นิสิต”สารคาม ฟื้นวิถีชาวญ้อ
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
” ญ้อ” ชาวลาวอพยพจากกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว อพยพเข้ามาอาศัยบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ช่วงที่มีการโยกย้ายคนจำนวนมากไปมาระ หว่าง 2 ฝั่งในช่วงเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม คือภาษาญ้อที่มีสำเนียงพูดต่างจากคนไทยภาคอีสานทั่วไป และผ้าทอลายขิดดวงเดือนที่มีลักษณะเฉพาะตัว
ความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้วิถีชาวญ้อประมาณ 2,400 ชีวิต ที่บ้านท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เปลี่ยนแปลงไป
ชาวญ้ออายที่จะพูดภาษาญ้อในที่สาธารณะ จึงสอนลูกหลานให้พูดภาษากลาง ขณะที่วัฒนธรรมการละเล่นหลายอย่างถูกทดแทนด้วยการละเล่นสมัยใหม่อย่างการ เล่นเกมในร้านอินเตอร์เน็ต
จากการจุดประกายของ 16 นิสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เยาวชนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศโครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้ ประจำปี 2550 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้าดำเนินกิจกรรม ทำให้วัฒนธรรมชาวญ้อที่บ้านท่าขอนยางกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
กัมปนาท มโนธรรม หรือ “เป้” นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ประธานโครงการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ วัฒนธรรมชุมชนอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวญ้อให้กลับมาเข้มแข็งเริ่มจากการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรม ดั้งเดิมของชุมชนจากผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ ตั้งแต่กิจกรรมการเล่านิทานพื้นบ้านแก่ลูกเด็กเล็กแดงบ้านท่าขอนยาง เช่น เรื่องของ “ไอ้เฮ่า” หรือท้าวทองแดง จระเข้ตัวร้ายที่ถูกถวายเป็นบรรณาการแก่เจ้าเมืองญ้อ แต่กลับสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่ว ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี
“ยิ่งเด็กเล็กยิ่งดี พ่อแม่เขาต้องมาดูแลใกล้ชิด ยิ่งนานเขาก็ยิ่งมาร่วมกิจกรรมกับเราเยอะขึ้น วันเสาร์วันอาทิตย์พ่อแม่จะพาลูกหลานมาร่วมกิจกรรมกับเรา ผู้ใหญ่ก็เข้ามาร่วมด้วย” เป้กล่าว และว่า เมื่อผู้ใหญ่เริ่มรู้จักกับสิ่งที่พวกเราทำมากขึ้น 16 นิสิตเยาวชนกล้าใหม่…ใฝ่รู้ จึงจัดกิจกรรมการทำป้ายบอกทางภาษาไทยและภาษาญ้อ การแปลคำขวัญภาษาไทยมาเป็นภาษาญ้อ และการทำแผนที่วัฒนธรรมชาวญ้อแสดงตำแหน่งบ้านหมอตำแย บ้านหมอสมุนไพร บ้านปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ เพื่อสร้างความภูมิใจในวัฒนธรรมญ้อแก่คนอื่นๆ ในชุมชนด้วย
จากสิ่งที่เยาวชนทั้ง 16 จุดประกายนี้เอง ทำให้ชาวญ้อในชุมชนเริ่มเห็นและตระหนักถึงคุณค่าการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้กลับคืนมามากขึ้น
“มีคนแสดงความคิดเห็นมา เช่น จะฟื้นฟูวัฒนธรรมไหลเรือไฟ บุญบั้งไฟ ประชันแห่กลองยาว เราจะเชิญคนเฒ่าคนแก่มาคุยกันว่าเมื่อก่อนมีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับญ้อ มีประเพณีไหนในวันใดบ้าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมไหลเรือไฟของชาวญ้อ เป็นเรือไฟโบราณ เราก็หาผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้ว่าเรือไฟคืออะไร ทำเพื่ออะไร คือทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ทำแล้วลอยตามน้ำใส่ของสะเดาะเคราะห์ไหลตามน้ำไป เรือไฟมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรเราก็ร่างภาพขึ้นมา แล้วลงมือทำเรือไฟร่วมกัน” เป้เล่าถึงประเพณีไหลเรือไฟในเทศกาลออกพรรษาปี 2550 ซึ่งเป็นปีแรกของการฟื้นฟูซึ่งมีเรือไฟจากชุมชนญ้อร่วมงานถึง 5 ลำ
เทศกาลออกพรรษาปี 2551 ประเพณีไหลเรือไฟยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เป้กล่าวว่า ครั้งนี้ไม่จำกัดเพียงชุมชนชาวญ้อเท่านั้น ปรากฏว่าประเพณีไหลเรือไฟปีที่ผ่านมาบูมมากขึ้น คนเริ่มสนใจ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วม มีการสร้างเรือไฟขึ้นมาอีกหนึ่งลำ อธิการบดีให้เกียรติมาเปิด ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงเริ่มส่งเรือไฟเข้ามาร่วม วัฒนธรรมไหลเรือไฟของชาวญ้อเริ่มกลายเป็นจริงเป็นจังขึ้น
ชาวบ้านท่าขอนยางยังมีแนวคิดจัดทำศูนย์วัฒนธรรมชาวญ้อขึ้นบนพื้นที่วัด เจริญ ผล คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างราว 2 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ บันทึกและนิทานปรัมปรา พจนานุกรมเทียบภาษาไทย-ญ้อ ฆ้อง-กลองเพลโบราณ ผ้าทอเก่าและวิธีการผลิตผ้าทอลายขิดดวงเดือน ฯลฯ
อิศศิรา โทนหงสา หรือ “ตั๊ก” สมาชิกในโครงการอีกคน กล่าวว่า วัฒนธรรมญ้อเริ่มมีความยั่งยืนเกิดขึ้นแล้ว คนในชุมชนรักในวัฒนธรรมตัวเอง กระตุ้นให้ลูกหลานรักและภูมิใจในวัฒนธรรมด้วย ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือศูนย์วัฒนธรรมจะมีส่วนยึดโยงวัฒนธรรมชาวญ้อให้ อยู่ได้ จากแต่ก่อนที่ต่างคนต่างอยู่ เลื่อนลอย ภาษาญ้อพูดในบ้านตัวเอง ไม่กล้าพูดกับคนอื่นๆ ตอนนี้เริ่มกล้าพูดภาษาญ้อในที่สาธารณะ หลังจากศาลาวัฒนธรรมแล้วเสร็จ เราจะเริ่มลดบทบาทลงเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนดูแลรักษาวัฒนธรรมญ้อด้วยตัวเอง
ตั๊กกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย เช่น การทำงานเป็นหมู่คณะ เรียนรู้นิสัยเพื่อน ได้พบปะชุมชน และได้รับรู้ว่า จริงๆ แล้วเราสามารถทำอะไรเพื่อคนอื่นได้ เป็นจิตอาสาทำไปโดยไม่คิดถึงประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ
เช่นกันกับเป้ที่ปิดท้ายว่า ได้ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ชุมชน ได้ลงไปคลุกคลีพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ได้รู้จักวัฒนธรรมชาวญ้อ จนทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มาเรียนหนังสือที่นี่ ภูมิใจในเอกลักษณ์ชุมชน ความมีตัวตนของคนในพื้นที่ ไปที่ไหนชาวบ้านก็จะคุ้นหน้า เข้ามาทักทาย เห็นเป็นลูกเป็นหลาน และชาวบ้านยังมีความรักความคุ้นเคยกับนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามมากขึ้นด้วย
16 เยาวชนกล้าใหม่…ใฝ่รู้ ต่างเรียนรู้แล้วว่า
“การให้ย่อมทำให้ผู้ให้เป็นที่รักของผู้รับ” โดยแท้
ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552