คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา Michita@ThaiBoss.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4065
ผู้เขียนเดินทางไปประชุมความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH : Gross National Happiness) ที่ประเทศภูฏาน ผู้เขียนนำเสนอเรื่อง Buddhism Congruent Business Ethics ผู้ฟังนานาชาติสามารถรับเนื้อหาเชิงพุทธศาสนาได้เกินคาดหมาย หลายคนมาขอบคุณที่นำเรื่องพุทธศาสนาไปใส่ในเรื่องธุรกิจ ถึงกระนั้นก็มีคำถามท้าทายบ้างเช่นกันจากชาวตะวันตกวัยเริ่มทำงาน
“คิดอย่างไรจึงนำเรื่องพุทธศาสตร์ หรือเรื่องจิตวิญญาณ (spirituality) ไปให้พวกนักธุรกิจที่มีแต่ความละโมบ (greed) เข้าหาตัว จะมีประโยชน์หรือ”
ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรคะกับคำถามนี้ นักธุรกิจทั้งหลายอย่างพวกเรามีแต่ความละโมบไม่สนใจใครอย่างที่ฝรั่งคนนั้นถามหรือไม่
คำถามทำนองนี้ ผู้เขียนเคยได้รับมาบ้างแล้วจากคนวงการต่างๆ ที่ไม่ใช่ “นักธุรกิจ” แรกๆ รู้สึกตกใจ และน่าสนใจมากว่า เขาเหล่านั้นมองนักธุรกิจคล้ายเป็นปีศาจไม่มีหัวใจ ขออภัยที่ใช้คำแรงแบบนี้ แต่อารมณ์ของการถามหรือผู้ถามแต่ละครั้งคล้ายจะเป็นอย่างนั้น มาช่วงหลังของประเทศไทยที่มีเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR : corporate social responsibility) และกระแสการทำดีครึกโครมในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นจากวงการธุรกิจ เสียงเหล่านั้นจึงมาให้ได้ยินน้อยลง
เมื่อได้ยินคำถามนั้น ผู้เขียนจึงตอบไปช้าชัดบนรอยยิ้มว่า “ดิฉันเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีหัวใจ ไม่ว่าเขาจะมีโอกาสแสดงออกมามากน้อยแค่ไหน ดิฉันจึงกล้าทำวิจัยเรื่อง Buddhism Congruent Management and Organizational Effectiveness ซึ่งเป็นร่มใหญ่ของผลงานที่นำมาเสนอในวันนี้ เพราะในตลอดเวลา 20 กว่าปีที่จัดสัมมนาและคลุกคลีกับเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง (ในสัมมนา The Boss, The Manager ฯลฯ) ดิฉันพบว่าคนที่ใช้แนวทางรวยลัดหรือหวือหวา ไม่สนใจจริยธรรมคุณธรรมอะไร มักจบธุรกิจลงอย่างน่าเป็นห่วง แน่นอนด้วยความสามารถของเขาก็สามารถฟื้นขึ้นมาได้อีก ในขณะที่คนที่สนใจดูแลลูกน้อง คนรอบข้างและสังคม เขาเหล่านี้หัวใจมีคุณธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธก็ได้ แต่เลือกที่ศาสนาพุทธเพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือ เขาเหล่านี้เติบโตอย่างยั่งยืน อาจจะดูไม่หวือหวาในตอนแรก แต่สุดท้ายก็เจริญงอกงามดี บางองค์กรก็สามารถขยายฐานเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ และที่สำคัญคนเหล่านั้นมีความสุข” ผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติคงจะเห็นด้วย จึงได้ผงกศีรษะและปรบมือกันทั่ว
ถึงแม้ผู้เขียนจะตอบไปด้วยความมั่นใจในสิ่งที่เคยประสบมาก็ตาม อดคิดไม่ได้ “ทำไมคำถามเหล่านี้จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ” วงการธุรกิจถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้สนใจคนอื่นเท่าไหร่ ทำทุกอย่างเพื่อกำไรขาดทุนของตนเอง การจะช่วยเหลือใครหรือทำอะไรมักจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนอยู่ด้วยเสมอ
มองย้อนกลับไปในช่วงที่เริ่มเรียนบริหารธุรกิจ สิ่งที่เราเรียนรู้คือการทำอย่างไรให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด แน่นอนว่าสำหรับองค์กรธุรกิจทั่วไปนั่นคือ กำไรสูงสุด เวลาผ่านไปนานหลายสิบปี จนกระทั่งมีนวัตกรรมเกิดขึ้นคือ balance scorecard ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า เพียงแค่กำไรไม่พอหรอก ต้องดูเรื่องการเติบโตภายใน การเรียนรู้ และมองไปข้างหน้าด้วย ถึงกระนั้นนั่นก็เป็นเรื่องประโยชน์โดยตรงขององค์กรนั่นเอง
นักธุรกิจบางท่านที่อ่านถึงตรงนี้ อาจมีคำถามเกิดขึ้น “แล้วผิดตรงไหนหรือ” เราก็ทำเพื่อให้องค์กรเจริญเติบโตนี่ ไม่ได้ไปทำร้ายใคร จริงค่ะ ดิฉันเองก็ถูกสอนมาอย่างนั้นจากการเรียนการบริหารจัดการนี่แหละ เรายังจะเรียนด้วยว่า การบริหารที่มีจริยธรรมควรเป็นอย่างไร เรารู้วิธีการทำให้พนักงานทำงานกับองค์กรแล้วได้ผลประโยชน์ยุติธรรมกับเขา เราสร้างสินค้าที่ดีเป็นประโยชน์กับลูกค้า ฯลฯ เราก็ให้ “ผลประโยชน์” กับใครที่เกี่ยวข้องกับเราด้วยนะ…พูดในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่ง
โลกที่แตกต่างจากธุรกิจมีอีกมาก แม้ว่าในปัจจุบันนักธุรกิจจะมีอิทธิพลต่อโลกมากมาย ไม่เว้นการจัดการด้านการเมือง มุมมองของคนอื่นๆ เช่น ข้าราชการ จุดประสงค์การทำงานของเขาไม่ใช่ “ผลประโยชน์” ของเขาเป็นหลัก แน่นอนว่าได้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือนสวัสดิการต่างๆ แต่ในเนื้องาน เขาคุยกันถึงประเทศจะเป็นอย่างไร จังหวัดนี้ขาดแคลนเรื่องนี้เราจะทำอย่างไร การศึกษาในเขตนี้จะพัฒนาได้อย่างไร อีกมุมมองของภาคสังคม คือองค์กรภาคเอกชน หรือที่เราบางคนเรียก NGO หรือ nongovernment organization องค์กรเหล่านี้ได้รับทุนจากที่ต่างๆ และหรือจากประชาชนทั่วไป เช่น มูลนิธิ สมาคมต่างๆ ที่ช่วยเหลือสังคม โจทย์การทำงานของเขาก็ไม่ใช่การทำกำไรให้องค์กรเช่นกัน แต่เป็นปัญหาชุมชนต่างๆ ที่รัฐอาจเข้าไปไม่ถึง ปัญหาเด็กติดเกม การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ฯลฯ
นี่เป็นตัวอย่างวงการอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานเพื่อ “ผลประโยชน์” ของตนเป็นหลัก โจทย์การทำงานของเขานึกถึงคนอื่น อาจเพราะเหตุนี้ด้วยกระมัง คำถามจากวงการอื่นๆ เหล่านี้เข้ามาที่วงการธุรกิจของเราจึงมาในแนวนั้น เขาอาจไม่ทราบว่ายังมีนักธุรกิจที่มีหัวใจ ทำงานไปบนโจทย์ขององค์กรที่ต้องการเติบโต และยังคำนึงถึงสังคมรอบข้าง ไม่ใช่เพียงแค่ความเมตตาที่มีให้กับสังคมแบบผู้เหนือกว่ามอบให้ผู้ยากไร้ แต่เป็นหน้าที่ขององค์กรธุรกิจเช่นกันที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมที่เราอยู่ใน ฐานะเป็นส่วนหนึ่งและได้ผลประโยชน์อะไรจากสังคมนี้
เพียงเท่านี้จะเป็นนักธุรกิจที่มีหัวใจใช่หรือไม่ เราควรทำอะไรอีก หรือว่าสิ่งต่างๆ ดำเนินมาแบบนี้เพราะสมมติฐานตั้งต้นที่ร่ำเรียนมาเหมือนกันทั่วโลก คือการทำงานเพื่อ “ผลประโยชน์สูงสุด” นี่คือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับมวลมนุษยชาติแล้วใช่หรือไม่