ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency)
ฉบับที่ 98 (14 พฤศจิกายน 2553)
“ทางเลือกที่มีไม่มาก”
เจนจินดา ภาวะดี
สภาคริสเตียนแห่งเอเชีย
(ดูรูปผู้ลี้ภัยเพิ่มเติมได้ใน link ที่แนบมาด้านล่าง)
ทันทีที่การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศพม่าได้สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พย. 2553 เสียงปืนก็ได้ดังขึ้นในเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ฝั่งตรงข้ามด้าน อ. แม่สอด จ. ตาก การยิงต่อสู้ระหว่างทหารพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA (Democratic Karen Buddhist Army) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ภาพของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเมืองเมียวดีและบริเวณใกล้เคียง ต่างอุ้มลูกจูงหลาน วิ่งหนีกระสุนปืนข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งไทย และจำนวนผู้ลี้ภัยสงครามก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเกินกว่าหมื่นคนในเวลาชั่วข้ามคืน
ทางฝั่งไทยด้าน อ. แม่สอด เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรระหว่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือตามมนุษยธรรม มีการจัดที่พักให้ผู้ลี้ภัยได้อยู่ในบริเวณเดียวกันในวัด ภายใต้การดูแลของทหาร แต่ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ลี้ภัยก็ทะลักเข้ามาเพิ่มมากขึ้น บ้างกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเรือนของญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก ทำให้หน่วยงาน (รัฐ) และองค์กรต่าง ๆ (เอกชน) ต้องเร่งหาวิธีการให้ความช่วยเหลือกันอย่างฉุกละหุก แม้จะมีการฝึกอบรมรับมือกับการทะลักของผู้ลี้ภัยชายแดนบ่อยครั้งก็ตามที แต่ครั้งนี้ก็มิได้เป็นผลแต่อย่างใด
หลังจาก “ลี้ภัย” อยู่ทางฝั่งไทยได้ประมาณ 48 ชม. ผู้ลี้ภัยก็ได้รับแจ้งว่าสถานการณ์ในเมืองเมียวดีได้สงบลงแล้ว กองกำลังทหารพม่าและกองกำลังทหารกะเหรี่ยง DKBA ได้ตกลงทำความเข้าใจกันได้และเจรจาหยุดยิง ผู้ลี้ภัยทั้งหมดจึงถูกทางการไทยส่งกลับทันที แม้ก่อนหน้านั้นจะมีข่าวว่าทางเมืองเมียวดีมีผู้ถูกลูกหลงเสียชีวิตไปกว่า 30 คน
พลันที่ผู้ลี้ภัยที่ อ. แม่สอด ถูกส่งกลับในวันที่ 9 พย. ชายแดนอีกแห่งหนึ่งด้านตะวันตกของประเทศไทย ก็ได้มีผู้ลี้ภัยหนีตายข้ามมาทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรีเช่นกัน การสู้รบระหว่างกองกำลังทหารทหารพม่า DKBA ก็ยังดำเนินตลอดแนวชายแดน ภาพของผู้หนีภัยสงครามที่ต้องเดินเท้าเข้ามาฝั่งไทยนั้น มิแตกต่างจากภาพผู้ลี้ภัยทางด้าน อ. แม่สอด จ. ตาก ภาพของพ่อแม่ต้องหอบลูกจูงหลาน ภาพผู้หญิงอุ้มลูก และภาพคนชราที่ต้องหลบหนีกระสุนปืนของ “ผู้หิวกระหายสงคราม” บ่งบอกชะตากรรมหลังเสียงปืนได้เป็นอย่างดี
การหลบหนีภัยสงครามและความตาย มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีผู้นำเผด็จการ ที่ไม่ได้คำนึงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประเทศพม่าก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน กว่าค่อนครึ่งศตวรรษที่พี่น้องชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ต้องทนทุกข์ทรมานกับการปกครองด้วยกระบอกปืนได้ส่งผลกระทบหลายด้านต่อการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์ ที่ถูกละเมิด “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิมนุษยชน”อยู่ตลอดเวลา พี่น้องประชาชนและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศพม่านั้นไม่ค่อยมีทางเลือกในชีวิตมากนัก พวกเขาถูกกดขี่ ข่มเหง ถูกบังคับให้ต้องเชื่อฟัง “ทุกอย่าง” หากไม่ทำตามก็ต้องถูกลงโทษด้วยการขังคุก หรือทำร้ายด้วยวิธีต่าง ๆ เราจึงเห็นภาพของ “ผู้ลี้ภัย” หลบหนีมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาบ่อยครั้ง
ทางเลือกที่แม้มีไม่มาก แต่สิ่งที่พี่น้องประชาชนชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยในพม่าทุกชาติพันธุ์ได้เลือกก็คือ เลือกที่จะต่อสู้ตามแนวทางของตนเอง เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยในประเทศพม่า แม้ว่าการเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ก็ยังคงเรียกร้อง “การมีส่วนร่วมทางการเมือง” อยู่ ซึ่งหลายครั้งที่การเรียกร้องหรือการเจรจาต่อรองไม่สำเร็จ จนเกิดการสู้รบขึ้น และทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ใกล้แนวสู้รบต้องได้รับผลกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ในครานี้ก็เช่นกัน (พย. 53) พลันที่การสู้รบกันของทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยได้เริ่มขึ้น ผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากต้องหนีภัยความตายข้ามมาฝั่งไทย และกลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเช่นเดียวกันกับพื้นที่ชายแดนด้านด่านเจดีย์สามองค์ ต.หนองลู อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี ที่โรงเรียน วัด และโบสถ์คริสต์ (คริสตจักร) ต้องรองรับให้ผู้หนีภัยความตายเหล่านั้นได้มาพักพิง และช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน
ณ โบสถ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ห่างจากชายแดนประมาณ 700 เมตร มีผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งที่เป็น “มิชชันนารี” ของสภาคริสตจักรในประเทศไทย ชื่อว่า อาจารย์เหมยฟ้า (อรุณรัตน์ คู่สุขมา) ได้เปิดประตูโบสถ์รองรับบรรดา “ผู้ลี้ภัย” จำนวนหนึ่งกว่า 300 คน ให้เข้ามาพักพิงในอาณาบริเวณของโบสถ์ พร้อมทั้งได้จัดน้ำดื่ม ข้าวปลาอาหาร และเครื่องนอนเท่าที่จะหาได้ให้ผู้ลี้ภัยที่ระหกระเหินมา
“คืนแรกที่พวกเขาวิ่งข้ามมาฝั่งเรา พวกเขาไม่มีที่นอน ดิฉันก็ให้พวกเด็กๆนอนในตัวโบสถ์ ส่วนคนอื่น ๆ ก็นอนบนพื้นดินแข็ง ๆ ที่สนามหญ้านี่แหละ ไม่มีเต็นท์คลุม ไม่มีเสื่อ ไม่มีผ้าห่ม ไม่มีอะไรรองนอนเลย ต้องนอนตากน้ำค้างกันหมด” อจ. เหมยฟ้า เล่าถึงความลำบากในคืนแรกให้ฟัง
“คืนที่สองนี่ดีหน่อยค่ะ มีผู้ใจบุญซื้อเต็นท์ ซื้อเสื่อ ซื้ออาหาร ซื้อน้ำ ซื้อนมมาให้ พอที่เราจะดูแลคน 300 กว่าคนได้ แต่ก็ยังไม่ดีนัก เพราะพื้นที่จำกัด และไม่มีอุปกรณ์ทำอาหาร”
โบสถ์แห่งนี้ดูแล “ผู้ลี้ภัย” ได้เพียงสองคืนเท่านั้น (9-10 พย.) เพราะเมื่อเข้าสู่เช้าวันใหม่ ทหารก็ได้มาสั่งให้ “ผู้ลี้ภัย” รีบไปรวมกันที่วัดและให้เดินกลับพม่า หลังจากที่ได้รับแจ้งว่าการสู้รบสงบลงแล้ว แต่ในความเป็นจริงเช้าวันนั้นเสียงปืนยังดังระรัวไม่ขาดสาย เสียงปืน 80 กว่านัด ไม่ได้หยุดยั้ง “คำสั่ง” ของทหารแม้แต่น้อย
แท้ที่จริงทหารได้สั่งให้ “ผู้ลี้ภัย” กลุ่มนี้กลับไปพม่าในตอนค่ำของวันที่ 10 พย. แต่ อจ. เหมยฟ้า ได้ร้องขอทหารว่าขอให้พวกเขานอนอยู่ที่โบสถ์ต่อเพราะการเดินทางกลางคืนนั้นไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ แต่เมื่อรุ่งเช้า “ผู้ลี้ภัย” ยังไม่ทันได้กินข้าวปลาอาหาร กลับถูกทหารสั่งให้ไปรวมกันที่วัด เพื่อผลักดันออกไปพร้อมกับ “ผู้ลี้ภัย” อื่น ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายกัน รวมทั้งหมดราว ๆ ห้าร้อยคน
แวว ตา อจ. เหมยฟ้าดูหม่นหมองยิ่งนัก พลันที่ถูกทหารสั่งให้ “ผู้ลี้ภัย” ออกไปจากโบสถ์ ภาพ “ผู้ลี้ภัย” ที่กึ่งวิ่ง กึ่งเดิน หอบข้าวของทยอยออกจากบริเวณ โบสถ์ ตามด้วยภาพทหารถือปืนเดินคุม ช่างเป็นภาพที่หดหู่เหลือเกิน เธอคิดว่าได้ทำหน้าที่ “มิชชันนารี” อย่างดีที่สุดแล้ว ในการดูแลเอาใจใส่เพื่อนบ้านตามคำสอนของคริสต์ศาสนาที่กำหนดให้ทุกคน “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”
ณ ชายแดนเขตเชื่อมต่อไทย-พม่า ด้านด่านเจดีย์สามองค์ ฉันเฝ้ามองคลื่น “ผู้ลี้ภัย” เดินไปรับน้ำคนละขวดจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย และเดินข้ามฝั่งกลับไปยังดินแดนที่จากมา พวกเขายังไม่ทันได้พักผ่อนจากการเดินทางที่เหนื่อยล้า แต่ก็ต้องมาเริ่มเดินทางอีกครั้ง แต่ทางเลือกก็คงมีไม่มากนัก
เมื่อคลื่น“ผู้ลี้ภัย” ข้ามไปยังฝั่งพม่าหมดแล้ว นักข่าวกลุ่มหนึ่งก็ได้กรูเข้าไปสัมภาษณ์นายทหารผู้คุมกองกำลังท่านหนึ่ง ทุกคนสนใจใคร่รู้ที่จะทราบข้อมูลรายละเอียดของจำนวนคนที่ข้ามมา ใครรบกับใคร ทำไมถึงรบ ทหารทำอะไรบ้าง ฯลฯ แต่ไม่มีใครสักคนที่จะตั้งคำถามว่า “ทำไมท่านส่งกลับ “ผู้ลี้ภัย” ในขณะที่ยังมีการสู้รบกันอยู่และสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย ?”
เฝ้า ยืนดู “ผู้ลี้ภัย” เดินจากไปจนลับสายตาแล้ว ฉันก็เดินจากมาอีกทิศทางหนึ่ง ทิ้งภาพของรถถัง ทหารถือปืน ตำรวจ ฝ่ายปกครองและนักข่าวจากสำนักต่าง ๆ ไว้เบื้องหลัง ภายในใจคิดภาวนาอวยพรให้ “ผู้ลี้ภัย” เหล่านั้นปลอดภัย ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า
“บนทางเดินที่มีขวากหนาม ถ้าเธอคร้ามถอยไปฉันคงเก้อ ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ……เพียงตัวเธอไม่หนีไปเสียก่อน….” เสียงเพลงแว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง ทำให้ฉันคิดถึง “ผู้ลี้ภัย” และผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ รวมทั้งพี่น้องประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ แม้ทางเลือกมีไม่มากนักแต่มิใช่ว่าทางเลือกเพื่อไปสู่สันติภาพและประชาธิปไตยเหล่านั้นจะไม่มี แต่คงมิใช่เรื่องง่ายนัก….
ดูรูปตามลิงค์นี้ :
http://www.facebook.com/album.php?aid=31833&id=100000382662875&l=eaf89c0a79 (รูปชุดนี้ถ่ายโดย ณัฐพงษ์ มณีกร)
http://www.facebook.com/album.php?aid=31850&id=100000382662875&l=5efaf66d2a (รูปชุดนี้ถ่ายโดย เจนจินดา ภาวะดี)
http://www.facebook.com/album.php?aid=31855&id=100000382662875&l=003aebb231 (ภาพผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงเรียนซองกาเลีย ด่านเจดีย์สามองค์ สังขละบุรี)
http://www.facebook.com/album.php?aid=31856&id=100000382662875&l=0d5b06d2ba (ภาพผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงเรียนซองกาเลีย ด่านเจดีย์สามองค์ สังขละบุรี)