โดย ประมวล เพ็งจันทร์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 เมษายน 2552
ความ สุขแท้อาจเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เช่น ความสุขของเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นความสุขชั่วขณะที่ปรากฏขึ้นเองโดยธรรมชาติ เนื่องจากสภาวะจิตที่ยังไม่ถูกรบกวนหรือเจือปนด้วยกิเลส เป็นจิตที่ผ่องใสและเบิกบานที่เรียกว่า “จิตประภัสสร” แต่นี่ไม่ใช่ความหมายของ “ความสุขแท้ด้วยปัญญา”
การแสวงหาความสุขที่แท้เป็นปัญหาของผู้ใหญ่ วัยที่ได้เรียนรู้อะไรมากมายหลายอย่างและมีกิเลสเกาะกุมในจิตใจให้ขุ่นมัว เป็นธรรมดา ผู้ที่ปรารถนาความสุขแท้อาจเริ่มด้วยจิตที่ตั้งมั่นในการขจัดความหม่นหมอง ดังกล่าวให้จางคลายไปจากใจ เพื่อดึงจิตกลับคืนสู่สภาวะเดิมที่เคยเบิกบานแจ่มใส ส่วนจะขจัดได้อย่างไรนั้น ต้องพึ่งพลังทางปัญญาเป็นตัวชี้นำ
“ปัญญา” ในความหมายอย่างกว้างๆ คือ จิตที่ได้สัมผัสหรือรับรู้โลก ทั้งโลกภายนอกที่ผ่านเข้ามาและโลกภายในใจที่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ด้วยการรักษาความสมดุลระหว่างโลกภายนอกที่เข้ามากระทบกับโลกภายในที่เกิดการ เปลี่ยนแปลง หากจิตของเราสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นใดๆ โดยไม่หวั่นวิตก ไม่ตื่นกลัวหรือตระหนก เราสามารถเบิกบานกับสิ่งที่ได้รับรู้ ความสุขแท้ด้วยปัญญาย่อมผุดขึ้นในจิตใจ ตรงข้าม หากสิ่งนั้น เป็นเพียงสิ่งที่เข้ามาตอบสนองความปรารถนาของเรา เช่น ความสะดวกสบายในชีวิต ความสุขที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเพียง “ความสุขเทียม” ที่เราปรุงแต่งขึ้นเองภายในใจ
ความหมายของปัญญาที่ผมให้ความสำคัญ ไม่ใช่นัยยะของปัญญาที่รับรู้โลกภายนอก หากแต่เป็นมิติของปัญญาที่มุ่งพิจารณาโลกภายในใจเรา ซึ่งเป็นภาพเงาสะท้อนของโลกภายนอกอีกที ปัญญาในความหมายนี้เองที่ทำงานกับความสุขแท้
ปัญญาด้านในเกิดขึ้นจากภาพที่จิตของเราไปรับรู้โลกภายนอก แล้วนำภาพที่ได้รับรู้ดังกล่าวกลับมาบันทึกไว้ภายใน ภาพของโลกภายในที่เราบันทึกได้จึงเป็นคนละชุดกับโลกภายนอก ลำดับการสัมผัสรับรู้ของจิตที่ว่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการที่ละเอียด และซับซ้อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องการทำงานของจิตเพียงถ่ายเดียว แต่ยังมีกระบวนการที่ใจเราไปปฏิสัมพันธ์อย่างเชื่อมโยงกับโลกภายนอกด้วย
เมื่อโลกภายในใจเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกับโลกภายนอก ภาพลักษณ์ของความมืดมิดในใจเราจึงอาจน่าสะพรึงกลัวมากกว่าความมืดในโลกแห่ง ความเป็นจริง ขณะเดียวกัน โลกใบนี้สำหรับเราก็อาจน่าอภิรมย์ยิ่งกว่าความเป็นจริงก็เป็นได้ ทั้งความน่ากลัวและความน่าอภิรมย์ ล้วนเกิดขึ้นดั่งภาพเงาสะท้อนในใจเรา ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ภายนอกจิตใจ เฉกเช่นรอยยิ้มของผู้ร้ายที่เรามักรู้สึกมีเลศนัยแอบแฝงมากกว่ารอยยิ้มของ พ่อค้าที่ส่งยิ้มเพียงเพื่อต้องการเรียกลูกค้าของตนเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่โลกภายนอกมืดและสว่าง ปรากฏและเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ โลกภายในของเราต่างหากที่ถูกปรุงแต่ง แปรความหมายของความมืดให้เป็นความพรั่นพรึง นี่คือตัวอย่างภาพความทุกข์ที่เราไม่ปรารถนา หนทางสู่ความสุขที่แท้ด้วยปัญญาในทัศนะของผม จึงหมายถึงการจัดการกับปฏิบัติการของสภาวะจิตที่มักเผลอไปตีความ และบันทึกภาพเงาให้เป็นโลกแห่งความทุกข์โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ผมขอเปรียบเทียบคำอธิบายข้างต้นกับกลไกการทำงานของสายพานบันไดเลื่อน อัตโนมัติในอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า กล่าวคือ เมื่อบันไดเลื่อนทำงานปรกติ ตัวเราที่ยืนอยู่บนขั้นบันได พร้อมมือที่วางอยู่บนราวบันได ย่อมเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง หากบันไดเลื่อนทำงานผิดปรกติ ขั้นบันไดที่เลื่อนขึ้นลงทำงานไม่สอดคล้องกับราวบันได เช่น ขั้นบันไดเลื่อนขึ้น ขณะที่ราวบันไดกลับหยุดนิ่ง หากตัวเราที่กำลังเคลื่อนที่ยังคงจับราวบันไดอย่างยึดมั่น เราย่อมสูญเสียการทรงตัว เสียจังหวะ อาจล้มกลิ้งตกบันไดเลื่อนไม่เป็นท่า แต่ถ้าเราปล่อยมือที่จับราวบันไดนั้นเสีย เป็นอิสระจากราวบันได ตัวเราที่กำลังไหลเลื่อนย่อมเคลื่อนที่ได้ต่อเนื่อง การใช้ปัญญากำกับจิตให้ปล่อยละจากการถือมั่นในสิ่งใดๆ ก็เช่นกัน
เหตุแห่งทุกข์ จากตัวอย่างข้างต้น จึงมาจากการที่เราไม่ยอมปล่อยราวบันไดเลื่อนโดยคิดปรุงแต่งไปเองว่า สายพานของราวบันไดนั้นยังคงเคลื่อนที่เป็นปรกติ ไม่ปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้าหากเราสามารถฝึกฝนจิตใจให้ปล่อยละได้ ใจเราก็จะเป็นสุขแท้และเป็นอิสระจากความเป็นไปของโลกภายนอก ถึงแม้จิตกับโลกภายนอกจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ขัดแย้งตรงข้าม ใจของเรากลับไม่ไหวเอน คือรับรู้โลกอย่างที่ปรากฏและแปรเปลี่ยนไปอย่างปรกติสุข ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโลกแห่งความเป็นจริงภายนอกแต่ประการใด
หากเราสามารถใช้ปัญญารักษาความสมดุลระหว่างจิตกับโลกอย่างเหมาะสม คือการรู้เท่าทันสภาวะจิตและพินิจโลกที่ผ่านเข้ามาอย่างที่เป็น เห็นคุณค่าของความมืดที่ช่วยให้เราได้นอนหลับพักผ่อน ชื่นชมกลางวันที่ช่วยให้เรามีเวลาได้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่นำความคิดปรุงแต่งด้วยอวิชชาของตนเข้าไปเพิ่มเติม ความกลัวภายในใจเราก็จะค่อยๆ ถูกขจัดให้หมดไป เมื่อนั้น ใจเราก็จะเริ่มเป็นสุข รับรู้โลกอย่างปล่อยวาง ซึ่งเป็นความสุขง่ายๆ ที่แท้ด้วยปัญญาญาณ
ที่มา : http://jitwiwat.blogspot.com/