รายการวันนี้เริ่มต้นด้วยละคร เรื่องมโนราห์ ซึ่งมีแก่นแกนอยู่ที่ความเป็นอื่น หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้น ก็คือเป็นเรื่องชะตากรรมของผู้ที่ถูกมองว่าเป็นอื่น ชะตากรรมของมโนราห์ก็ไม่ต่างกับชะตากรรมคนจำนวนมากในโลกนี้ที่เมื่อถูกมอง ว่าเป็นอื่น หรือไม่ใช่พวกเดียวกับคนส่วนใหญ่ ก็มักจะมีอันเป็นไป สถานการณ์ในโลกปัจจุบันรวมทั้งในบ้านเมืองของเราเวลานี้ ไม่ว่ากรณี ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี หรือกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่งผ่านไปก็ดี ล้วนเกี่ยวข้องกับ ชะตากรรมของผู้ที่ถูกมองว่าเป็นอื่น หรือถูกมองว่าแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เช่น มีศาสนาแตกต่าง มีชาติพันธุ์แตกต่าง หรือว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่าง
ความแตกต่างทางด้านสีเสื้อ ที่จริงก็คือภาพสะท้อนของความแตกต่างทางด้านความคิดเห็น อุดมการณ์ และทัศนคติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความแตกต่างในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย เวลาเรามองเห็นคนอื่นที่แตกต่างจากเรา ถ้าหากเรามีความใจกว้าง ความแตกต่างนั้นก็จะไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศหรือวัฒนธรรมที่ไม่มีขันติ ธรรม คนที่แตกต่างนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นคนอื่น คนแตกต่างก็จะกลายเป็นคนผิดหรือกลายเป็นส่วนเกินไปได้อย่างง่าย ๆ ทั้งที่ความแตกต่างนั้นเป็นส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ของความจริงในภาพรวม เพราะว่าคนเราไม่ได้มีแค่ความต่าง แต่ยังมีความเหมือนหลายประการ อย่างมโนราห์ที่ถูกมองว่าแตกต่างจากคนอื่นก็เพราะว่ามีปีกมีหาง ทั้งๆที่เธอมีหลายอย่างหรือเกือบทุกอย่างเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่เป็นเพราะผู้คนชอบมองที่ความต่างมากกว่าความเหมือน มโนราห์ก็เลยถูกรังเกียจเหยียดหยาม
สังคม ไทยจะต้องมีขันติธรรมกัน ให้มากขึ้นเพื่อเราจะได้ยอมรับความต่างกัน ถ้ามีขันติธรรมแล้วใจจะกว้างจนกระทั่งมองเห็นความเหมือนได้ด้วย คนเรามีธรรมชาติที่มองเห็นความต่างมากกว่าความเหมือน อาตมามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกันแต่งงานกับชาวญี่ปุ่น ลูกสาวของเขาชื่ออรุณา อรุณาเวลาไปเรียนโรงเรียนญี่ปุ่น เพื่อนญี่ปุ่นก็บอกว่าอรุณาเป็นอเมริกัน เวลาอรุณาไปอเมริกา ญาติๆ ของพ่อซึ่งเป็นอเมริกันก็บอกว่าอรุณาเป็นญี่ปุ่น ญาติๆ ของพ่อไม่สามารถมองเห็นความเป็นอเมริกันของอรุณาได้ เช่นเดียวกับที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นไม่สามารถมองเห็นความเป็นญี่ปุ่นของอรุณา ได้ นี่คือความจริงที่เราจะต้องรู้เท่าทัน ถ้าเราไม่รู้เท่าทันเราก็จะเห็นแต่ความต่างแล้วมองข้ามความเหมือน
แต่ถ้าหากเรามีขันติธรรมเพียงพอ แม้จะเห็นความต่างก็ไม่เป็นปัญหา คนที่คิดต่างจากเราไม่จำเป็นต้องคิดผิด แต่ทันทีที่เราขาดขันติธรรมเราก็จะมองเห็นคนที่คิดต่างจากเราว่าเป็นคนผิด เราต่างหากที่ถูก แต่มันจะไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายถ้าไม่มีอีกสิ่งหนึ่งเข้ามาซ้ำเติม นั่นคือการมองว่า คนผิดมีสิทธิ์เป็นศูนย์ ไม่ว่าจะผิดทางศีลธรรมหรือผิดกฎหมาย ก็ถือว่ามีสิทธิ์เป็นศูนย์ทั้งนั้น หมายความว่าเราซึ่งเป็นคนถูกจะทำอย่างไรกับเขาก็ได้ เขาไม่มีสิทธิ์ใด ๆแม้กระทั่งสิทธิ์ที่จะมีชีวิต สิทธิ์ที่จะได้รับความยุติธรรม สิทธิ์ที่จะได้รับความเมตตากรุณา ไม่มีแม้กระทั่งสิทธิ์ที่จะได้พวงหรีดในยามที่เขาเสียชีวิตไป
ทำไมเราถึงวางพวงหรีดกับตึกที่ ถูกเผา ก็เพราะเรามองว่าตึกมันไม่ได้ทำอะไรผิดแต่ถูกเผา เราจึงเห็นใจ แต่เราไม่ให้พวงหรีดแก่คนที่ตายระหว่างการชุมนุม ก็เพราะเรามองว่าเขาเป็นคนผิด จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะได้พวงหรีดหรือความรู้สึกเห็นใจจากเรา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเรา ซึ่งอาตมาเรียกว่าเป็นความคิดแบบอำนาจนิยมทางศีลธรรม หมายความว่าทันทีที่เราติดสินว่าใครผิด เรามีสิทธิ์จะใช้อำนาจกับเขาอย่างไรก็ได้ ผู้ต้องหาฆ่าข่มขืนเมื่อมาทำแผนประกอบคดีก็จะถูกรุมประชาทัณฑ์จนตายคาตีน คนที่ประชาทัณฑ์นั้นไม่ถือว่าผิดเพราะว่าผู้ต้องหาฆ่าข่มขืนนั้นมีสิทธิ์ เป็นศูนย์ ผู้ค้ายาก็มีสิทธิที่จะถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือฆ่าตัดตอน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าพวกนี้มีสิทธิ์เป็นศูนย์ ความคิดนี้เมื่อแพร่ขยายไป ก็จะครอบคลุมกระทั่งว่า ใครที่ทำผิดกฎหมายแม้เพียงเล็กน้อย หรือว่าคิดผิดเพราะคิดต่างจากคนอื่น ก็มีสิทธิ์เป็นศูนย์ ใครที่บอกว่าคุณหญิงโมไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ใครที่บอกว่าพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ทำศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง คนนั้นก็จะต้องพบกับความเดือดร้อนเพราะจะถูกละเมิดสิทธิ์อย่างไรก็ได้
อันนี้คือทัศนคติที่แพร่หลายใน สังคมไทย ถ้าเรามีทัศนคติอย่างนั้นก็จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น จำเป็นอย่างมากที่คนไทยต้องช่วยกันสร้างขันติธรรมให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ถ้าเราเคารพความเห็นที่แตกต่างกันได้ก็จะดี แต่ถ้าเคารพความเห็นที่แตกต่างกันไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรเคารพสิทธิที่จะเห็นต่าง สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน เคารพความเห็นต่างหมายความว่า นอกจากจะไม่ดูถูกความเห็นของเขาแล้ว ยังคิดว่าเขาอาจจะมีความคิดที่ดีมีประโยชน์ ควรสดับรับฟัง แต่ถ้าเราเห็นว่าความคิดของเขาไม่เข้าท่าเลย อย่างน้อยเราก็ควรจะเคารพสิทธิที่เขาจะเห็นอย่างนั้น ยอมให้เขาเห็นต่างจากเราได้ เหมือนกับที่วอลแตร์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส เคยพูดว่า ถึงแม้ว่าฉันจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของคุณ แต่ฉันก็จะยอมตายเพื่อปกป้องสิทธิที่คุณจะมีความเห็นนั้น คำพูดเช่นนี้มีมาสองร้อยกว่าปีแล้วแต่ว่ายังไม่สามารถเข้าสู่ความนึกคิดของ คนไทยได้ เราจึงมีขันติธรรมน้อย เราจึงไม่มีความเคารพสิทธิที่จะเห็นต่างกันอย่างเพียงพอ ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันเสริมสร้างสำนึกที่เคารพความเห็นต่างให้ได้
ถ้าหากว่าเรามีความใจกว้าง เราจะเห็นความจริงได้รอบด้านมากขึ้น และจะพบว่าคนที่คิดต่างจากเรานั้นมีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกับเรา จะว่าไปแล้วคนที่เราเห็นว่าต่างจากเรา เขาอาจจะต่างจากเราเพียงแค่ ๔-๕ อย่าง แต่มีอีก ๙๕ อย่างที่เหมือนกับเรา ละครที่เราได้ดูเมื่อตอนเปิดรายการน่าจะกระตุกใจเราว่า จริงๆแล้วเราได้เปิดใจกว้างที่จะเห็นความเหมือนมากกว่าความต่างหรือไม่ แต่ก็อย่างที่บอกแล้วว่าแม้จะเห็นต่างกัน แต่ถ้าเราเคารพสิทธิของเขาที่เห็นต่างจากเรา เคารพว่าคนที่เห็นต่างจากเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขามีสิทธิ์ที่จะได้รับความเห็นใจจากเราเหมือนกัน เขามีสิทธิ์ที่จะได้รับความเมตตาจากเราเหมือนกัน มันไม่เพียงแต่จะช่วยเขาเท่านั้น แต่จะช่วยเราด้วย คือช่วยลดความโกรธเกลียดในใจเรา และทำให้เราอยู่กับผู้อื่นได้อย่างผาสุก
อาตมาได้พูดถึงเรื่องความเห็นต่างโดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของ มนุษย์ แต่ในปัจจุบันมีเหตุปัจจัยต่างๆมากมายที่ทำให้เรามองเห็นแต่ความต่างกันมาก ขึ้น เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรามองผู้คนผ่านสื่อ สมัยก่อนมีโทรทัศน์แค่สี่ห้าช่อง แต่ปัจจุบันมีโทรทัศน์เป็นร้อยช่อง ไม่นับเว็บไซต์อีกมากมาย แต่ละช่องแต่ละเว็บไซต์มีเฉดสีทางการเมืองแตกต่างกัน มีตั้งแต่ขวาสุดไปถึงซ้ายสุด ทุกวันนี้เราเลือกได้ว่าจะดูช่องไหนหรือเว็บไซต์ไหนที่มีเฉดสีทางการเมือง หรือความเห็นที่ตรงกับเรา สมัยก่อนเราเลือกไม่ได้ เพราะมีไม่กี่ช่อง แต่เดี๋ยวนี้มีทุกเฉดสีที่เราสามารถจะเลือกได้ และเรามักจะเลือกเฉดสีที่ตรงกับใจเรา แล้วก็ดูแต่ช่องนั้นอย่างเดียว ซึ่งทำให้ความคิดเราแคบลงๆ เพราะเรารับรู้แต่ความเห็นที่ไปในทางเดียวกัน ไม่ได้รับรู้ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หรือรับรู้ข้อมูลที่ขัดกับความเชื่อของเราเลย ยิ่งกว่านั้นการที่เราดูแต่โทรทัศน์ช่องเดียวก็จะทำให้เราเห็นอีกฝ่ายหนึ่ง ผ่านมุมมองของสื่อ ซึ่งเจือด้วยอคติตามเฉดสีทางการเมืองของช่องนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะเห็นแต่ด้านลบหรือด้านที่เลวร้ายของอีกฝ่าย ทำให้อคติเพิ่มพูนขึ้น ทั้งที่ๆ เราอยู่ในยุคที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ แต่สิ่งที่เรารับรู้กลับเจือด้วยอคติมากกว่าความจริง
น่าแปลกที่ว่ายุคโลกาภิวัตน์แม้ ทำให้โลกเล็กลง ทำให้ผู้คนอยู่ใกล้กันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งมันกลับสร้างกำแพงระหว่างกัน ไม่ใช่กำแพงระหว่างกลุ่มชนเท่านั้น แต่เป็นกำแพงระหว่างบุคคลด้วย เช่น ระหว่างสามีกับภรรยา พ่อกับลูก พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน เพราะว่าดูโทรทัศน์คนละช่องคนละเฉดสี ทำให้มีความเห็นแตกต่างกันจนกลายเป็นคนละขั้ว จนเกิดความรู้สึกลบต่อกัน
นอกจากนั้นเงื่อนไขทางด้าน เศรษฐกิจการเมืองยังทำให้ความแตกต่างระหว่างผู้คนขยายกว้างขึ้น แตกต่างทางผลประโยชน์ก็ดี แตกต่างทางวิถีชีวิตก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเหตุปัจจัยจากเศรษฐกิจการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ อาตมาพูดทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เราเกิดช่องว่างและเห็นกันเป็นศัตรูมากขึ้นเพราะการที่เห็นแต่ความ ต่าง ในขณะที่เศรษฐกิจการเมืองก็ขยายความต่างนั้นให้กว้างมากขึ้น เช่นเกิดช่องว่างระหว่างคนชนบทกับคนเมือง คนชนบทจึงไม่เข้าใจคนเมือง และคนเมืองก็ไม่เข้าใจคนชนบท คนเสื้อเหลืองไม่เข้าใจคนเสื้อแดงและคนเสื้อแดงก็ไม่เข้าใจคนเสื้อเหลือง ชาวพุทธไม่เข้าใจชาวมุสลิมและชาวมุสลิมก็ไม่เข้าใจชาวพุทธ คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เข้าใจคน๗๓ จังหวัดที่เหลือ ปัญหาเหล่านี้มีเหตุปัจจัยทั้งที่อยู่ในใจของเราและในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งเราต้องรู้เท่าทันและควรพยายามช่วยกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อให้ช่องว่าง และความแตกต่างลดน้อยลง น้อยลงทั้งในความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองและน้อยลงในความรู้สึกนึกคิด หรือการรับรู้ของเรา
ถ้าเราช่วยกันทำความเข้าใจจนรู้ เท่าทันเหตุปัจจัยเหล่านี้ทั้งที่อยู่ในใจเราและที่อยู่ในระบบที่ครอบงำเรา ก็จะทำให้ผู้คนมีความเข้าใจกันมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน แต่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดและความทุกข์ของกันและกัน การที่จะปรองดองคืนดีท่ามกลางความแตกต่างทางผลประโยชน์และความคิดเห็นนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องมีผลประโยชน์เหมือนกัน หรือมีความคิดเหมือนกันก็ได้ ปรองดองแม้จะแตกต่างกันนั้นเป็นไปได้ แต่ต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน สิ่งนี้จะช่วยให้เราร่วมกันสร้างสรรค์บ้านเมืองได้
เมื่อกี้เป็นการเสวนาของเยาวชน คนรุ่นใหม่ มีคนหนึ่งพูดว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาที่ผ่านมาเป็นประวัติศาสตร์ของคนรุ่นเรา อาตมาอยากจะให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จดจำประวัติศาสตร์ตอนนี้ไว้ เพราะถ้าเราจดจำประวัติศาสตร์ตอนนี้และสรุปบทเรียนได้ เราจะเกิดจิตสำนึกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคตได้ เหมือนคนรุ่นอาตมาที่เคยผ่านเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา และพฤษภาทมิฬ เราได้เห็นเหตุการณ์นองเลือดหลายครั้ง ทำให้ตระหนักว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออก และไม่ว่าจะโกรธเกลียดเพียงใด ในที่สุดเราก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ จะเห็นได้ว่าทหารและคอมมิวนิสต์ที่เคยจับปืนไล่ล่าเข่นฆ่ากันเมื่อ ๓๐ ปีก่อน วันนี้กลายมาเป็นเพื่อนกัน อยู่พรรคการเมืองเดียวกัน ขึ้นเวทีเดียวกัน เล่นกอล์ฟด้วยกัน ร้องเพลงคาราโอเกะด้วยกัน ความเป็นศัตรูเมื่อ ๓๐ ปีก่อนหายไปแล้ว กลายมาเป็นเพื่อนกัน แต่อีกหลายคนไม่มีสิทธิ์มากอดคอกันเพราะเขาได้ตายไปแล้วเนื่องจากการเข่นฆ่า ประหัตประหารกัน
วันนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ผ่าน เหตุการณ์นองเลือดครั้งล่าสุด ซึ่งได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของคนรุ่นคุณไปแล้ว ขอให้ซึมซับรับบทเรียนจากประวัติศาสตร์ตอนนี้และช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิด เหตุการณ์ทำนองนี้อีกเมื่อถึงคราวที่ลูกของคุณเติบโตขึ้น อย่าได้ล้มเหลวหรือผิดพลาดเหมือนรุ่นอาตมาที่ไม่สามารถหยุดยั้งการนองเลือด ที่ผ่านมาได้ ที่จริงพวกเราตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ไม่มีกำลังและความสามารถพอที่จะป้องกันมิให้เกิดการนองเลือดได้
ขอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนัก ถึงภารกิจดังกล่าว อย่างน้อยก็ในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์นี้มาแล้ว อาตมาหวังว่าพวกคุณจะมีกำลังมากพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายอย่างนี้ เกิดขึ้นอีกในรุ่นลูกของคุณ รุ่นหลานของคุณ อาตมาขอฝากเอาไว้ อันนี้คือความฝันของอาตมา
อยากให้เราทุกคนมีความฝันแม้ว่า จะอยู่กลางไฟแห่งความทุกข์ระทมและความยากลำบาก อย่าท้อแท้ท้อถอย ไฟนั้นมีอำนาจในการทำลายก็ได้ เป็นพลังในการสร้างสรรค์ก็ได้ จะว่าไปแล้วฝันต้องมีไฟนะ ถ้าฝันไม่มีไฟก็จะเป็นฝันลอยๆ แต่ถ้าฝันมีไฟก็จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง เพราะฉะนั้นนี้รายการวันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝันกลางไฟ แต่เป็นฝันอย่างมีไฟ เพื่อช่วยกันดับไฟในบ้านเมือง เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราในอนาคต