สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันของประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตมากในรอบ หลายปี จึงมีการยกประเด็นเรื่องภาษีน้ำท่วมขึ้นมาพูดกัน ลองมาทำความรู้จักกันว่าภาษีน้ำท่วมคืออะไร และประเทศที่เขาประกาศใช้มีหลักการอย่างไรกัน
เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2554 รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกกฎหมายชัวคราวเพื่อเรียกเก็บภาษีที่มีชื่อว่า “ภาษีน้ำท่วม” (Flood Tax) เพื่อช่วยฐานะทางการคลังของภาครัฐในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยมากกว่า 5 พันล้านเหรียญ[ออสเตรเลียน] ในรัฐ Queensland
สถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าว ได้คร่าชีวิตคนไป 35 คน สร้างความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญให้กับเหมืองถ่านหิน ภาคการเกษตร ถนนหนทาง เส้นทางรถไฟ สะพาน บ้านเรือนและห้างร้านต่างๆ อีกนับพันหลัง [1]
แนวคิดของการเก็บภาษีน้ำท่วมอ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ หลายๆ ฉบับของ Julia Gillard นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย พอจะจับประเด็นได้ว่า เนื่องจากน้ำท่วมเป็นสิ่งที่คาดการณ์ล่วงหน้า ไม่ได้ และยากต่อการป้องกัน อย่างน้อยก็ในระยะสั้น รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็นความเศร้าร่วมกัน และการฟื้นฟูความเสียหายก็เป้นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งประเทศ จึงเห็นควรนำระบบภาษีน้ำท่วมมาใช้
- คนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและผู้มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 5 หมื่นเหรียญ) ไม่ต้องจ่ายภาษี
- ผู้ที่เคยได้รับผลกระทบใดใดจากน้ำท่วมหรือภัยพิบัติอื่นตามการประกาศของรัฐบาลออสเตรเลียในช่วง 1 ปีก่อนหน้านั้น ไม่ต้องจ่ายภาษี
- อัตราภาษีเริ่มต้นที่ร้อยละ 0.5 และผู้ที่มีรายได้เท่ากับค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของออสเตรเลียจะจ่ายอยู่ที่ 1.44 เหรียญต่อสัปดาห์ [ถ้านึกภาพไม่ออกว่าเท่าไหร่ ลองนึกว่า Big Mac ของออสเตรเลียราคาอยู่ที่ 4.56 เหรียญ]
- ภาษีเก็บในอัตราก้าวหน้า ดังตาราง
- ภาษีที่เรียกเก็บไม่นับรวมเงินบริจาค
- ภาษีจะเรียกเก็บจากบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมนิติบุคคล [นิติบุคคลที่บริจาคเงินก็จะหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ด้วยเช่นกัน]
- เริ่มเก็บภาษีในปีงบประมาณถัดไป (2011/2012) [น้ำท่วมปลายปี 2010 – ต้นปี 2011]
- คาดว่าจะเก็บภาษีได้ 1.8 พันล้านเหรียญ [ส่วนที่เหลือ 2.8 พันล้านเหรียญมาจากการตัดลดงบประมาณอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม และอีก 1 พันล้านเหรียญมาจากการชะลอโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานออกไป]
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยมีการพูดถึงว่าให้เก็บภาษีคนกรุงเทพฯ ไปช่วยคนจังหวัดอื่น [เพราะกรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม แต่จังหวัดอื่นๆ ท่วม] ประเด็นนี้อาจจะสร้างความขัดแย้งในสังคม หากพิจารณาออสเตรเลียเป็นต้นแบบ จะเห็นว่ามีอยู่บางประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าในการนำมาพิจารณา
- การจัดเก็บภาษีเป็นการทั่วไป มากกว่าเจาะจงพื้นที่ [เพราะถ้าบางพื้นที่ของกรุงเทพฯน้ำท่วมหนักในระดับภัยพิบัติ ก็ควรได้รับเงินช่วยเหลือเช่นกัน] แต่ควรเจาะจงไปที่ระดับรายได้มากกว่า
- รัฐบาลออสเตรเลียประกาศเก็บภาษีเป็นการชั่วคราว หมายความว่า อาจจะเก็บหรือไม่ก็ได้ในปีถัดไป รวมทั้ง อัตราภาษีก็จะมีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
- การจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะในอัตราก้าวหน้านั้น จะดีกว่าการรับบริจาคเงินเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเงินบริจาคแท้จริงแล้วส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลาง แต่การเก็บภาษีจะเป็นการบังคับให้คนรวยต้องจ่ายเงินออกมาตามความเหมาะ สม [เพราะชนชั้นกลางมักจะเข้าใจหัวอกผู้เสียหายได้ดีกว่า และคนรวยมักไม่เดือดร้อนกับกรณีภัยพิบัติมากนัก]
- ผู้ที่ได้รับการยกเว้นการจ่ายภาษีหรือได้รับเงินช่วยเหลือจะต้องอยู่ใน เขตที่รัฐบาลประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเท่านั้น ไม่ใช่ว่าน้ำท่วมเพียงเล็กน้อยแล้วจะได้กันทั้งหมด
- ออสเตรเลียมีระบบภาษีที่ครอบคลุมประชาชนจำนวนมากกว่า และภาครัฐมีความโปร่งใสมาก หากประเทศไทยนำระบบภาษีนี้มาใช้ คงต้องรีบปรับปรุงความครอบคลุมของฐานภาษีและตรวจสอบกันเข้มข้นทีเดียว [ที่จริง นี่เป็นปัญหาของภาษีทั่วไป ไม่ใช่ปัญหาของภาษีน้ำท่วม]
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในออสเตรเลียที่มีความโปร่งใสค่อนข้างมาก จากผลสำรวจความคิดเห็นของปรชาชนก็ยังพบว่า ร้อย 73.69 ไม่เห็นด้วยกับการนำระบบภาษีน้ำท่วมมาใช้ และยิ่งหากเป็นกรณีของประเทศไทยแล้ว อาจจะไม่ง่ายนัก แต่อย่างน้อยบทความนี้ก็หวังว่า เพื่อนๆ คงจะมองเห็นที่มาและหลักการคร่าวๆ ของภาษีน้ำท่วมที่กำลังพูดกันอยู่นะครับ
ที่มาบทความ – http://setthasat.com/2011/10/07/flood-tax/
ขอบคุณ [เสด-ถะ-สาด].com – challenge econized –
หากเพื่อนๆ อยากได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีบทความใหม่ๆ กด LIKE ที่หน้า facebook นะครับ