ประเทศไทยกับรับมือพายุไต้ฝุ่นกิสนา
โดยโครงการพัฒนาการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน
มูลนิธิกระจกเงา
มารู้จักกับพายุลูกนี้กันก่อน
พายุไต้ฝุ่นกิสนา เป็นพายุที่เกิดในเขตร้อน เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านแถบตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีพายุเกิดขึ้นมากที่สุดในโลก พายุไต้ฝุ่นกิสนาได้ก่อตัวบริเวณ ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ จากนั้นได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยขณะขึ้นฝั่งนั้นได้ทำให้เกิดลมแรงและฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ในแถบภาคเหนือของฟิลิปปินส์ ซึ่งพายุลูกนี้ได้พัดอยู่ถึง 9 ชั่วโมง ซึ่งฝนปริมาณมหาศาลที่ตกลงมา ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม ในแถบภาคเหนือของประเทศ รวมถึงกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศ ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ถูกน้ำท่วมสูงมาก ซึ่งสูงถึง 6 เมตร ซึ่งนับตั้งแต่พายุขึ้นฝั่งเมื่อวันเสาร์ จนถึงวันนี้ 29 กันยายน น้ำที่ท่วมอยู่ยังลดระดับลงไม่หมด ขณะนี้ทางการฟิลิปปินส์ได้ประกาศขอรับความช่วยเหลือทุกอย่างจากประเทศต่างๆ แล้ว และน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็นการท่วมหนักในรอบ 40 ปีของฟิลิปปินส์
ไทยไม่รอดโดนพายุเต็มๆ
หลังจากซัดกระหน่ำฟิลิปปินส์จนยับเยินแล้ว พายุกิสนาได้เคลื่อนตัวลงทะเลจีนใต้และได้เพิ่มกำลังเป็นไต้ฝุ่น ซึ่งมีความรุนแรงถึง 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะขึ้นฝั่งเวียดนามในวันนี้ 29 กันยายน 2552 จากนั้นจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทย ในบริเวณ จังหวัด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี แม้จะลดระดับความรุนแรงลงมาเป็นระดับพายุโซนร้อน แต่ก็สามารถทำให้ฝนตกหนักในบริเวณภาคอีสาน และจากนั้นภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบตามมาทีหลัง ซึ่งกรุงเทพมหานครเองก็คงไม่รอดจากพายุลูกนี้ ซึ่งน่าจะทำให้ฝนตกหนักเพิ่มขึ้น อาจจะเกิดน้ำท่วมขึ้นได้ในบริเวณที่ลุ่ม ส่วนบางพื้นที่ที่แล้งก็น่าจะได้รับฝนกันเต็มๆคราวนี้ เรื่องจากเป็นพายุขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะหอบฝนมาตกในพื้นที่ในปริมาณมาก
เรามาดูการเตรียมความพร้อมการรับมือของประเทศต่างๆกันครับ
#เวียดนาม
นายกเวียดนาม ได้สั่งการให้จังหวัดและนครเร่งอพยพราษฎรในพื้นที่เสี่ยงไปสู่จุดปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ภัยช่วยเหลือ ตั้งแต่ส่วนกลางลงไปจนถึงส่วนท้องถิ่นเตรียมพร้อม นายกฯเวียดนาม สั่งให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ จัดเตรียมยารักษาโรค และอาหาร… ตลอดจนสิ่งจำเป็นในการยังชีพ และแนะนำให้ชาวนาเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวข่าวกับพืชผลต่างๆ ให้เร็วที่สุดเพื่อลดการสูญเสีย
ไทยกับการรับมือ พายุกิสนา
ส่วนของประเทศไทยนั้นก็มีรายงานเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่เตือนคนในแถบภาคอีสาน แถบมุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ซึ่งจะโดนก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นเมื่อพายุเคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยก็คงจะได้รับผลกระทบกันทั่วทุกภาค และทางกรมชลประทานได้พร่องน้ำไว้เตรียมรับมือพายุลูกนี้แล้ว ซึ่งน่าทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ครับ ซึ่งเกิดจากปริมาณฝนที่จะถูกพัดเข้ามาในประเทศไทย
สาธารณะสุขเตรียมรับมือกับพายุกิสนา การเตรียมพร้อมให้การ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุ โซนร้อน “ กิสนา ” ได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติหรือศูนย์นเรนทร ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงตามประกาศเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา ให้เตรียมเวชภัณฑ์ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมให้บริการผู้ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประชาชนสามารถโทรแจ้งหน่วยแพทย์นเรนทรทางหมายเลข 1669 ฟรี สำรองงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง 30 ล้านบาท และสำรองเวชภัณฑ์ ยาสามัญประจำบ้านจำนวนกว่า 1 ล้านชุด
เกร็ดเล็กๆน้อยๆของพายุลูกนี้
* พายุลูกนี้มีความรุนแรงเป็นระดับ 2 ความเร็วลม 165 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ยังเป็นรอง พายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่ขึ้นฝั่งประเทศไทยในปี 2532 ซึ่งจัดเป็นพายุระดับ 3
* พายุลูกนี้ ได้เปลี่ยนเส้นทางอย่างเหนือความคาดหมายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปรกติกับพายุในเขตร้อน
* พายุลูกนี้ ทำให้ฟิลิปปินส์น้ำท่วมหนักในรอบ 40 ปี คนครึ่งล้านไร้ที่อยู่อาศัย มีคนเสียชีวิต 200 กว่าคน
* พายุลูกนี้ทำให้เกิดสตอร์มเซิร์จ หรือคลื่นพายุซัดฝั่งสูงถึง 7 เมตร
การเตรียมรับมือสำหรับพายุลูกนี้
* การรับมือกับปริมาณฝนซึ่งน่าจะมากมายมหาศาลมาก ซึ่งอาจะทำให้เกิดน้ำท่วมแบบฉับพลันตามที่ลุ่ม พื้นที่การเกษตรอาจจะได้รับความเสียหายได้
* ทางพื้นที่ที่อยู่ตามเทือกเขาต่างๆทั้งในอีสานและภาคเหนือ อาจจะต้องระมัดระวังภัยดินโคลนถล่มที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากฝนตกหนักบนภูเขา
* อาจจะทำให้เกินน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ ตามลำน้ำและแม่น้ำขนาดใหญ่
* ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้ว ระวังเรื่องความชื้น ซึ่งอาจจะทำความเสียหายได้ และได้ราคาลดลง
* บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ดอน อาจจะเตรียมภาชนะเก็บกักน้ำเพื่อเตรียมไว้ใช้ในฤดูแล้ง
เว็บไซด์สำหรับการติดตามความเคลื่อนไหว
www.maybagyo.com เว็บติดตามความเคลื่อนไหวของพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวัน ตก ซึ่งเป็นของฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีรายละเอียดของภาพถ่ายดาวเทียมข้อมูลพายุที่เกิดขึ้นในรอบปี
www.tmd.go.th เว็บไซด์กรมอุตุนิยมวิทยา
www.thaiwater.net เว็บไซด์เช็คข้อมูลของน้ำทั่วประเทศ