บทความโดย พระไพศาล วิสาโล
ชายหนุ่มน้ำใจงามพาลูกไปบ้านพักคนชรา เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้ทุกข์ยาก และถือเป็นโอกาสเรียนรู้ความจริงของชีวิตไปด้วย ที่นั่นมีคนแก่หลายประเภท ทั้งคนพิการ คนป่วยและคนหลงๆลืมๆ มีคนแก่คนหนึ่งท่าทางไม่ปกติ จู่ๆก็ยกเก้าอี้ออกไปนอกตึก ชายหนุ่มจึงถามว่า ลุงจะไปไหน แกตอบว่า จะไปปลูกต้นไม้ ว่าแล้วก็กวาดมือชี้ไปที่ต้นไม้ในสวน พร้อมกับพูดอวดว่า ต้นไม้เหล่านี้เป็นฝีมือแกทั้งนั้น ชายหนุ่มอยากสร้างสัมพันธ์กับคุณลุงจึงเออออไปด้วย แล้วยกเก้าอี้เดินตามแกไป แกเห็นก็ถามว่า จะทำอะไร ชายหนุ่มตอบว่า จะไปปลูกต้นไม้กับลุงไงล่ะ แกเลยโพล่งขึ้นว่า “จะบ้าหรือ นั่นเก้าอี้นะ ไม่ใช่ต้นไม้”
คุณลุงสังเกตเห็นชายหนุ่มมีพฤติกรรมไม่ปกติ คล้ายคนบ้า แต่กลับมองไม่เห็นว่าตัวเองก็มีพฤติกรรมอย่างนั้นเหมือนกัน ฟังเรื่องนี้แล้วน่าจะสรุปได้ไม่ยากว่า แม้แต่คนวิกลจริตก็ยังบอกได้ว่าใครบ้างที่บ้า แต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองบ้า นี้ก็คงไม่ต่างจากคนเมา ที่รู้ว่าใครเมา แต่กลับไม่ยอมรับว่าตัวเองเมา แต่จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่แต่คนบ้าคนเมาเท่านั้น คนทั่วไปก็เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ คือเห็นความผิดเพี้ยนของคนอื่นได้ชัดเจน แต่กลับมองไม่เห็นความผิดเพี้ยนของตนเอง หลายคนไม่ชอบคนขี้บ่นขี้นินทา แต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองก็ขี้บ่นขี้นินทาเหมือนกัน ขณะที่ชี้ให้ใครๆดูว่าคนนั้นคนนี้ชอบนินทา หารู้ตัวไม่ว่าตนเองก็กำลังนินทาเขาอยู่
ชายคนหนึ่งพอเจอเพื่อนรุ่นน้องและรู้ว่าเขานิยมชมชื่นนักเขียนชื่อดังคน หนึ่ง เขาก็วิจารณ์นักเขียนคนนั้นให้ฟังทันทีว่า เป็นคนก้าวร้าว ปากจัด ยิ่งพูดก็ยิ่งมีอารมณ์ ด่าว่านักเขียนคนนั้นด้วยถ้อยคำที่รุนแรง โดยไม่เฉลียวใจสักนิดว่าตนเองก็ทำอย่างเดียวกับคนที่ตนกำลังด่าว่าอยู่
ในชาดกมีเรื่องของชาวนาคนหนึ่งที่เศร้าโศกเสียใจที่พ่อตาย แม้เผาศพแล้วก็ยังซึมเศร้าไม่เป็นอันทำงาน ลูกชายพูดอย่างไร พ่อก็ไม่หายทุกข์ วันหนึ่งวัวแก่ล้มตาย ลูกชายจึงแกล้งเกี่ยวหญ้าให้วัวกิน แล้วพูดว่า กินหญ้าสิ พ่อเห็นเช่นนั้นจึงตำหนิลูกว่า วัวตายแล้วจะลุกมากินหญ้าได้อย่างไร เจ้านี่ไร้ความคิดเหลือเกิน ลูกชายสบโอกาสจึงพูดว่า วัวตัวนี้ยังมีเท้าหน้าเท้าหลังเหมือนเดิม ผมจึงคิดว่ามันจะกินหญ้าได้ ตรงข้ามกับปู่ซึ่งตายกลายเป็นขี้เถ้าแล้ว แต่พ่อก็ยังร้องไห้ถึงปู่อยู่ อย่างนี้มิใช่คนไร้ความคิดหรือ พ่อได้ฟังเช่นนั้นก็รู้ตัว และหายโศกเศร้าทันที
อะไรทำให้คนเรามองเห็นคนอื่นได้ชัด แต่กลับมองไม่เห็นตัวเอง คำตอบก็คือ เพราะเราชอบพุ่งความสนใจไปนอกตัวจนลืมหันมาดูตัวเอง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในบรรดาอายตนะทั้งหมดของเรานั้น มีถึง 5 อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายที่มีหน้าที่รับรู้โลกภายนอกโดยตรง มีแต่จิตอย่างเดียวที่สามารถรับรู้หรือสำรวจตรวจตราตนเองได้ ที่จริงตาก็ใช้ดูตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยกระจกและดูได้แต่รูปลักษณ์ภายนอก ไม่สามารถดูหรือรู้ความคิดและอารมณ์ ตลอดจนสังเกตเห็นพฤติกรรมของตัวเองได้ชัดเจน
การพุ่งความสนใจไปที่ภายนอกนั้น เป็นสิ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์(และสัตว์ทั้งปวง) เพราะอันตรายส่วนใหญ่นั้นอยู่นอกตัว โดยเฉพาะในสมัยที่มนุษย์เรายังอยู่ป่า แต่ปัจจุบันอันตรายจากภายนอกลดลงไปมากแล้ว รอบตัวเรามีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น แม้กระนั้นความทุกข์ของผู้คนก็ไม่ได้ลดลง ความทุกข์เหล่านั้นส่วนใหญ่มาจากไหน คำตอบคือ มาจากใจของเราเอง ใจที่คิดไม่หยุด เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็เก็บเอามาคิด ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เอามากังวล ความคิดที่ปรุงแต่งไม่หยุด และอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่า ความเสียใจ ความโกรธ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความผิดหวัง ล้วนแต่นำความทุกข์มาให้แก่เรา แต่เป็นเพราะเราไม่ค่อยหันมาดูใจของตน มัวแต่มองคนอื่น จึงถูกความทุกข์ครอบงำ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรืออาจถึงขั้นเป็นบ้าไปเลย มีไม่น้อยที่ทนไม่ได้ถึงกับฆ่าตัวตาย
ใช่แต่เท่านั้น การปล่อยให้ความทุกข์ลุกลามใจ ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ทั้งโดยวาจาและการกระทำ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ผลก็คือถูกผู้อื่นตอบโต้ ระบายความทุกข์ให้แก่เรากลับคืน
สาเหตุแห่งความทุกข์นั้นมิได้อยู่นอกตัวอย่างเดียว หากยังอยู่ที่ใจของเราด้วย ดังนั้นหากปรารถนาความสุข ก็ต้องหันมาดูใจของตัวเองบ่อย ๆ ด้วย อย่าให้ความคิดชักนำจิตใจเราจนจมอยู่กับกองทุกข์ อย่าปล่อยให้อารมณ์อกุศลประทุษร้ายจิตใจหรือผลักดันให้เรามีพฤติกรรมน่าระอา จนไม่มีใครอยากอยู่ใกล้
ทุกวันนี้เราส่องกระจกดูตัวเองวันละนับสิบครั้ง หากเราหันมาตั้งสติดูใจตัวเองวันละหลาย ๆ ครั้งเช่นนั้นบ้าง จิตใจก็จะผ่องใสไม่น้อยไปกว่าใบหน้า และจะกลายเป็นคนน่ารัก ที่ใคร ๆ ก็มีความสุขเมื่อได้อยู่ใกล้
ที่มา : www.visalo.org
บทความตีพิมพ์ในนิตยสารอิมเมจ เมื่อ ก.พ.2555 : http://www.visalo.org/article/Image255502.htm