เสียแรง
ซูปิลิ
“ตอนนี้…หวังแค่ว่าจะได้มือเทียม แล้วจะกลับไปพักผ่อนที่บ้าน” เสียงพูดภาษาพม่าเนิบ ๆ เบา ๆ ดังจากปากชายหนุ่มตัวผอมเล็กท่าทางขี้อาย ถ้าไม่ได้สังเกตว่าเจ้าตัวนั่งซุกมือไว้ในกระเป๋าเสื้อตลอดเวลา มองเผิน ๆ แล้วเขาก็ดูไม่ต่างคนที่มาขายแรงในต่างบ้านต่างเมืองคนอื่น ๆ ผิวคล้ำ กำยำด้วยกล้ามเนื้อ
จะมีคนขายแรงกี่คนที่อยากกลับบ้านไปพักผ่อน เมื่อก่อนความคิดนี้คงไม่มีในหัวของมิน จนกระทั่งเมื่อราวสองปีก่อนที่มือขวาของเขาหายไป ตอนนั้นมินมีหน้าที่ขน แยก และใส่พลาสติกลงในเครื่องหลอม แล้ววันหนึ่งนิ้วของเขาก็พลาดเข้าไปติดอยู่ในเครื่องจักรขนาดใหญ่นั้น มินรู้สึกตัวอีกทีในโรงพยาบาล เพื่อที่จะรับรู้ว่า หมอต้องตัดมือข้างขวาของเขาออกไปทั้งมือ
ตลอด 26 วันในโรงพยาบาลประจำจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าคนงานมาเยี่ยมมินและจัดการค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวให้หมด ทั้งบอกว่าจะยังจ่ายเงินชดเชยในช่วงที่พักรักษาตัวอยู่ให้อีกวันละ 100 บาท เขาบอกมินว่า นายจ้างให้กลับไปทำงานที่เดิมได้เมื่อรักษาตัวหายดีแล้ว มินรู้สึกดีใจที่มีคนดูแล เขาเคยได้ยินเรื่องคนงานที่ถูกนายจ้างเอามาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลเฉย ๆ บ่อย ๆ และก็ดีใจที่ตัวไม่ต้องเป็นหนึ่งในนั้น แต่เขาจะกลับไปทำงานในสภาพแวดล้อมที่เตือนให้ต้องระลึกถึงฝันร้ายทั้งที่ลืมตาตื่นได้อย่างไร แล้วจะเป็นงานแบบไหนล่ะ ที่เขาจะทำได้โดยไม่ต้องใช้มือขวาและยังได้ค่าแรงพอเลี้ยงตัว เลี้ยงพ่อแม่ที่รออยู่ที่บ้าน และใช้หนี้ค่าบัตรอนุญาตทำงานที่ยังค้างอยู่ได้
แล้วมินก็มีความหวัง เพื่อนคนงานที่นอนรักษาตัวอยู่เตียงข้าง ๆ ในตึกอุบัติเหตุนั้นแนะนำให้เขาติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานในพื้นที่ มินได้รับคำอธิบายจากอาสาสมัครขององค์กรว่า อันที่จริงแล้วเขายังมีสิทธิ์ที่จะได้รับมือเทียมและค่าทดแทนในการสูญเสียอวัยวะสำคัญ นั่นอาจไม่ได้ช่วยทำให้สิ่งที่เสียไปแล้วกลับคืนมา แต่มันก็จะเป็นทุนรอนให้เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ขายแรงไม่ได้แล้วได้อยู่บ้าง
แต่นั่นคือเหตุการณ์กว่าปี กว่าที่มินจะได้รับเงินชดเชยก้อนแรก ทุกอย่างเป็นปัญหาไปหมด แม้แต่การจะบอกใครต่อใครว่าเขาคือนายมินผู้ประสบปัญหาคนนี้ก็ยังยาก มินไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่อของเขาในบัตรอนุญาตทำงานคืออะไร หลักฐานการจ้างงานทั้งหมดอยู่ที่นายจ้าง กว่าอาสาสมัครขององค์กรช่วยเหลือจะรวบรวมหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเขาคือผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานในเมืองไทยและได้รับบาดเจ็บจากการทำงานจนต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญไปจริงก็กินเวลาไปนานโข มินต้องพยายามยังชีพด้วยการเป็นคนกลางซื้อข้าวสารมาขายในชุมชนแรงงาน ซึ่งก็ไม่สามารถทำกำไรพอเลี้ยงตัวได้ดังเดิม
“ทีแรกเราเรียกร้องเงินชดเชยเป็นแสน ๆ” มินพูดขึ้นมาลอย ๆ เขาหมายถึงเงินสามแสนกว่าบาทที่สำนักงานประกันสังคมตีราคาให้แก่มือขวาของเขา แต่เงินชดเชยของมินจะไม่ได้มาจากกองทุนทดแทนของสำนักงานประกันสังคม เพราะเมื่อตอนที่ประสบอุบัติเหตุ เขาเป็นเพียงแรงงานจดทะเบียนธรรมดาที่ยังคงสภาพเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเป็นแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมายที่จะมีสิทธิ์ในกองทุนนี้ การเรียกร้องเงินชดเชยจึงหมายถึงการเจรจาต่อรองกับนายจ้างรอบแล้วรอบเล่า กินเวลายาวนาน
ความหวังของเขาค่อย ๆ เหือดแห้งลง เมื่อมินได้รับทราบว่า เงินชดเชยสามแสนกว่าบาทที่ว่านั้นจะต้องผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละสามพันกว่าบาท กินเวลาร่วมสิบปี นั่นอาจจะไม่เป็นปัญหาสำหรับแรงงานไทย แต่มินเป็นแรงงานจากประเทศพม่า เขาจะรอรับเงินอยู่ในประเทศไทยเป็นสิบปีได้อย่างไร ตอนนี้พอผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว รัฐบาลก็กำหนดให้เขาอยู่ในเมืองไทยต่อไปได้แค่สามปีเท่านั้น
เพื่อให้มินได้รับเงินจริงและเร็วทันการณ์ ในที่สุด ผลก็ออกมาว่า มินจะได้ค่าชดเชยแก่มือข้างขวาที่หายไปเป็นจำนวนเพียง 95,000 บาท และแบ่งจ่ายเป็นสองงวด ถึงตอนนั้น มินไม่รู้ว่าจะดีใจหรือเสียใจแล้ว เงินหายไปสองในสาม แต่เขาไม่มีทางเลือกมากนัก เขาต้องการเงิน อย่างน้อย ก็เอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่ยังอยู่รอมือเทียมจากหน่วยงานรัฐไทยก็ยังดี
เงินร่วมแสนนั้นมากมายสำหรับมิน เป็นจำนวนเงินที่เขาไม่เคยถือในมือมาก่อน แต่เขาก็ยังมองวันข้างหน้าไม่เห็น หกปีแล้วที่เขาทิ้งไร่ทิ้งนามาขายแรง จากเด็กหนุ่มอายุสิบเจ็ดเป็นชายหนุ่มวัยยี่สิบสาม วัยที่น่าจะลงแรงสร้างฝันสร้างฐานะ แต่ตอนนี้เขาเพียงอยากพักผ่อน ด้วยความหวังว่าเขาจะมีแรงขึ้นมาอีกครั้ง แม้จะไม่มีมือข้างสำคัญข้างนั้น
—
ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th