บทเรียนงานพัฒนา จากปากคำคนธรรมดา
เขียนโดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นักพัฒนาอาวุโส
วันอังคาร ที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551
 Image
หัวปี ๒๕๕๑ ทีมถอดบทเรียนการพัฒนาคนภาคอีสาน มีโอกาสได้พูดคุยสัมภาษณ์ พี่ชัช-ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นักพัฒนาอาวุโส ผู้ก้าวเข้าสู่งานพัฒนาสังคม จากบทบาทอาสาสมัครมอส. รุ่นที่ ๑ จนปัจจุบัน ยังเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญ ที่คงค้นคิด ปฏิบัติการเข้มข้น เพื่อความอยู่ดีมีสุขร่วมกันของผู้คนทั้งสังคม๓ บริบท : บาทฐานการเรียนรู้ของนักพัฒนาในอดีต

การเรียนรู้ของนักพัฒนายุคก่อนไม่ได้มีกระบวนท่าอะไรมากมายซับซ้อน แกนสำคัญคือ เขาถีบลงหมู่บ้านเลย ฉะนั้นคนส่วนมากจึงเติบโตมาจากการทำงานในหมู่บ้าน อยู่ในหมู่บ้านเป็นหลัก มีเวลาก็ออกมาพบกันพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในรุ่น มีเวทีของมอส.(มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานในพื้นที่มาพบปะกันทุกเดือน หรือทุกสองเดือน ภายในรุ่นก็มีการคิดค้นงานภายในกันเองด้วย มีการประชุมวางแผนกันไปดูงานของกันและกัน จากความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพื้นฐาน จึงมีการเรียนรู้กันสูงมาก

บางช่วงก็เข้าวงธรรมชาติกับรุ่นพี่ เจอพี่ก็โดนยำเรื่องแนวคิด ทฤษฎี อุดมการณ์ และประสบการณ์การทำงานในหมู่บ้าน บางคืนคุยกับพี่ๆ ทั้งคืน ไม่รู้เอาคำถามมาจากไหนเยอะแยะ จุดดีคือมีรุ่นพี่อย่างพี่เปี๊ยก(บำรุง บุญปัญญา), พี่เรือง(เรือง สุขสวัสดิ์), พี่พิศิษฐ์(พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ) เขาสร้างสิ่งที่เรียกว่า เวทีนักพัฒนา  เป็นเครือข่ายนักพัฒนาทั่วประเทศ ช่วงแรกยังไม่ได้แยกเป็นภาค มีเวทีแลกเปลี่ยนประจำปีก็ดี เจอกันหมดทุกรุ่น คุยกันตั้งแต่งานพื้นที่ งานบนดอย งานพื้นราบ งานทะเล ต่อมากลายเป็น EFOD หรือ Exchange for Rural Development

โดยสรุปสามเรื่องหลัก ๆ ที่นักพัฒนารุ่นก่อนมีเป็นกระบวนการต่อเนื่อง  คือ หนึ่ง.มีฐานการบ่มเพาะในหมู่บ้าน  สอง.มาเจอกันเป็นระยะโดยเอาเรื่องราวที่ทำงานในหมู่บ้านมาแลกกันเอง ไปดูงานกันและกัน สาม.เข้าวงแลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่ เราอยากเจอกันเพราะเจอกันแล้วสนุก อาจเพราะคนน้อย ทำให้เกิดความรักความผูกพันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ท อยากเจอกันต้องไปหากันอย่างเดียว แต่มันรู้เรื่องราวของกันละเอียดมาก ใครชอบใคร ใครผิดหวังอกหักรู้กันทั่วประเทศ

รุ่นพี่เติบโตมาในยุคแสวงหา ถูกบ่มเพาะความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์มาจากขบวนการนักศึกษา เรื่องแบบนี้จึงไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การทำงานในหมู่บ้าน การวิเคราะห์ยุคนั้นมีอิทธิพลมาจากแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ เราเชื่อว่าชาวบ้านจะมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์และมีกำลังการผลิตสูงขึ้น เพราะมาร์กซิสต์ไม่ได้ปฎิเสธเทคโนโลยี จึงเข้าไปจัดตั้งเขา คล้ายๆ การจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ รวมพวกคนจนต่อรองคนรวย เป็นสไตล์อย่างนั้น

พี่เริ่มทำงานพัฒนาในช่วงปี ๒๕๒๒-๒๓ แถบภาคเหนือที่พี่ทำงานจะส่งเสริมชาวบ้านใช้ปุ๋ยเคมี เอาหมูดำออกมาเอาหมูขาวเข้าไป เอาไก่โรดไอแลนด์เรดเข้าไป เอาไก่พื้นเมืองออกมา เปลี่ยนหมดเลยทั้งพันธุ์ข้าว พันธุ์พืช พันธุ์ไก่ พันธุ์หมูชาวบ้าน แถบอีสานก็ส่งเสริม ปุ๋ย ปอ บ่อ ส้วม สิ่งเหล่านี้เป็นกระแสหลักในสมัยนั้น เพราะเราชอบคิดว่านักปฏิวัติหรือนักกิจกรรมทางสังคมนั้นสุดยอดทางความคิด จึงต้องเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านให้คิดแบบเรา ปรากฏว่าชาวบ้านเละหมด กว่าจะสรุปได้ แล้วเริ่มปรับฐานคิดไปเรียนรู้จากชาวบ้าน ประมาณปี ๒๕๒๖-๒๗ จึงเริ่มคุยเรื่อง วัฒนธรรม เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้โง่ แต่มีประวัติศาสตร์มีความรู้ ชุมชนมีพลังซ่อนอยู่ เราเคี่ยวกันอยู่ ๒ ปี จากกระบวนการทำงานในพื้นที่ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเอง  และแลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่

ผลพวงจากที่เราเคี่ยวกันมา ปี ๒๕๒๘ เราจึงมาเจอปราชญ์ชาวบ้าน เช่น พ่อชาลี พ่อมหาอยู่ จึงเริ่มขยายความคิดแบบนี้ไปทั่วประเทศ อย่างพี่ก็พาพ่อชาลี ลุงมหาอยู่ ไปคุยกับชาวบ้านทุกจังหวัดที่ภาคเหนือ ไปภาคเหนือลุงชาลีก็เล่าให้ชาวบ้านฟังว่า “ขุดบ่อน้ำมา ๑๗ ปี มือแตกแข็งล้างหน้าไม่ได้ต้องเอาหลังมือล้าง”  ชาวบ้านก็ตื่นเต้นกันใหญ่ พอเราถามชาวบ้านว่า “ดีไหม””ดีๆ” แต่พอถามว่า “พวกเราจะทำได้ไหม” ชาวบ้านก็พากันตอบว่า “ไม่” พ่อชาลีก็บอกว่า “สงสัยชัชวาลย์พาพ่อมาผิดที่แล้ว ที่อีสานมันไม่มีน้ำต้องขุดบ่อเพื่อหาน้ำ แต่ที่นี่น้ำเต็มไปหมด”  เขาก็ตอบว่า

มันเหมือนกับการเคาะกะโหลกเรา ถือเป็นความอ่อนหัดของเราเองที่เราไปถอดแบบชาวบ้านมาทั้งหมด จากนั้นก็เริ่มไปหานักปราชญ์ทางภาคเหนือ เช่น พ่ออินคำ อ้ายสมฤทธิ์ คนนั้นคนนี้ จึงเริ่มรู้จักไร่หมุนเวียน รู้จักป่าเมี่ยง รู้จักระบบที่ชาวบ้านเขาทำกัน ทำให้เรียนรู้ว่าระบบนิเวศน์ที่แตกต่างกันมักมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน

ฉะนั้นวิธีการทำงานสมัยก่อนนั้น ทันทีที่พบว่ามีอะไรพอจะจัดการได้ นักพัฒนาเราจะเข้าไปศึกษาไปเรียนรู้เลยว่าชาวบ้านทำอย่างไร จากนั้นก็พาชาวบ้านไปดูงาน ไปเป็นวิทยากร พาสื่อมวลชน นักวิชาการลงในพื้นที่ มันก็ขยายไปเรื่อย พอขยายเราก็ตั้งเป็นเครือข่าย เครือข่ายป่าชุมชนเอย เครือข่ายเกษตรทางเลือกเอย ฯลฯ

คงนับพัฒนาการจากปี ๒๕๒๘ เป็นต้นมา เราเริ่มทำงานเริ่มสู้กับรัฐไปด้วยทุกเรื่อง เรื่องเกษตรก็สู้กับนโยบายเกษตรแผนใหม่ เกษตรสารเคมี ศึกษา วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการสัมปทานป่าไป และทำเกษตรทางเลือกไปด้วย ปี ๒๕๓๐ พัฒนามาสู่ขบวนการป่าชุมชน ช่วงปี ๒๕๓๗ สถานการณ์เอดส์เข้ามา ตอนนั้นมีความคิดที่ว่าเอดส์เป็นแล้วรักษาไม่หายตายอย่างเดียว รัฐใช้วิธีรณรงค์ให้คนกลัวแล้วก็ไปตั้งนิคมให้ผู้ติดเชื้อ เราไม่เห็นด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์ แต่เราก็ไม่มีทางออก สมัยแรกเกิดหมอเทวดา มากินสมุนไพรมาสวดมนต์ด้วยกัน ปรากฏว่าดีขึ้น แต่โดนตำรวจจับ พวกเราก็ไปศึกษาว่ามันคืออะไร พัฒนาการมาสู่การทำงานกับผู้ติดเชื้อ รวมกลุ่มรณรงค์ทางสังคมควบคู่กับการตั้งเครือข่ายหมอพื้นบ้านหมอเมือง หมอสมัยใหม่รักษาไม่หายมันก็ท้าทายหมอเมือง พวกที่มีวิชาก็งัดกันออกมาหมด มาทำสมุนไพรรักษา ตั้งเครือข่ายหมอพื้นบ้านก็เกิดขึ้นทั่ว

ช่วงหนึ่งพวกเราไปทำงานหัตถกรรม อีสานมีกลุ่มแพรพรรณเป็นรุ่นบุกเบิก ทางเหนือก็มีกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง ทั้งหมดทั้งมวลเป็นกระบวนท่าที่ทำให้งานเราเคลื่อนไปอีกแบบหนึ่ง คือ การเอาความรู้เดิมเอาความสำเร็จของชาวบ้านมาขยายผล ที่สุดก็สร้างเครือข่ายที่นักพัฒนาเรียนกับชาวบ้านไปด้วย เจอกันเองด้วย เคี่ยวกับรุ่นพี่ด้วย ก็เกิดขึ้นและทำกันเสมอมา

ถือเป็นคุณูปการของเอ็นจีโอในช่วงทศวรรษแรกหลังจากปรับแนวคิด พร้อมกับการแยกภาค แล้วตั้งชมรมนักพัฒนาภาคต่างๆ ขึ้น เป็นหน่วยที่ทำงานทางความคิด หน่วยพูดคุย มีกลุ่มศึกษา ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นตัวเคลื่อนและเชื่อมโยงกัน ปี ๒๕๒๘ กลไกชมรมต่างๆ ก็ผลักดันให้เกิดกป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายด้วย ประมาณแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๖ ที่ต้องการประสานกับเอ็นจีโอ โดยเชื่อมตัวองค์กรผ่านกป.อพช. ส่วนเราเคลื่อนทางความคิดความสัมพันธ์ผ่านชมรมนักพัฒนา

น่าเสียดายที่ชมรมนักพัฒนาในขบวนหายไป หากเราจำลองหมู่บ้าน ชมรมฯเหมือนกับฐานเครือญาติ มันสำคัญในการสัมพันธ์ติดต่อพูดคุยกัน ก่อนไปตั้งองค์กรตั้งกลุ่มกรรมการนั่นนี่อีกที ส่วนหนึ่งที่ฐานความสัมพันธ์ในขบวนไม่ชัดเจนเหมือนเก่า เป็นเพราะขบวนใหญ่ขึ้น มีหลายวงมากขึ้น การเรียนรู้ระหว่างกันก็เลยน้อยลง ประกอบกับผลจากการพัฒนาเป็นเครือข่าย ที่เริ่มก่อรูปประมาณปี ๒๕๓๔-๓๕ เป็นต้นมา เราเริ่มเคลื่อนไหวในเชิงรณรงค์เชิงประเด็นมากขึ้น

ก่อนนั้นการทำงานในหมู่บ้านก็ทำทุกเรื่อง ไม่ได้แยกประเด็นมากนัก ช่วงหลังๆ แยกเป็นเครือข่าย ทำให้นักพัฒนาคิดเป็นประเด็น เป็นเรื่องๆ พอเป็นเครือข่าย มีข้อดีคืองานรณรงค์เคลื่อนไหวจะแหลมคม เห็นโจทย์เห็นคู่ขัดแย้งชัดเจน จึงทำงานเบ็ดเสร็จตั้งแต่หมู่บ้าน มีข่ายข้อมูล รณรงค์ ผลักดันนโยบาย เป็นแท่งๆ ไป ข้ออ่อนของการเล่นเรื่องเดียวแต่ลึกแบบนี้ ทำให้เราแคบ เป็นการเรียนรู้เป็นแนวดิ่งเข้าซองใครมัน หาจุดเชื่อมโยงกันยาก ขาดการเรียนรู้แบบขวางที่ต่อเนื่องโยงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน คิดว่าสิ่งนี้เป็นต้นตอปัญหามาถึงปัจจุบัน

อีกอย่างเหมือนกับการแสวงหาถูกค้นพบแล้ว ช่วงหลังเหมือนนักพัฒนากลายเป็นนักส่งเสริม มีสูตรสำเร็จในการทำงาน มีความคิดตกผลึกเบ็ดเสร็จให้เรียบร้อยแล้ว อย่างทำเรื่องป่าชุมชน ก็เข้าไปหาชาวบ้าน ชวนวิเคราะห์เรื่องนโยบาย แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวางระเบียบ แบ่งเขตป่า มีกฎกติกา เหมือนเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมป่าชุมชน ส่งเสริมเกษตรทางเลือก ฯลฯ ทัศนะพี่คิดว่ามันเริ่มกลับมา Top down อีกรอบ เพราะเราใช้ทุนเดิมที่ค้นพบในช่วงแรกมาเคลื่อนไหวมารณรงค์จนหมดเหมือนกัน ตอนหลังเราจึงพบว่าเราไม่ได้ค้นพบอะไรมากเลย

 

แผ้วถางพัฒนาจนพบความรู้ทางเลือก..ฤาจะถึงทางตัน ก่อนค้นเจอทางรอด

พี่คิดว่าตัวขบวนปัจจุบันมันตันหรืออ่อนพลังลง ซึ่งเกิดจากหลายภาวะทั้งภายในและภายนอก พอเราเน้นงานเครือข่ายรณรงค์หนักมากขึ้น เกิดภาวะฐานอ่อน งานในพื้นที่แผ่วลงผู้นำลอยขึ้น ขณะงานเคลื่อนทางนโยบายก็พบว่านโยบายมีเล่ห์กลเยอะมาก อย่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ก็ค้างอยู่อย่างนั้น แถมเนื้อหาสาระก็อาจเพี้ยนหมด สิ่งเหล่านี้คือกลเม็ดเด็ดพรายของพวกนักการเมือง ของข้าราชการทั้งหลาย

ภาพพื้นที่ทางสังคมที่เกิดขึ้นของเราเป็นภาพการเคลื่อนไหว การปะทะ การชน พวกที่ทำงานในพื้นที่ทำงานเย็นไม่ได้ภาพ ไม่มีใครรู้จัก งานร้อนก็เรียกพวกนี้ว่า “หน่อมแน้ม” ฉะนั้นผลจากการแยกเป็นกลุ่มเป็นข่ายแบบนี้ นอกจากฐานพื้นที่จะรวน เพื่อนหาย นโยบายก็ขยับได้น้อย แต่แม้งานนโยบายที่เราผลักดันจะไม่ค่อยบรรลุผล ก็มีส่วนไปผลักดันภายนอกหลายเรื่อง ไปโค่นล้มรสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) เอาความรู้เอาประสบการณ์การทำงานเสนอเข้าไปในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ สำเร็จ สิ่งเหล่านี้กลับมาเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเรา ส่วนหนึ่งเกิดองค์กรอิสระ บางคนไปเล่นบทบาทใหม่ ไปแสดงความสามารถในหัวอื่นๆ ตัวละครที่มาทำงานกับชุมชนเยอะไปหมด เรียกว่าเป็น ยุคการเมืองภาคประชาชน

แต่องค์กรที่เราเข้าไปสังกัดในบทบาทใหม่ ก็มีผลกระทบต่อเราเหมือนกัน เพราะองค์กรเหล่านั้นเป็นองค์กรใหญ่มีสถานภาพสูงมีทรัพยากรเยอะ เราวิเคราะห์องค์กรพวกนี้ยังไม่ขาด ตรงนี้เป็นจุดอ่อนในทัศนะของพี่ เพราะบทบาทในพื้นที่ของเอ็นจีโอก็แคบลงอ่อนลง ทุนน้อยลง ทรัพยากรน้อย สร้างวาทกรรมใหม่ๆ ต่อการขับเคลื่อนทางสังคมได้น้อยลง ทั้งภาวะภายในที่แยกเป็นเครือข่าย ทำให้จัดขบวนไม่ชัดเจน ตอนนี้การเคลื่อนไหวเครือข่ายเป็นตัวหลักมากกว่าเคลื่อนเรื่องร่วม ฉะนั้นต้องดึงคนเหล่านั้นมาคุยกัน กำหนดธงของการเคลื่อนให้ชัด แล้วดึงทรัพยากรจากองค์กรหน่วยงานที่เอ็นจีโอเข้าไปสังกัด มาขับเคลื่อนมาหนุนขบวนกลางให้ได้

ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่เราเสนอ ด้านหนึ่งเราเข้าไปผลักดันสิ่งที่เสนอต่อ อีกด้านเหมือนเราถูกหลอกไปเป็นเครื่องมือของรัฐ พี่มองว่ามันจะไม่มีพลังเลยถ้าขบวนไม่มีความชัดเจนว่าจะเคลื่อนต่อไปอย่างไร แล้วใช้สิ่งที่เราผลักดันมาเป็นฐานหนุนการเคลื่อนไปข้างหน้า เรามีชุดประสบการณ์ในทศวรรษที่สอง เคยผ่านช่วงลงชุมชนสร้างความรู้ทางเลือก มีบทเรียนจากการเคลื่อนไหวทางนโยบาย เคลื่อนไหวร่วมกับรัฐ ฉะนั้นความรู้ทั้งหมดต้องนำมาคุยมาวิเคราะห์ร่วมกัน มันต้องยกระดับไปอีกขั้น ไม่ใช่งานพัฒนาที่เป็นโปรเจ็คหรืองานพัฒนาเพื่องานพัฒนาอีกแล้ว

เอ็นจีโอรุ่นใหญ่เท่าที่ดูจะมีสองกระบวนท่า พวกหนึ่งคืออยากโดดไปตั้งพรรคการเมือง เพื่อยกระดับเนื้อหาสาระที่เราทำมาไปเป็นนโยบายในการพัฒนาประเทศใหม่หมด โดยผ่านนักการเมือง อีกพวกหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมือง แต่อยากจะสร้างขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็น Movement แต่ทุกคนทุกฝ่ายมีจุดร่วมมีธงร่วมคือ ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี

ทางภาคพรรคการเมืองก็ยังคุยกันอยู่ จะจัดตั้งแบบสังคมนิยม แบบพรรคกรีน หรือแบบพรรคศาสนา พี่สุวิทย์ วัดหนู ซึ่งเป็นตัวหลักก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่แนวความคิดนี้ยังอยู่ แค่ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นแกนในเรื่องนี้ อีกสายหนึ่งคือกลุ่มที่สร้างขบวนการเปลี่ยนแปลงชุมชน เท่าที่มองยังอยู่ในสายวัฒนธรรมชุมชน มีสองสายที่เป็นหลักอยู่ตอนนี้ ที่พี่รู้ก็ไม่ถึงกับขัดแย้งกัน แต่ก็อย่าให้มั่ว โดยลากชาวบ้านไปเกี่ยวกับการเมืองหมด ให้ดูว่าใครอยากพ่วงไปด้วยก็ไป

ที่มา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม