‘พุทธธรรม’ นำชีวิต
พระไพศาล วิสาโล

ต้อนรับคอลัมน์ใหม่ ด้วยหนังสือดีในชีวิตของพระไพศาล วิสาโล พระนักคิด นักเขียน และนักอ่านผลงานเขียนของท่านมีมากมายกว่า 90 เล่ม ทั้งในนามพระไพศาล วิสาโล และในนามปากกาอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่มีธรรมะเป็นหลักในการถ่ายทอด

‘พุทธธรรม’ ของพระพรหม-คุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) คือหนังสือที่พระไพศาลยกย่อง ถึงขั้นที่ว่าถ้ามีหนังสือเพียงเล่มเดียวที่สามารถติดตัวไปได้ในชีวิต ‘พุทธธรรม’ คือเล่มที่ท่านเลือก

“หนังสือเล่มนี้อาตมาอ่านจบช่วงเข้าพรรษาสมัยที่เป็นฆราวาส เมื่อ พ.ศ. 2525 ตั้งใจว่าอ่านให้ได้วันละ 10 หน้า ก็อ่านได้ทุกวัน พรรษาหนึ่งประมาณ 90 กว่าวัน หนังสือมีความหนาประมาณพันกว่าหน้า อ่านตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายก็พอดี เป็นการฝึกความเพียรและวินัยด้วย บางทีเราเดินทางไปต่างจังหวัดก่อนหน้านั้นวันหนึ่งจะต้องอ่านเพิ่มอีก 10 หน้าเพื่อชดเชยกับวันที่ต้องเดินทาง”

นอกจากความเพียรในการอ่านแล้ว ช่วงนั้นพระไพศาลซึ่งเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยยังได้รับความ เมตตาจากพระราชวรมุนี (พระพรหมคุณาภรณ์) อนุญาตให้เข้าพบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อสนทนาธรรมสอบถามข้อสงสัยจากหนังสืออีกด้วย

“อ่านหนังสือแล้วไปถามท่านเราก็ได้ความกระจ่างเยอะ ถือเป็นความโชคดีในฐานะนักอ่าน ยิ่งได้คุยกับท่านยิ่งรู้ว่า ท่านเป็นผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ ถ้าจัดเรตให้ต้องถือว่าเฟิร์สตเรต อัศจรรย์มาก”

พุทธธรรมเป็นวรรณกรรมพุทธศาสนา ที่ได้รับการยอมรับว่าแสดงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างซื่อตรงต่อพระ ไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง นำเสนอหลักการและสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างครบถ้วน และเป็นระบบอย่างชัดเจน พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ผู้เขียนได้ปรับปรุงและขยายความเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นหนังสือเล่มใหญ่หนาเป็นพันหน้า

“อ่านไปก็อดทึ่งคนเขียนไม่ได้ว่าทั้งฉลาดทั้งมีความเพียรสูง ค้นข้อมูลมามากทีเดียวกว่าจะเขียนได้อย่างนี้ คือไม่ใช่แค่สรุปความย่อความเหมือนหนังสือบางเล่ม แต่เป็นการเขียนขึ้นมาใหม่ โดยมีพระไตรปิฎก เป็นพื้นฐาน นำเสนอด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ด้วยวิธีคิดของคนสมัยใหม่ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เราจะไม่เจอแบบนี้ในงานเขียนพระพุทธศาสนา บางทีเคยไปเจอหนังสือเกี่ยวกับสาระพระไตรปิฎก เขียนโดยฆราวาสที่เคยบวชพระมาจะเห็นว่าลีลาสไตล์การเขียนแตกต่างกัน บางทีก็แค่ย่อความมาให้เราดู การย่อความก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ท่านเจ้าคุณทำได้มากกว่านั้น จึงนำมาเสนอใหม่ ด้วยชนิดที่เรียกว่าสามารถจะสื่อสารกับเราด้วยภาษาของเราได้ และพยายามโยงให้เข้าถึงปัญหาสังคมสมัยใหม่โดยใช้มุมมองแบบพุทธ ซึ่งสมควรแล้วที่คนจะพูดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดในยุครัชกาลที่ 9 และถือว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของรัตนโกสินทร์”

อาตมายกให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือดีของชีวิต ประการที่หนึ่งเพราะนำเสนอพุทธธรรมอย่างเป็นระบบและรอบด้านที่สุดภายในเล่ม เดียว คือมีหลายท่านพูดถึงพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งแต่พูดเป็นบางแง่ อย่างท่านพุทธทาสก็พูดเป็นบางแง่ เช่น ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา แต่เล่มนี้พูดครบทุกแง่อย่างเป็นระบบ ทุกแง่ทุกมุมอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว ขอให้ค้นให้เป็น อาตมาเคยพูดนะว่าหนังสือเล่มนี้มี 3 มิติ ทั้งลึก กว้าง ไกล ลึกคือทำให้เราเข้าใจความจริงที่ลึกซึ้งของตัวเอง และทำให้เราเห็นกว้าง เห็นโลกและสังคมได้อย่างกว้าง เล่มนี้จะพูดถึงสังคมสมัยใหม่ไว้พอสมควร ทำให้เราได้เห็นมิติด้านไกล นั่นคือได้เห็นว่าการสอนพุทธศาสนานี้ผ่านการตีความมายังไงบ้าง ประการต่อมาคือใช้ภาษาที่งดงามสละสลวย ภาษาท่านงดงามมาก และสามารถสื่อได้ตรงใจผู้เขียน แม้ว่าเนื้อหาจะลึกซึ้ง คือทุกวันนี้แม้ตัวเองจะอ่านงานท่านเจ้าคุณมาเยอะ เวลาจะสื่ออะไรบางอย่าง เรารู้สึกว่าเราจนต่อถ้อยคำ ไม่สามารถจะเขียนให้สุดความคิดได้ แต่หนังสือเล่มนี้ท่านเจ้าคุณสามารถบรรยายให้สุดความคิดได้ อาตมาคิดว่าเป็นแบบอย่างของงานเขียนในทางศาสนาและงานวิชาการได้ คือมีทั้งอรรถและรส อรรถคือเนื้อหา รสคือรสของภาษา”

ซึ่งพระไพศาลยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากพระพรหม-คุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) และท่านพุทธทาส ในการใช้ชีวิตและเขียนหนังสือพอสมควร โดยเฉพาะจากหนังสือพุทธธรรมนั้นมีอิทธิพลต่องานเขียนและการค้นคว้าทางพุทธ ศาสนาอย่างมาก
“ถ้ามีเล่มเดียวที่สามารถติดไปได้ในชีวิตก็เล่มนี้แหละ ถึงแม้จะหนักหน่อยก็ตาม อาตมายังรู้สึกเลยนะว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เราภูมิใจที่เป็นคนไทย การที่คุณเป็นคนไทยแล้วได้อ่านหนังสือเล่มนี้ถือว่าโชคดีและคุ้มค่าในการที่ ได้เป็นคนไทยแล้ว บางทีเราก็รู้สึกว่าเป็นฝรั่งโชคดีนะ ได้อ่านหนังสือที่ลึกซึ้ง หนังสือเยอะแยะหลากหลาย แต่พุทธธรรมนี่แหละที่ทำให้เราสามารถเป็นที่อิจฉาของฝรั่งได้ เพราะฝรั่งอ่านเล่มนี้ไม่ได้ แต่คนไทยอ่านได้ ฉะนั้นถ้าในแง่ชาวพุทธและในแง่ความเป็นคนไทย หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราภูมิใจและรู้สึกโชคดีที่ได้เป็นคนไทย ที่อ่านภาษาไทยออก”

และถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีหนังสือพุทธธรรมในครอบครอง แต่ยังไม่เคยเปิดอ่าน พระไพศาลบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะรสชาติของหนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสือทั่ว ๆ ไป

“อ่านแล้วจะทำให้เกิดความพิศวงและความปีติเมื่อได้พบความจริง”

นั่นคือพุทธธรรม

 

อ้างอิง :  นิตยสารขวัญเรือน VOL.914 December/2 2009

ที่มา : http://www.visalo.org/