เขียน: ไทยโพสต์
25 พฤศจิกายน 2550 กองบรรณาธิการไทยโพสต์
‘อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน’ คำประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการที่ประพันธ์ไว้เมื่อหลายทศวรรษก่อน
จะว่าไปแล้วก็ยังคงฉายภาพความเป็นจริงในสังคมไทยปัจจุบันอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยคนทำดีมักจะถูกอิจฉาริษยาจากคนกระทำไม่ดีอยู่เนืองนิตย์
การทำความดีจึงกลายเป็นความ ‘ผิดปกติ’ ในสังคมที่ป่วยไข้ไม่น้อย คนจึงเลือก ‘ปกติ’ ด้วยการประพฤติขั้วตรงข้าม ทั้งแย่งชิง ฉกฉวย เอารัดเอาเปรียบทั้งซึ่งหน้าและลับหลัง
กระนั้นก็ไม่ใช่ทุกอณูในสังคมไทยที่ปรากฏการณ์กลืนกินคนดีให้เป็นคนไม่ดีจะเกิดขึ้น
ด้วยท่ามกลางสังคมเจ็บป่วยจากการเห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวมนั้น ยังมีกลุ่มคนจำนวนมากพร้อมใจกันขับเคลื่อนความดีด้วย ‘จิตอาสา’ ที่ยิ่งทุ่มเท ยิ่งผลิบานความงดงามทั้งในใจตนเองและคนข้างเคียง ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็สัมผัสและนำไปปฏิบัติตามได้ ถ้วนหน้า
“เราอยู่ตรงนี้ เราต้องเสียสละ ค่าตอบแทนอะไรเราก็ไม่มี แต่เราต้องทำให้เขาได้ เราเป็นที่พึ่งให้เขาได้เวลาเขามาปรึกษา ถ้าเราช่วยได้ก็ช่วย ก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ชาวบ้านเขาเชื่อเรา เวลาเราพูดอะไรเขาก็เชื่อ เราพูดกันด้วยเหตุและผล เราไม่ใช่ไปบังคับจิตใจชาวบ้าน เราต้องค่อยเป็นค่อยไป เราไม่ฝืนใจเขา เวลาจะให้เขาทำอะไรเราต้องโน้มน้าวจิตใจเขามาก่อน เราต้องเข้าถึงเขาก่อน”
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดน่าน ‘โสภิษฐ์ พรมต๊ะ เผยวิธีจูงใจชาวชุมชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาวะ พลางเน้นว่าความเชื่อถือของชาวบ้านมาจากการที่เธอเป็นคนพูดจริงทำจริง
“ชาวบ้านเขาให้ความเชื่อถือเรา เขาเชื่อเรา เพราะเวลาเราพูด เวลาเราจะทำอะไร เราต้องทำก่อน เราต้องเดินก่อนเขา ทำก่อนเขา ไม่ใช่ว่าพูดๆ แล้วเราไม่ทำ เราต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน ทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเราก่อนและครอบครัวเราก่อน”
ถึงแม้บางคราคำถามของชาวบ้านเกี่ยวกับสุขภาพจะไม่อาจตอบได้ทันที หากแต่ อสม.ผู้นี้ก็ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านค้างคาความสงสัยนาน เพราะเธอจะไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเพื่อไขคำตอบให้ชาวบ้านโดยเร็ว นอกเหนือจากการนำความรู้ด้านสุขภาพที่ได้รับจากกระบวนการอบรมและออกภาคสนาม ไปแนะนำแก่ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การทำงานลักษณะ ‘วันแมนโชว์’ ไม่สามารถทำให้ภารกิจ อสม.ว่าด้วยการให้ภาคประชาชนที่เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชนประสบความสำเร็จได้ ยังไม่นับรวมว่าการทำดีจนโดดเด่นจะเป็นภัยแก่ตนเองมากแค่ไหนในสังคมไทยที่ ความหวาดระแวงว่าคนอื่นจะได้ดีเกินหน้าเกินตากำลังคุกคามอย่างหนัก
ด้วยตระหนักว่าไม่ควรเก่งคนเดียว โสภิษฐ์จึงพยายามสร้างสายเลือดใหม่ผ่านกระบวนการทำงานเป็นทีม โดยทีม อสม.ของเธอที่แม้จะมีสมาชิก 9 คน แยกกันรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่นั้น ท้ายสุดทุกคนก็ยังคงทำงานร่วมกันใกล้ชิด ควบคู่กับเรียนรู้วิทยาการสาธารณสุขใหม่ๆ จากการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยอยู่ตลอดเวลา
“อยากจะทำจุดนี้ จนกว่าที่ว่าวันไหนเราจะหมดสภาพ หรือไม่สามารถทำงานได้ เราก็อาจจะหยุดตรงนั้นได้ แต่ตอนนี้เราอยากจะขับเคลื่อนและเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราอยากให้คนอื่นทำงานมั่ง แต่เราจะอยู่ข้างหลังเขา ให้คนใหม่เข้ามาทำงาน ไม่ใช่ว่าเราเก่งคนเดียว เราอยากให้ทุกๆ คนเข้ามาทำงานจุดนี้ด้วย”
โสภิษฐ์เผยปณิธานที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของ อสม. ที่ต้องการสร้างเครือข่ายสุขภาพโดยชาวบ้านเพื่อชาวบ้าน นับตั้งแต่แรกดำเนินการในปี 2520 กระทั่งบุคลากร อสม.ทวีจำนวนมากขึ้นจนปัจจุบันมีมากกว่า 8 แสนคน ครอบคลุมหมู่บ้านในชนบทและชุมชนเมือง
การทุ่มเทเรี่ยวแรงแข็งขันในการสร้างเสริมสุขภาพแก่ชาวชุมชนบ้านถืมตอง หมู่ที่ 1 ต.ถืมตอง อ.เมื อง จ.น่าน นานกว่า 13 ปี ไม่เพียงผลิดอกออกผลให้ในปี 2543 เธอได้รับเลือกเป็นประธานหมู่บ้านที่ 1 และอีก 2 ปีต่อมาก็ได้เป็นประธานตำบลจวบจนกระทั่งปัจจุบันเท่านั้น ทว่าการเสียสละกำลังกายและใจยังช่วยให้ชาวชุมชนหันมาดูแลและป้องกันสุขภาพตน เอง ครอบครัว และชุมชนมากขึ้น ซึ่งสำคัญสำหรับเธอมากกว่าด้วย
ดังคำของ ‘หลุย ปัญญาวัย’ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ที่เล่าว่าแม้ชาวบ้านจะให้ความสนใจในการงานทุกด้าน ทว่ามากสุดคือด้านสาธารณสุขที่ถือเป็นหัวใจหลักของหมู่บ้าน ด้วยมี อสม.อย่างโสภิษฐ์ที่เป็นคนดี มีน้ำใจ และเสียสละช่วยเหลือชาวบ้านด้อยโอกาสในทุกๆ ด้านเป็นแรงกระตุ้น
การเสียสละ คิดดี ทำดีผ่าน ‘ภารกิจจิตอาสา’ จึงเปรียบประดุจสะพานเชื่อมโยงความสุขแก่ผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะต่างวัยวุฒิ คุณวุฒิ และโอกาสในสังคมมากแค่ไหน ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่ความสุขเฉพาะตัวที่ อสม.จะรับรู้ได้เพียงผู้เดียว ทว่าครอบครัว ชุมชน และสังคมที่พวกเขายื่นมือไปถึงล้วนสัมผัสได้ไม่ต่างกัน
เหนืออื่นใดยังลบคำปรามาสที่ว่า อสม.ก็แค่เม็ดกรวดทรายกระจายไปในแต่ละหมู่บ้านและชุมชน ไร้พลังขับเคลื่อนสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะขนาดลูกสาวน้อยๆ ของโสภิษฐ์ ‘สุปรียา พรมต๊ะ’ ยังซึมซับรับรู้ได้ว่าเมื่อกรวดทรายเหล่านั้นเสียสละตัวเองหลอมรวมกันเป็น ภูผาจะมั่นคงในความดีความงามแค่ไหน ดังถ้อยความในใจของเด็กน้อยที่ลึกซึ้งในการเสียสละเพื่อชุมชนของผู้เป็นแม่ ว่า
“แม่เป็นผู้มีความสามารถที่ทำให้ครอบครัวของเรามีความสุข เพราะว่าแม่ได้ทำงาน และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่แม่ทำ ก็ขอให้แม่ทำงานขั้นนี้ให้ดีที่สุด แม่เป็นคนดีค่ะ และก็สอนให้เราเป็นเด็กดี และก็ซื่อสัตย์กับตนเองค่ะ แม่ทำงานหนักค่ะ และก็อยากให้แม่สู้ต่อไปค่ะ”
สืบค้นความดี: น้องมณีรัตน์ ก้องเสียง
เรียบเรียงความดี: ภาณุ เรือนขวัญ
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)