หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ธรรมะ คือ ธรรมชาติ” แต่ก็คงมีไม่น้อยที่สงสัยว่า “ธรรมะ” ที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงวัด พระสงฆ์ การทำบุญ หรือแม้แต่การทำสมาธิ จะเกี่ยวข้องอะไรกับ “ธรรมชาติ” ที่เอ่ยคำนี้ขึ้นมาครั้งใด สิ่งที่นึกก็จะเป็นภาพของภูเขา ป่าไม้ ลำธาร หรือสัตว์ป่า
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 ได้มีกลุ่มคนประกอบด้วยพระสงฆ์และฆราวาสที่มีความตั้งใจจะใช้ “ธรรมะ” มาสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “ธรรมชาติ” ไปยังชาวบ้านบริเวณรอบๆ ลุ่มน้ำลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ โดยจัดกิจกรรม ”ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว” ซึ่งอาศัยการ “เดิน” อย่างมีสติมาเป็นเครื่องมือในการรณรงค์
กิจกรรมนี้เริ่มต้นจากคำปรารภของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เจ้าอาวาสวัดภูเขาทองที่ว่า “แผ่นดินร้องไห้ แม่น้ำล้มป่วย อากาศเป็นพิษ เราขอเป็นตัวแทนของต้นไม้ สายน้ำ สัตว์ป่า และธรรมชาติ” โดยมีพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโตขันอาสาเริ่มต้นเป็นหัวขบวนกับการออกเดินทางครั้งแรก
พระไพศาล บอกว่า ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติที่ค่อยๆ เกิดขึ้นนั้น มีที่มาจากทัศนคติของมนุษย์ต่อธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป “คนมองธรรมชาติเป็นแค่ก้อนวัตถุ จึงเห็นธรรมชาติไม่มีค่า ไม่มีความหมาย” พระไพศาลเปรียบเทียบ
ในวันที่การ “เดิน” เริ่มต้น พระไพศาล มีบทบาทเป็นผู้นำขบวนการรณรงค์ “ธรรมะ” ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “ธรรมชาติ” ต่อชาวบ้าน และในปีนี้ กิจกรรมที่ท่านสื่อสารกับชาวบ้านได้เดินทางผ่านทศวรรษแรก และกำลังจะขึ้นนับหนึ่งในทศวรรษที่สองกับหัวข้อ “โลกร้อน เย็นธรรม” ในวันที่ 1– 8 ธันวาคม 2553
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว พระไพศาล วิสาโล ที่มีบทบาทเป็นหัวขบวนในการ “เดิน” ตลอดมา ระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ น่าจะทำให้ท่านเป็นผู้ที่อธิบายได้ดีที่สุดคนหนึ่งว่า ธรรมะเกี่ยวข้องอย่างไรกับธรรมชาติ และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คณะธรรมยาตราเดินไปเพื่ออะไร
ในมุมมองของพระอาจารย์ ธรรมะกับธรรมชาติเกี่ยวข้องกันอย่างไร
มันเกี่ยวข้องกันมากเลย ในปัจจุบันธรรมชาติถูกทำลายไปเพราะคน และก็ไม่ใช่เพราะคนมีจำนวนมากอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย
ประการแรก คนบริโภคสิ่งต่างๆ กันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีค่านิยมเรื่องบริโภคนิยม มันก็ทำให้คนมุ่งที่จะเสพ เพราะเขาเชื่อว่าการเสพ การมี และการครอบครองมากๆ จะทำให้มีความสุข พอคนติดกับบริโภคนิยม คนก็จะติดกับความสะดวกสบาย และเมื่อติดกับความสะดวกสบาย ก็จะทำให้คนไม่ได้สนใจความเดือดร้อนของธรรมชาติ การบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้มีการผลิตมากขึ้น เพื่อตอบสนองการบริโภคของคน ส่งผลให้มีขยะตามมามากมาย ขยะจากการบริโภคจะมีจำนวนน้อยกว่าขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิต โดยขยะที่เกิดจากการบริโภค 1 ส่วน จะเกิดขยะในกระบวนการผลิตถึง 70 ส่วน แต่คนบริโภคเองจะไม่เห็น เพราะมันจะไปอยู่ที่โรงงาน ไปอยู่ที่กระบวนการผลิตต่างๆ และในปัจจุบัน การกระตุ้นการบริโภคกับคนทั่วไป ก็ส่งผลให้มีการกระตุ้นการผลิตตามมา
ประการที่สอง ทุกวันนี้ ทัศนคติของคนต่อธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์มองธรรมชาติเป็นสินค้า เป็นวัตถุที่เขาจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งในสมัยก่อนไม่มีความคิดแบบนี้ แต่เมื่อความคิดแบบวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามา คนก็มองธรรมชาติเป็นแค่ก้อนวัตถุ จึงเห็นธรรมชาติไม่มีค่า ไม่มีความหมาย น้ำไม่มีพระแม่คงคา พื้นดินไม่มีพระแม่ธรณี ข้าวไม่มีพระแม่โพสก ทำให้คนคิดว่า พวกเขาจะใช้ จะทิ้งอะไรลงไปก็ได้
ประการที่สาม ธรรมะระหว่างคนกับคน การเอาเปรียบระหว่างคนกับคน ช่องว่างระหว่างคนกับคนนั้นมีมาก มันก็มีส่วนทำให้เกิดการทำลายธรรมชาติ เพราะว่าคนที่ถูกเบียดบัง เขาได้รับความสูญเสีย เขาเป็นลูกไล่ ทำให้เขาต้องมาถางป่า มาเอาเปรียบธรรมชาติ คนรวยเอาเปรียบคนจน และคนจนก็ไปเอาเปรียบธรรมชาติ สำหรับประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากๆ จะพบตัวเลขที่แสดงถึงการทำลายธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
เราจะสังเกตได้ว่า ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นธรรมะระหว่างคนกับคนก็เป็นเรื่องที่มีผลต่อธรรมชาติได้ เฉพาะแค่ 3 ประเด็นนี้ ก็ล้วนเป็นประเด็นใหญ่ๆ ที่นำไปสู่การทำลายธรรมชาติได้ทั้งสิ้น
อย่างทุกวันนี้ เรากำลังรณรงค์เรื่องลดโลกร้อน ทุกๆ ประเทศเขาก็รู้ถึงปัญหา แต่ก็ยังไม่มีประเทศไหนที่จะพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง และไม่มีประเทศไหนที่จะยอมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะหมายถึงเขาต้องลดการผลิต ซึ่งมันจะไปลดการบริโภคด้วย ส่งผลให้ต้องลดความสะดวกสบายลงไป หลายๆ ประเทศก็ไม่ยอม เช่นที่อเมริกา บุช (จอร์จ ดับเบิลยู. บุช) ก็บอกว่าวิถีชีวิตของชาวอเมริกาจะประนีประนอมไม่ได้ เขาจะลดการบริโภคไม่ได้ วิถีชีวิตแบบคนอเมริกันก็คือ มีรถคนละคันสองคัน เขาคิดว่าถ้าจะให้เขาปรับปรุงเทคโนโลยีให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ใช้น้ำมันน้อยลง ก็พอจะเป็นไปได้ แต่ถ้าจะให้เราลดมาตรฐานการครองชีพอย่างอเมริกัน เราไม่ยอม ทุกๆ ประเทศก็คิดแบบนี้ จีนก็คิดแบบนี้ จีนต้องพัฒนา เขาลดการผลิตไม่ได้ รวมไปถึงนักการเมืองก็คิดถึงแต่ที่นั่งของตัวเอง เพราะถ้าคุณเปลี่ยนนโยบาย คุณก็จะไปไม่รอด คุณก็ตกกระป๋องเหมือนกัน แต่ละประเทศก็คิดถึงแต่ตัวเอง นักการเมืองก็คิดถึงตำแหน่งของตัวเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวที่ทำให้ธรรมชาติเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ
เราบริโภคทรัพยากรธรรมชาติกันมากอย่างทุกวันนี้มานานหรือยังครับ
ก็เริ่มตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปถึงที่ไหน ก็พินาศที่นั่น แต่จริงๆ แล้ว มนุษย์ก็เริ่มทำลายธรรมชาติกันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์แล้วนะ จะเห็นได้จากมันมีอารยธรรมจำนวนมากที่พังลงไป แต่สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ น้ำเปลี่ยนทิศทาง แต่อีกส่วนก็คือ มนุษย์เราไปทำลาย ไปตัดไม้ทำลายป่า อย่างเกาะอีสเตอร์ที่มีรูปปั้นใหญ่ๆ และไม่มีคนเหลืออยู่เลย เขาก็เชื่อกันว่าเป็นเพราะคนทำลายธรรมชาติไปจนเตียน ทำให้คนต้องอพยพออกไป เรื่องแบบนี้มันมีมานานแล้ว แต่ว่ามันก็เป็นแค่หย่อมๆ และคนก็เรียนรู้จากธรรมชาติว่า ถ้าคนเราไปทำลายธรรมชาติมันจะมีผลกระทบอย่างไร ในอดีตจะมีคำสอนเพื่อให้คนเคารพต่อธรรมชาติ ก็ทำให้การทำลายธรรมชาติลักษณะที่เป็นอาณาบริเวณกว้างขวางจะมีน้อย ยกเว้นแต่ว่า ประชากรมากขึ้น แล้วทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องทำลาย แต่ว่ามันก็จะไม่ถึงกับระดับกว้าง หรือระดับโลกแบบนี้
แสดงว่าทัศนคติของมนุษย์ต่อธรรมชาติที่เปลี่ยนไป จนเกิดเป็นการทำลายธรรมชาติที่เป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง ก็คือหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม
จริงๆ มันมีมาก่อนนั้นบ้างแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีปฏิวัติอุตสาหกรรมมันจะมีปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ได้ทำให้คนค่อยๆ เห็นว่า จริงๆ แล้วมันไม่มีพระเจ้า มันไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันมีแต่ธรรมชาติที่เป็นก้อนวัตถุ ความจริงก็เหลือเพียงสิ่งที่สามารถจะจับต้อง ชั่ง ตวง วัด ได้ กาลิเลโอเป็นคนพูดไว้เลยว่า ความจริงจะต้องจับต้องได้ ตวงวัดได้ กลายเป็นว่า มันไม่มีความจริงที่นอกเหนือจากก้อนวัตถุ มันก็เลยทำให้เรื่องเทวดา เทพารักษ์ แม่คงคา สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไป และพระเจ้าก็ไม่มีด้วย ความเชื่อนี้ก็ทำให้เมื่อเราเห็นธรรมชาติว่าไม่มีจิตใจ เป็นแค่ก้อนวัตถุ เราก็สามารถใช้สอยมันยังไงก็ได้ ก็เกิดเป็นความคิดในแบบปฏิวัติอุตสาหกรรมมากขึ้น ช่วงแรกๆ คนก็ตกใจกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมกัน เช่น คนมองว่าแม่น้ำเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้นะ เมื่อโรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ก็ไม่พอใจกัน ว่าทำไมมาทำลายแม่น้ำอย่างนี้ แต่พอคนเริ่มไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า มันก็ทำให้คนทำได้ทุกอย่าง เมื่อความคิดเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หายไป มันก็ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนกลายเป็นสิ่งสามัญ เป็นก้อนวัตถุที่ทำอะไรก็ได้ มันก็ส่งเสริมทำให้เอาเปรียบ เบียดเบียนธรรมชาติ จะทิ้งขยะลงแม่น้ำ ทิ้งขยะในสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ข้อเท็จจริงที่ว่า การทำลายธรรมชาติของมนุษย์ จะส่งผลให้มีผลกระทบย้อนมาสู่พวกเขาเอง สิ่งเหล่านี้มนุษย์ทุกๆ คนน่าจะรู้กันเป็นอย่างดี และธรรมชาติเองก็มีคำเตือนอยู่เรื่อยๆ ในมุมมองของพระอาจารย์ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศที่พัฒนาอย่างอเมริกา หรือประเทศที่เป็นต้นทางการผลิตยักษ์ใหญ่อย่างจีน ฯลฯ ถึงไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ทำลายธรรมชาติ
มันเป็นเพราะผลกระทบเหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่อยู่อีกไกล ยังมาไม่ถึงเร็วๆ นี้ คนที่กินเหล้าสูบบุหรี่ ถามว่ารู้ไหมว่าทำแล้วจะเป็นมะเร็ง ก็รู้ แต่ว่ามันยังอีกไกล เป็น 10 ปีไง ถ้าให้ฉันเลิกตอนนี้ ฉันลงแดง ฉันมือสั่น ฉันทำงานไม่ได้ คนก็ไม่เลิกกัน
ความทุกข์ที่มันยังอยู่ไกล ก็จะน่ากลัวน้อยกว่าความทุกข์ที่มันอยู่ใกล้ ความทุกข์ที่อยู่ใกล้ เช่น นอนไม่หลับ กินไม่ได้ เวลาคนติดยา คนก็รู้ว่ามันไม่ดี มันต้องตาย แต่ถ้าให้คนเลิกตอนนี้ ฉันมือสั่น ฉันลงแดง เหมือนกับบางคนบอกว่า “ฉันกลัวอด มากกว่ากลัวเอดส์” คนมักจะมองว่าความทุกข์ในปัจจุบันน่ากลัวกว่าความทุกข์ในอนาคต ถ้าเรามองมันแบบเป็นกลาง เป็นเอดส์มันน่ากลัวกว่าอดไม่รู้เท่าไร อาการลงแดง มันก็เทียบไม่ได้กับมะเร็ง ดังนั้น ในความเป็นจริง ถ้าเรามาเทียบดีกรีความทุกข์ในปัจจุบันกับความทุกข์ในอนาคต จะเห็นได้ว่าความทุกข์ในอนาคตมันร้ายแรงกว่า แต่คนเรามักจะใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล และมองว่าความทุกข์ในอนาคตยังเป็นสิ่งที่อยู่ไกล มันยังมาไม่ถึง แต่ความทุกข์ในปัจจุบัน ในวันสองวัน มันจะน่ากลัวเสมอ
มันก็เหมือนกับเรื่องความสุข ที่เรามักจะมองความสุขในปัจจุบันว่าจะมีคุณค่าและมีเสน่ห์กว่าความสุขใน อนาคต ทำไมบางคนถึงไม่ขยันเรียน อดทนทำมาหากิน เพื่อไปสุขสบายในวันข้างหน้า แต่หลายคนก็หวังความสุขในวันนี้ มากกว่าที่จะไปหวังความสุขในวันข้างหน้า เพราะความสุขในวันข้างหน้ายังมาไม่ถึง มันเป็นเพราะคนจำนวนมากคิดอย่างนี้ วัยรุ่นหลายคนจึงเอาแต่ใช้ชีวิตเที่ยวเล่น น้อยคนที่จะยอมลำบากวันนี้ เพื่อที่จะไปมีความสุขในวันข้างหน้า หรือว่าทำไมคนจำนวนมากถึงยอมซื้อของเงินผ่อนเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีเงิน
ประเด็นเรื่องความทุกข์-ความสุข มันสอดคล้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้คือ คนมักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดใoเร็ววันนี้ พวกเขาก็ทำลายธรรมชาติไปเรื่อยๆ ไม่ได้สนใจว่าในอนาคตจะมีผลกระทบอย่างไร สำหรับประเด็นนี้ พระอาจารย์มีธรรมะจะแนะนำคนที่คิดอย่างนี้อย่างไร
ประมาทไง (ตอบทันที) ความประมาทนี่แหละ มันทำให้เรามักจะดูแคลนสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ไปมองว่ามันจิ๊บจ๊อย ความประมาททำให้เราหลงเพลินกับความสุขในวันนี้ และไปดูแคลนความทุกข์ในวันข้างหน้าว่าไม่มีอะไร คนมักจะพูดว่าเรื่องตายเรื่องเล็ก หรือบางคนก็บอกว่าเรื่องตายเป็นเรื่องไกลตัว คนที่พูดอย่างนี้แสดงว่าเขาประมาท หลายคนพอจะเจอความตายก็ทำใจไม่ได้ แต่ตอนที่ความตายยังอยู่ไกลก็มองว่าเป็นเรื่องเล็ก คิดว่าถึงวันนั้นค่อยว่ากันอีกที อย่างนี้แหละที่เรียกว่าประมาท เขามองว่า ตัวเองมีความสุขในวันนี้ มันก็เพลินไป ดังนั้น แค่ความไม่ประมาทตัวเดียว มันช่วยได้เยอะมากเลย
อีกอย่างก็เรื่องสันโดษ มันก็ช่วยได้เช่นกัน สันโดษก็คือ เราต้องอย่าไปเพลินกับความสุขนะ ก็พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม สันโดษเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เกษตรกรที่เลือกใช้สารเคมี โดยไม่ได้คิดว่าในระยะยาวดินจะเสีย มันก็คือความประมาทใช่ไหมครับ
ใช่ เขามองว่ามันเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ฉันเป็นหนี้ ฉันต้องการเงิน ส่วนดินจะเป็นยังไง ก็ค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ฉันร้อนเงิน ผลผลิตที่ออกมาออกมารวดเร็ว ก็ทำให้เขาได้เงินเร็ว
อยากทราบว่าก่อนที่จะมีการเดินธรรมยาตรา ธรรมชาติบริเวณลุ่มน้ำลำปะทาวมีปัญหาอะไรเหรอครับ
ปัญหาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันก็คล้ายกับตอนนี้ แต่ตอนนี้อาจจะรุนแรงมากกว่า ปัญหาก็มีทั้งการตัดไม้ทำลายป่า จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ส่งผลให้ดินเสื่อมลง และน้ำในลำห้วยตื้นเขิน จนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติหมดไป ก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องฝนแล้ง หาของป่าได้ยาก อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ชาวบ้านเจอ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องสารเคมี น้ำเริ่มเสียเพราะยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ชาวบ้านเริ่มป่วย มีทั้งป่วยระยะยาว เช่นมะเร็ง หรือป่วยเฉพาะหน้า เช่นเจอสารพิษแล้วเป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย ต้องคว้านเนื้อออกมา สิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลมาจากยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ
การเดินธรรมยาตรา มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
ในตอนนั้น หลวงพ่อคำเขียนท่านเห็นปัญหาของชาวบ้านที่มันเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ท่านพบว่าชาวบ้านลำบากมากขึ้น ชาวบ้านต้องพลัดที่นา คาที่อยู่ ชาวบ้านจำนวนมากต้องออกไปรับจ้างเป็นแรงงานตัดอ้อย ไปทีก็ไปเป็นเดือนๆ ค่าแรงก็น้อย ท่านเห็นความแตกต่างของผลผลิตที่ชาวบ้านเคยปลูกมันแล้วมีผลขนาดเท่าขา แต่เดี๋ยวนี้มันก็เหลือเท่านี้ (ชูนิ้วหัวแม่มือเปรียบเทียบ) และจากปัญหาต่างๆ ที่พบ บวกกับท่านมีโอกาสได้ไปเห็นการเดินธรรมยาตราที่จังหวัดสงขลา ท่านก็อยากลองทำดูบ้าง
หากย้อนกลับไปก่อนที่จะมีปัญหาเหล่านั้น พื้นที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์อย่างไร
แต่ก่อนก็จะเป็นป่า มีต้นไม้ใหญ่ๆ ธรรมชาติจะมีเสือ มีช้าง มีหมูป่า มีกวาง หลวงพ่อท่านจะมาทันเห็นในยุคนั้น แต่ก่อนก็จะมีลำห้วยอย่างนี้ (ชี้ออกไปลำห้วยภายในวัดป่าสุคะโต) ไม่ได้เป็นฝายอย่างทุกวันนี้ หลวงพ่อก็จะมาสรงน้ำบริเวณริมน้ำ อากาศก็เย็นสบาย น้ำเย็นมาก สัตว์ต่างๆ มีเล่นน้ำอยู่ใกล้ๆ
ทุกวันนี้ เมื่อมีการหักล้างถางป่า จากดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ น้ำเคยอุดมสมบูรณ์ จับปลาได้ตัวใหญ่ๆ มันเป็นความอุดมสมบูรณ์ตามวิถีของชาวบ้าน แต่ปัจจุบันธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหล่านั้นได้หายไป
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ป่าที่ถูกทำลายจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น หน้าดินเสื่อม ลำห้วยที่เคยลึก-กว้าง ก็แคบและตื้นเขิน จับปลาก็ไม่ได้แล้ว บางทียังอาบน้ำไม่ได้เลย เพราะว่ามันคัน ทุกวันนี้ น้ำในลำห้วยก็เอาไว้แค่ล้างรถ ชาวบ้านไม่ค่อยมาใช้น้ำในลำห้วยกันแล้ว ต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำจากภูเขา โรคภัยไข้เจ็บจากสารเคมีก็แสดงตัวชัดเจนขึ้น มีปัญหาชาวบ้านแย่งน้ำในหน้าแล้ง เพราะน้ำสายนี้ มันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ แม้แต่หมู่บ้านเดียวกัน เหนือน้ำกับใต้น้ำก็มีปัญหา ก็ต้องคุยกัน ถ้าไม่คุยกัน เขาก็กักเก็บน้ำ
เพราะอะไรถึงได้เลือกการเดินมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับชาวบ้าน
มันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการรณรงค์ให้ชาวบ้านตื่นตัวในปัญหาที่เกิดขึ้น ตอนนั้นก็คิดเพียงแค่นี้ สร้างกระแสเพื่อให้ชาวบ้านตื่นตัว ต่อมาก็มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ชวนชาวบ้านหาทางออกจากปัญหาเหล่านั้น เราก็ใช้คนมาพูดเพื่อให้ได้เห็นทางออก และมีการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ
ณ ตอนนี้ปัญหาที่มี ชาวบ้านก็รู้แล้ว ตอนที่เริ่มเดินธรรมยาตรา 1-2 ปี ก็พบว่าชาวบ้านก็รู้ว่ามันมีปัญหา แต่พวกเขาไม่มีทางออก เขาไม่รู้ว่าจะทำยังไง เราก็เริ่มเอาวิทยากร ประสบการณ์จากที่อื่นๆ มาแบ่งปัน ชาวบ้านก็เห็นนะ แต่ปัญหาคือยังเป็นเพียงคนจำนวนหนึ่งที่ตื่นตัว คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตื่นตัวกับปัญหาที่เขารู้ว่ามี แต่เรื่องเหล่านี้มันก็ต้องใช้เวลา และต้องร่วมมือกัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันเริ่มเกิดเครือข่ายชาวบ้าน ทุกวันนี้การเดินธรรมยาตราก็จะมีเครือข่ายชาวบ้านที่สนใจ เวลาจะทำอะไรขึ้นมา เราก็อาศัยเครือข่ายเหล่านี้ไปผลักดันหรือแสดงความเห็น
หมายความว่า ก่อนหน้าที่จะมีธรรมยาตราเกิดขึ้น ชาวบ้านไม่รู้ว่าสิ่งตัวเองทำนั้นเป็นปัญหาต่อทั้งตัวเองและสิ่งแวดล้อมเหรอครับ
ปัญหาเก่าๆ เช่น ตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านจะรู้ เพราะเขาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง เช่นป่าไม้หายไป แต่ที่เขาไม่ค่อยตระหนักก็คือ เรื่องสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยเคมี เราก็ค่อยๆ สื่อให้เขาเห็นถึงปัญหา เขาก็เริ่มรู้ ทำให้การเดินธรรมยาตรานั้น มีปัญหากับนายทุนที่ขายยาฆ่าแมลงด้วยนะ
ณ วันนี้ ชาวบ้านเองก็รู้ถึงปัญหาจากยาฆ่าแมลงแล้ว แต่ปัญหาคือ เขาจะเอาอะไรมาแทน เราเองก็พยายามชวนมาทำปุ๋ยชีวภาพ ทำอยู่สัก 2-3 ปี ทำไปได้ระดับหนึ่ง คนที่ทำก็ทำ คนที่ไม่ทำก็ไม่ทำ ปัญหาก็คือ มันต้องใช้แรงงานเยอะ ชาวบ้านตอนนี้ก็ขาดแรงงาน แรงงานมันแพง เขาก็อาจจะคิดว่า ฉันไปรับจ้างดีกว่า ฉันได้เงิน ดีกว่ามาเสียเวลานั่งทำปุ๋ย ทั้งๆ ที่มันลดรายจ่ายไปเยอะมาก แต่มันก็มีคนทำเกษตรแนวนี้อยู่นะ แม้จะไม่มากก็ตาม ไม่ได้เป็นกระแสหลัก
ก็เป็นการรณรงค์ผ่านการนำตัวอย่างเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีจากที่อื่นๆ มาให้ชาวบ้านเห็นถึงความเป็นไปได้
แต่มันต้องสาธิตให้เขาเห็นด้วยนะ อย่างที่ท่ามะไฟหวาน ก็จะมีแกนนำสาธิตวิธีการทำปุ๋ยชีวภาพ ทำเสร็จเขาก็จะนำมาถวายเป็นผ้าป่า และนำไปให้ชาวบ้านอีกที สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีทำอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ขยายออกไปเท่าที่ควร
ทางคณะธรรมยาตราก็จะเสนอทางเลือกในการทำเกษตร เช่น เกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ แต่ชาวบ้านจะสนใจหรือไม่ ก็คงบังคับไม่ได้
ใช่ แต่ในสถานการณ์จริง การให้ข้อมูลชาวบ้านอย่างเดียวก็ไม่พอหรอก เราต้องจัดตั้งด้วย เหมือนกับการให้ข้อมูลว่ากินเหล้าไม่ดี สูบบุหรี่ไม่ดี มันก็ไม่ได้ทำให้เขาเลิกสักเท่าไร มันต้องไปปลุกปล้ำด้วย สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เขา จัดกิจกรรมต่างๆ มีการสร้างกลุ่มก้อนให้ชาวบ้านได้มารวมตัวกัน โดยคาดหวังว่าจะเกิดเป็นเครือข่ายชาวบ้านตามมา แต่มันก็ยังทำสำเร็จแค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ที่ผ่านมา สำหรับการเดินธรรมยาตรา รวมไปถึงการจัดตั้งชาวบ้านให้หันเหทิศทางมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติ นอกจากเรื่องนายทุน ยังมีปัญหาอุปสรรคยังไงอีกบ้างครับ
จริงๆ เรื่องนายทุนก็ไม่ใช่อุปสรรคมาก เพียงแต่เขาก็จะไม่ให้ความร่วมมือในการเดินธรรมยาตรา แต่ในสถานการณ์จริง ธรรมยาตราก็ทำอะไรกับชาวบ้านไม่ได้มากหรอกนะ แต่ละหมู่บ้านเราก็ไปแค่ 1 วัน 1 คืน ส่วนมากเราก็จะไปพูด ไปเทศน์ ไปพูดคุยกับพวกเขา หรือมีกิจกรรมต่างๆ บ้าง เช่นนักสืบสายน้ำ มันต้องทำก่อนและหลัง ธรรมยาตรามันก็เป็นแค่การตีปี๊บ แต่สิ่งสำคัญจะอยู่ในส่วนของกิจกรรมก่อนและหลัง
กิจกรรมก่อนและหลังคืออะไรเหรอครับ
กิจกรรมก่อนก็เช่นไปพูดคุยกับชาวบ้านในวันพระ หลังจากนั้นถ้ามีชาวบ้านกลุ่มไหนน่าสนใจ เราก็จะไปทำเป็นเครือข่ายชาวบ้าน ชักชวนพวกเขาไปดูงาน ไปดูเรื่องเกษตรธรรมชาติ ไปดูเรื่องการปลูกป่า ต่อมา ตอนหลังก็เริ่มมีการทำวิจัย ก็ได้ทุนจาก สกว.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ก็มีหลายๆ เรื่อง เช่น วิจัยเรื่องนกกับป่า ก็เลือกคนทำจากคนในหมู่บ้านที่สนใจ เอาพวกที่ยิงนกมาศึกษาวิจัย มาเป็นวิทยากร วิจัยเรื่องศักยภาพชุมชน วิจัยเรื่องสมุนไพร เราก็จะพยายามทำกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายชาวบ้าน
ในระหว่างการวิจัย ก็ส่งผลให้ชาวบ้านตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมีด้วย
ใช่ แต่มันก็เป็นคนๆ ไปด้วยนะ เราเองก็หวังว่าต่อไปคนเหล่านั้นก็จะนำกลับไปทำต่อในชุมชนของเขา
งานวิจัยที่ว่านี้ วิจัยเสร็จแล้วเอาไปทำอะไรต่อเหรอครับ
การวิจัยก็เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ตัวรูปเล่มก็คงไม่ค่อยสำคัญอะไรมากนัก สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วม มันก็ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายชาวบ้านที่แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านเขาเห็นว่า สิ่งที่พวกเขามี มันก็ทำอะไรได้นะ ตรงนี้ก็เป็นการพัฒนาคนไปในตัวด้วย ก็ให้เขามีความรู้กลับไปทำงานกับชุมชนของตัวเอง
เหมือนเรากำลังพาชาวบ้านมองสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ว่ามันมีคุณค่าอย่างไร
(ตอบทันที) แต่เขาต้องลงมือทำด้วยนะ
การเดินครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กับทุกวันนี้ มีความแตกต่างกันในระหว่างกระบวนการเดินบ้างหรือเปล่าครับ
ก็มีนะ กิจกรรมกับชุมชนก็มีพัฒนาการ กิจกรรมกับคนเดินเองก็มีพัฒนาการ กิจกรรมกับชุมชน จากแต่ก่อนที่เราแค่ฉายสไลด์ พูดคุยกับชาวบ้าน ต่อมามีการไปเกาะติดกับชาวบ้านมากขึ้น บางทีทีมที่เดินยังเดินไปไม่ถึง ก็จะมีทีมโมบายไปทำงานกับเขาแล้ว ไปพูดคุย สาธิตวิธีการ เรื่องปุ๋ย เรื่องเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ตอนหลังก็มีไปเชิญวิทยากรจากที่ต่างๆ มาพูดคุย มาแนะนำ
พอคนมาร่วมเยอะขึ้น ก็ทำให้มีความคล่องตัวในการจัดการมากขึ้นด้วยหรือเปล่าครับ
ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมภายในคล่องตัวมากขึ้น มันเป็นระบบมากขึ้น แต่ก่อนคณะทำงานก็ต้องเข้าไปร่วมทำกับชาวบ้านด้วย ต่อมาเมื่ออะไรๆ เริ่มลงตัว ก็ค่อยๆ ให้เขาไปทำของเขาเอง เราก็เพียงไปพูด ไปดูภาพกว้างๆ ไปแค่เทศน์
ในระหว่างการเดิน ทั้งชาวบ้าน ทั้งคนที่ร่วมเดิน การรับรู้เรื่องเหล่านี้ เด็ก-ผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันไหมครับ
ผู้ใหญ่จะรับรู้ได้ไวกว่า ส่วนเด็กเองก็จะได้อะไรที่มีประโยชน์บางอย่างกลับไปเหมือนกัน เช่น ความอดทน การอยู่ง่ายกินง่าย ความเสียสละ เรื่องธรรมชาติ เด็กก็จะได้ไปบ้าง แต่ว่ามันจะได้จากกิจกรรมที่ไม่ใช่การฟัง แต่เกิดจากการได้ใช้ชีวิตร่วมกัน
ที่เขาชอบพูดกันว่า เด็กจะเปลี่ยนง่ายกว่า แต่ผู้ใหญ่จะเปลี่ยนยาก มันเป็นจริงไหมครับ
สำหรับผู้ใหญ่ที่มา เขาจะมีพื้นกันมาอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่มีพื้น เขาก็จะไม่มาเลย ทำให้การรับรู้ของผู้ใหญ่จะไปได้เร็ว ส่วนเด็กที่มาส่วนมากจะไม่มีพื้นมาเลย หลายคนก็มาเพราะครูสั่ง ครูบังคับ ซึ่งการเดินธรรมยาตรา ก็เป็นเหมือนการสร้างพื้นฐานทางจิตสำนึกให้กับเด็กได้ส่วนหนึ่ง และอีกอย่างที่เด็กได้ ก็คือเด็กจะรับผิดชอบตัวเองได้มากขึ้น เขาอยู่ง่ายกินง่ายมากขึ้น
ที่พระอาจารย์บอกว่า การทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ยากกว่าที่คิดไว้ เมื่อเราได้ประสบการณ์มาว่ามันไม่ง่าย เรามีการวางแผนกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง
สิ่งที่ยากก็คือ เรื่องของโครงสร้างปัญหา วิถีชีวิตของพวกเขา และวิถีการผลิตที่ทำให้ชาวบ้านต้องเป็นอย่างนี้ อย่างการเกษตรก็เป็นวิถีการผลิตที่ล้มละลาย เพราะเป็นเกษตรที่ไม่มีใครสนใจธรรมชาติ สิ่งที่เราทำก็จะทำได้ไม่มาก ทำได้เพียงชักชวนชาวบ้านที่สนใจมาหาทางออกในระดับปัจเจกบ้าง หรือถ้าใครมีกำลังพอก็ออกไปทำในระดับชุมชน
อย่างที่บอกไปว่า ในชุมชนก็จะมีชาวบ้านที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เขาสนใจที่จะหันเหวิถีมาสนใจธรรมชาติ เขาก็จะพยายามช่วยกันส่งเสริมในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นในระดับย่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีกำลังที่จะเข้าไปทำในพื้นที่ของตัวเองนะ เว้นแต่จะมีพวกเราเข้าไปคอยช่วยสนับสนุน
ในอนาคต 5 ปี 10 ปี 20 ปี จะมีการวางแผนการขยับการสื่อสารให้เข้มข้นเพิ่มขึ้นไหมครับ
การเดินธรรมยาตา ก็คงจะไม่ได้วางแผนยาวขนาดนั้น คณะทำงานก็ไม่ใช่คนในลักษณะเอ็นจีโอที่มีเวลาทำงานตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่ก็มีงานของตัวเองอยู่แล้ว เราก็จะมาร่วมกันเพียงปีละครั้ง งานลักษณะจัดตั้ง มันจำเป็นต้องทำตลอดทั้งปี เราทำได้แค่มีกิจกรรมไหนมีประโยชน์ น่าสนใจ เราก็มาชวนพวกเขาลองทำ ปีหนึ่งก็สัก 3-4 ครั้ง ก่อนและหลังการเดินธรรมยาตรา จะว่าไป ตรงนี้ก็เป็นข้อจำกัดเหมือนกันนะ เพราะเวลาและกำลังที่มีจำกัด เลยทำให้เราไม่สามารถทำงานเครือข่ายในระดับเทือกเขาได้อย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ ชาวบ้านกลุ่มไหน สามารถทำอะไรได้ ก็ทำในแต่ละชุมชนไป ก็มีเป็นจุดๆ ในที่ของแต่ละคน
ในมุมมองของพระอาจารย์ การแก้ปัญหาในระดับกฎหมาย ในระดับโครงสร้าง กับการแก้ปัญหาในระดับทัศนคติของคน มันมีความต่างกันไหมครับ
มันต่างนะ แต่มันต้องไปด้วยกัน และเราก็ต้องสร้างทางเลือกให้กับชาวบ้านด้วย ทุกวันนี้ ชาวบ้านรู้ว่าอะไรคือปัญหา แต่พวกเขาไม่มีทางออก พวกเขาไม่มีทางเลือก
ส่วนในเรื่องของการแก้กฎหมาย มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เราเลยพยายามไปทำในระดับจังหวัด ก็ไปขับเคลื่อนในแผนพัฒนาจังหวัด ประสานกับองค์กรในจังหวัด แต่มันก็ยังทำได้เป็นเรื่องๆ ไป ที่เราพยายามผลักดันก็คือ การวางแผนอนุรักษ์ธรรมชาติในลุ่มน้ำลำปะทาว แต่ก็ยังไปได้ช้า กรรมการก็มี แต่ยังไม่ค่อยเคลื่อนสักเท่าไร เพราะมันยังไม่ได้เป็นเรื่องหลักของจังหวัด เราจะไปรบกวนผู้ว่าฯ บ่อยๆ ก็คงไม่ได้ ก็ได้เป็นครั้งคราวไป ก็มีไปบอกเขาว่า ตอนนี้ที่ภูหลงมีคนมาล่าสัตว์นะ ขอแรงมาช่วยดูหน่อย เขาก็จะให้เจ้าหน้าที่มาตั้งด่าน ส่วนจะแก้ปัญหาในระยะยาวมันยังทำไม่ค่อยจะได้
ที่ผ่านมา ความคาดหวังในวันแรก กับผลที่เกิดขึ้นในวันนี้ ตรงกันไหมครับ
ตอนเริ่มต้นใหม่ๆ เราก็หวังไว้สูงนะ แต่พอมาทำจริงๆ เราก็พบว่า มันยากนะ เพราะแรงผลักดันที่จะทำให้เขามาทำลายธรรมชาติ ทำเกษตรกรรมแบบไม่สนใจผลกระทบต่อธรรมชาติ เรื่องเหล่านี้มันแรงมาก เราก็พบว่าการรณรงค์อย่างเดียวมันคงไม่ได้ผล เราต้องไปปลุกปล้ำกับชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้ก็นับว่าเป็นปัญหาเหมือนกันนะ เพราะเราก็ไม่ได้มีเวลาตลอด มันก็ต้องทำเป็นเรื่องๆ ไป เช่น เรื่องสมุนไพร พอเราได้ทุนจาก สกว. มันก็ทำให้เรามีแรงพอที่จะไปทำเรื่องนี้ได้
ประสบการณ์ที่ผ่านมา เราก็พบว่า การที่จะรณรงค์ หรือผลักดันในเรื่องสิ่งแวดล้อม มันต้องใช้พลังเยอะพอสมควร
ที่ผ่านมาตลอด 10 ปี และกำลังจะขึ้นปีที่ 11 สำหรับคณะทำงานเดินธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถือว่าพอใจไหมครับ
ก็ยังไม่พอใจนะ แต่เรารู้สึกว่าเราทำได้เท่านี้ แต่ในส่วนของตัวบุคคลและเยาวชน เราก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ในช่วงหลังๆ ธรรมยาตราก็จะไปทำกับคนที่มาร่วมเดิน ซึ่งมันเห็นผล ก็เป็นผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย
แล้วคนที่มาเดินจะได้อะไรกลับไปเหรอครับ
ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม เขาก็จะได้ฝึกเจริญสติ หลายคนชอบการมาเดิน เพราะมันเป็นความท้าทายสำหรับพวกเขาในการมาปฏิบัติธรรม ส่วนเด็กๆ พวกเขาจะเห็นว่า “ฉันทำได้”โดยเฉพาะเด็กในเมืองที่มาตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย วันแรกก็จะบ่นแล้วว่าตัวเองจะไปไหวไหม พออยู่ไปเรื่อยๆ จนถึงวันสุดท้าย เขาก็จะรู้สึกภูมิใจว่าฉันทำได้นะ เด็กสมัยนี้ก็จะอ่อนแอมากนะ ซึ่งการเดินธรรมยาตราจะบอกว่าพวกเขาก็ทำได้ ก็ทำได้เพราะพลังของกลุ่มมันช่วยผลัก ช่วยเคลื่อนไป เด็กที่มาจะอยู่ง่าย กินง่ายมากขึ้น มีความอดทน เข้มแข็งมากขึ้น
ในแง่ของการปฏิบัติธรรม ธรรมชาติที่ดีและไม่ดี เช่น น้ำใสสะอาด กับน้ำที่เสีย จะมีผลต่อการปฏิบัติภาวนาไหมครับ
(นิ่งคิด) สิ่งที่จะมีผลต่อการภาวนามากเลยก็คือ ความยากลำบากในระหว่างการเดิน แดดร้อน ฝนตก มีฝุ่นละออง การนอนกลางดิน กินกลางทราย สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติ คนที่มาหลายคนจะพบว่า ตัวเองก็สามารถมีความสงบ พบความสุขได้จากบรรยากาศที่ยากลำบาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะรู้สึกเหมือนๆ กันว่าความลำบากไม่ใช่เรื่องใหญ่นะ เพราะความสุขจะอยู่ที่ใจ คนจะเห็นตรงนี้
ส่วนในเรื่องของธรรมชาติ คนก็จะเห็นจากเรื่องจริงๆ ว่าทำไมธรรมชาติถึงได้เสื่อมโทรม มันไม่ใช่เป็นเพราะการทำลายของคนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของวิถีชีวิต เรื่องของระบบเศรษฐกิจ คนที่มาเดิน ก็จะได้เข้าใจชีวิตในชนบทมากขึ้น เห็นความทุกข์ยากของชาวบ้าน รับรู้น้ำจิตน้ำใจชาวบ้านมากขึ้น และความแตกต่างของคนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ทั้งหมดเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมก็ได้นะ เพราะมันเป็นการเห็นถึงความจริงที่เกิดขึ้น
ในอดีต-ปัจจุบันทัศนคติของมนุษย์ต่อธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปค่อน ข้างมาก จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ก็กลายมาเป็นแยกส่วนออกจากกัน มองธรรมชาติเป็นเพียงก้อนวัตถุ อยากทราบว่าทุกวันนี้ ทั้งพระอาจารย์ และคณะทำงานธรรมยาตรา ยังมีความหวังในการเยียวยาให้มันดีขึ้นอยู่ไหมครับ
ก็ยังมีความหวัง (ตอบทันที) เพราะทุกวันนี้ก็จะเริ่มมีการทำคนละไม้คนละมือ คนโน้นทำอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนั้น ทางมูลนิธิโลกสีเขียวก็จะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเยาวชนผ่านกิจกรรมนักสืบสาย น้ำ นักสืบสายลม ส่วนคณะทำงานธรรมยาตราก็ทำในเรื่องของธรรมะไป
เรามองว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติ ดูแลสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องทำในหลายมิติ ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดมลภาวะก็ต้องทำ เรื่องของการปรับระบบเศรษฐกิจก็ต้องทำ กฎหมายก็ต้องมีมากขึ้น ที่สำคัญก็คือ เรื่องของธรรมะ การเปลี่ยนทัศนคติต่อธรรมชาติ ซึ่งมันก็ไม่ใช่แค่ว่า ไม่ใช่พลาสติก ลดใช้โฟม ใช้ไฟให้น้อยลง อันนั้นก็มีประโยชน์ แต่มันจะต้องเกิดมาจากแรงจูงใจภายใน ที่ไม่ใช่เพียงแค่เห็นโทษของสิ่งนี้ แต่ยังต้องเห็นถึงประโยชน์ของการอยู่อย่างเรียบง่าย จนกระทั่งพบว่าการอยู่อย่างเรียบง่ายนั้นมีความสุข คนที่เห็นได้อย่างนี้ เขาก็จะรู้สึกว่าการลดการบริโภคไม่ใช่การฝืน สำหรับหลายๆ คนตอนนี้ เขายังรู้สึกว่าการลดการบริโภคเป็นการฝืนเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเขารู้สึกว่าการอยู่อย่างเรียบง่ายนั้นมีประโยชน์ เช่น การเดินขึ้นลิฟท์ไม่ใช่ความยากลำบากสำหรับเขานะ มันมีประโยชน์ เพราะเขาได้ออกกำลังกาย เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเขาไม่ต้องมาอดทน หรือเสียสละอะไรเพื่อใคร การทำเพื่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต้องเป็นการเสียสละก็ได้ เพราะคุณสามารถมีความสุขได้เองจากชีวิตที่เรียบง่าย ตรงนี้แหละ ที่ธรรมยาตาอยากให้ทุกคนเห็นว่า การอยู่อย่างเรียบง่ายก็มีความสุขได้
ณ วินาทีนี้ กับปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน เรายังมีหวังไหมครับ
ถามว่าเราจะแก้ปัญหาโลกร้อนได้ไหม ตอนนี้ก็ยอมรับเลยว่า “ยาก” เพราะมันไม่มีการขยับเขยื้อนกันเท่าไร หมายความว่าในรุ่นของพวกเราก็คงต้องเจอเหตุการณ์จากวิกฤตการณ์โลกร้อน เช่นอาจจะน้ำท่วมแน่ๆ ก็เตรียมใจกันได้เลย ทุกวันนี้เราก็ต้องทำใจเลยว่า เราจะอยู่กับน้ำท่วม อยู่กับเชื้อโรคที่มันระบาดได้อย่างไร ธรรมะก็ช่วยมาก โลกร้อน แต่คุณไม่ต้องร้อนใจก็ได้ แม้โลกจะร้อน แต่เราก็อยู่กับมันได้อย่างมีความสุข ไม่ทุกข์มาก เราไม่จำเป็นต้องไปทุกข์ร้อนใจ ถ้าการแก้ปัญหาอาจจะไม่ขยับไปไหน
สุดท้ายการทำเพื่อธรรมชาติ ถ้าเรารู้ว่าจะวางใจอย่างไรให้มีความสุข มันก็จะไม่ใช่การฝืนทำ ไม่ใช่การอดกลั้น แต่มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ
พระไพศาล วิสาโล
มูลนิธิโลกสีเขียว
ข่าวสิ่งแวดล้อม : สัมภาษณ์
เรื่อง : ขวัญชาย ดำรงขวัญ
ภาพ : อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย
ที่มา http://www.visalo.org/columnInterview/GreenWorld5310.htm