ปลูกฝังจิตอาสา เด็กน้อยชนเผ่า
คอลัมน์ สดจากเยาวชน ข่าวสด
เสียงใสๆ ในบทเพลงแห่งความจงรักภักดี “อัครศิลปิน” ดังขึ้นจากแถวของนักเรียนชายหญิงตัวน้อยกว่า 200 คน กลางแสงแดดอ่อนหน้าเสาธง โรงเรียนบ้านน้ำลัด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในชุดแต่งกายสีสันสดใสของชุดชนเผ่าอันหลากหลาย ช่วยขับภาพและเสียงที่สวยงาม
“โรงเรียนของเราไม่สวย แต่น่ารัก…ที่สำคัญคือเน้นเรื่องความสะอาด”
อาจารย์วิวัฒน์ พิทักษ์สุจรรยา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำลัด พูดถึงนโยบายโรงเรียนแห่งความสุข พร้อมบอกว่าเด็กคือผ้าขาวที่ครูมีหน้าที่แต่งแต้มสิ่งดีให้เขามีภูมิคุ้มกัน ชีวิตยามจบออกไปใช้ชีวิตนอกรั้วโรงเรียน
แม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆ ในเขตเทศบาลที่มีครูเพียง 20 คนแต่กลายเป็นที่พึ่งของเด็กด้อยโอกาส บ้างกำพร้า บางคนอยู่กับญาติ บ้างอยู่สถานสงเคราะห์หรือมูลนิธิต่างๆ
กิจกรรมหนึ่งที่ริเริ่มและปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้เด็กปฏิบัติคือการมี “จิตอาสา” กับงาน “อาสาสมัคร” ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รุ่นพี่รุ่นน้องดูแลจัดการกันเอง โดยมีครูชี้แนะอยู่ห่างๆ และชื่นชมภูมิใจกับผลงานของเด็กๆ
แม้เด็กๆ ที่นี่จะอ่อนด้อยด้านวิชาการ แต่ที่ครูทุกคนเห็นตรงกันคือแม้เด็กจบป.6 ไปแล้วจะไม่ได้เรียนต่อ แต่ทุกคนก็ทำงานเป็นและมีความคิดสร้างสรรค์ โดยครูจะเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้ทักษะการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ สอดแทรกไปพร้อมกัน กิจกรรมจิตอาสาก็เป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้เด็กๆ ดำเนินชีวิตต่อไป
ทุกเช้าก่อนเข้าเรียน กิจกรรมอาสาถูกจัดแบ่งตามความสนใจของนักเรียน ตั้งแต่น้องเล็กอนุบาลไปจนถึงพี่ใหญ่ชั้นป.6 เช่นเก็บใบไม้และเศษขยะ ช่วยภารโรงทำความสะอาดโรงเรียน ห้องน้ำ โรงอาหาร ภายในโรงเรียนจึงสะอาดตา บางคนไปช่วยแม่ครัวจัดเตรียมอาหาร ล้วนเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ทำด้วยความสนุกและมีความสุข ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน แม้เด็กบางคนต้องเดินเท้ามาจากบ้านที่อยู่ห่างไกล บางคนไม่เคยมีสตางค์มาโรงเรียน บางคนมีแต่ข้าวเปล่า บางคนใส่เสื้อซ้ำมาทุกวัน
ในช่วงกลางวัน ที่โรงอาหารหรืออาคารอเนกประสงค์ จะมีกิจกรรมหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องของจิตอาสาที่เกิดขึ้นที่นี่ ตั้งแต่พี่ๆ ช่วยดูแลการรับประทานอาหารของน้องๆ เก็บกวาดทำความสะอาดเมื่อแล้วเสร็จ กิจกรรมร้องเพลงที่พี่ๆ คอยควบคุมเครื่องเสียง จัดลำดับให้นักร้องตัวน้อยที่ลงชื่อไว้ในสมุดหมุนเวียนกันขึ้นเวทีคนเก่ง เด็กทุกคนจะได้ร้องเพลงอย่างน้อยคนละ 1 เพลง เพื่อฝึกความกล้าแสดงออก
เมื่อใดที่ ครูเปรมศรี ศรีแก้วขัน ประจำชั้นป.1 ครูผู้ฝึกการทำของใช้ในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่าย อาทิ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ลงมือตระเตรียมส่วนผสม เด็กๆ จะเข้ามาช่วยกัน นอกจากจะช่วยกันทำไว้ใช้ในโรงเรียนแล้ว เด็กๆ ยังนำความรู้ไปถ่ายทอดให้ผู้ปกครองที่บ้านด้วย
หรือในชั่วโมงภาษาไทยวันหนึ่ง เด็กเสนอว่าอยากทำการ์ดอวยพรให้ครูอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่กำลังจะกลับประเทศ มือน้อยๆ บรรจงแต่งแต้มออกแบบการ์ดนั้นด้วยงานฝีมือที่หลากหลาย แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคน บ้างก็เอาใบไม้มาแปะหรือลอกเอาเส้นใยมาแปะเป็นรูปต่างๆ เป็นงานฝีมือที่แทรกไปด้วยวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภาษาไทย เด็กๆ ต่างภูมิใจในผลงานตัวเอง
อาเอาะ เฌอหมื่น สาวน้อยอาข่า ชั้นป.6 เล่าว่าทำกิจกรรมอาสามาตั้งแต่อยู่ชั้นป.1 ช่วยโน่นทำนี่กับเพื่อนๆ จนอยู่ชั้นป.6 ก็คิดว่าถ้าจบไปไม่ได้เรียนต่อก็น่าจะมีทักษะอาชีพหาเลี้ยงตัวได้ จึงอาสาไปช่วยงานแม่ครัวเตรียมอาหาร ทำให้รู้เคล็ดลับการทำอาหารหลายอย่างแล้ว
ในห้องครัว อาเอาะมีหน้าที่เป็นลูกมือช่วยแม่ครัว เตรียมส่วนประกอบอาหาร ช่วยล้างผัก หั่นผัก หั่นฟักทอง อาเอาะบอกว่าดีใจที่ได้มีส่วนร่วมทำอาหารมื้อกลางวันสำหรับคุณครู เพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียน เมื่ออยู่ที่บ้านอาเอาะมีหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ตักน้ำ ล้างจาน อาเอาะบอกว่าตัวเองขยันและกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น เช่นเดียวกับเพื่อนๆ อีกหลายคนที่มาช่วยงานเช่นกัน
ผอ.โรงเรียนบ้านน้ำลัด กล่าวว่า แม้โรงเรียนจะอยู่ห่างตัวเขตเทศบาลเพียง 1 กิโลเมตร แต่สภาพแตกต่างกันมาก นักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นเด็กจากชนเผ่าต่างๆ และเด็กต่างด้าวที่ตามพ่อแม่มาทำงาน ขณะที่เด็กอีกร้อยละ 20 เป็นเด็กพื้นราบจากครอบครัวยากจน ที่นี่จึงมีความแตกต่างทางด้านภาษาจากความหลากหลายของชาติพันธุ์ บางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นบ้าง
การแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กทะเลาะกันของโรงเรียนแห่งความสุขแห่งนี้ คุณครูจะจับคู่กรณีมากอดและยิ้มให้กัน เป็นการลงโทษที่ทำให้ทั้งผู้ลงโทษ ผู้ถูกลงโทษและผู้พบเห็นอดยิ้มไปด้วยไม่ได้ ซึ่งพบว่าสามารถแก้ปัญหาเด็กทะเลาะวิวาทกันได้ผลจริง
ผอ.วิวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า การจะทำให้เด็กมีความสุข ครูต้องมีความสุขด้วย มีปัญหาอะไรเราจะคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ครูทุกคนทำงานเป็นทีม แม้จะแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบแต่ทุกคนจะช่วยกันหมด
“เพราะเราช่วยกันทั้งครูและเด็ก บรรยากาศโรงเรียนแห่งความสุขจึงเกิดขึ้นที่นี่”