ขยะที่เห็นกองสุมเป็น ภูเขาตามริม ถนนในช่วงหลังน้ำลด เป็นผลพวงจากความสูญเสียของผู้ประสบอุทกภัยที่ต้องจำใจขนออกมาทิ้ง ทั้งเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน มุ้ง และอีกสารพัด ซึ่งขยะเหล่านั้นเป็นขยะทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ โดยเฉพาะสิ่งของที่บุด้วยผ้าและฟองน้ำที่มีรูพรุนข้างใน จนเป็นที่สะสมของเชื้อโรคและเชื้อรานานาชนิด ทำให้เกิดอันตรายได้
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มที่มีอาชีพเก็บหรือรับซื้อของเก่า ที่เข้าไปค้นและคัดแยกขยะโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ไม่สวมถุงมือหรือหน้ากากอนามัย รองลงมาคือ ชาวบ้านที่เสียดายของ และเก็บของที่เปียกน้ำไปตากแดดเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ โดยไม่รู้ถึงอันตรายที่แอบแฝง หรือขยะในกลุ่มของสารเคมีที่ใช้แล้ว แต่ยังมีสารเคมีอันตรายหลงเหลืออยู่ เช่น กระป๋องสเปรย์ ยาฆ่าแมลง ถ่านไฟฉาย เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ถ่านนาฬิกา แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือที่แกะหรือรื้อชิ้นส่วนออก การไม่ระมัดระวังอาจเกิดอันตรายได้ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวัง และติดตามอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการกำจัดขยะโดยไม่ถูกวิธี เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่ประชาชนถึงพิษภัยและอันตรายที่มากับขยะ
ซึ่งนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว ว่า การจัดการขยะหลังน้ำลดเป็นเรื่องสำคัญ ขยะ เศษวัสดุ ของเสียที่นำมาทิ้งไว้ ถ้าจัดการไม่ดีจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่เก็บ และอันตรายกับชุมชนที่มีขยะ เริ่มจากน้ำเสียจากขยะเป็นน้ำที่สกปรกมาก มีสภาพเป็นกรด และมีเชื้อโรคปะปนอยู่ ทำให้เกิดอันตรายและเกิดมลพิษได้ โดยส่วนหนึ่งจะซึมลงสู่ใต้ดินและอาจปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ถ้าปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี เชื้อโรค จะทำให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจนส่งผลให้สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด พืชน้ำตายได้
วิธีสังเกตการปนเปื้อนของน้ำจากขยะ ให้ดูว่าสีของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น น้ำจะกลายเป็นสีดำ เมื่อพบชาวชุมชนต้องรีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลจัดการปรับปรุงคุณภาพ น้ำโดยเร่งด่วน นอกจากขยะทำให้น้ำเน่าเสียแล้ว ยังทำให้เกิดมลพิษในอากาศ เช่น เกิดก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า รวมไปถึงฝุ่นละอองจากขยะที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง
นอกจากนั้นขยะยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และเป็นพานะของโรคหลายชนิด ความชื้นและสารอินทรีย์ในขยะเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรค สารอินทรีย์ที่ทิ้งค้างไว้เมื่อเน่าเปื่อยจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน เป็นที่อยู่ของหนู แมลงสาบ ขยะที่อันตรายอีกชนิดหนึ่งคือ ขยะที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัย กระดาษทิชชูผู้เป็นวัณโรคใช้สำหรับขับเสมหะ น้ำลาย หรือสำลีเช็ดแผล ปาสเตอร์ปิดแผลหรือเข็มฉีดยาใช้แล้ว อาหารเน่าบูด และซากสัตว์ เป็นต้น รวมถึงขยะที่เป็นวัตถุมีคม เช่น ไม้แหลม แก้วแตก โลหะมีคม เหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โรคระบาดที่มาหลังน้ำลด เช่น โรคฉี่หนู ตาแดง โรคทางเดินอาหาร จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา เช่น อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไข้ไทฟอยด์ บิด ตับอักเสบเอ ตับอักเสบอี โรคที่ก่อให้เกิดแผลติดเชื้อ ผิวหนังอักเสบ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบที่เกิดจากยุง
การป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากขยะหลังน้ำลดทำได้ไม่ยาก เพียงแต่หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะสัมผัสขยะอันตรายที่เป็นแหล่งรวม สารพัดโรค ไม่เห็นแก่ของเล็กของน้อยที่คิดว่ายังใช้ได้ หรือพอจะใช้ได้แล้วนำไปใช้ เพราะอาจจะเป็นการนำโรคร้ายมาสู่ตนเองและครอบครัว
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์