โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2552
รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ และอาจารย์ทิชา ณ นคร หรือป้ามนผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กระทรวงยุติธรรม เคยให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับกลุ่มจิตวิวัฒน์เมื่อนานแล้ว และเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคมที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เชิญอาจารย์ทั้งสองท่านและผมขึ้นเวทีการประชุมวิชาการประจำปี เพื่อร่วมเสวนาในหัวข้อ “บ่มเพาะความดี”
ก่อนหน้าการเสวนา ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ และ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บรรยายนำเรื่อง “ความดี” เป็นการบรรยายวิชาการที่น่าสนใจ เมื่อพบว่าอะไรที่เรียกว่าความดีนั้นมีวิวัฒนาการและสามารถแยกองค์ประกอบได้ ด้วย เนื้อหาสำคัญคือ ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาจริยธรรมที่เคยเรียนๆ กันมานั้นกำลังถูกท้าทายจากบรรทัดฐานและบริบทของสังคมในปัจจุบัน
อาจารย์ประภาภัทรและอาจารย์ธนาเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน “จิตตปัญญาศึกษา” ส่วนอาจารย์ปราโมทย์และผมเคยร่วมงานกันในแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพมาก่อน ไตรภาคีจิตวิวัฒน์-จิตตปัญญาศึกษา-แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ทำงานร่วมกับ สสส. เพื่อขับเคลื่อนประเด็น Spirituality จากแง่มุมที่ต่างกัน
เดิมเราเคยเชื่อว่าจริยธรรมพัฒนามาตามอายุ เมื่อยังเล็กกลัวการถูกลงโทษ ชอบได้รางวัล แยกผิดถูกชัดเจน จากนั้นจึงพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่เราทำความดีเพราะเป็นความดี เป็นระดับอุดมการณ์หรืออุดมคติ แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายทศวรรษ ก็พบว่าอะไรที่เรียกว่าการทำความดีเพราะอุดมการณ์หรืออุดมคตินั้นหายากหรือ ไม่ก็ไม่มีจริง รวมทั้งมีทฤษฎีใหม่ๆ ที่ว่าด้วยการพัฒนาจริยธรรมเกิดขึ้น เช่น ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron Theory) ที่ใช้ชีววิทยามาอธิบายปรากฏการณ์ที่เรียกว่าต้นแบบ (role model) และการเอาใจเราไปใส่ใจเขา (empathy) เป็นต้น
อาจารย์ประภาภัทรเล่าเป็นคนแรกว่า โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นโรงเรียนทางเลือก จัดการเรียนการสอนโดยครูอย่าสอนมากแต่นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้มาก อาจารย์มีข้อสรุปว่า ความดียังต้องบ่มเพาะมาจากบ้านโดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบ เมื่อมาถึงโรงเรียนต้องมีครูเป็นต้นแบบ ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่อาจารย์ธนาและอาจารย์ปราโมทย์ บรรยาย บุคคลสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีจำนวนมากได้รับการบ่มเพาะจากมารดาจริงๆ
อาจารย์ทิชาเล่าเรื่องเด็กบ้านกาญจนาภิเษก เด็กจำนวนมากเคยกระทำผิดด้วยคดีทำลายชีวิตผู้อื่น แต่บ้านกาญจนากลับเป็นบ้านที่ไม่มีรั้ว จนถึงกับญาติของผู้เสียหายต้องร้องเรียนและตำหนิการดำเนินงานของบ้านกาญจนา อย่างโกรธแค้น อาจารย์ทิชาใช้คำตำหนิอย่างโกรธแค้นของญาติเหล่านี้มานำกระบวนการให้เด็ก บ้านกาญจนาฯ ได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า empathy คือ “ถ้าเราเป็นเขา ซึ่งคนที่รักถูกฆ่า ควรรู้สึกอย่างไร”
อาจารย์ทิชาใช้เครื่องมือหลายอย่างในการนำกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ จนกระทั่งเด็กๆ รู้จักให้อภัย นั่นคือให้อภัยสังคมที่ทอดทิ้งพวกเขา รวมทั้งให้อภัยพ่อแม่ที่ไม่เคยใส่ใจไยดีพวกเขา วิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ของอาจารย์ทิชา ใช้ทั้งการอ่าน การเขียน การเล่าเรื่อง ไปจนถึงการใช้พละกำลัง โดยให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพ เอื้อต่อการปลดปล่อย และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพของสมองอย่างเต็มที่
ข้อพิสูจน์ว่าวิธีของอาจารย์ทิชาได้ผล คือเด็กๆ ไม่หนีทั้งที่ไม่มีรั้ว ซึ่งผมมีสมมติฐานว่าเพราะพวกเขามีความสุขที่นี่ มิได้หมายความว่ามีความสุขเพราะภูมิสถาปัตย์ของบ้านกาญจนาฯ สวยงาม แต่มีความสุขเพราะที่นี่กลับเป็นที่ที่มีเสรีภาพทางปัญญา
ตัวร่วมของโรงเรียนรุ่งอรุณและบ้านกาญจนาภิเษก คือเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพทางปัญญา
โดยส่วนตัว ผมมีประสบการณ์ได้ตรวจรักษาบุคคลซึ่งได้ชื่อว่า “ไม่ดี” ตามกฎหมายและบรรทัดฐานของสังคมจำนวนมาก นั่นคือเด็กที่ต้องคดียาเสพติด เด็กสถานพินิจฯ และผู้ต้องขังในเรือนจำกลาง หลังจากทำงานหลายปี ผมก็มีสมมติฐานเพิ่มเติมว่าเด็กๆ หรือบุคคลเหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน ๓ ประการ
หนึ่งคือ เด็กๆ เหล่านี้ไม่รู้วิธีที่จะมีความสุขแบบช้าๆ รู้จักแต่การเสพสุขด้วยความเร็วสูง นั่นคือเล่นเกม มีเซ็กซ์ ใช้ยา และตีกัน รวมทั้งเสพสุขจากการดูคลิปตีกัน เด็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถรอความสุขในอีกมิติหนึ่งที่เกิดจากการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือฟังดนตรีดีๆ สักเพลง
เรื่องนี้อธิบายทางชีววิทยาได้ว่า เด็กๆ เหล่านี้รู้วิธีเหนี่ยวนำให้สมองของตนเองหลั่งโดปามีน (dopamine – สารเคมีจากต่อมไร้ท่อใต้สมอง มีผลทำให้จิตใจเบิกบานแจ่มใส มีความสุข) จำนวนมากในเวลาที่นับเป็นวินาที แล้วติดความสุขที่ได้นั้น
สองคือ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถทำนายผลลัพธ์ของการกระทำของตนเองได้ ทั้งผลลัพธ์ระยะสั้นหรือระยะยาว การขู่เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กๆ การอธิบายอนาคตอย่างละเอียดทุกขั้นตอนและช่วยพวกเขาวาดภาพอนาคตกลับได้ผลดี กว่า
เรื่องนี้อธิบายทางชีววิทยาได้ว่า เพราะสมองส่วนที่เรียกว่า พรีฟรอนทัล คอร์เทกซ์ (prefrontal cortex – มีความสำคัญในการเชื่อมโยงความนึกคิด และความจำ กับการตัดสินใจ) มิได้ถูกกระตุ้นหรือถูกฝึกให้ใช้งานมากพอ จึงทำนายอนาคตไม่ได้
สามคือ เด็กๆ เหล่านี้ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง ส่วนใหญ่มีประวัติถูกพ่อแม่ทิ้ง ไม่ทิ้งทางกายก็ทิ้งทางใจ เมื่อมาเรียนหนังสือก็เป็นพวกเด็กชั้นต่ำเพราะข้อหาเรียนหนังสือไม่เก่ง
กระบวนการหรือวิธีที่สถาบันทั้งสองแห่งใช้กับเด็กๆ ในความดูแล เป็นกระบวนการหรือวิธีการที่แก้ไขจุดอ่อนทั้งสามประการของเด็กๆ สมัยนี้ นั่นคือเปิดพื้นที่อิสระให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพสมองของตนเองอย่างเต็มที่ในการตอบโจทย์ที่อาจารย์กำหนดให้ โจทย์ที่ได้มิใช่โจทย์ข้อสอบ ถ้าเป็นโรงเรียนรุ่งอรุณคือโจทย์ชีวิตที่พบทุกวัน ถ้าเป็นบ้านกาญจนาฯ คือโจทย์ชีวิตที่เคยประสบในอดีต ขอเพียงเราสามารถปลดปล่อยสมองของเด็กๆ ได้ เด็กจะได้ทันทีสามประการ
ประการที่หนึ่งคือ ได้รับความสุขฉับพลัน อาจารย์ประเวศ วะสี ใช้คำว่า instant happiness เนื่องจากการได้คิด พูด และทำอย่างมีเสรีภาพ ไม่ถูกสกัดหรือถูกวิพากษ์ว่าผิดหรือโง่เง่าอย่างที่เคยได้รับในอดีต หรือที่ได้รับการจากการศึกษาในรูปแบบปกติ
ประการที่สองคือ เด็กได้เรียนรู้จิตใจของผู้อื่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักเอาใจเราไปใส่ใจเขา นั่นคือ empathy
ประการที่สามคือ เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง จากที่เคยมองตนเองว่าโง่และไม่เป็นที่ต้องการกลายเป็นมนุษย์คนใหม่ที่ไม่โง่ เป็นที่ต้องการ และสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย
พูดง่ายๆ ว่าเปิดพื้นที่ปฏิบัติการที่มีเสรีภาพทางปัญญาให้แก่เด็กๆ นี่คือวิธีพัฒนาคนสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หนึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก หนึ่งเป็นสถานกักกัน แต่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นสากล
วิธีทำงานแบบโรงเรียนรุ่งอรุณและบ้านกาญจนาภิเษก เกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อสิ่งที่เรียกว่าความดี จริยธรรม และการศึกษา นั่นคือจิตวิวัฒน์สู่จิตสำนึกใหม่ หากเปลี่ยนได้แล้วที่เหลือก็ง่าย นั่นคือเพียงแค่ “เปิดพื้นที่” ให้แก่เด็กๆ และเยาวชน
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้จัดวงเสวนาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการ “บ่มเพาะความดี” เป็นเรื่องทำได้จริงและสังคมไทยไม่หมดหวัง
Credit : http://jitwiwat.blogspot.com/2009/10/blog-post_23.html