ทำสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดี
พระไพศาล วิสาโล
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือเรื่อง
“สร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน ๙๙๙ วัน”
(สนพ.ขอคิดด้วยคน ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง)

คนไทยในอดีตได้ชื่อว่ามีมาตรฐานทางศีลธรรมค่อนข้างสูง เป็นที่ประทับใจของชาวต่างชาติมาก ดังสังฆราชปาลเลกัวซ์ได้พูดถึงชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า “ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย….ไม่เพียงแต่ต่อมนุษย์ด้วยกันเท่า นั้นที่คนไทยมีมนุษยธรรม ยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เดียรัจฉานอีกด้วย”

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อคาร์ล ซิมเมอร์แมน มาสำรวจสภาพเศรษฐกิจไทย เขาอดไม่ได้ที่จะชื่นชมว่า “พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดี และไม่มีความโลภในการสะสมโภคทรัพย์ไว้เป็นมาตรฐานแห่งการครองชีวิต การละทิ้งเด็ก การขายเด็ก การสมรสในวัยเยาว์ และความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกัน ไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย”

คำบรรยายดังกล่าวเกือบจะเรียกได้ว่าตรงข้ามกับสภาพในปัจจุบัน ทุกวันนี้ประเทศไทยมีอาชญากรรมในอัตราที่สูงมาก มีคนถูกฆ่าตายวันละเกือบ ๒๐ คนหรือตายเกือบทุกชั่วโมง มีผู้หญิงถูกกระทำชำเราไม่ต่ำกว่า ๑๔ คนต่อวัน ในขณะที่เด็กถูกละเมิดทางเพศทุก ๒ ชั่วโมง

ความรุนแรงยังระบาดไปยังครอบครัวและโรงเรียน ขณะที่ตามท้องถนนมีเด็กถูกทิ้งปีละกว่า ๖,๐๐๐ คน ไม่นับการทำแท้งปีละ ๓ แสนราย

ในด้านการลักขโมยก็เป็นที่รู้กันดีว่ากำลังแพร่ระบาดไปทั่ว เมื่อ ๓ ปีที่แล้วบริษัทประกันภัยระดับโลกแห่งหนึ่ง(AVIVA)ได้ทำการสำรวจความเห็นของ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจำนวน ๖๐,๐๐๐ คนเกี่ยวกับอันตรายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปรากฏว่าเมืองไทยติดอันดับหนึ่งในเรื่องการลักขโมย และติดอันดับสองในด้านการชิงทรัพย์โดยใช้ความรุนแรง

ใน ด้านการคดโกงหรือคอร์รัปชั่น ประเทศไทยก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เพราะแพร่หลายไปทุกวงการและทุกระดับ เมื่อต้นปีนี้บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ค) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติ พบว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ในเอเชีย รองจากฟิลิปปินส์

ทั้ง หมดนี้ชี้ว่าศีลธรรมของคน ไทยตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย สาเหตุมิใช่เป็นเพราะเราสอนศีลธรรมกันน้อยลง หรือเป็นเพราะคนไทยเหินห่างจากวัด ไม่ฟังเทศน์วันพระ หรือรู้จักวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา (คนญี่ปุ่นเข้าวัดน้อยกว่าคนไทยมากแถมไม่รู้จักศีล ๕ แต่มีการละเมิดศีล ๕ น้อยกว่าคนไทยมาก)

การ เรียกร้องให้เพิ่มชั่วโมง ศีลธรรมในโรงเรียนให้มากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้พ่อแม่พาลูกหลานเข้าวัดมากขึ้น และนิมนต์พระมาเทศน์ตามหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งในสภาให้มากขึ้น ล้วนมีพื้นฐานมาจากการมองปัญหาจริยธรรมในระดับบุคคลทั้งสิ้น คือมองว่าจริยธรรมเสื่อมเพราะผู้คนไม่รักดีหรือเพราะไม่รู้ผิดรู้ชอบ แต่สิ่งขาดหายไปก็คือการมองปัญหาจริยธรรมในระดับสังคม คือตระหนักว่าปัจจัยทางสังคมเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จริยธรรมของ ผู้คนเสื่อมโทรมลง การมองข้ามปัจจัยดังกล่าวทำให้การแก้ปัญหาจริยธรรมมักหนีไม่พ้นการ “สอน” หรือ “เทศน์” หรือ “รณรงค์”

คนไทยมีศีลธรรมตกต่ำไม่ใช่เพียงเพราะว่าไม่รู้จับบาปบุญคุณโทษ หรือไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสังคมไทยทุกวันนี้เป็นปฏิปักษ์กับความดี กล่าวคือไม่ส่งเสริมคนดี (แต่นิยมคนมีเงินหรือมีชื่อเสียงมากกว่า) กระตุ้นและบีบคั้นให้ผู้คนเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุให้หลงใหลในอบายมุข หวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด(ซึ่งรวมถึงการคอร์รัปชั่น) และที่สำคัญคือบั่นทอนสถาบันทางศีลธรรมจนอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถเสริมสร้างศีลธรรมให้แก่ผู้คนได้ดังแต่ก่อน

 

ปัจจัยทางสังคมที่เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมทางจริยธรรมในปัจจุบัน ได้แก่

 

๑.การครอบงำของวัตถุนิยมและอำนาจนิยม

การ ขยายตัวของระบบทุนนิยมอย่าง แทบไม่มีขีดจำกัด ได้ทำให้เงินเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนจนกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ความร่ำรวยกลายเป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้คน ใช่แต่เท่านั้นเงินยังกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง กลายเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ในทุกมิติ กล่าวคือความรักของพ่อแม่หรือของคู่รักต้องแสดงออกด้วยการให้เงินหรือวัตถุ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอาจารย์กับนักศึกษา หมอกับคนไข้ ก็ต้องอาศัยเงินเป็นตัวเชื่อม หาใช่น้ำใจดังแต่ก่อนไม่ นอกจากนั้นการยกย่องเงินเป็นใหญ่ยังทำให้เกิดธุรกิจด้านอบายมุขมากมาย รวมทั้งสื่อมวลชนที่ส่งเสริมค่านิยมผิด ๆ ที่สวนทางกับศีลธรรม

สังคม ไทยยังเป็นสังคมที่นิยมใช้ อำนาจในการแก้ปัญหา รัฐบาลและระบบราชการเป็นแบบอย่างของการใช้อำนาจมากกว่าคุณธรรมหรือความรู้ ทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในทุกระดับและทุกสถาบัน รวมทั้งครอบครัว โรงเรียนและวัด ยิ่งใช้อำนาจมากเท่าไร จริยธรรมก็ถูกละเลยมากเท่านั้น จนเกิดค่านิยมแสวงหาอำนาจโดยไม่สนใจว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

 

๒.ความล้มเหลวของสถาบัน ทางศีลธรรม

สถาบัน ทางศีลธรรมอันได้แก่ครอบ ครัว ชุมชน วัด และโรงเรียน เคยมีบทบาทอย่างมากในการกล่อมเกลาสำนึกทางศีลธรรมแก่ผู้คน สถาบันดังกล่าวจะอยู่ได้ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยมีความรัก ความเสียสละ ความเคารพเป็นตัวเชื่อม แต่เมื่อเงินเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนอย่างมาก สัมพันธภาพที่เคยแน่นแฟ้นก็แปรเปลี่ยนไป

การ ทำมาหากินตามวิถีเศรษฐกิจ อย่างใหม่โดยเฉพาะในเมือง ทำให้พ่อแม่ห่างเหินจากลูก ผลก็คือครอบครัวลดบทบาทในการให้การศึกษาแก่เด็ก ปล่อยให้โรงเรียนและสื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทแทน ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัวเห็นได้จากสถิติการหย่าร้าง ปัจจุบันในประเทศไทย๑ ใน ๔ ของพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กถูกทอดทิ้งหรือขาดความอบอุ่นมากขึ้น

ส่วน ชุมชนก็ลดบทบาทที่แต่เดิม เคยเป็นตัวควบคุมและเสริมสร้างจริยธรรมของผู้คน เนื่องจากเศรษฐกิจและวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้ผู้คนอยู่กันแบบตัวใครตัวมันมาก ขึ้น ประกอบกับผู้คนหันไปพึ่งหน่วยงานของรัฐมากขึ้น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลทำให้ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งชุมชนดังแต่ก่อนลดน้อยลง ในทำนองเดียวกัน

ความ เหินห่างระหว่างฆราวาสกับ พระ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัดมีบทบาทน้อยลง แต่ก็ยังไม่ทำให้วัดอ่อนแอมากเท่ากับอิทธิพลของเงิน ซึ่งทำให้พระสงฆ์ย่อหย่อนในวัตรปฏิบัติและไม่สามารถเป็นแบบอย่างในทาง ศีลธรรมได้ ในขณะที่วัดกลายเป็นแห่งไสยพาณิชย์และตลาดค้าบุญไป

 

๓.การเมืองที่ไม่โปร่ง ใส

ระบบ การเมืองที่มีช่องโหว่ สามารถก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมหลายประการ เช่น การเมืองที่ไม่โปร่งใสเปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่น หรือเปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลใช้เงินสร้างฐานอำนาจจนเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ย่อมทำให้มีการใช้อำนาจมืดเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การให้สัมปทานแก่พวกพ้อง การอนุมัติโครงการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่น แก่ตน ไปจนกระทั่งการลอบสังหารคนที่ขัดผลประโยชน์ของตน ขณะเดียวกันระบบการเมืองที่รวบอำนาจเข้าส่วนกลางหรือระบบเผด็จการก็ทำให้การ ตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือจากสังคมเป็นไปได้ยาก การใช้อำนาจในทางฉ้อฉลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งโดยผู้มีอำนาจและพวก พ้องบริวารจึงเกิดขึ้นได้ง่าย กลายเป็นค่านิยมที่ผู้คนเลียนแบบกันทั่วทั้งประเทศ

 

๔.ระเบียบสังคมที่ให้ รางวัล ส่งเสริม หรือบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัว

นอกจากระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีระบบต่างๆ ในสังคมที่ทำให้ผู้คนแก่งแย่งกันมากขึ้นเช่น ระบบจราจรที่ไม่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ ระบบราชการที่ไม่เอื้อให้คนทำดี แต่เปิดช่องให้มีการทุจริตอย่างง่ายดาย หรือระบบยุติธรรม ซึ่งไม่โปร่งใสและอยู่ใต้อำนาจเงิน ทำให้คนมีเงินไม่สนใจที่จะทำตามกฎหมายเพราะเชื่อว่าสามารถใช้เงิน “อุด” ได้ ระบบที่บกพร่องเหล่านี้ (ซึ่งรวมไปถึงระบบความสัมพันธ์ในสังคม) ไม่เพียงแต่จะบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังให้ “รางวัล”แก่คนที่ทำเช่นนั้นด้วย เช่น คนที่ไร้น้ำใจ ไม่หยุดให้แก่คนข้ามทางม้าลาย สามารถไปถึงที่หมายก่อนใครๆ คนที่แซงคิว สามารถได้ตั๋วรถหรือตั๋วหนังก่อนใครๆ คนที่ทุจริต ซื้อตำแหน่ง สามารถเลื่อนชั้นก่อนใครๆ ใครที่ซื้อของหนีภาษีได้ก็เป็นที่ยกย่องว่าเก่ง คนที่ขายยาบ้าค้าผู้หญิง นอกจากจะไม่ถูกตำรวจจับเพราะมีเส้นสายหรือให้สินบนเจ้าหน้าที่แล้ว ยังร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบเหล่านี้มีแต่ทำให้คนเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบกันมากขึ้น

 

ทำสังคมไทยให้เป็นมิตร กับความดี

การเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทย นอกจากการเทศนาและเผยแผ่ธรรมแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างปัจจัยทางสังคม(และเศรษฐกิจการเมือง)ให้ เกื้อกูลต่อศีลธรรมมากขึ้น กล่าวคือส่งเสริมคนดี กระตุ้นให้ผู้คนอยากทำความดี หรือดึงพลังฝ่ายบวกของผู้คนออกมา เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมีมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

 

๑. เสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว

ควรมีมาตรการสนับสนุนให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้พ่อแม่มีความสามารถในการฝึกฝนกล่อมเกลาลูก ให้รู้จักคิด ใฝ่รู้ และมีจิตสำนึกที่ดีงามความเข้มแข็งของครอบครัวด้วย นอกจากนั้นควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเครือข่ายครอบครัวเพื่อช่วยเหลือกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และแม้แต่การช่วยดูแลลูกให้แก่กันและกันในบางโอกาส เครือข่ายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นตามละแวกบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือเกิดขึ้นในหมู่พ่อแม่ที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน พื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ของครอบครัว เช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก ช่องรายการโทรทัศน์สำหรับครอบครัว ควรมีให้มากขึ้น

 

๒.ฟื้นฟูชุมชนให้เข้ม แข็ง

แม้ชุมชนจะอ่อนแอลงไปมากแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ชนบท แต่ก็ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูส่งเสริมศีลธรรมของผู้คนภายในชุมชนได้ มีหลายชุมชนที่เมื่อมีการหันหน้ามาร่วมมือกัน ปรากฏว่าสามารถลดปัญหาภายในชุมชนลงไปได้มาก เช่น อบายมุข ไม่ว่าการพนันหรือการกินเหล้าลดลง วัยรุ่นลดการมั่วสุม และทะเลาะกันน้อยลง ครอบครัวประพฤติดีต่อกันมากขึ้น ใช้ความรุนแรงน้อยลง นอกจากนั้นสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนก็ดีขึ้น เนื่องจากมีการร่วมมือดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะ มีการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

แน่ นอนว่าชุมชนเหล่านี้มาร่วม มือกันได้ มิใช่เพราะมีพระหรือข้าราชการมาเทศน์มาสอนให้สามัคคีกัน แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น การทำโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ การทำแผนแม่บทชุมชน การอนุรักษ์ป่าชุมชน การได้ทำงานร่วมกันและเห็นผลสำเร็จที่มิอาจทำได้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน และเกิดความไว้วางใจกันมากขึ้น กระบวนการกลุ่มบางครั้งก็มาในลักษณะของการจัดเวทีชุมชน โดยมีแกนนำชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน

 

๓.ฟื้นฟูบทบาทของวัดและ คณะสงฆ์

ปัจจุบัน ระบบต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ ไม่เอื้อให้เกิดพระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ระบบการปกครองของคณะสงฆ์ นอกจากจะล้มเหลวในการส่งเสริมพระดีแล้ว ยังทำให้พระสงฆ์พากันสนใจลาภยศสรรเสริญกันมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจคณะสงฆ์ มาอยู่ในมือของมหาเถรสมาคม นอกจากจะทำให้การปกครองเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการวิ่งเต้น ระบบเส้นสาย และการแบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็ไม่สามารถทำให้พระภิกษุสงฆ์มีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลกดีพอ ที่จะสื่อธรรมให้ผู้คนเกิดความซาบซึ้งแจ่มชัดจนเห็นภัยของบริโภคนิยมหรือ อำนาจนิยม และหันมาดำเนินชีวิตตามวิถีพุทธ ยิ่งการศึกษาเพื่อฝึกฝนตนให้มีความสุขภายในพึงพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย และสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้ อีกทั้งมีเมตตากรุณาปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก อย่างรู้เท่าทันสังคมสมัยใหม่ด้วยแล้ว แทบจะไม่มีเอาเลย ผลก็คือคณะสงฆ์ปัจจุบันไร้ซึ่งพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม

การ จะส่งเสริมให้คณะสงฆ์เปี่ยม ด้วยพลังทางปัญญา ศีลธรรม และศาสนธรรม นั้นจะต้องมีการปฏิรูปการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ควรมีการกระจายอำนาจเพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อำนาจน้อยลง แต่ใช้ปัญญาและคุณธรรมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมพระดีอย่างจริงจัง มีการศึกษาทางธรรมและทางโลกอย่างสมสมัย ชนิดที่ช่วยให้พระสงฆ์รู้จักคิด มิใช่ถนัดท่องจำ สามารถสื่อและประยุกต์ธรรมได้อย่างมีพลัง ทั้งโดยการประพฤติเป็นแบบอย่าง การสอน และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าโดยผ่านการฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ

นอก จากนั้นควรมีการฟื้นฟูความ สัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น เพื่อพลังทางศีลธรรมของวัดจะสามารถถ่ายทอดไปยังชุมชน และส่งอิทธิพลต่อผู้คนได้มากขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามี ส่วนร่วมในกิจการของวัดมากขึ้น ตามคติแต่โบราณที่ถือว่าวัดเป็นของชุมชน เช่น มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณร รวมทั้งร่วมในการปฏิบัติธรรมที่วัดจัดขึ้น ในอีกด้านหนึ่งพระสงฆ์ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชนมากขึ้น เช่น ร่วมแก้ปัญหาอบายมุข ปัญหาวัยรุ่น การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ส่งเสริมการออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน

 

๔.ปฏิรูปการศึกษา

โรงเรียน ในปัจจุบันไม่เพียง ประสบความล้มเหลวในการปลูกฝังสำนึกทางศีลธรรมเท่านั้น แม้แต่การเสริมสร้างความรู้แก่นักเรียนก็ยังล้มเหลว เห็นได้จากผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าร้อยละ ๙๐ ของนักเรียนสอบได้ไม่ถึง ๕๐ คะแนนหรือครึ่งหนึ่งของแทบทุกวิชา สำหรับนักเรียนชั้นที่ต่ำลงมาก็มีปัญหาไม่ต่างจากกัน แม้แต่การอ่านออกเขียนได้ก็เป็นปัญหา

ปัญหา ของโรงเรียนจึงไม่ได้อยู่ เพียงแค่สอนวิชาศีลธรรมหรือพุทธศาสนาน้อยเกินไป แต่อยู่ที่กระบวนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง บรรยากาศภายในโรงเรียนนั้นกล่าวได้ว่าไม่ส่งเสริมให้เกิดการใฝ่รู้เลย ดังเห็นได้ว่านักเรียนร้อยละ ๕๗ เคยยอมรับว่าตนหนีเรียน นอกจากนั้นยังพบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยมาก คือเฉลี่ยวันละ ๓ นาที(นับรวมผู้ที่ไม่อ่านหนังสือด้วย)

ปัญหา สำคัญจึงอยู่ที่การส่ง เสริมให้เกิดบรรยากาศและกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งหากทำได้ดี ก็จะส่งเสริมสติปัญญาและศีลธรรมไปได้ควบคู่กัน เพราะสำนึกและพฤติกรรมทางศีลธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการเรียนวิชาศีลธรรม เท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเกิดจากการมีวิธีคิดที่ถูกต้อง มีเหตุผล และมีแบบอย่างที่ดี ปัจจัยเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในทางวิชาการด้วย เช่นกัน แต่วิธีคิดที่ถูกต้องและมีเหตุผลนั้นจะเกิดขึ้นได้ครูต้องส่งเสริมให้เกิด กระบวนการเรียนรู้และความใฝ่รู้ โดยครูเป็นแบบอย่างไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ด้วย เหตุนี้การปฏิรูปกระบวนการ เรียนรู้ในโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก ทั้งนี้จะต้องทำควบคู่กับการปฏิรูปการผลิตครูเพื่อให้สามารถจัดกระบวนการ เรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียน นั่นหมายความว่าครูต้องรู้จักคิด ใจกว้าง ใช้อำนาจกับเด็กน้อยลง และพร้อมจะเรียนรู้ไปกับนักเรียน ที่สำคัญคือมีเวลาให้แก่เด็กมากขึ้น การปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้การสร้างเสริมศีลธรรมและสติปัญญาของเด็กเป็นไป อย่างสอดคล้องกัน โดยไม่เกิดปัญหาว่าการเพิ่มวิชาศีลธรรมจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ ของเด็กแต่อย่างใด

นอก จากนั้นควรส่งเสริมให้ โรงเรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะข้างต้นมาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกระบวนการ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับศีลธรรมของนักเรียน อาทิ โรงเรียนวิถีพุทธ ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายดังกล่าวด้วย

 

๕.เสริมสร้างองค์กร ประชาสังคม

องค์กร ประชาสังคม คือ องค์กรที่ประชาชนอาสาสมัครมาร่วมกันทำสาธารณประโยชน์ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กิจกรรมที่ทำอาจเป็นการส่งเสริมสุขภาพ อนุรักษ์วัฒนธรรม ดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมกีฬา พัฒนาการศึกษา หรือ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก เช่น เด็กกำพร้า คนยากจน ผู้ติดเชื้อเอดส์ หญิงที่ถูกทำร้าย เป็นต้น องค์กรดังกล่าวสามารถเป็นชุมชนทางศีลธรรมได้ เพราะนอกจากจะร่วมกันทำสิ่งดีมีประโยชน์แล้ว ยังส่งเสริมซึ่งกันและกันให้มีความเสียสละ เห็นแก่ส่วนรวม อันเป็นการทวนกระแสสังคมที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว นอกจากนั้นความเป็นมิตรที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ยังสามารถช่วยกำกับสนับสนุนให้แต่ละคนมีพฤติกรรมที่ดีงาม งดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ มีการแนะนำตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งช่วยเหลือกันในยามที่ชีวิตประสบปัญหา

องค์กร ประชาสังคม มีหลายลักษณะ อาจเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกไม่ถึงสิบคน ไปจนถึงองค์กรประเภทเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกนับพันนับหมื่น อาจเป็นองค์กรที่ผู้คนมาร่วมกิจกรรมกันเป็นครั้งคราว หรือทำงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรประเภทนี้ยังสามารถพัฒนาจนเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงครอบ ครัว ชุมชน วัด โรงเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน ให้กลายเป็นขบวนการหรือชุมชนทางศีลธรรมขนาดใหญ่ที่สามารถมีอิทธิพลต่อสังคม บริโภคนิยมและอำนาจนิยมได้

 

๖.ปฏิรูปสื่อเพื่อมวลชน

ปัจจุบัน มีธุรกิจจำนวนมากได้ ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้สื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นการบริโภค อาทิ ธุรกิจเหล้า บุหรี่ การควบคุมมิให้ธุรกิจเหล่านี้ใช้สื่ออย่างเสรี เช่น งดโฆษณา หรือจำกัดเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ ปรากฏว่าสามารถลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและศีลธรรมได้ไม่น้อย จึงควรที่จะมีการขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่ก่อผลเสียต่อศีลธรรมของสังคมส่วนรวม โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำหน้าที่เฝ้าระวังเนื้อหาในสื่อที่เป็น อันตรายต่อศีลธรรม ไม่ว่าทางโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์มือถือ

ใน อีกด้านหนึ่งควรมีการพัฒนา สื่อที่ส่งเสริมศีลธรรม ที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ เช่น การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์หรือช่องรายการสำหรับครอบครัว ที่ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงได้ง่าย (ปัจจุบันมีรายการสาระสำหรับนักเรียน หรือ E-TV ซึ่งเผยแพร่เฉพาะโรงเรียนทั่วประเทศเท่านั้น) ทั้งนี้โดยอาจอาศัยงบประมาณจากสัดส่วนรายได้หรือค่าสัมปทานที่ได้จากสถานี โทรทัศน์กระแสหลักทั้งหลาย) มาตรการดังกล่าวจะได้ผลต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ โดยมีการตั้งศูนย์อบรมผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อในทุกกระบวนการ และเปิดโอกาสให้คนจากชุมชนได้เข้ามามีส่วนเรียนรู้ เพื่อนำไปผลิตสื่อให้กับท้องถิ่นของตน นั่นหมายความว่าจะต้องมีการส่งเสริมวิทยุหรือโทรทัศน์ชุมชนอย่างจริงจัง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอาจอาศัยงบประมาณจากองค์กรท้องถิ่น

ที่ มองข้ามไม่ได้อีกประการหนึ่ง คือการทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กระแสหลักในปัจจุบันมีเนื้อหาที่ส่งเสริม ศีลธรรมและสติปัญญามากขึ้น มิใช่มุ่งแต่ความบันเทิงและส่งเสริมบริโภคนิยมเป็นหลัก ดังนั้นจึงควรผลักดันให้ คณะกรรมการกิจการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ (กสช.) มีมาตรการส่งเสริมเนื้อหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เช่น มีการกำหนดสัดส่วนเนื้อหาดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งนี้โดยถือว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นสมบัติของชาติ จึงจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

 

๗.ลดอิทธิพลของบริโภค นิยมและอำนาจนิยม

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าอำนาจเงินในปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากต่อสื่อ สถาบันศาสนา ครอบครัว สถาบันการศึกษา ในทางส่งเสริมบริโภคนิยมและวัตถุนิยม แต่ที่กำลังเป็นปัญหาเพิ่มเข้ามาอย่างน่าเป็นห่วงคืออิทธิพลในทางการเมือง ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องธุรกิจ ที่เต็มไปด้วยการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว และการทุจริตคอรัปชั่น จนการเมืองกลายเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมมากขึ้นทุกที และกลายเป็นแบบอย่างในทางเลวร้ายต่อผู้คนในสังคม

เราจำเป็นต้องทัดทานการขยายตัวของทุนนิยมและอำนาจเงิน ด้วยการคัดค้านนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน และการเงินที่คำนึงแต่ผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงิน แต่ส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่และศีลธรรมของผู้คนทั่วทั้งสังคม

ควร มีการควบคุมป้องกันมิให้ อำนาจเงินเข้าไปมีอิทธิพลในการเมืองมากเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้นักการเมืองกระทำการทุจริตหรือ “ถูกซื้อ”ด้วยเงินได้ง่ายแล้ว ยังจะทำให้ฝ่ายการเมืองเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยม เช่น ผลักดันกฎหมายและนโยบายที่กระตุ้นบริโภคนิยมและบั่นทอนสังคมและศีลธรรมของ ผู้คนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ทำให้ระบบการเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการถอดถอนนักการเมืองที่(มีพฤติกรรมอันควรเชื่อได้ว่า )คอร์รัปชั่น ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าปัญหาพื้นฐานคืออิทธิพลของทุนนิยมที่แพร่ซึมเข้า ไปในระบบและสถาบันต่าง ๆ ของสังคม จนทำให้ความโลภหรือความเห็นแก่ตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบและสถาบันทางการ ศึกษา สื่อมวลชน เศรษฐกิจ ทำให้เกิดโลกทัศน์ ค่านิยม วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ที่ถือเอาเงินหรือวัตถุเป็นเป้าหมายชีวิต ใฝ่เสพใฝ่บริโภค และมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวให้มากที่สุด การจะลดทอนอิทธิพลของทุนนิยมและบริโภคนิยม จึงนอกจากจะต้องคัดค้านทัดทานนโยบายทางการศึกษา สื่อมวลชน เศรษฐกิจ การพัฒนาที่ส่งเสริมวัตถุนิยมและบริโภคนิยมแล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างทางเลือกในเชิงระบบหรือสถาบันขึ้นมาด้วย ที่ส่งเสริมโลกทัศน์ ค่านิยม วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ในทางเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เห็นคุณค่าของชีวิต และตระหนักถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ใฝ่ทำใฝ่สร้างสรรค์ ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน โดยนอกจากจะทำขึ้นมาเป็นตัวอย่างแล้ว ยังมีการผลักดันให้เกิดนโยบายหรือกลไก (เช่น กฎหมาย องค์กรอิสระ สถาบัน) ที่ส่งเสริมระบบหรือสถาบันทางเลือกดังกล่าวให้เข้มแข็งและแพร่หลายได้ เช่น นโยบายและกลไกที่ส่งเสริมการศึกษาทางเลือกแบบต่าง ๆ อาทิ โฮมสคูล เครือข่ายการศึกษานอกระบบ จิตปัญญาศึกษา หรือนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง เงินตราชุมชน หรือนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมสื่อมวลชนสำหรับครอบครัวและองค์กรประชาสังคม เป็นต้น

สำหรับอำนาจนิยมนั้น ควรลดทอนมิให้ขยายตัวด้วยการส่งเสริมให้รัฐกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางให้มาก ขึ้น มิใช่สู่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น ที่สำคัญคือกระจายอำนาจให้องค์กรชุมชนมีบทบาทในการจัดการดูแลกิจการที่มีผล กระทบต่อชุมชนโดยตรง เช่น มีอำนาจในการจัดการป่าชุมชน แม่น้ำลำคลองในท้องถิ่น เป็นต้น

ขณะ เดียวกันการใช้อำนาจของรัฐจะ ต้องได้รับการกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างจริงจัง การกำกับตรวจสอบและถ่วงดุลนั้น นอกจากจะทำโดยผ่านสถาบันนิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนองค์กรอิสระที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้มีบทบาทด้วย ทั้งโดยตรงและโดยผ่านสถาบันนิติบัญญัติ ตุลาการและองค์กรอิสระ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้รัฐคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมโดยใช้ความรู้และ คุณธรรมเป็นหลัก มีความละเอียดรอบคอบในการดำเนินงาน แทนที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจดังแต่ก่อน

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือการปฏิรูประบบราชการ เพื่อลดอำนาจนิยมภายในระบบให้น้อยลง และเป็นระบบที่อาศัยความรู้และคุณธรรมมากขึ้น โดยมีการปรึกษาหารือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากข้าราชการในทุกระดับให้มาก ขึ้น เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารจากล่างขึ้นบน แทนที่จะเป็นการสั่งการจากบนลงล่างอย่างเดียว ในทำนองเดียวกัน เมื่อออกไปสัมพันธ์กับประชาชน ควรมีการร่วมมือและปรึกษาหารือกับประชาชนมากขึ้น มิใช่สั่งการให้ประชาชนทำตามในทุกเรื่องเพราะถือว่าข้าราชการเป็นใหญ่เหนือ ประชาชน การลดอำนาจนิยมดังกล่าวจะต้องทำในหน่วยราชการทุกระดับ รวมทั้งในระดับโรงเรียน

กล่าวในภาพรวมแล้ว นอกจากการลดอิทธิพลของอำนาจเงินและอำนาจนิยมในเชิงระบบแล้ว จำเป็นจะต้องมีระบบหรือโครงสร้างที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ลดการเอารัดเอาเปรียบกัน และก่อให้เกิดสุขภาวะอย่างเป็นองค์รวม ทั้งในทางกาย ความสัมพันธ์ จิต และ ปัญญา โครงสร้างอันสันติดังกล่าว ย่อมเป็นโครงสร้างที่ส่งเสริมศีลธรรมในตัวเอง โครงสร้างดังกล่าว ประกอบด้วย

ระบบเศรษฐกิจ ที่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยุติธรรม ไม่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น มีสวัสดิการช่วยเหลือคนยากจน รวมทั้งปกป้องผู้ยากไร้จากการเอาเปรียบของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะหรือของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน มีปัจจัยในการผลิตและดำรงชีพขั้นพื้นฐาน สามารถเลือกหรือรักษาวิถีการดำรงชีพที่ตนปรารถนาได้ เป็นต้น

ระบบ การเมือง ที่ไม่ผูกขาดอำนาจไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ระดับ ชุมชนไปถึงระดับชาติ รวมถึงการดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่น มีกลไกที่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้หลักประกันทางสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้น

ระบบ การศึกษา ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนตนในทุกมิติ ไม่หลงติดอยู่กับระบบบริโภคนิยมหรือถูกครอบงำด้วยลัทธินิยมใด ๆ อย่างไร้วิจารณญาณ ผู้คนสามารถพัฒนาและใช้ศักยภาพทั้ง ๔ มิติ (คือ กาย ความสัมพันธ์ จิต และปัญญา)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากสามารถแก้ปัญหาของตนได้แล้ว ยังสามารถช่วยเหลือส่วนรวมด้วยวิถีทางที่สันติ เป็นระบบที่เปิดกว้างและมีความหลากหลาย ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังมีเสรีภาพในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือสภาพแวด ล้อมของตน

ระบบ สื่อมวลชน ที่ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่เกื้อกูลต่อการพัฒนา สุขภาวะทั้ง ๔ มิติ ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของได้ เป็นสื่อกลางที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความเข้าใจกัน ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเคารพในความแตกต่างทางความคิดและอัตลักษณ์

 

ส่งท้าย

มัก พูดกันว่าประชาชนจะมีคุณธรรม บ้านเมืองจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อได้ผู้นำที่มีคุณธรรม ดังนั้นเราจึงมักได้ยินเสียงร่ำร้องเรียกหาคนดีมาเป็นผู้นำประเทศ โดยเชื่อว่าถ้าได้ผู้นำที่เป็นคนดีแล้ว บ้านเมืองก็จะดีไปเอง ความคิดเช่นนี้นอกจากจะมองว่าความดีเป็นเรื่องของตัวบุคคลล้วน ๆ แล้ว ยังมองว่าปัจจัยทางสังคมตลอดจนระบบเศรษฐกิจการเมืองการศึกษา เป็นกลาง อยู่ที่ว่าใครจะใช้ในทางดีหรือร้าย แต่ในความเป็นจริงศีลธรรมของตัวบุคคลย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ไม่มากก็น้อย อีกทั้งปัจจัยทางสังคมก็มิได้มีความเป็นกลางทางศีลธรรม บ้างก็เป็นปฏิปักษ์กับความดี บ้างก็เป็นมิตรกับความดี ผู้นำแม้จะเป็นคนดีเพียงใด หากอยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่ไม่โปร่งใสหรือรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ก็อาจกลายเป็นผู้นำที่ลุแก่อำนาจ หากไม่ทุจริตเองก็ต้องยอมให้คนอื่นทุจริต หาไม่ตัวเองก็ต้องหลุดจากอำนาจในเวลาไม่นาน ใช่แต่เท่านั้นแม้ยังรักษาความดีไว้ได้แต่ก็ยากที่จะผลักดันให้ประชาชนมี ศีลธรรมมากขึ้น เพราะระบบหรือกลไกต่าง ๆ คอยขัดขวาง

ด้วย เหตุนี้ในการเสริมสร้างทาง ศีลธรรมของผู้คนจึงต้องให้ความสำคัญกับอิทธิพลของสังคมแวดล้อมด้วย หากเห็นว่าสังคมเป็นปฏิปักษ์กับความดี ก็จำต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสังคมให้กลับมาเป็นมิตรกับความดี เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับผู้นำที่เป็นคนดี การโยนความรับผิดชอบให้แก่คนอื่นย่อมมิใช่วิสัยของคนดี คนดีจะต้องกล้าแบกรับภาระด้วยตนเอง โดยไม่กลัวว่าจะเปลืองตัว ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะคนดีในเมืองไทยคิดถึงแต่ตัวเองมากเกินไป สังคมไทยจึงตกต่ำทางศีลธรรมจนถึงขนาดนี้