รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์ รายงาน
อุดม วัน ซีวอน สตรีชาวกัมพูชาที่ได้อุทิศทั้งชีวิตของเธอทำงานส่งเสริมสันติภาพและวิถีแห่ง สันติ โดยการจัดธรรมยาตรา ไปตามเส้นทางที่ได้รับความเสียหายจากสงครามในประเทศกัมพูชาเป็นประจำทุกปี เป็นระยะทางกว่า 5,000 กม. ล่าสุดในงาน “เทศกาลพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม” ที่วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ ซีวอนมาแสดงปาฐกถาธรรมในงานนี้ด้วย
อุดม วัน ซีวอน
ท่ามกลางนานาปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ไม่ ว่าจะเป็นการกดขี่ข่มเหง การเอาเปรียบกัน ความขัดแย้ง ความรุนแรง เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าโลกมีสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะความไม่เป็นธรรมก็ยังดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็นในรูปของปัญหาความยากจน วิกฤตทางสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปัญหาทางสังคมอื่นๆ ซึ่งก็ได้มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่จะนำหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้แก้ ปัญหาดังกล่าว โดยกลุ่มคนเหล่านั้นได้รวมตัวกันในชื่อว่า “เครือข่ายนานาชาติพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์เพื่อสังคม” (International Network of Engaged Buddhists: INEB) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกิจกรรมชาวพุทธ ผู้นำทางศาสนาและนักวิชาการจากหลายประเทศ เพื่อเผยแพร่ความคิดและข้อมูลสนับสนุนปฏิบัติการทางสังคมที่มีพุทธธรรมเป็น แนวทาง
ล่าสุดทางเครือข่ายดังกล่าวได้จัดงาน “เทศกาลพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม” ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. ที่ผ่านมา ในวาระที่ครบรอบ 20 ปี การดำเนินงานของเครือข่าย โดยงานดังกล่าวได้มีการเชิญนักกิจกรรมชาวพุทธมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความ รู้กัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุดม วัน ซีวอน สตรีชาวกัมพูชาที่ได้อุทิศทั้งชีวิตของเธอทำงานส่งเสริมสันติภาพและวิถีแห่ง สันติ โดยการจัดธรรมยาตรา (การเดินเท้าเพื่อสันติภาพ) ไปตามเส้นทางที่ได้รับความเสียหายจากสงครามในประเทศกัมพูชาเป็นประจำทุกปี ซึ่งในช่วงงานเทศกาลพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรมนั้นเธอก็ได้มา แสดงปาฐกถา เรื่อง “วีถีแห่งพุทธ ธรรมสู่โลกอหิงสา” ที่ วิหารหลวง วัดสวนดอก เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการจัดธรรมยาตราที่ผ่านมา ซึ่งหากนับกันจริงๆ แล้วธรรมยาตราที่เธอจัดนั้นได้ครอบคลุมพื้นที่เกือบทุกจังหวัดในกัมพูชา และเป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร
ซีวอน คือชาวพุทธที่เคร่งครัด และได้นำหลักธรรมมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เธอมักจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองเรียบง่าย สำนักงานของเธอคือวัด โรงเรียน และคุกต่างๆ แต่ซีวอนไม่ใช่เป็นเพียงสตรีธรรมดาทั่วไป ภายใต้ใบหน้าอันมีรอย ยิ้มและน้ำเสียงนุ่มนวลของเธอ คือ สตรีที่มีความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ให้กับอุปสรรคใดๆ ที่จะเข้ามาขัดขวางหนทางการเสาะแสวงหาสันติภาพของเธอได้ ตรงข้ามกับความอ่อนน้อมถ่อมตนของเธอ เธอไม่เคยหวาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า
เธอได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการจัดธรรม ยาตราไปตามเส้นทางที่ได้รับความเสียหายจากสงครามในประเทศกัมพูชาซึ่งจัดเป็น ประจำทุกปี นับแต่เธอได้เข้าร่วมธรรมยาตราตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 และหลังจากนั้นเธอก็ได้กลายเป็นผู้ประสานงานในการจัดธรรมยาตราตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 มาจนถึงปัจจุบัน ในการทำงานเธอได้ผนวกการสอนศีล 5 ให้แก่เด็กๆ สวดมนต์และปลูกต้นไม้เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความรักความเมตตาให้แก่ผู้ป่วยเอดส์ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ซีวอนจึงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องการนำวิถีแห่ง พุทธธรรมมาจัดการปัญหาสังคม
“ธรรมยาตรานั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดสงคราม แต่เราทำเพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลให้รับรู้ไปทั่วทุกหัวระแหง และเพื่อเปลี่ยนแปลงจิตใจของทุกคน ให้มีความโยนและมีน้ำใจ” ชีวอนกล่าว
ในช่วงปีแรกๆ ของการเดิน บางครั้งคณะผู้เข้าร่วมเดินเข้าไปอยู่ท่ามกลางการสู้รบ และบางรายเสียชีวิตระหว่างการเดิน บางครั้งสภาพถนนและอากาศที่เลวร้าย ก็สร้างความยากลำบากแก่ขบวนด้วย แต่ละครั้งจะมีผู้เดินประมาณ 150-700 คน โดยธรรมยาตราได้ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซีวอนและคณะผู้จัดจะใช้เวลาเตรียมการ 2 – 3 เดือนก่อนที่การเดินจะเริ่มต้น โดยการจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกเพื่อเป็นการเชิญคนมาร่วมเดิน รวบรวมสื่อการศึกษาทั้งหมด รวบรวมอาหาร ระดมทุน รวบรวมยารักษาโรค ประสานงานในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็น
หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะเดินจริง ผู้เดินจะต้องเข้าร่วมฝึกอบรมและพูดคุยรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดก่อนการเดิน ซึ่งรวมถึงกฎและระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม สิ่งที่ต้อง ถือปฏิบัติเป็นอย่างแรกสุด คือ ความเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่การเมือง สนับสนุนแนวทางสันติวิธี ฝึกความกรุณา ซื่อสัตย์และอดทน ไม่พกพาอาวุธร้ายแรงหรือวัตถุระเบิดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยสามารถเดินเฉลี่ยได้วันละ 10 ถึง 15 กิโลเมตร และเป็นระยะเวลา 20-40 วัน ทั้งต้องไม่ปฏิบัติสิ่งใดที่จะส่งผลต่อความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนที่จะเดินผ่าน และไม่อนุญาตให้ผู้ร่วมเดินรับเงินจากผู้คนตามเส้นทางที่เดิน หรือใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ทางการเมืองในการเดิน
ผู้เข้าร่วมจะต้องเข้าร่วมสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกวันตั้งแต่เวลาตี 4 ซึ่งตลอดเส้นทางของธรรมยาตรานั้น พระสงฆ์จะพรมน้ำมนต์ให้แก่ประชาชน ผู้เดินจะช่วยกันแจกจ่ายแผ่นพับและหนังสือพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับศีลห้า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ นอกจากนี้ยังให้ศีลให้พรและบวชต้นไม้ในวัด โรงเรียน หมู่บ้าน ชุมชน และจังหวัดที่เดินจะผ่าน รวมถึงมีการปลูกต้นไม้ที่วัดและสถานที่ที่คณะธรรมยาตราหยุดพักทุกแห่ง
ทุกเย็น พระภิกษุในขบวนธรรมยาตราจะเทศน์ให้กับประชาชนในท้องถิ่นฟัง มีการพูดคุยเกี่ยวกับธรรมยาตรา ศีลห้า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับโรคเอดส์ มีการแจกจ่ายแผ่นพับและหนังสือ จัดแสดงวีดีทัศน์ในหลากหลายหัวข้อภายในวัดที่ผู้เดินพักอาศัยอยู่ ทุกๆ สองวัน ผู้เข้าร่วมธรรมยาตราจะเข้าร่วมในชั้นเรียนเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยความขัด แย้ง ทักษะการจัดการความขัดแย้ง และการทำสมาธิ
ซีวอนนำหลักการของธรรมยาตรามาใช้ในงาน ประจำวันของเธอ เธอสอนสมาธิและศีลห้าแก่นักเรียน แม่ชีสูงอายุในวัด หมอตำแย หมอพื้นบ้าน และคนอื่นๆ เธอปลูกต้นไม้ในโรงเรียน เพื่อสอนเยาวชนให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม แม้ว่างานที่เธอทำจะเป็นงาน ที่ดูเงียบๆ แต่กระนั้น นักสังคมสงเคราะห์และนักกิจกรรมด้านสันติภาพเชื่อว่า บทบาทและงานธรรมยาตราของเธอ ได้สร้างผลกระทบที่ลุ่มลึก แพร่หลาย และน่าประทับใจอย่างยิ่ง
แมรี่ ดันบาร์ นักกิจกรรมด้านสุขภาพในกัมพูชา กล่าวว่า “ประชาชน เชื่อว่า คณะธรรมยาตรามาเยือนเมื่อใด เมื่อนั้นความสุขสงบก็มาเยือนเช่นกัน พวกเขาไม่กลัวสงครามอีกต่อไป บางคนถึงกับกล่าวว่า คณะธรรมยาตรามาถึงเมื่อใด ฟ้าฝนก็เป็นใจ ตกลงมาให้เพาะปลูก ความรุนแรงต่างๆ มลายหายไปสิ้น พวกเขายังเรียกสามีทั้งหลายที่ทุบตีคู่ครองของเขา หรือใครก็ตามที่เคยกระทำความรุนแรง ให้ก้าวมาข้างหน้าเพื่อรับศีลรับพรจากพระสงฆ์เพื่อหยุดความรุนแรง”
ซีวอนได้ยึดคำสอนหนึ่งเป็นแนวทางหลัก ในการดำเนินชีวิตของเธอ ซึ่งเป็นคำสอนของสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ พระชาวกัมพูชาที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูง และเป็นผู้ที่ริเริ่มจัดธรรมยาตราขึ้น โดยคำสอนนั้นมีอยู่ว่า “เมื่อสันติภาพเกิดขึ้นในหัวใจหนึ่งดวง จากนั้นมันจะขยายไปเป็นหนึ่งครอบครัว หนึ่งชุมชน และแผ่ขยายไปทั่วโลก” ฉะนั้นธรรมยาตราที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งก็จะค่อยๆ นำโลกไปสู่แนวทางแห่งอหิงสาทีละก้าว แม้จะเป็นก้าวที่เล็กและเชื่องช้าแต่ว่าสำคัญและมั่นคง
ประวัติอุดม วัน ซีวอน
อุดม วัน ซีวอน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2505 และเป็นหนึ่งในสตรี 1,000 คนที่มีชื่ออยู่ในโครงการรณรงค์เสนอชื่อให้สตรีที่ต่อสู้เพื่อสันติภาพจาก ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี พ.ศ. 2548 และเมื่อปี 2552 ก็ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพุทธศาสนาจากองค์การสหประชาชาติ
ซีวอนเหมือนกับชาวกัมพูชาจำนวนมาก ที่รู้ซึ้งถึงความทุกข์จากสงครามตั้งแต่เธอยังเด็ก พ่อของเธอเป็นคนไทย ทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยในกัมพูชา ต่อมา พ่อของเธอเข้าร่วมกองทัพของรัฐบาลเจ้าสีหนุและลอนนอล และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 เมื่อกองกำลังทหารเขมรแดงเสื้อดำบุกเข้ายึดอำนาจในเมืองพนมเปญ พ่อของซีวอนถูกจับและหายสาบสูญไป
ในปี พ.ศ. 2519 ซีวอน แม่และน้องสาวของเธอถูกจับและนำตัวไปที่ทุ่งสังหาร แต่โชคดีที่ตอนนั้น รถบรรทุกเกิดยางแบน และด้วยความช่วยเหลือจากชายที่เธอสำนึกบุญคุณมาชั่วชีวิตได้ช่วยเหลือให้พวก เธอหนีรอดออกมาได้ เธอได้พยายามตามหาชายผู้นั้น แต่ทราบภายหลังว่า ชายผู้นั้นได้ถูกเขมรแดงฆ่าตาย
ภายใต้การปกครองที่โหดเหี้ยมของกลุ่ม เขมรแดง ซีวอนต้องหยุดเรียน 5 ปี และเรียนรู้ที่อยู่กับความอดยากหิวโหยด้วยการฝึกหายใจ ซึ่งต่อมา เธอทราบว่าสิ่งที่ทำนั้น คือการฝึกสมาธินั่นเอง
ความทุกข์ยากของเธอ ได้ชักนำให้เธอได้รู้จักกับธรรมยาตรา (การเดินเท้าเพื่อสันติภาพ) ที่ริเริ่มโดยสมเด็จพระมหาโฆษนันทะในปี พ.ศ. 2535 และได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอโดยสิ้นเชิง เธอได้ตัดสินใจเลิกทำร้านขายของเล็กๆ ของตน และอุทิศตัวเองเพื่อสันติภาพและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเต็ม ที่ เธอกล่าวว่า “เป็นเรื่องง่ายที่เราจะหาเงิน แต่มันไม่ง่ายที่เราจะสามารถปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเต็มที่”
ครั้นเมื่อสุขภาพของสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ ไม่เอื้ออำนวยต่อการนำธรรมยาตราในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 ซีวอนจึงเป็นผู้นำธรรมยาตราประจำปีแทน ตั้งแต่นั้นมา ธรรมยาตราและซีวอนกลายเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด
>ที่มา : http://www.prachatai.com/