เขียนโดย ภาคิไนย์ ศรีพรรณ์ อาสาสมัครรุ่น 28 โรงเรียนการตื่นรู้ อาศรมพลังงาน
การ ให้คำแนะนำกับครอบครัวของตนเอง ก่อนที่จะไปแนะนำคนอื่น เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะไปทำ ผมว่าคงไม่ยากเกินไป ถ้าเราเริ่มต้นมันอย่างเข้าใจและเอาใจใส่ มันคงจะสำเร็จได้ไม่ว่าช้าหรือเร็ว มันอยู่ที่ตัวของทุกคนที่จะลงมือปฏิบัติ มันไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด มันอยู่ที่การเริ่มต้นเรียนฐานพลังงานทดแทน
หนึ่งปีครึ่งผ่านไปรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกัน การเรียนรู้ในบทบาทอาสาสมัครในช่วงหลัง เริ่มดีขึ้นทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม ต่างจากช่วงปีแรกของการทำงานใหม่ๆ ยังจับประเด็นหาความคิดรวบยอดของตนเองไม่เป็น ได้แต่คิดแค่ผ่านๆ ไม่ได้จัดกระบวนการทางความคิดของตนเองสักเท่าไหร่ ส่งผลการทำงาน ก็ทำแค่ผ่านๆ ไม่ได้คิดถึงผลงานที่ทำว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี จึงทำให้เกิดความผิดพลาดจากการทำงานหลายๆ เรื่อง
เรื่องของเรื่องคือ ยังขาดสติในการทำงาน เพราะผมเป็นคนที่ใจร้อนอยากทำก็ทำ แต่ตอนนี้ก็เริ่มรู้สึกใจเย็นและมีสติมากขึ้น เพราะอาศรมพลังงานถือเป็นแหล่งเรียนรู้และมีคนมาศึกษาดูงานบ่อยๆ อย่างน้อยก็พยายามทำเป็นตัวอย่างที่ดีกับผู้ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ ยิ่งอาศรมพลังงานเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทน เกษตรกรรมธรรมชาติ สติจึงถือเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้งานที่ทำประสบความสำเร็จ
ผมพยายามพัฒนาองค์ความรู้ ในการเรียนรู้ฐานพลังงาน เกี่ยวกับพลังงานทดแทนจากน้ำมันที่ได้จากพืชและไขมันสัตว์ มาเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนร่วมกับน้ำมันดีเซลให้ได้ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่เข้ามาดูและศึกษา นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ผมคิดว่าพลังงานที่อาศรมพลังงานทำ เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด เป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ที่เราไม่รู้ แต่ผมว่าถ้าเราได้เห็นเราได้สัมผัสกับมัน เราก็จะเห็นประโยชน์จากของเหล่านี้ว่ามีคุณค่ามีประโยชน์ต่อตัวเรา เหมือนพืชน้ำมันบางตัวที่สามารถหาได้จากธรรมชาติจากป่า ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหนก็สามารถหาได้ แต่บางพื้นที่ก็อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
พืชน้ำมันที่พบจากป่ามีอยู่ประมาณ 9 ชนิด ที่เราสามารถนำมาเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซลได้ ได้แก่ กระบก กะเบากลัก ตะคร้อ เป้า มะยาว มะมื่อ ยางพารา สะเดา สำโรง พืชทั้ง 9 ชนิด ให้ปริมาณน้ำมันที่แตกต่างกันออกไป เพราะเมล็ดพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะของเมล็ดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน พืชที่ให้ปริมาณน้ำมันมากที่สุด คือ ตะคร้อ ให้ปริมาณน้ำมัน 22% เมล็ด พันธุ์ไม้ที่เราได้จากป่านั้น เราไม่สามารถที่จะบีบหรือสกัดน้ำมันออกมาได้เลย ต้องนำเมล็ดมาอบหรือนึ่งก่อนให้เกิดความร้อน จะช่วยไล่ความชื้นของน้ำที่อยู่ในตัวเมล็ด ให้เหลือแต่ส่วนที่เป็นน้ำมันที่อยู่ในตัวเมล็ด
หลังจากที่ได้น้ำมันมาแล้ว ก็กรองน้ำมันทำความสะอาดด้วยผ้าขาวบาง แล้วตั้งตากแดดทิ้งไว้ เพื่อให้ช่วยตรึงตะกอนที่อยู่ในน้ำมันลงมากองอยู่ด้านล่าง เลือกเฉพาะส่วนที่ใสที่จะนำไปใช้งาน เพราะถ้ามีฝุ่นมีตะกอนจะมีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ เช่น ไปอุดตันสายส่งน้ำมันหม้อกรอง ทำให้ระบบการทำงานของเครื่องยนต์ติดๆ ขัดๆ เราจะเรียกน้ำมันที่ได้นี้ว่า น้ำมันที่ได้จากพืช 100% ไม่ ต้องไปผสมกับน้ำมันดีเซลก็ได้ ก็สามารถนำไปเติมกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ เช่น เครื่องสูบน้ำ รถไถนาเดินตาม แต่ถ้าเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นระบบรอบสูง พวกรถกระบะ รถบรรทุก ที่เป็นเครื่องไดเล็คอินเจ็คชั่น ต้องนำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลก่อน เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างให้ใกล้เคียงกับคุณภาพของน้ำมันดีเซลมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้น้ำมันจากพืชน้ำมัน 100% ก็ ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว น้ำมันพวกนี้จะกลายเป็นไขมัน เพราะน้ำมันจากพืชเป็นกรดไขมันอิ่มตัว สังเกตได้ง่ายๆ กรดไขมันที่อิ่มตัว เป็นกรดที่เจออากาศเย็นเพียงเล็กน้อยก็จะแข็งตัว กรดไขมันอิ่มตัวจึงไม่ควรที่จะนำไปเติมเครื่องยนต์ โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นกรดที่เจอความเย็นแล้วไม่เปลี่ยนสภาพเพราะแขนของคาร์บอนเป็นพันธะคู่ สามารถจับตัวของออกซิเจนได้อีก จึงไม่แข็งตัวง่าย เหมาะจะเติมเครื่องยนต์ได้ 100% โดยไม่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างแต่อย่างไร
แต่พืชน้ำมันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะสามารถนำมาเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างดี และเราสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องรอให้น้ำมันหมดไปจากโลกของเราก่อน
ลืมบอกไปว่า ถ้าไม่รู้จักพืชน้ำมันจริงๆ มีวิธีสังเกต คือ เอาเมล็ดของพันธุ์ไม้มาตากแดดหรืออบให้แห้ง แล้วปอกเปลือกด้านนอกออกเหลือแต่เมล็ดด้านใน ลองจุดไฟดูว่าสามารถติดไฟแล้วมีน้ำมันไหลออกมาหรือไม่ แค่นี้ก็จะรู้ว่าพืชชนิดนั้นเป็นพืชน้ำมันหรือเปล่า ฝันสั้นๆ จะเพาะกล้าต้นตะกู
ส่วนงานที่ทำตอนนี้และหลังพ้นจากวาระหนึ่ง ปีครึ่งไป จะเป็นงานที่เกี่ยวกับการเพาะกล้าไม้ต่างๆ ก็เป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่ผมสนใจ พูดไปแล้วเรื่องของต้นไม้ ผมก็รู้จักไม่กี่ต้น แค่งูๆ ปลาๆ เพราะเขาใหญ่มีต้นไม้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นพันธุ์ที่แตกต่างและทางภาคเหนือไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ เท่าที่เพาะอยู่ก็มี กาเสลา ต้นปีบ ต้นฉำฉา ต้นยางอินโด ต้นเติม ต้นไทร ฯลฯ ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน สำหรับการเริ่มเพาะกล้าไม้ ไม่รู้ว่าจะขยายพันธุ์อย่างไร บางที่หว่านไปก็ไม่งอกก็มี
ผมยังมีข้อสงสัยที่สำคัญในเรื่องของต้นตะกู มีทั้งคนบอกว่าเป็นต้นไม้เศรษฐกิจที่มีประโยชน์ ปลูกได้ดี ทนแล้ง โตเร็ว บางคนก็ว่าเป็นการหลอกให้ชาวบ้านปลูกตามกระแสนิยมของบริษัท แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องของข้อมูลต่างๆ ที่แต่ละคนได้รับรู้มามากกว่า ไม่ได้เจอจริง ไม่ได้สัมผัส จึงเหมาเอาว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี ทั้งที่ตนเองไม่ได้สัมผัสกับมันอย่างจริงจัง สำหรับผมคิดว่า มันก็เป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านปลูกได้นะ เพราะเป็นต้นไม้ประจำถิ่นของคนไทยเรานี้แหละ
ต้นตะกูที่ชาวบ้านเขาปลูกกันจะมีอยู่สองสาย พันธุ์ คือพันธุ์ก้านแดงและพันธุ์ก้านเหลือง ที่นิยมปลูกกันตอนนี้ เป็นพันธุ์ก้านแดง เพราะลำต้นจะสูงชะลูด เนื่องจากสายพันธุ์นี้จะมีการผลัดใบอยู่ตลอดเวลา ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีกิ่ง 6 กิ่งจะทำการผลัดกิ่งล่าง 2 กิ่งออก จึงทำให้เหลือแค่ 4 กิ่ง ด้านบน และจะเป็นอย่างนี้ไปตลอด จึงทำให้ต้นไม้ไม่เป็นตา เพราะใบอยู่ด้านบน พอใบมีหน้าที่รับแสง รากที่ดูดหาอาหารส่งไปเลี้ยง จะส่งไปเลี้ยงที่ยอด จึงทำให้ลำต้นสูงชะลูด
ในอาศรมพลังงานก็จะมีต้นตะกูอยู่ 3 ต้น มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีทั้งก้านแดงและก้านเหลือง มันก็โตเร็วจริงๆ นะ มันสูงเท่าอาคาร 2 ชั้น ลำต้นประมาณคนโอบได้ แต่ถ้าต้นมันโตมันก็ออกลูก เราสามารถนำไปขยายได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อ เพราะลูกตะกูลูกหนึ่งมีเมล็ดเล็กๆ นับหมื่นเมล็ด
แต่ตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่ผมศึกษาทดลอง พยายามเพาะต้นกล้าตะกูให้ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน เคยทดลองเพาะไปแล้ว 2- 3 ครั้ง ก็ยังเพาะกล้ามันไม่ได้ แต่รอบนี้ได้คำปรึกษาจากพี่ที่มาดูงานที่เคยเพาะต้นตะกู เขาก็บอกวิธีเพาะให้ จึงรอดูว่ามันจะเกิดหรือเปล่า ผมว่าการปลูกต้นไม้ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราต้องช่วยกันปลูก อย่างน้อยก็ให้ร่มเงาช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ช่วยให้โลกเราน่าอยู่ สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้โดยต้องไปตัดไม้ทำลายป่า
ขยายฐานงาน กลับบ้านชวนกันทำปุ๋ย
เรื่องสุดท้ายที่คิดเอาไว้ และกำลังจะไปทดลองใช้กับที่บ้านของผมเอง คือเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ เพราะตอนนี้ชาวบ้านกำลังมีปัญหาของเรื่องปุ๋ยที่ใช้สำหรับการเกษตร เนื่องจากปุ๋ยมีราคาแพง กระสอบหนึ่งเป็นพันบาท แต่ถ้าใช้ปุ๋ยน้อยพืชก็ไม่งาม ผมมองเห็นว่านี่เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านติดหนี้ขาดทุนจากการทำเกษตร ยิ่งแถวบ้านผมร้านขายปุ๋ยก็จะให้เอาปุ๋ยไปใช้ก่อน ค่อยๆ มาจ่ายเงินทีหลังเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ แต่ราคาจะสูงกว่าที่เราซื้อเงินสด จึงมีคนกล่าวหลายคนว่า ชาวไร่ชาวนาทำงานให้เจ๊กขายปุ๋ย เพราะขายผลผลิตเสร็จไม่ว่าจะขาดทุนหรือได้กำไร ยังไงก็ต้องจ่ายค่าปุ๋ยก่อน หากไม่จ่ายก็ติดหนี้ไปเรื่อยๆ จะหยุดพักก็หยุดไม่ได้ต้องหาเงินมาใช้หนี้
วัสดุที่เหลือใช้ของชาวบ้านก็มีอยู่แล้ว รวมถึงใบไม้ ใบไผ่ เศษหญ้า ขี้วัว ขี้ควาย ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรมากมาย เราก็สามารถที่จะนำมาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ และการหมักปุ๋ยนั้นมีหลายวิธีที่ทำให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ไปบำรุงดินให้ดินอุดม สมบูรณ์
พอดีได้ไปดูงานที่สวนเกษตรอินทรีย์แถว ปากช่อง พี่ที่รู้จักกันเขาก็ทำปุ๋ยใช้เองโดยใช้จุลินทรีย์จากป่ามาช่วยหมักย่อยสลาย ปุ๋ย ก็เป็นวิธีที่ดี เพราะสวนของพี่เขาก็จะปลูกผักแบบอินทรีย์ทั้งหมด ผักที่ปลูกก็เจริญเติบโตได้ดี ดูแล้วน่ากินเพราะผักมันกรอบและก็สด สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าผักที่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะเป็นผักไร้สารพิษเหมาะสำหรับผู้บริโภค ผมก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีถ้าเราจะทำให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน หากสิ่งที่เราทำมันเกิดประโยชน์ เห็นผลจริงว่ามันลดการใช้ปุ๋ยเคมี ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพาะปลูกแล้วได้ผลผลิตดี ทุกคนก็จะทำตาม สิ่งที่สำคัญคือต้องลองใช้กับครอบครัวของตนเองก่อน
การให้คำแนะนำกับครอบครัวของตนเอง ก่อนที่จะไปแนะนำคนอื่น เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะไปทำ ผมว่าคงไม่ยากเกินไป ถ้าเราเริ่มต้นมันอย่างเข้าใจและเอาใจใส่ มันคงจะสำเร็จได้ไม่ว่าช้าหรือเร็ว มันอยู่ที่ตัวของทุกคนที่จะลงมือปฏิบัติ มันไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด มันอยู่ที่การเริ่มต้น
ที่มา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม