หลังปีใหม่หลายคนคงเติมพลังชีวิตกันมาเต็มเปี่ยมแล้ว พร้อมลุย!!!
สำหรับ ใครที่หนีไปเที่ยวปีใหม่ก่อนเลยไม่ได้มาร่วมอีเวนท์ “สัปดาไม่ซื้อ” กับสถาบันต้นกล้า กลุ่ม we change และองค์กรร่วมจัด ที่สวนสันติชัยปราการ เมื่อวันที่ 27-28 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา เราก็เก็บบรรยากาศและเรื่องราวมาฝากกันเล็กๆน้อยๆ แต่ปีหน้าอย่าพลาดละกันน้า…

เริ่มงานวันแรก 27 ธันวาคม บรรดาร้านรวงที่ผลิตสินค้าแฟร์เทรดและของทำมือรายย่อยก็ทยอยเปิดร้านปูเสื่อ รอคนมาร่วมงานกันอย่างกระตือรือร้น นิทรรศการในส่วนกลางงานปีนี้ก็มีลูกเล่นแบบสามมิติเพื่อดึงดูดคนมาอ่าน โดยนำเสนอข้อมูลของสินค้าบรรษัทในอีกด้านที่จะไม่ได้รับรู้จากสื่อกระแสหลัก ทั่วไป เช่น การกดขี่แรงงาน กระบวนการผลิตที่ทรมานสัตว์ ละเมิดสิทธิชุมชน ฯลฯ แถมยังมีหุ่นนางแบบสาว ป้ายลดราคา และรถเข็นแบบที่จะเห็นตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปมาสร้างบรรยากาศกันด้วย

ช่วงบ่ายผู้สนใจทยอยมา กิจกรรมบนเวทีกลางก็เริ่มต้น ทั้งดนตรีจากน้องๆมัธยม เสวนาวิชาการที่ว่าด้วยการบริโภคและการผลิตที่ใส่ใจ เป็นธรรม และแบ่งปัน ให้เกียรติร่วมเสวนาโดยสามวิทยากร ประวิทย์ เยี่ยมแสนสุข จากธุรกิจกลุ่ม วังแดงเอ๊กซ์เพลส เพ็ญนภา หงษ์ทอง อดีตนักข่าวนักเคลื่อนไหวและผู้แปลหนังสือ No Logo ที่กำลังจะตีพิมพ์เร็วๆนี้ เนื้อหาว่าด้วยการเปิดโปงกลไกของบรรษัทใหญ่ และ สุวรรณา อัศวเรืองชัย กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (จะนำเนื้อหาการพูดคุยมานำเสนอต่อไป)

ต่อเนื่องจากเสวนา เป็นการฉายสารคดี “The story of stuff” ซึ่งนำเสนอให้เห็นที่มาของสินค้าและกระบวนการกระตุ้นการบริโภคที่กระทำกับ เราๆ จัดว่าเป็นสารคดีสั้นๆที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นที่รอบด้านอย่างมากทีเดียว (หาดูได้จากเว็บไซต์มากมายทั้งภาคอังกฤษและไทย ลองค้นเรื่องนี้จาก google.com หรือที่ http://www.storyofstuff.com/downloads.html)
พอ ตกเย็นเราก็ได้ครื้นเครงไปกับ “น้องออย” เจ้าของหนังสือ “Buy Nothing Month” อดีตสาวอักษร จุฬาฯที่ท้าทายตัวเองด้วยการลดซื้อ ๑ เดือนเต็ม งานนี้น้องเขามาเล่าประสบการณ์และบรรดาสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแบบกันเอง และเราก็ปิดท้ายอีเวนท์วันแรกด้วยดนตรีจากครอบครัวแสนสุข Hope Family อากาศยามหัวค่ำของเดือนธันวามคมยิ่งเสริมบทเพลงที่มีความหมายไพเราะมากอยู่ แล้ว ให้มีคุณค่ามากขึ้นไปอีก
…..

วัน ที่สอง 28 ธันวาคม ก็มีเรื่องราวๆดีๆไม่ต่างกัน คนทยอยมาร่วมงานหนาตากว่าวันแรก บ้างก็ได้ข่าวจากสื่อต่างๆ บ้างก็เป็นขาจร ผ่านมาเจองานพอดิบดีเลยปรี่เข้ามาถามว่า มีงานอะไรเหรอ ? ไม่ซื้อยังไง ? ไม่ซื้ออะไร ? แต่เราก็ไม่เบื่อจะตอบคำถาม ด้วยอยากชวนคุย อยากนำเสนอและชวนมาร่วมงาน นั่งฟังเพลงสักเพลงก็ยังดี หน้าร้านค้าคึกคักกว่าโซนอื่น ส้มหวานๆปลอดสารพิษที่สั่งตรงจากเชียงใหม่ก็ขายดิบขายดี ร้านจากเครือข่ายตลาดสีเขียวก็ยังคงความอร่อยไว้ได้ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น ลูกชิ้นเห็ด ยำผักป้าตุ๊ อาหารจากดอกไม้ป้าจาย กาแฟออร์กานิคจากร้านของเรา ฯลฯ

วันนี้ เราเริ่มเวทีกลางด้วยดนตรีฟังสบายจาก “วาบิ – ซาบิ” น้องคนนี้เป็นนักร้องสาวหน้าใสที่แต่งเอง ร้องเอง เล่นเอง ทำซีดีมาขายเองอีกต่างหาก แล้วหลังจากนั้น แอคชั่นเอด หนึ่งในองค์กรร่วมจัดก็นำทีมเริ่มวงเสวนาที่ว่าด้วยมุมมองเยาวชนต่อ กระแสบริโภคปัจจุบัน และมุมมองด้านที่มาของสินค้าจากแรงงานของโรงงานสมานฉันท์ หรือโซลิดาลิตี้กรุ๊ป หลังจากนั้นก็ฉาย The story of stuff และต่อด้วยกิจกรรม ศิลปะแสดงสด โดย “สมพงษ์ ทวี” นักเขียน ศิลปินอิสระ นักวิจารณ์ ซึ่งนำเสนอด้วยท่วงท่า ลีลาที่ไร้ภาษาพูดแต่แฝงเร้นเนื้อหาเต็มเปี่ยม หลังการแสดงเรายังได้พูดคุยกับศิลปินท่านนี้กันต่อ ทั้งประเด็นการเป็นศิลปินในฐานะคนธรรมดาๆ มุมมองต่อการนำศิลปะมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม ฯลฯ (จะนำเนื้อหาการพูดคุยมานำเสนอต่อไป)

ปิดท้ายสัปดาห์ไม่ซื้อปีนี้กันด้วยดนตรี จาก “พจนาถ พจนาพิทักษ์” ที่มาพร้อมบทเพลงที่เคยได้ยินได้ฟังกันมาตามอีเวนท์ประเด็นทางสังคมมาหลาย ครั้ง แต่ยังคงความหมายคุณค่าดีๆไม่เสื่อมคลายเลย

สัปดาห์ ไม่ซื้อ เป็นกิจกรรมของสถาบันต้นกล้าและองค์กรร่วมจัด มุ่งหมายจุดกระแสการหันมาทบทวน เท่าทันการบริโภคของเราเอง ตั้งคำถามกับที่มาของสินค้าบ้าง จนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละเล็กละน้อย สู่การเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบ ปีนี้จัดกันเป็นปีที่ ๒ แล้ว ด้วยคอนเซปป์ ใส่ใจ เป็นธรรม และแบ่งปัน ก่อนหน้ากิจกรรม ๒ วันที่สวนสันติชัยปราการ เราได้จัดเวิร์คชอปหาทางเลือกจากการซื้อกันมาแล้ว ๕ วัน ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟรี และยังทำรณรงค์ชวนคนเข้าร่วมโครงการนี้กันที่บริเวณมาบุญครอง สยามกันด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของสถาบันต้นกล้า และ กลุ่ม we change ได้ที่เว็บไซต์ www.wechange555.com

ที่มา http://wechange.seubsan.net/Joomla/index.php/component/content/165?task=…