ค่ายสร้างบ้านดินกลุ่มเด็กทานตะวัน ชุมชนบ้านค้อใต้
ค่ำคืนของอาสาสมัครมาถึง ทุกก้าวย่างพร้อมกันยังจุดนัดหมายที่หน้า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร เวลา 20.30 น. รถบัสคันโตบรรทุกอาสาสมัครเต็มคันรถประมาณ 40 คน เคลื่อนตัวออกไปยังเป้าหมายที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ชาวจิตอาสาพกหัวใจที่เต็มเปี่ยมเตรียมพร้อมสู่การสร้างบ้านดินตามโครงการ สร้างบ้านดิน : ศูนย์กิจกรรมกลุ่มเด็กทานตะวัน ซึ่งเป็นโครงการย่อยที่อยู่ในโครงการฉลาดทำบุญปีที่ 2 ของเครือข่ายจิตอาสา โดยมีบางกอกฟอรั่มร่วมกับเสมสิกขาลัยอุบลราชธานี และชุมชนบ้านค้อใต้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น คืนนี้ก่อนส่งทุกคนเข้านอน มีเกมส์สนุกๆ จากอาสาสมัครรุ่นพี่ที่เคยไปร่วมกิจกรรมค่ายจิตอาสามาหลายครั้ง มาสร้างสีสัน ปล่อยมุขฮาๆ และแจกของรางวัลให้กับเพื่อนๆ ชาวจิตอาสาภายในรถ
การเดินทางช่างยาวนานและถึงจุดหมายปลายทางช้ากว่ากำหนด รถขับข้ามแม่น้ำมูนที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ในช่วงสายๆ ของวันถัดมา ก่อนจะเลี้ยวขวาไปยัง บ้านค้อใต้ การต้อนรับด้วยกลองยาวและเสียงดนตรีสำเนียงอีสานเสนาะหู ทำให้ อาสาสมัครตื่นนอนขึ้นมาหลังจากหลับใหลมาตลอดคืน เด็กน้อย พ่อแม่ และผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านออกมาฟ้อนต้อนรับผู้มาเยือนกันอย่างสนุกสนาน และวงกลองยาวนี้เองที่นำพาอาสาสมัครเข้าสู่ที่พักที่วัดบ้านค้อใต้
อาหารเช้าวันใหม่เตรียมท้องเติมพลังให้กับชาวจิตอาสาพร้อมรับมือกับ กิจกรรมสร้างบ้านดิน ช่วงเช้าพวกเราทำความรู้จักกันระหว่างอาสาสมัครและ รู้จักกับพื้นที่ ตลอดจนพี่น้องชุมชนบ้านค้อใต้ โดยมีพ่อทองปน ชัยคำ อบต.บ้านค้อใต้ เป็นผู้แนะนำและให้ความรู้เรื่องชุมชน จากนั้นเรียนรู้จักประสบการณ์ สร้างบ้านดินจากพ่อสำราญ สัตตญากุล วันนี้ได้มีการพูดถึงความคาดหวังของ อาสาสมัครในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยรวมแล้วอาสาสมัครทุกคนล้วนคาดหวังถึงการสร้างบ้านดินให้สำเร็จ หวังที่จะทำบ้านดินให้เป็น และสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้
เมื่อได้ลงสู่พื้นที่ปฏิบัติจริง ชาวจิตอาสาต้องประหลาดใจเล็กน้อยกับสภาพพื้นที่ทำงานที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าที่ ประกอบไปด้วยพื้นดินที่ถูกตีกรอบเป็นสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 3 คูณ 3 เมตร ดินกองโต กองแกลบ จอบ พลั่วตัก และถังพลาสติก อาสาสมัครเริ่มต้นงานด้วยการขุดดินให้เป็นบ่อสำหรับเป็นจุด เตรียมดิน บ่อพร้อม คนพร้อม ก็ถึงเวลาลงย่ำดิน ย่ำ ย่ำ ย่ำ ย่ำ และ ย่ำ ส่วนผสมที่ประกอบไปด้วย ดิน แกลบ และน้ำ ถูกคลุกเคล้าผสมผสานเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ดินที่ถูกเตรียมในวันนี้ยังไม่สามารถใช้การได้ จึงต้องหมักดินทิ้งไว้ก่อน เพื่อให้ดินดูดน้ำและเกาะตัวได้ดีขึ้น
บ่ายสี่โมงเย็น ชาวจิตอาสาที่เปื้อนเปรอะเลอะโคลนต่างพากันไปล้างแข้งล้างขาที่แม่น้ำมูน โดยมีกลุ่มเด็กน้อยในหมู่บ้านเป็นผู้นำทาง แม่น้ำสายชีวิตของชาวบ้านค้อใต้ดึงเอาความเป็นเด็กของชาวจิตอาสาให้ออกมาโลด แล่นได้อีกครั้ง เมื่อชายหนุ่มชาวจิตอาสาหลายคนลงไปแหวกว่ายในแม่น้ำมูน ร่วมกับเด็กๆในชุมชนอย่างสนุกสนาน บรรยากาศชนบทและกลิ่นอายของความพออยู่พอ กินของชาวบ้านค้อใต้ นำพาให้อาสาสมัครหลายคน พูดคุยกับชาวบ้านอย่างคุ้นเคย …..
คืนนี้วัฒน์-ผู้ประสานงานจากเสมสิกขาลัย อุบลราชธานี ได้นิมนต์หลวงปู่เกื้อ เจ้าอาวาสวัดบ้านค้อใต้ มานำสวดมนต์และเทศนาเกี่ยวกับเรื่องความสามัคคีและ การทำงานเพื่อส่วนรวม หลังจากเสร็จกิจกรรมลงแล้วก็เป็นการสรุปงาน ความอ่อนล้าจากการเดินทาง พาให้อาสาสมัครบางกลุ่มรีบกลับไปนอน แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังร้องเพลงและอยู่คุยกันต่อ….
3 ทุ่มกว่าแล้วการปรับเปลี่ยนแผนมาถึง ที่หลับที่นอนของอาสาสมัครในโบสถ์ต้องโยกย้าย ด้วยเหตุผลเพราะพรุ่งนี้ตอนเช้ามืด พระจะต้องทำวัตรเช้าในบริเวณเดียวกัน หลายคนเริ่มหงุดหงิดเล็กน้อย แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันปูเสื่อกางมุ้ง ก็สามารถเปลี่ยนศาลาเปิดโล่งให้กลายเป็นห้องนอนของชาวจิตอาสาได้ภายในพริบ ตา
หง่างแหง่ง ๆ …เสียงระฆังของวัดเวลาตี 4 เป็นสัญญาณบอกเวลาว่าเช้าวันใหม่มาถึง เสียงพระสวดมนต์ทำวัตรเช้าทำให้ อาสาสมัครได้เข้าใกล้ธรรมะมากขึ้น 6 โมงเช้า เสียงกลองที่ถูกตีดังอีกครั้งได้ย้ำเตือนให้ทุกคนรู้ว่าวันนี้เป็นวันพระ นาฬิกาปลุกของสังคมชุมชนกระตุ้นให้ชาวจิตอาสาตื่นขึ้นพร้อมรับภารกิจวัน ใหม่ หนึ่งคืนผ่านไป ความสนิทสนมของผู้ร่วมเดินทางยังมีไม่มากนัก กิจกรรมเสริมอย่างสันทนาการ จึงถูกนำมาใช้สร้างเสียงหัวเราะและความคุ้นเคยได้มากขึ้น ก่อนจะลงมือทำบ้านดิน วันนี้เป็นงานใช้แรงงานล้วนๆ บางกลุ่มก็ยังคงทั้งเหยียบดินและทำอิฐดิน บางกลุ่มออกไปขุดดินเหนียว ทุกคนทำงานกันอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย วันนี้วิทยากรสอนทำบ้านดินตัวจริงคือ พี่รินทร์และพี่อ๊อด จากเสมสิกขาลัยอุบลราชธานี ได้เข้ามาควบคุมการทำงานและถ่ายทอดประสบการณ์การทำบ้านดินให้กับอาสาสมัคร ทุกคน
เวลาย่ำค่ำ กลุ่มเด็กทานตะวันมาแต่งเติมสีสันให้ค่ายบ้านดินในคืนนี้มีชีวิตชีวามาก ขึ้น เด็กๆ ออกมาวาดลวดลาย โชว์ลีลาการเซิ้งการฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน ชุดการแสดง 6 ชุดจากเด็กนับ 20 คน เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้อย่างสนุกสนาน ภายหลังเสียงปรบมือที่ยาวนาน ชาวจิตอาสาก็ได้มอบกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ให้กับน้องๆ กลุ่มเด็กทานตะวัน ภายหลังการแสดงสิ้นสุดลงแต่ชาวบ้านค้อใต้ยังไม่กลับเข้า บ้าน เพราะคืนนี้มีการซ้อมวงดนตรีกลองยาวของหมู่บ้าน พี่แว่นและเจสัน อาสาสมัครหนุ่มร่างใหญ่เข้าไปร่วมเป็นสมาชิกวงกลองยาว ตีกลองตามจังหวะได้ไม่แพ้มืออาชีพ ก่อนนอนคืนนี้อาสาสมัครถูกแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อคิดบทการแสดงในคืนสุดท้าย ภายใต้โจทย์ที่ว่า “ให้อาสาสมัครแสดงอะไรก็ได้ที่แสดงถึงความเป็นจิตอาสา” แต่ละกลุ่มต่างคร่ำเคร่งกับการตีความโจทย์ และคิดถึงการแสดงในคืนวันพรุ่งนี้……
เช้ามืดวันถัดมา นาฬิกาสงฆ์ตีตอนตี 4 เหมือนเดิม แต่ชาวจิตอาสาก็ยังหลับกันอยู่รอเวลาฟ้าสว่าง ภารกิจสร้างบ้าน ดินยังคงดำเนินต่อไป เมื่อดินถูกนำไปเทบล็อกทำอิฐดินจนหมดบ่อ ก็เป็นการเริ่มต้นการออกแบบบ้านดินหลังใหม่ให้กับกลุ่มเด็กทานตะวัน อาสาสมัคร 4 กลุ่มได้รับมอบหมายให้นำดินมาปั้นเป็นบ้านดินขนาดจำลอง และให้กลุ่มเด็กทานตะวันเป็นผู้เลือกแบบบ้านดินของกลุ่มเอง ผลการตัดสินปรากฏว่า บ้านดินของกลุ่มป่นเห็ดที่มีองค์ประกอบของบ้านและหน้าที่การใช้งานที่ถูกอก ถูกใจเด็กๆ ได้รับการเลือกให้เป็นแบบของบ้านดินหลังใหม่นี้
บ่ายวันนี้เราออกเดินทางไปยังอำเภอโขงเจียม ลงเรือชมแม่น้ำสองสีที่เกิดจากแม่น้ำโขงสีขุ่นเข้มตัดกับแม่น้ำมูลสีคราม สะอาดใส เราเดินทางข้ามจากฝั่งไทยไปยัง “ตะหลาดใหม่สีสัมพัน” ในฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เราใช้เวลาช็อปปิ้งหนึ่งชั่วโมงที่ฝั่งลาวก่อนจะนั่งเรือกลับมาที่ฝั่งไทย พร้อมเดินทางต่อไปยังวัดสันโค้งซึ่งเป็นวัดที่อยู่บนเกาะกลางแม่น้ำมูล ที่นั่นมีอาคารและกุฏิดินรวม 3 หลัง ให้ชาวจิตอาสาได้สัมผัสบ้านดินจริงๆ พระอาจารย์จาง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสได้เล่าถึงการทำบ้านดินและการใช้ชีวิตอยู่กับบ้านดินว่า ต้องคอยทำความสะอาดหมั่นใส่ใจในรายละเอียดและสภาพแวดล้อมรอบข้าง จุดใดชำรุดก็ต้องซ่อมต้องฉาบเพิ่มเติม เปรียบเสมือนกับการใช้ชีวิตของคนที่ต้องคอยใส่ใจและคอยตรวจสอบอารมณ์ของตน เองเสมอ ให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต และคอยเตือนตนเองให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม
แม่น้ำมูนยามเย็นเห็นขอบฟ้าจรดผืนน้ำ แสงสีทองสุกประกายทำให้ดื่มด่ำไปกับ ธรรมชาติ เรือข้ามฝั่ง 2 ลำพาอาสาสมัครกลับไปสู่แผ่นดินใหญ่ ก่อนที่รถบัสจะนำเรากลับสู่ที่พัก
คืนนี้โรงละครจิตอาสาเปิดฉากขึ้น แต่ละกลุ่มเตรียมความพร้อม คนดูก็พร้อมเช่นกัน เด็กน้อยและผู้ใหญ่ในชุมชน ออกมานั่งชมการแสดง ณ ศาลากลางหมู่บ้าน เริ่มต้นด้วย กลุ่มมักม่วน ออกมาร้องเพลงสามัคคีชุมนุม และสรุปข้อคิดดีดีว่า “ในตอนแรกเรามาสร้างประโยชน์ร่วมกัน แต่ในวันนี้เราได้มิตรภาพและความประทับใจกลับไป” กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มตุ้มปลายอน กลุ่มนี้มาแปลกเพราะให้เพื่อนอาสาสมัครนั่งสมาธิ หลับตาภาวนา และพูดคำว่า “จิตอาสา” ให้เสียงไปกระทบกับหัวใจจิตอาสาทุกดวง ปิดท้ายด้วยการร้องเพลงบอกรักกับทุกคน สร้างบรรยากาศความอบอุ่นได้อย่างดีเยี่ยม กลุ่มที่สาม กลุ่มขี้เกี้ยม แสดงละครสดให้พวกเราได้ชมกัน ละครดำเนินเรื่องราวของงานอาสาสมัครที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อในเหตุการณ์สึนา มิได้สะท้อนภาพการช่วยเหลือระหว่างกันของเพื่อนมนุษย์ และทิ้งท้ายประโยคเด็ดๆว่า “เราคืออาสาสมัคร ไม่มีการแบ่งแยก และขอยกนิ้วให้กับอาสาสมัครหัวใจเพชรทุกคน” กลุ่มสุดท้ายใช้เวลาเตรียมตัวนานกว่าใคร กลุ่มป่นเห็ด กลุ่มนี้สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความอึ้งให้กับผู้ชมทุกคน เพราะว่าพวกเขาออกมาวาดลวดลายการเต้นประหนึ่งเป็นละครเพลงได้น่าประทับใจโดย ไม่คำนึงถึงวัยของตนเองเลย ละครเรื่องนี้ได้ทิ้งท้ายเรื่องไว้ว่า “จริงๆ แล้วการทำงานอาสาสมัคร บางทีเราก็มุ่งจะทำงานมากเกินไป แต่แท้ที่จริงงานไม่สำคัญเท่ากับระหว่างทางที่เราได้ประสบ สิ่งที่สำคัญคือการมองตัวเอง ทำสิ่งดีดี ซึ่งเป็นการเติมเชื้อให้กับตัวเองให้ทุกคนเข้าใจเรื่องจิตอาสามากขึ้น และเป็นกำลังใจแก่กันต่อไป”
การแสดงของแต่ละกลุ่มสื่อถึงพลังความเป็นจิตอาสาได้อย่างประทับใจ ทั้งกระชากวัย ให้สาระและมีความสงบนิ่ง ชาวอาสาสมัครได้มุมมองเรื่องจิตอาสาที่สร้างสรรค์ สิ่งนี้เองที่ชี้ให้เห็นว่าการทำงานอาสาสมัครสามารถสร้างพลังสร้างสรรค์โลก ได้จริงๆ พลังแห่งการเรียนรู้ การปรับตัว การแสดงออก และที่สำคัญที่สุดคือพลังแห่งการทำความดี
กิจกรรมคืนนี้ยังไม่จบ ชาวจิตอาสาเปิดสภาสรรพสิ่ง เพื่อให้อาสาทุกคนได้แสดงจินตนาการของตนเองออกมา แทนตัวเองเป็นสิ่งของที่อยู่บนโลกใบนี้และบอกเล่าความรู้สึกของตนเองสู่ สมาชิกในสภานี้ได้รับรู้กัน บ้างแทนตัวเองเป็นผ้าขี้ริ้ว ยอมทำงานแม้จะเหนื่อยยาก บ้างเป็นสายน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต บ้างเป็นมนุษย์ เป็นอากาศ เป็นท้องฟ้า เป็นแสงแดด ดวงอาทิตย์ บางส่วนผันตัวเองเป็นส่วนประกอบในการสร้างบ้านดิน เป็นแกลบ เป็นก้อนดิน นอกจากนี้ก็มีบางกลุ่มที่ให้ตัวเองเป็นผู้บันทึกเรื่องราวกิจกรรมครั้งนี้ คือเป็นสมุดบันทึก เป็นปากกา อีกกลุ่มแทนตัวเองเป็นโรงงานถุงพลาสติก และขยะ ที่คอยย้ำเตือนเพื่อนให้ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังมีบางกลุ่มที่แทนตัวเองเป็นสิ่งเด่นๆในค่าย ทั้งระฆัง ศาลาวัด หมอน มุ้ง ผ้าห่ม และกลุ่มสุดท้ายคือตัวแทนของกำลังใจ และสายลมที่หวังดี สภาสรรพสิ่งในครั้งนี้ได้พบเห็นคุณค่าของจิตใจชาวอาสาว่าเป็นผู้ที่มองและ รับรู้ความรู้สึกของสรรพสิ่งรอบตัวได้ ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไป
เช้าวันสุดท้ายอาสาสมัครได้ร่วมประเพณีกฐินของชุมชน ณ วัดบ้านค้อใต้ ที่เราพักอาศัยเป็นเวลา 3 คืน และเมื่อเสร็จพิธีแล้ว พ่อเฒ่าแม่แก่ของชุมชนได้จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับอาสาสมัคร ซึ่งงานนี้ได้รับพรกันไปเต็มๆ สร้างความอิ่มอกอุ่นใจให้กับชาวจิตอาสากันอย่างถ้วนหน้า
ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ อาสาสมัครร่วมกันสรุปงานและเขียนไปรษณียบัตรบอกเล่าความประทับใจถึงตน เอง ถึงเวลาที่อาสาสมัครต้องเดินทางกลับ พร้อมอาหารจากชุมชนที่ถูกห่อใบตอง อาสาสมัครพร้อมกันที่รถบัสคันเดิม และเดินทางออกจากหมู่บ้านค้อใต้มุ่งหน้ากลับไปสู่กรุงเทพมหานคร
การเดินทางของอาสาสมัครจบสิ้นลง ภารกิจจิตอาสาของตนเองได้ตรงตามเป้าหมาย ของตัวเองบ้างไม่ตรงบ้าง อย่างไรก็ตามค่ายบ้านดินครั้งนี้ก็ทำให้จุดประกายความฝันของคนกลุ่มเล็กๆใน สังคมให้ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง หรืออย่างน้อยที่สุด การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก็ถือว่าได้คืนกำไรให้กับชีวิต เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้คนรอบข้าง เรียนรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวเรา และการทำงานอาสาสมัครในครั้งนี้ก็สามารถหลอมหัวใจของคนเราให้สมดุล ภายใต้หัวใจ “จิตอาสา”