ทันทีที่เด็กน้อยตื่นมาตอนใกล้รุ่ง อย่างแรกที่เขาทำคือพลิกตัวมองก้อนข้าวที่ย่าวางเอาไว้บนพื้นใกล้เตา คอยดูว่าเมื่อไหร่หนูจะมากินเหยื่อ มันคงไม่รู้ว่าย่าได้ทำกับดักเอาไว้ โดยเอาก้อนข้าววางบนไม้กระดาน เหนือก้อนข้าวเป็นหม้อดินเก่า ๆ ที่ถูกค้ำด้วยก้านไม้ยาว ๖ นิ้ว เพียงแค่มันเผลอวิ่งไปกระแทกก้านไม้เท่านั้น หม้อก็จะตกลงมาครอบตัวมันเอาไว้
เด็กน้อยสังเกตว่าพอย่าก่อไฟ หนูก็จะค่อย ๆ ย่องออกมา คงเป็นเพราะเปลวไฟทำให้มันเห็นก้อนข้าว มันจะวนรอบ ๆ กับดัก แล้วก็ตรงไปคาบก้อนข้าว จากนั้นก็วิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว
โดยไม่ชนก้านไม้หรือหม้อดินเลย
วันแล้ววันเล่าที่หนูคาบก้อนข้าวกลับไปได้อย่างมีชัย ผ่านไปแล้วถึงสองอาทิตย์กับดักของย่าก็ยังทำอะไรมันไม่ได้ เด็กน้อยสังเกตว่าหนูตัวอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ เขาไม่ค่อยพอใจที่มันลอยนวลอยู่ได้ แต่ย่ากลับไม่รู้สึกหงุดหงิดหรือร้อนใจแต่อย่างใด บางครั้งมันเดินป้วนเปี้ยนใกล้ย่าขณะที่กำลังต้มข้าว ย่าก็ไม่ได้สนใจมันเลย ยังคงพึมพำคำสวดมนต์ต่อไป ย่าสวดมนต์อย่างนี้ตลอดวันตั้งแต่เช้าจนค่ำ
เช่นเดียวกับผู้เฒ่าชาวภูฐาน ย่าได้วางมือจากไร่นา หันมาปฏิบัติธรรมเต็มที่อยู่กับบ้าน บางครั้งก็จาริกไปตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อกลับมาบ้านก็ยังคงสวดมนต์พร้อมกับทำกิจวัตรไปด้วย
เกือบสามอาทิตย์แล้วที่กิจวัตร อย่างหนึ่งของย่าคือวางข้าวก้อนใหม่ทุกคืนเพื่อดักหนู หนูตัวนี้แอบกินอาหารในถุงข้าวมานานนับเดือนแล้ว จึงต้องหาทางจัดการกับมันก่อนที่มันจะสร้างหลักปักฐานเป็นครอบครัวใหญ่
ในที่สุดเจ้าหนูอ้วนก็พลาดจนได้ พอคาบก้อนข้าวได้มันก็หันไปมองย่าขณะที่วิ่งกลับรัง จึงไปชนก้านไม้ หม้อดินเลยตกลงมาครอบมันเอาไว้ เด็กน้อยดีใจมากกระโดดตัวลอย ตะโกนลั่นว่า “ย่า มันติดกับดักแล้ว หนูอยู่ในหม้อ” แต่ย่ายังคงคนข้าวในหม้อต่อไป ไม่มีทีท่าดีใจหรือตื่นเต้นเลย
ย่ายังคงทำงานต่อไป จนได้เวลากินข้าว เด็กน้อยอยากรู้ว่าย่าจะทำอย่างไรกับเจ้าหนูอ้วน แต่ย่าก็ยังคงกินข้าวตามปกติ ครั้นกินข้าวเสร็จ ย่าก็เอาข้าวแห้งใส่กระบอกไม้ไผ่ เด็กน้อยรู้ทันทีว่าย่ากำลังจะเดินทางไกล
ย่าเอากับดักหนูเทินหัว ค่อย ๆ ไต่สะพานเหนือลำธารน้ำแข็ง ตรงเข้าไปในป่า ถึงชายป่าแล้วย่าก็ยังเดินต่อไป ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ ย่าเดินช้า ๆ แต่มั่นคง เป็นเวลานานสองชั่วโมงในที่สุดก็มาถึงป่าลึกที่มีลำห้วยไหลผ่าน ย่าหยุดตรงที่มีลูกโอ๊คร่วงหล่น สัตว์เล็กสัตว์น้อยกระโดดโลดเต้นเก็บกินผลไม้นานาชนิด ย่าบอกเด็กน้อยในเวลาต่อมาว่าตรงนั้นแหละที่ย่าปล่อยหนูให้เป็นอิสระ
ภาพประทับในวัยเด็กข้างต้น คินเลย์ ดอร์จิ ได้ถ่ายทอดอย่างงดงาม ในหนังสือเรื่อง “ในดินแดนแห่งความสุข” (สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) เช่นเดียวกับเด็กน้อยคินเลย์ ผู้อ่านคงอดดีใจไม่ได้ที่หนูติดกับดักของย่าเสียทีหลังจากที่เอาใจช่วยมา ตั้งแต่ต้น แต่ก็คงนึกไม่ถึงว่าย่าจะยอมเหนื่อยยากฝ่าความหนาวเดินเข้าป่าถึงสองชั่วโมง เพียงเพื่อปล่อยหนูตัวนั้น ทั้ง ๆ ที่มันก่อปัญหามานานนับเดือน แทนที่ย่าจะโกรธและกำจัดมัน กลับมีเมตตา พามันไปอยู่บ้านใหม่ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ย่าคิดถึงความสุขของหนูยิ่งกว่าความสะดวกสบายของตนเสียอีก
เรื่องราวของย่าทำให้เราเห็นอีก มิติหนึ่งของ “ความเจริญ” นั่นคือความเจริญทางจิตใจที่เปล่งประกายแห่งเมตตากรุณาให้ประจักษ์ แม้มีอำนาจเหนือสัตว์เล็กสัตว์น้อย แต่ก็ปฏิบัติอย่างอ่อนโยนนุ่มนวล ไม่ทำตามอำเภอใจหรือคำนึงแต่ประโยชน์ของตนเป็นหลัก จะว่าไปแล้วความเจริญของมนุษย์อยู่ที่ไหนหากมิใช่การมีเมตตากรุณาต่อผู้ด้อย กว่า อันนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก เทคโนโลยีล้ำยุคและความมั่งคั่งที่เพิ่มพูนอำนาจให้แก่มนุษย์อย่างมหาศาล แต่ถูกใช้ไปเพื่อทำลายล้างเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิต จนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จะเรียกว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญได้อย่างไร
เรื่องราวของย่ายังสะท้อนให้ เห็นถึง “การปฏิบัติธรรม”ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีชีวิต ธรรมที่ว่ามิได้หมายถึงคุณธรรมในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นเท่านั้น หากยังรวมถึงธรรมสำหรับการวางใจในเวลาทำงานด้วย ย่าตระหนักดีว่าหนูได้สร้างปัญหาแก่บ้านของย่า จึงลงมือทำกับดักด้วยตัวเอง แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว ย่าก็เพียงแค่รอให้หนูมาติดกับดักเท่านั้น ระหว่างนั้นย่าก็ทำงานอื่นของตนไปเรื่อย ๆ ขณะที่หุงข้าวก็ใส่ใจอยู่กับการหุงข้าว ไม่มีทีท่าสนใจหนูที่จด ๆ จ้อง ๆ หรือเดินวนรอบก้อนข้าว
แม้ผ่านไปนานเกือบสามอาทิตย์ โดยจับหนูไม่ได้เลย ย่าก็ไม่รู้สึกหงุดหงิดกระฟัดกระเฟียด หรือท้อถอย ยังคงเอาก้อนข้าวมาวางทุกคืน และรอคอยอย่างใจเย็นให้หนูติดกับดัก ครั้นหนูเสียท่าในที่สุด ย่าก็ไม่ได้ลิงโลดดีใจ ยังคงทำงานของตนต่อไป ต่อเมื่อกินข้าวเสร็จจึงเอาหนูไปปล่อยในป่า
ย่าเป็นตัวอย่างของคนที่ทำ งานอย่างปล่อยวาง ปล่อยวางมิได้หมายถึงวางเฉยไม่ทำอะไร ย่าเห็นว่าเมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไข มิใช่แค่ทำใจเท่านั้น ต่อเมื่อทำสิ่งที่ควรทำจนครบถ้วนแล้ว ก็วางมือและวางใจ คือรอคอยให้เกิดผลอย่างที่มุ่งหวัง แต่ตราบใดที่ผลสำเร็จยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่หงุดหงิดร้อนใจหรือเป็นทุกข์ ยังคงทำงานอื่นต่อไป แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ก็ไม่ท้อถอย ยังเพียรทำต่อไปจนประสบผลในที่สุด ครั้นได้รับความสำเร็จ ก็ไม่ลิงโลดดีใจ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่ยินร้ายเมื่อล้มเหลว และไม่ยินดีเมื่อสำเร็จ
พูดอย่างพุทธก็คือ ย่ามิได้ปล่อยวางในเหตุ พยายามสร้างเหตุอย่างเต็มที่ ส่วนผลนั้นย่าปล่อยวาง จะเกิดผลเมื่อไรก็ไม่สนใจ ผลเป็นอย่างไรก็ไม่มีอาการขึ้นลง เพราะทำเต็มที่แล้ว ที่น่าสนใจก็คือ ย่าปล่อยวางในผลตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เมื่อหนูอยู่ในกำมือของย่า ย่าก็ยังนำหนูไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หากหนูคือตัวแทนแห่งความสำเร็จ สิ่งที่ย่าทำก็คือการ คืนความสำเร็จให้เป็นของธรรมชาติ พูดอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ “คืนผลงานให้เป็นของความว่าง”
ผลงานหรือความสำเร็จนั้น หากไม่รู้จักปล่อยวาง เราก็จะทำงานด้วยความทุกข์ตั้งแต่ต้นเพราะคอยแต่พะวงว่าเมื่อไรถึงจะเกิดผล หรือประสบความสำเร็จ ยิ่งอยากให้เกิดความสำเร็จไว ๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะรู้สึกว่าเกิดผลเชื่องช้าไม่ทันใจ ในที่สุดก็ท้อแท้ที่ไม่เกิดผลสำเร็จเสียที ในทางตรงข้ามหากได้รับความสำเร็จ ก็จะยึดติดถือมั่นว่าเป็นความสำเร็จ “ของกู” คอยหวงแหนกีดกันไม่ให้ใครมาร่วมเป็นเจ้าของความสำเร็จด้วย ในเวลาเดียวกันหากคนอื่นไม่เห็น ไม่ยอมรับหรือไม่ชื่นชมความสำเร็จของตน ความดีใจก็จะกลายเป็นความไม่พอใจทันที ยิ่งมีใครมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน “ของกู”ด้วยแล้ว ก็จะรู้สึกว่า “ตัวกู”ถูกกระทบกระแทกขึ้นมาทันที
จะไม่ดีกว่าหรือหากทำงานด้วยใจ ปล่อยวาง แม้ล้มเหลวก็ไม่เป็นทุกข์ ครั้นประสบความสำเร็จ ก็ไม่ถูกความสำเร็จ “กัดเอา” เพราะคืนความสำเร็จให้เป็นของธรรมชาติหรือความว่างไปแล้วตั้งแต่ต้น
ที่มา: http://www.visalo.org/article/sarakadee255306.htm