เขียนโดย คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 2

“การเริ่มต้นเรียนรู้ หรือการเริ่มต้นทำงานอาสาสมัคร จะฝึกเราให้เริ่มต้นจากการเป็นผู้ให้คนอื่นก่อน แต่การเริ่มต้นเรียนรู้ หรือทำงานในระบบ เราจะไม่ถูกฝึกหรือถูกสอนให้ ให้ใครเป็น…”

คัดบางส่วนจากรายงานสรุปบทเรียนครบวาระ 1 ปีการทำงานของนางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 2 จากสหภาพแรงงานกลุ่มย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  

“เราจะไม่รู้เลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง หากเราไม่ลงมือทำ”  

เป็นประโยคที่สามารถนำมาใช้อธิบายวันเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาได้ดี เคยตั้งคำถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง ได้คำตอบว่า “เอ ! ไม่แน่ใจ” แต่เมื่อลงมาพื้นที่ มีคนมาร้องทุกข์และรอที่จะได้รับคำตอบจากเรา นั่นคือ งาน เมื่องานมารออยู่ตรงหน้าสิ่งที่ต้องทำคือ ก็ทำนะสิ หลายครั้งงานสำเร็จ และหลายครั้งที่มีความผิดพลาด แต่นั่นคือ กำไร

การลงพื้นที่ทำงานในฐานะที่เป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทำให้การเรียนรู้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน งานของเราไม่ใช่การเรียนรู้อย่างนักกฎหมายทั่วไป  แต่ต้องเรียนรู้อย่าง “นักกฎหมายสิทธิฯ” ซึ่งต่างกันมากกับการเป็น “นักกฎหมายทั่วไป” นักกฎหมายทั่วไปจะทราบว่าลูกจ้างถูกละเมิดสิทธิก็ต่อเมื่อลูกจ้างเข้ามาร้อง เรียน แต่ “นักกฎหมายสิทธิฯ” ต้องเดินเข้าไปหาลูกจ้างและสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ก็จะทราบแล้วว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ ให้ความรู้กับเขา เพื่อที่เขาจะได้ไม่ถูกกระทำซ้ำอีก  “นักกฎหมายสิทธิ คือ อะไร”  จำได้ว่านี่เป็นคำถามของพี่ติ๊บ กรรณิกา ควรขจร ผู้อำนวยการมอส.เมื่อ 1 ปีก่อนตอนปฐมนิเทศ  นี่คงไม่ใช่คำตอบเอาใจ มอส. แต่มันเป็นคำตอบที่เราอยากตอบเอง เพราะการทำงานทำให้เราค้นพบคำตอบนี้

สิ่งดีดี…ที่ได้จากการเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิ์

1. ได้รับประสบการณ์ในการทำงานที่ดี ได้เริ่มต้นทำงานที่ยังไม่เคยทำ เช่น ได้ว่าความ ถึงแม้จะยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มต้นแล้ว, ได้ทำหนังสือ รวมกับพี่ๆ ให้คนงานอ่านรู้สึกสนุกมาก, ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุมกับคนใหญ่คนโต ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี

2. ได้รับความรู้สึกดีๆ จากการที่ได้ช่วยเหลือคนงานที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นป้าที่ลูกชายถูกไฟฟ้าช็อตจนเสียชีวิต สามารถส่งพวกเขากลับบ้านได้ เขาแสดงความขอบคุณด้วยผ้าไหม 2 ผืนที่เขาทอเอง มันเป็นความที่รู้สึกดีมากในช่วงเวลานั้น และมิตรภาพของคนงานเจริญสวัสดิ์ที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ก็ทำให้สามารถมีความสุขเมื่อคิดถึงพวกเขาเหล่านั้นด้วย

3. การได้พบคนดีๆ ในแวดวงคนที่ดิฉันได้ทำงานด้วย ถึงไม่ร่ำรวยเงินทอง แต่ทุกคนร่ำรวยความดีและมีน้ำใจ ยังไงการอยู่ในพื้นที่ ดิฉันไม่เคยอดข้าวเลยซักมื้อ (น้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วย)

ในพื้นที่มีป้าหงวน ป้าวิ พี่อ๊อด พี่มาลี และพี่หน่อยที่อยู่ด้วยกันและเป็นเพื่อนที่ดี มีลุงตุลาที่เป็นครูคอยใช้งาน และสอนงานให้ แถมให้ความรู้อีกเยอะแยะมากมายอย่างเต็มใจ และพี่ๆ ชาวสหภาพแรงงานคนอื่นๆ เช่น พี่มงคล พี่แดง พี่ดาว พี่มานพ พี่ลำไย หรือพี่ต้อมที่มีความพยายามหาความรู้ และมีความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะทำงาน และทำความฝันที่เหลือให้เป็นจริงด้วย และป้าริน พี่ริน น้องริน คุณสุรินทร์ของดิฉันที่เป็นทั้งเพื่อน ทั้งพี่ และเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่ดูแลดิฉันเป็นอย่างดี

4. ได้พบเพื่อนใหม่ แม้ว่านักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 2 จะมีคนอยู่น้อยนิด และเมื่อทำงานลงพื้นที่ก็ไม่ค่อยได้เจอกัน แต่เมื่อทุกคนต้องมารวมตัวกันเมื่อไหร่ ยังไงก็มีความสุขเกิดขึ้นได้เสมอ เวลา 1 ปีน้อยมากสำหรับการรู้จักกันของใครหลายคน แต่ถ้ามิตรภาพไม่เท่ากับระยะเวลาล่ะก็ นั่นแหละพวกเรา

เหตุการณ์ประทับใจของคนอาสา ต่อ ชาวสหภาพ

การได้ทำงานร่วมกับชาวสหภาพแรงงาน สร้างความประทับใจให้ดิฉันได้เสมอ ทุกเหตุการณ์อาจไม่ได้อะไรที่เป็นความรู้ทางวิชาการ แต่สิ่งที่ได้ คือ ของจริงและได้ซึมซับชีวิตของคนเหล่านั้น ที่เราจะไม่มีโอกาสได้ทราบ หากเราไม่ได้เดินเข้ามาเป็นอาสาสมัครในพื้นที่นี้

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์แรกๆ ของการลงพื้นที่ ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมการร่างข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานสิ่งทอ สมุทรสาคร เป็นภาพความน่ารักและความวุ่นวายของสาวโรงงาน 5-6 คน ที่กำลังถกกันว่าจะยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเพิ่ม 5 หรือ 7 บาทดี ดิฉันคิดในใจว่าไหนๆ จะขอแล้วทำไมไม่ขอซัก 20 หรือ 30 บาท มาเถียงทำไมกับเรื่องเงิน 5 หรือ 7 บาท ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่าสิ่งที่ดิฉันคิดนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมประจำเดือนกับสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนคร หลวง ในครั้งแรกที่เข้าร่วมประชุม เลยกำหนดระยะเวลาในการประชุมมาเกือบครึ่งชั่วโมง จึงได้ถามว่า “เราจะเริ่มประชุมกันก่อนดีไหม” ได้รับคำตอบว่า “ยังไม่ครบองค์ประชุม” สุดยอด!!!! ดิฉันอมยิ้มกับการรอครบองค์ประชุมของคนงานอยู่นาน และคิดว่าคนงานพวกนี้ถูกจัดตั้งเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ เขาใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทุกวันจนมันไม่ใช่กฎหมาย แต่มันกลายเป็นสิ่งที่เขาใช้กันจนเป็นความเคยชินแล้ว แต่เราอ่านทุกวันก็จำไม่ได้ หรือไม่ยอมเข้าหัวนั่นเอง

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ แต่เรื่องนี้ขอเป็นความประทับใจสุดท้ายที่จะบันทึกใส่ในบทความนี้ คือ ความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง และความเสียสละของคนงานหัวก้าวหน้าเพียงไม่กี่คน สามารถนำพาเพื่อนคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  ไม่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างอย่างไม่มีเหตุผล เพื่อนได้รับความรู้จากการทำงานอย่างหนักของเพื่อนที่เป็นผู้นำแรงงานไม่กี่ คน และคนเหล่านี้ก็ยังคงทำเพื่อเพื่อนสมาชิก และองค์กรของตัวเองต่อไป ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ง่ายมากที่จะทำให้คนงานมีความรู้ มีการศึกษาขึ้นมาจนสามารถต่อสู้กับนายจ้างได้   แต่คนที่จะมีความกล้าหาญ และเสียสละไม่ได้สร้างได้เหมือนการให้ความรู้ มันต้องมีด้วยตัวตนของลูกจ้างคนนั้นเอง ซึ่งไม่แปลกที่คนเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า “ผู้นำ” และดิฉันก็เห็นด้วยกับคำคำนี้

ทัศนะคติที่มีต่องานอาสาสมัคร

งานอาสาสมัครถือว่าเป็นงานที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะได้เข้ามาศึกษาเรียน รู้สภาพปัญหา และวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้หรือหาได้จากการทำงานทั่วไป การทำงานอาสาสมัครต้องเจอทั้งคนดีสุดๆ และคนเลวสุดๆ เช่นกัน เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าเราจะเป็นคนแบบไหน การเริ่มต้นเรียนรู้ หรือการเริ่มต้นทำงานอาสาสมัคร จะฝึกเราให้เริ่มต้นจากการเป็นผู้ให้คนอื่นก่อน แต่การเริ่มต้นเรียนรู้ หรือทำงานในระบบ เราจะไม่ถูกฝึกหรือถูกสอนให้ ให้ใครเป็น ระบบจะสอนให้เรามีความสุขกับการเป็นผู้รับ และไม่รู้สึกกับการได้เป็นผู้ให้

คนทำงานอาสาสมัครสามารถมีความสุขจากการเป็นผู้ให้ คำขอบคุณมากมายจากคนที่เราทำงานด้วย นั่นคือสิ่งที่เราได้รับ “กินได้น้อยหน่อย แต่เท่ห์มาก” คือ ชีวิตคนทำงานอาสาสมัคร คิดว่าถ้าใครอยากสัมผัสกับความรู้สึกแบบนี้ คงหาได้ทางเดียว คือ การลองมาทำงานอาสาสมัครดู แล้วจะรู้ว่า เราคนเดียวก็สามารถทำให้ชีวิตของใครอีกหลายคนดีขึ้นได้

ต้องไปต่อ… Must go on.

ดิฉันมีความคิดว่า ต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ด้านกฎหมาย และด้านวิชาชีพให้เพิ่มมากขึ้นเพราะความรู้มีความสำคัญมาก ต่อการช่วยเหลือคนในพื้นที่ที่ถูกละเมิดสิทธิ ที่ผ่านมา 1 ปีของการทำงาน บางครั้งก็ติดขัดในเรื่องความรู้ แต่ 1 ปีถือเป็นการเรียนรู้ และสิ่งที่ควรจะต้องทำต่อไปคือ พัฒนาศักยภาพและความสามารถของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้น ก็เหมือนกับคนงานที่ต้องเริ่มจากตัวเอง ดิฉันก็มีความคิดเหมือนกัน หากเราจะช่วยเหลือใครได้เราก็ต้องมีความรู้ที่จะสามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่า นั้นได้เต็มที่ และถูกต้องด้วย

ที่มา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=view&id=170&Itemid=1