส่วนของบ้านทุ่งซำเสี้ยวไปทำที่ทิ้งขยะ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ท้อถอย และยังคงปักหลักอยู่ในพื้นที่และสร้างสรรค์งานรวมกลุ่มอย่างคึกคัก พี่แหววลูกสาวคนโตพ่อมนัสกล่าวว่า “ตอนนี้พวกเฮาอยากพากันเฮ็ดเกษตรธรรมชาติ หลังจากที่พากันไปเบิ่งงานตลาดสีเขียวเมืองสุรินทร์มา แต่ก่อนหน้านั้นเพิ่นกะเฮ็ดตะไคร้แปลงรวมแล้ว ตอนนี้กำลังเลี้ยงหมู่หลุม จักหน่อยอาจสิเลี้ยงไก่สบายๆ หรือลองกลับมาปลูกเห็ดนำกันอีกเทื่อ” การรวมกลุ่มเพื่อทำการผลิตแบบรวมหมู่ โดยพึ่งพาตนเองและธรรมชาติ จึงเป็นทิศทางในการยกระดับ และพัฒนาตนเองของคนทุ่งซำเสี้ยว เพื่อให้คนในชุมชนอยู่ได้อย่างเป็นสุขและมีความยั่งยืน
ยิ่งหากนโยบายโฉนดชุมชนสำเร็จ เมื่อรัฐการันตีความมีตัวตนของคนทุ่งซำเสี้ยว โดยรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน และเปิดโอกาสให้ชุมชนกำหนดความเป็นไปของตน และได้บริหารจัดการกันเองตามสิทธิชุมชนที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรอง นอกจากสาแหรกตระกูลพ่อตู้หมาทั้ง 24 ครอบครัวจะสบายใจสบายกายขึ้น นั่นเพราะไม่ต้องไปชุมนุมเรียกร้อง อีกเพราะมีสิทธิเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐเหมือนชุมชนอื่น คนทุ่งซำเสี้ยวคงมีเวลามาเต็มที่กับงานทำการผลิต และงานพัฒนาภายในชุมชนเอง เหมือนในวันนี้ ที่พ่อมนัส ผู้ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับพี่น้องมาตั้งแต่ต้น จะเป็นผู้ขะมักเขม้นยิ่งนัก ทั้งกับงานแปลงตน แปลงรวม หรือกระทั่งงานรวมกลุ่มประชุมสัมมนาอื่นๆ กับเครือข่ายฯอย่างไม่ย่นระย่อ นั่นเพื่อชุมชน เพื่อชีวิต เพื่อลูกหลาน และเพื่อธรรมชาติที่ยั่งยืน บนผืนแผ่นดินที่บรรพบุรุษของตนได้ฝังร่าง
“โฉนดชุมชน” จึงเป็นอีกหนึ่งความหวัง ของผู้หว่านเพาะต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน มาเป็นเวลาเกือบค่อนครึ่งศตวรรษนับจากการก่อตั้งชุมชน และเกือบครึ่งค่อนชีวิตของพ่อมนัส ลบหนองบัว ผู้ซึ่งสังคมสมควรบันทึกจดจำ และสมควรแก่การขนานนามว่า เป็นหนึ่งในนักต่อสู้แห่งภูคี
เขียนโดย กฤษณา พาลีรักษ์